วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

อย่ากลัวผิดคำพูดว่าจะทำดี แต่ให้กลัวว่าจะไม่ได้ทำดี, คนผิดคำพูดว่าจะทำดี คือ คนที่ทำแล้วพลาด, แต่คนที่ไม่ทำเลย คือ คนชั่วบริสุทธิ์ ไม่มีดีเจือเลย.

อย่ากลัวผิดคำพูดว่าจะทำดี แต่ให้กลัวว่าจะไม่ได้ทำดี, คนผิดคำพูดว่าจะทำดี คือ คนที่ทำแล้วพลาด, แต่คนที่ไม่ทำเลย คือ คนชั่วบริสุทธิ์ ไม่มีดีเจือเลย.

วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คนที่อ้างแต่ว่า "ในพระสูตรฟังธรรมจบแล้วบรรลุเลย ไม่ต้องทำฌาน" คือ พวกมานะแรงกล้า ยกตนเสมออุคฆฏิตัญญู

เนยยะบุคคลที่ฟังธรรมามากก็ยังไม่บรรลุ ซ้ำยังขี้เกียจทำฌานเพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู ตามที่พระไตรปิฎก และเนตติปกรณ์แนะนำไว้ มักจะอ้างว่า...

"ในพระสูตร มีคนฟังแล้วบรรลุธรรมกันเยอะแยะ ไม่เห็นต้องทำฌานเลย"

โดยอ้างเช่นนั้นมา เพื่อที่จะบอกว่า "เมื่อคนพวกนั้นไม่ต้องทำฌานยังบรรลุ, งั้นพวกเราก็ไม่จำเป็นต้องทำฌาน ก็คงจะบรรลุได้ เช่นกัน"

คนพวกนี้เป็นพวกยกตนเสมอท่าน มีมานะที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ตนเองไม่ใช่อุคฆฏิตัญญู แต่ก็จะไปเอาข้อปฏิบัติของอุคฏิตัญญูมาอ้าง เพื่อจะทำเลียนแบบ ทั้งๆ ที่ไม่สมควรกับฐานะของตน

ระวังตัวให้ดี อย่าให้เป็นแบบนั้นนะครับ ถ้าคิดจะลัดขั้นตอนโดยไม่ดูฐานะของตัวเองอย่างนั้น สุดท้าย ก็จะไม่พ้นจากสังสารวัฏฏ์แน่นอน.

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558

วิธีรอดตายในสังคมแบบต่างๆ

คนไม่รู้จักคิด ไม่เห็นแก่ตัว 
> ตาย

คนไม่รู้จักคิด เห็นแก่ตัว 
> รอดไปวันๆ รอวันล่มจมทั้งชาตินี้และชาติหน้า

คนรู้จักคิด เห็นแก่ตัว 
> รอดไปชาตินึง รอล่มจมอย่างหนักในชาติต่อๆ ไป

คนรู้จักคิด ไม่เห็นแก่ตัว 
> รอดทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ขณปัจจุบัน (ย่อ)

ขณะปัจจุบัน คือ ขณะปัจจุบันของขณะอดีตกับขณะอนาคต. ซึ่งขณะอดีต ก็คือ ขณะปัจจุบัน ของขณะอดีตของตนกับขณะอนาคตของตน เช่นกัน.
เรื่องเหล่านี้เป็นกาล ที่อัฏฐสาลินี ระบุไว้ว่า เป็นเพียงบัญญัติ.
แต่ปรมัตถธรรมที่มีอุปาทะ ฐิติ ภังคะ (สังขตลักษณะ-ลักษณะของสังขารธรรม) ที่ถูกจิตเข้าไปบัญญัติว่า ขณะอดีตบ้าง ขณะอนาคตบ้าง ขณะปัจจุบันบ้าง, ปรมัตถธรรมที่มีสังขตลักษณะนี้นั่นแหละ คือ ปรมัตถธรรม. (สรุปจาก อัฏฐสาลินี)
ฉะนั้น จะขณะอดีต ขณะอนาคต ขณะปัจจุบัน ก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ครับ เพราะทั้งหมดตอนที่ถึงพร้อมด้วยสังขตลักษณะ ก็ล้วนเป็นขณะปัจจุบันเหมือนๆ กัน.
เรื่องนี้ ต้องแม่น ธัมมสังคณีมาติกา อตีตติกะนะครับ, อย่าลืมว่า อตีตติกะ เป็นปรมัตถ์เท่านั้น ครับ. ฉะนั้น ขณะอดีต ใน อตีตติกะ ก็ต้องเป็นปรมัตถ์ ถึงพร้อมด้วยสังขตลักษณะเช่นกัน ครับ.
จริงๆ ยังมีเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับปัจจุบันแบบต่างๆ อีกมาก, ผมเองก็ตั้งใจจะเขียนบทความมาตั้งนานแล้ว ถ้าสำเร็จ (อาจ) จะเอามาเผยแพร่อีกครั้ง ครับ.

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การบังคับเป็นอกุศลก็ได้ เป็นทานก็ได้ เป็นสมถะ วิปัสสนา หรือสติปัฏฐานก็ได้ (1)

"บังคับ" ตัวคำเป็นบัญญัติ, ไม่มีองค์ธรรมเฉพาะ. ไม่มีระบุไว้ในลักขณาทิจจตุกะของปรมัตถธรรมใดๆ เลย.

การบังคับเป็นอกุศลก็ได้ เป็นทานก็ได้ เป็นสมถะ วิปัสสนา หรือสติปัฏฐานก็ได้.

คนที่ยังละสักกายทิฏฐิไม่ได้ ด้วยตทังคปหานหรือสมุจเฉทปหาน ต่อให้เลี่ยงคำว่าบังคับไปใช้คำอื่น ก็ยังมีสักกายทิฏฐิล้อมหน้าล้อมหลังอยู่ดี เพราะไม่ได้พูดด้วยปัญญาประจักษ์แบบญาตปริญญา.

จะไปใช้คำว่า "เจตนา" ใช้คำว่า "ปัจจัย ปัจจยุปบัน" หรือใช้คำว่า "เป็นไปตามปัจจัย" หรือใช้คำตรงๆ ว่า "ไม่มีใครบังคับ" ก็ตาม ก็ล้วนแต่พูดตามคนอื่น ไม่ใช่ปัญญาประจักษ์นามรูปพร้อมทั้งปัจจัยจริงๆ ตามที่มันเป็น.

ส่วนผู้ที่สามารถละสักกายทิฏฐิได้ จะไม่มัวติดพยัญชนะว่า "บังคับ" เพราะเขารู้ตามความเป็นจริงอยู่แล้วว่า จะบังคับ หรือ ไม่บังคับ อัตตาก็ไม่มีอยู่จริงเลย. เขาจะพากเพียรตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการทำศีล ทำสมถะ ทำวิปัสสนา เขาก็พร้อมทุกประการ.

ไม่ต้องย้ำคิดย้ำทำในสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่า "ไม่มีใครทำ" เพราะมัวแต่กลัวจะมีอัตตานุทิฏฐิ, แล้วพยายามละอัตตานุทิฏฐิอย่างไม่ถูกวิธี, จนไปขวางกั้นการเจริญกุศลอื่นๆ.

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ฟังพระไตรปิฎกของพระอรรถกถาจารย์ไม่ได้ศัพท์ก็ยังจะจับไปกระเดียด

ฟังพระไตรปิฎกของพระอรรถกถาจารย์ไม่ได้ศัพท์ก็ยังจะจับไปกระเดียด

ยุคปัจจุบัน ชาวพุทธบางท่านไม่แตกฉานบาลี ไปอ่านพระไตรปิฎกแปลไทย แล้วปฏิเสธอภิธรรม... จากนั้นก็เที่ยวป่าวประกาศว่า "พระไตรปิฎกขัดแย้งกัน"...

ทั้งๆที่ ภาษาบาลีและหลักอภิธรรม เป็นสิ่งที่อยู่ในใจของพระอรรถกถาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฎกมาตั้งแต่ยุคที่ยังต้องจำปากเปล่าในครั้งพุทธกาล (พระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญามาก ก็เพราะเป็นสาวกท่านแรกที่รู้แตกฉานอภิธรรม) กระทั่งจารลงใบลานที่ลังกา เมื่อพ.ศ. 400 กว่า และตลอด 2500 ปี มาจนถึงปัจจุบันในพม่าที่มีผู้ทรงพระไตรปิฎก ก็ยังคงต้องเป็นผู้รู้แตกฉานอภิธรรมและภาษาบาลี.

99% ของคนยุคนี้ที่เที่ยวป่าวประกาศว่าพระไตรปิฎกขัดแย้งกันบ้าง อรรถกถาขัดแย้งกับพระไตรปิฎก, พื้นฐานคนพวกนี้จึง ไม่แตกฉานบาลี และ ไม่แตกฉานอภิธรรม ครับ. มันทำให้พวกเขาอ่านไม่เข้าใจเอง แล้วก็ตีโพยตีพายเป็นคุ้งเป็นแคว.

ไปๆ มาๆ ฉีกพระไตรปิฎกเล่นเสียเลย...

เด็กหนอ... เด็กน้อยเล่นกับไฟ...

ตัวอย่างของสักกายทิฏฐิ ฝ่ายอุจเฉททิฏฐิ ซึ่งบางตัวอย่างกลายเป็นสีลัพพตปรามาส

-ตบยุงไม่บาปแน่ๆ
-ลักทรัพย์นิดหน่อยไม่เป็นไร
-พรุ่งนี้ไม่มีแน่ๆ
-ชาติหน้าไม่มีแน่ๆ
-เดี๋ยวก็ตายแล้ว
-เกิดหนเดียวตายหนเดียว
-สามีเขาไม่รู้ เป็นชู้ก็ไม่มีใครตามมาฆ่า
-โกหกโดยที่เขาไม่รู้ ไม่เป็นไร
-ดื่มเหล้าได้ ถ้าคุมตัวเองอยู่ เป็นต้น

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

อนุโลม = ตามลำดับ, ปฏิโลม =ย้อนลำดับ

อนุโลม = ตามลำดับ, ปฏิโลม = ย้อนลำดับ 
เช่น...
อนุโลม=ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ปฏิโลม=หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ไม่พร้อมได้ฌาน, ไม่ต้องหวังได้วิปัสสนา

ไม่ควรแยกอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เพื่อพูดในเชิง "อันหนึ่ง ด้อยกว่าอีกอันหนึ่ง" ครับ เพราะรถผลัดก่อน มีความสำคัญต่อผลัดถัดไป ครับ ถึงจะด้อยกว่ายังไง ก็ขาดไม่ได้เลยอยู่ดี.

เหมือนเด็กมัธยมที่ด้อยกว่าเด็กมหาวิทยาลัย แต่ถ้าไม่เป็นเด็กมัธยม ก็เป็นเด็กมหาลัยไม่ได้ ฉันใด, อธิจิตแม้จะปหานกิเลสได้ไม่เท่าอธิปัญญาก็ตาม แต่ถ้าไม่ได้อธิจิต ก็ไม่ต้องหวังได้อธิปัญญา ฉันนั้น.

เพราะถึงสมาธิจะทำสมุจเฉทปหานไม่ได้ แต่สมุทเฉทปหานไม่เกิดกับผู้ไม่มีสมาธิ เช่นกันครับ.  ตามหลักเนตติปกรณ์และอรรถกถาแล้ว ผู้ที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิ คือ ผู้ที่มีปกติกิเลสไม่เกิด (ทิฏฐิจริต) เท่านั้น. ซึ่งถ้าเป็นทิฏฐิจริตจริง การทำฌานก็คงไม่ยากอะไรนะครับ. 

ส่วนคนที่กลัวติดสุขในฌาน... ตามหลักเนตติปกรณ์และอรรถกถาแล้ว โลภะติดสุขในฌาน ปหานง่ายกว่า โลภะติดสุขในกาม อย่างมากๆ ครับ. ดังนั้น ถ้าแค่ทำฌานยังทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปหวังมรรค ผล เลยครับ.

อย่าไปเอาข้อความที่ว่า "ฌานนั้นได้ยากแสนยาก น้อยคนที่จะได้" กับ "สุขวิปัสสกมีมากกว่าฉฬภิญโญ" มาเหมารวมกลายเป็นว่า ทำวิปัสสนาไปเลย ง่ายกว่าทำฌานก่อนแล้วค่อยทำวิปัสสนา นะครับ, มันไม่ถูกต้อง. 

ความจริงแล้ว ทำวิปัสสนายากที่สุด ยากกว่าการทำฌานด้วย. ตามหลักเนตติปกรณ์แล้ว คนที่จะทำวิปัสสนาได้ ก็คือคนที่ได้ฌาน หรือ พร้อมจะได้ฌานอยู่แล้ว. พวกที่ไม่พร้อมจะได้ฌาน จะไปทำวิปัสสนายังไงๆ ก็ไม่บรรลุ เพราะฌานง่ายกว่าแท้ๆ ยังไม่พร้อมเลย. และฌานก็เป็นรถพลัดก่อนถึงวิปัสสนาด้วย (วิสุทธิมรรคว่า จิตตวิสุทธิ คือ อุปจารฌาน หรือ อัปปนาฌาน), ถ้าไม่ทำฌานให้ได้อุปจาระ หรือ อัปปนา (จิตตวิสุทธิ) หรือไม่พร้อมจะได้ฌานอยู่แล้ว(ทิฏฐิจริต, อุคฆฏิตัญญู, วิปจิตัญญู)  จะเปลี่ยนผลัดไปวิปัสสนาได้ยังไงกัน?

รวมความว่า อย่าพูดในเชิงว่า "ไม่จำเป็นต้องทำฌานก็ทำวิปัสสนาได้" พร่ำเพรื่อ โดยไม่ถูกหลักเหตุผล ตามหลักเนตติปกรณ์ ครับ.

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ทำไมบุญกิริยาวัตถุจึงแสดงทานไว้, แต่ไตรสิกขาไม่แสดงทานไว้

ผู้จะเป็นพระอรหันต์ต้องละตัณหาในกามคุณ 5 ทั้งหมด และละตัณหาในภพ 3 ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง.
  • ฆราวาส (ผู้ถือครองเรือน) ต้องให้ทาน เพราะฆราวาสมีตัณหาในเรือน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ มือถือ เงิน ทอง ที่ดิน เป็นต้น. เมื่อฆราวาสได้ให้ทานในบรรพชิต จะเกิดประโยชน์ อย่างน้อย 2 ข้อ คือ 1.ได้สละกามคุณ ๕ ด้วย 2.ได้โอกาสตีสนิทบรรพชิตเพื่อขอฟังธรรมะที่ทำให้พ้นทุกข์ด้วย.
  • ส่วนบรรพชิต (ผู้สละเรือน, ผู้เว้นรอบ) ไม่มีอะไรจะให้ทาน เพราะได้สละ เว้นขาดจากการสะสมแบบฆราวาสแล้ว. ไม่มีอะไรจะให้เป็นทาน ไม่เหลืออะไรติดตัว นอกจากบริขารของสมณะที่ไม่มีใครต้องการ.
ดังนั้น โอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงไว้ชัดเจนว่า "พระพุทธเจ้าทรงแสดงกะบรรพชิตล้วนๆ" จึงไม่แสดงเรื่องทาน เพราะมันไม่มีประโยชน์กับบรรพชิต. ในพระไตรปิฎกก็บอกไว้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ตรัสคำที่ไม่มีประโยชน์กับคนที่ทรงแสดงธรรมให้ฟังอยู่. ถ้าทรงแสดงเรื่องทานให้กับบรรพชิต 1,250 รูป, ก็เท่ากับทรงตรัสสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กะบรรพชิตให้พวกเขาฟัง, ซึ่งนั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้.
แต่ทานยังเป็นประโยชน์แก่ฆราวาส จึงได้แสดงเรื่องทานไว้สำหรับฆราวาส ถึงกับให้เป็นฆราวาสธรรมเลยทีเดียว (จาคะ), ในมงคลสูตรก็แสดงทานไว้ด้วย ก็เพราะเหตุเดียวกันนี้เอง.
ถ้าใครได้เข้าใจแบบนี้เสียแล้ว เมื่อได้ไปอ่านอรรถกถา เจอข้อความว่า "บุญกิริยาวัตถุแสดงกะฆราวาส, ไตรสิกขาแสดงกะบรรพชิต" ก็จะเข้าใจทันทีว่า "ทำไมบุญกิริยาวัตถุจึงมีทาน, แต่ไตรสิกขาไม่มีทาน" ครับ.



วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

อันธปุถุชน กับ กัลยาณปุถุชน ตามอรรถกถา.

(แปลเผด็จ) ปุถุชน 2 อย่างนั้น คือ
1. อันธปุถุชน ได้แก่ ผู้ไม่เคยท่องจำอุทเทส ไม่เคยเล่าเรียนอรรถกถา ไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยทรงจำธรรมะไว้ ไม่เคยพิจารณาธรรมะที่ทรงจำไว้, ธรรมที่ว่านั้น คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เป็นต้น.
2. กัลยาณปุถุชน ได้แก่ ผู้ที่ทำสิ่งเหล่านั้นอยู่.

แปลปกติ ดูที่นี่ http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=1&p=3#อธิบายคำว่า_ปุถุชน

อรรถกถาบาลีต้นฉบับ:

ตตฺถ ยสฺส ขนฺธธาตุอายตนาทีสุ อุคฺคหปริปุจฺฉาสวนธารณปจฺจเวกฺขณานินตฺถิ, อยํ อนฺธปุถุชฺชโนฯ ยสฺส ตานิ อตฺถิ, โส กลฺยาณปุถุชฺชโนฯ (มรมฺม,สุตฺตนฺตปิฏกํ,ทีฆนิกาโย,สีลกฺขนฺธวคฺค-อฏฺกถา ข้อ 7)

นัยยะที่ใช้แปล:
4.1 ยสฺส ขนฺธธาตุอายตนาทีสุ อุคฺคหปริปุจฺฉาสวนธารณปจฺจเวกฺขณานิ นตฺถิ, อยํ อนฺธปุถุชฺชโนฯ ยสฺส ตานิ อตฺถิ, โส กลฺยาณปุถุชฺชโนฯ (ทีฆนิกาโย,สีลกฺขนฺธวคฺค-อฏฺฐกถา จูฬสีลวณฺณนา)
4.2 วาจุคฺคตกรณํ อุคฺคโหฯ อตฺถปริปุจฺฉนํ ปริปุจฺฉาฯ อฏฺฐกถาวเสน อตฺถสฺส สวนํ สวนํฯ พฺยญฺชนตฺถานํ สุนิกฺเขปสุทสฺสเนนธมฺมสฺส ปริหรณํ ธารณํฯ เอวํ สุตธาตปริจิตานํ มนสานุเปกฺขนํ ปจฺจเวกฺขณํฯ (ทีฆนิกาโย,สีลกฺขนฺธวคฺคฏีกา จูฬสีลวณฺณนา)
4.2.1 โส กิร สาสเน ปพฺพชิตฺวา ลทฺธูปสมฺปโท "อสุกฏฺานํ นาม คนฺตฺวา อุทฺเทสํ อุคฺคณฺหาหี"ติ อุปชฺฌาเยน เปสิโต ตตฺถ อคมาสิฯ (ธมฺมปท-อฏฺฐกถา พุทฺธวคฺโค อนภิรตภิกฺขุวตฺถุ)
4.3 อุทฺเทโสติ #ปาฬิวาจนํฯ ปริปุจฺฉาติ ปาฬิยา #อตฺถวณฺณนาฯ (วินยปิฏกํ,มหาวคฺค-อฏฺกถา สทฺธิวิหาริกวตฺตกถา)

วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558

อยากทำบุญ เป็นบาปก็ได้ เป็นบุญก็ได้.

โลภะ คือ ความติดใจ. 

ฉันทะ คือ ความอยากทำ.

โลภะเป็นบาปเท่านั้น, ส่วนฉันทะเป็นบุญ เป็นบาป หรือ เป็นกลางก็ได้.

ฉะนั้น ความอยากทำบุญ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นโลภะเสมอไป ครับ.

-----------อธิบายอีกแบบ--------------

ความอยากกามคุณ ๕
=ฉันทราคะ

ความอยากทำบุญ
=ฉันทกุสละ

ความอยาก (บุญ,ปาป,กลางๆ)
=ฉันทะ

ความติดใจ(เหมือนยางเหนียว,ปาปเท่านั้น)
=ราคะ

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แปลเผด็จบทพิจารณาอาหาร (ปฏิสังขาโย)

#ไม่ใช่เพื่อ...
1 สนุก อร่อย เพลิน 
(กินแล้วก็ชอบถามกันว่าอร่อยไม่อร่อย)
2 มีแรงเล่นสนุก
(กินแล้วก็เล่นกับหมากับแมวไม่ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม)
3 ประดับ
(ก่อนจะกินถ่ายรูปลงเฟซบ้าง เอาไปพูดอวดบ้าง)
4 ตกแต่ง
(อาหารเสริม กลูต้า เป็นต้น ให้ผิวปลั่งใสปิ๊ง)
#แต่เพื่อ...
1 มีชีวิตรอดไปวันๆ
(ไว้ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ บรรลุมรรคผลนิพพาน)
2 ทำกิจวัตรได้
(ใช้ชีวิตทำข้อวัตรที่เกื้อกูลต่ออธิสิกกขาได้ ไม่เป็นง่อย)
3 ไม่ป่วย
(ไม่ปวดท้อง ไม่ขาดสารอาหารตายไปก่อน)
4 ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ
(หิวก็คิดธรรมะไม่รู้เรื่อง อิ่มไปก็หลับ ทำอย่างไรจะพอดี?)

โครงสร้าง: ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร

สุดโต่ง คือ การปฏิบัติที่ไม่ใช่เพื่อพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง ยึดปฏิบัติติดใจในทุกข์บ้าง ปฏิบัติติดใจในสุขบ้าง (อุเบกขาก็นับเข้ากับสุขในที่นี้ด้วย).
ส่วนตรงกลาง คือ ปฏิบัติบุญให้เหมาะต่อการเห็นความจริง คือ อริยสัจ 4 เพื่อพ้นทุกข์ทั้งปวง.

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=10037&Z=10104

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ยุง มด กับการรักษาศีล ปฏิบัติธรรม

ถ้ามีมดบนทางจงกรมที่ต้องกวาด, หรือมียุงมากัด. เราสามารถเป่าออก สลัดออก ปัดออก จับออกได้ ครับ. ไม่มีเจตนาทำร้าย ต่อให้มดตายด้วยความพยายามเอาออกนั้น ก็ไม่ผิดครับ เพราะเจตนาบาปไม่มี อาจเป็นเจตนาบุญรักษาสัปปายะในการเจริญกุศลเสียด้วยซ้ำ และถ้าทำด้วยความเบามือ เพราะเมตตากรุณากลัวมดเจ็บมดตาย ก็เป็นบุญที่ประกอบด้วยพรหมวิหารด้วย เพราะจริงๆ แล้ว ถ้ามดอยู่บนตัวเรา อาจจะเผลอเอามือไปโดนจนตายตอนทำกิจการงานอยู่ก็เป็นได้ (เคยคันโดยไม่รู้ว่ายุงกัด แล้วเกาโดนยุงตายแบบไม่รู้ตัวไหม?).

แต่ถ้าคุณเป็นพระโพธิสัตว์ และคิดว่ามดตัวนั้นจะมีสำนึกในบุญคุณของคุณ จะสละชีวิตเอามดตัวนั้นมาเป็นสาวก (ถ้าคิดว่ามดจะมีสำนึก) ด้วยการปล่อยให้มันกัด อันนี้ก็ลองดูเองนะครับ อันหลังนี่ ก็เป็นบุญเหมือนกัน แต่มันจะได้ผลหรือเปล่า จะเป็นบารมีหรือไม่ อันนี้ต้องลองใช้ปัญญาพิจารณาเอาเอง ครับ.

ส่วนการเลือกใช้ไม้กวาดนั้น ก็ต้องพยายามเลี่ยงไม้กวาดแข็งเช่นทางมะพร้าว เพราะถึงยังไง มดก็ไม่เดินตอนฝนตกใหม่ๆ ครับ. ที่ต้องใช้ไม่กวาดทางมะพร้าว เพราะใบไม้เปียกฝน ดินก็หนักน้ำ ใช้ไม่กวาดดอกหญ้ากวาดไม่ไป. 

แต่ถ้าใบไม้ยังเปียกอยู่ มดเริ่มออกเดินตรงที่แห้งสลับเปียกอยู่แล้ว ก็ให้กวาดเลี่ยงๆ เอาครับ อาจใช้ไม้กวาดขนอ่อนกวาดเฉพาะมดก่อน (เพราะมดตัวเบา) พอมดรู้ว่าถูกกวน หนีไปหมดแล้ว ค่อยเอาทางมะพร้าวกวาดอีกที ครับ.

ถ้าถามว่า ไม่เอาขนอ่อนได้ไหม? ตอบว่า สมัยนี้ ไม้กวาดขนอ่อนหาไม่ยาก ครับ. ครั้งแรกไม่มีอาจจะพออ้าง เอาทางมะพร้าวกวาดได้ ครับ. แต่ครั้งต่อๆไป เมื่อมีโอกาสซื้อขนอ่อนมากวาด แต่ไม่ซื้อ, การไม่ซื้อ จะมารบกวนจิตใจขณะปฏิบัติแล้วครับว่า "เราช่วยมดได้ โดยที่ไม่เสียสัปปายะ แต่เราไม่ช่วย".

วิธีเห็นตามความเป็นจริง (สั้นๆ)

แยกปรมัตถ์จากบัญญัติ และแยกปรมัตถ์ที่ต่างกันออกจากกันได้ จากนั้น เห็นปัจจัยและปัจจยุปบันถูกต้องตรงตามที่มันเป็นไปได้ เพื่อทำให้เห็นไตรลักษณ์ได้ชัดเจน ครับ.

วิเคราะห์ เค็ม (อย่างย่อ แต่ครบกระบวน)

อาศัยสหชาตปัจจัย เกลือจึงเค็ม. รสเค็มสัมผัสกับลิ้นไม่ได้ และลิ้นก็สัมผัสกับรสเค็มไม่ได้ ถ้าไม่อาศัยปฐวี อาโป เตโช วาโย คันธะ สัทธะ โอชา ที่เป็นสหชาตปัจจัย.

จะไปบังคับบัญชาให้เกลือไม่เค็มก็ไม่ได้ เพราะมันเค็มโดยปรมัตถ์ เมื่อกระทบกับกรรมชรูปคือชิวหาปสาทะแล้ว กรรมมีกำลังมาพอจะยังให้ชิวหาวิญญาณเกิดรับรู้รสเค็ม ชิวหาวิญญาณก็จะต้องเกิดมารู้รสเค็มนั้นแน่นอน แม้ใจจะไม่อยากให้เกิดก็ตาม ก็ไม่มีอัตตาใดๆ ไปสามารถห้ามกรรมเก่าได้, แต่อุปนิสสยปัจจัยสามารถเป็นปัจจัยให้ไม่รับรู้รถเค็มได้บ้าง ด้วยปโยคะสมบัติบ้าง ด้วยกรรมอื่นเบียดบังบ้าง เป็นต้น ที่ทำให้กรรมเก่าไม่มีโอกาสให้ผล เช่น ด้วยการหลับ, ทำฌาน เป็นต้น ซึ่งก็ไม่จีรัง เกิดขึ้นด้วยปัจจัยจำนวนมาก เป็นอนัตตา.

ความเค็ม ความเผ็ด เป็นความต่างที่เป็นปรมัตถ์ ก็จริง, จิตที่เข้าไปรับรู้เค็มแต่ละอย่างๆ ก็รับรู้ปรมัตถ์จริงๆ. #แต่ จิตที่รู้ความต่างระหว่างความเค็มกับความเผ็ด, หรือ ความเค็มกับความเค็ม เป็นต้น นั้น, เป็นจิตที่กำลังรู้ #อุปนิธานบัญญัติ อยู่ เพราะมีการเปรียบเทียบความต่างแห่งปรมัตถ์ ซึ่งความต่างนี้ ไม่ใช่ปรมัตถ์ เป็นเพียงสิ่งที่จิตอาศัยการจำปรมัตถ์ได้ แล้วคิดขึ้นมาเท่านั้นเอง.

เมื่อจิตรับรู้ปรมัตถ์และบัญญัติสลับกันอยู่เช่นนี้ แล้วคิดจะกล่าว แสดง บอกให้ผู้อื่นรู้, จิตก็จะคิด #สัททบัญญัติ ขึ้น (ซึ่งไม่ใช่อัตถบัญญัติ). จิตเหล่านั้นเกือบทั้งหมด ก็จะยังวจีวิญญัติ หรือ กายวิญญัติจิตตชรูป ให้เกิดในกายวิญญัติกลาป วจีวิญญัติกลาป ตามสมควร แล้วเปล่งวาจาออกมา เป็นสัททรูป ในสัททกลาป.

จากข้อความข้างต้น จะเห็นได้นะครับว่า ไม่มีสัตว์บุคคลใดๆ ไปรู้รถเค็ม, มีเพียงปัจจัยจำนวนมหาศาล กับ ปัจจยุปบันจำนวนมหาศาล. เกิดดับนับไม่ถ้วนรอบ ทำกิจแต่ละอย่างๆ ของตนเท่านั้น. ความเค็ม การรับรู้รสเค็ม การบัญญัติรสเค็ม เป็นไปโดยอาการดังกล่าวมาทั้งหมดนี้แล.

วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คนบางจำพวก มีปกติมองโลกเลวร้ายเกินไปบ้าง มองโลกดีงามเกินไปบ้าง มีความเห็นสุดโต่ง ไม่ได้มองตามความเป็นจริง.

คนบางจำพวก มีปกติมองโลกเลวร้ายเกินไปบ้าง มองโลกดีงามเกินไปบ้าง มีความเห็นสุดโต่ง ไม่ได้มองตามความเป็นจริง.
 การทำประโยชน์ ไม่ได้ให้ผลแต่ที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ก็เป็นความจริง, การทำโทษ ไม่ได้ให้ผลแต่โทษเท่านั้น ก็เป็นความจริงเช่นกัน, แต่เป็นสิ่งที่ชนบางจำพวกปิดหูปิดตาไม่ยอมรับรู้ และไม่อาจรู้ได้ ถ้ายังมีความคิดสุดโต่งอยู่ดังที่เคยเป็นมาตลอดสังสารจักร.

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คู่ชีวิต (แปลจับใจความปฐมสมชีวิตสูตร)


คู่ชีวิตที่จะอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขจะต้องไม่ทำผิดสัญญาต่อกัน (เช่น สัญญาว่า จะไม่มีเซ็กส์กับคนอื่นนอกจากกันและกัน ก็ต้องไม่มีเลย) และ:
1. มีพฤติกรรมมีข้อปฏิบัติ แนวๆ เดียวกัน
2. มีแนวคิด แนวๆ เดียวกัน
3. มีความเสียสละพอๆ กัน
4. มีความรู้พอๆ กัน

จาก ปฐมสมชีวิตสูตร

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=1642&Z=1669

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ทำไมคนไม่ชอบธรรมะทั้งที่ชีวิตคือธรรมะ‬

(อันนี้เอาแนว ปฏิสัมภิทา 4 มาเป็นบทตั้งขยาย)
-เพราะเหตุผลที่ตรงกับข้อเท็จจริง นั่นแหละ ธรรมะ.
นั่นข้อแรกที่ทำให้ธรรมะฟังยาก, เพราะเหตุของผลมีมากมาย และผลของเหตุก็มีมากมาย, ฉะนั้น การประมวลเหตุและผลมากมายเหล่านั้นให้สอดคล้องกันตามความเป็นจริง จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ใช้เวลานาน.
-ข้อต่อมา คือ เพราะแต่ละคนใช้ภาษาต่างกัน, ทำให้การสื่อเหตุผล (ซึ่งก็คือแสดงธรรมนั่นแหละ) ออกมาเข้าใจได้ยากง่ายต่างกัน ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจเรียนรู้ซึ่งกันและกัน. โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาบาลี หรือ ภาษาต่างชาติ.
นี่ข้อสองที่ทำให้ธรรมะฟังยาก. ซึ่งแก้ได้ด้วยการถามเยอะๆ ฟังมากๆ คิดตามบ่อยๆ.
-ข้อสุดท้าย คือ ปฏิภาณไหวพริบของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน การใช้เวลาทำความเข้าใจเหตุผลและภาษาเหล่านั้น จึงมากน้อยต่างกัน. ยิ่งเหตุผลซับซ้อน ก็ยิ่งต้องใช้เวลามากขึ้นไปเรื่อยๆ และต้องใช้กำลังปัญญามากขึ้นเรื่อยๆ.
นี่คือข้อสุดท้าย, ก็ต้องอาศัยบุญเก่าและการฝึกฝนเป็นประจำ เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะการใช้เหตุผลให้ตรงตามความเป็นจริง.
เหตุผลเหล่านี้ ทำให้เราเลือกจะปฏิเสธธรรมะ เพราะฟังไม่เข้าใจเหตุผล และฟังไม่เข้าใจภาษา เสียเวลาหาความสุขในแบบชาวโลก.
แล้วพอมีความทุกข์ในแบบชาวโลกตามมา (ซึ่งมีมาเยอะกว่าสุขแน่ๆ), ตอนนั้นแหละถึงจะรู้สึกว่า "จำเป็นต้องพึ่งธรรมะ".

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

[(ทุกข์>ทุกขอริยสัจจ์>ทุกขเวทนา)=ปรมัตถ์] ≠ (อัตถบัญญัติ=ทุกขลักษณะ) (อธิบายใหม่อีกครั้ง)

ทุกข์ คือ ขันธ์ 5 ทั้งหมด ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ.
ทุกขอริยสัจ คือ โลกิยขันธ์ 5 ทั้งหมด.
ทุกขลักษณะ คือ ลักษณะบีบคั้นตั้งอยู่ไม่ได้ของโลกิยขันธ์ 5 ที่จิตประมวลขึ้นจากความเป็นไปของขันธ์ 5 ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ.
ทุกขเวทนา คือ ส่วนหนึ่งของโลกิยขันธ์ 5 (เป็นหนึ่งในสังขารขันธ์).
โลกิยขันธ์ 5 คือ ขันธ์ 5 ที่ตัณหายังไปติดใจได้อยู่ทั้งหมด.
โลกุตตรขันธ์ 5 คือ ขันธ์ 5 ที่ตัณหารู้ไม่ถึง รับไม่ได้.

-โลกิยทุกข์ ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างเดียวกัน
-โลกิยทุกข์ ทุกขอริยสัจ ทุกขเวทนา เป็นปรมัตถ์ ต้องทำปริญญา 3
-ทุกขลักษณะ เป็นอัตถบัญญัติ ต้องทำญาตปริญญาอย่างเดียว ไม่ต้องทำตีรณปหานปริญญา. แต่เวลาทำตีรณปหานปริญญาในทุกข์ ก็ต้องใช้ทุกขลักษณะนี่แหละกำหนดทุกข์ คือ จะเกิดการเบื่อหน่ายทุกข์ ก็ต้องอาศัยทุกขลักษณะ.
-โลกุตตรขันธ์ ไม่ต้องทำตีรณปหานปริญญา ทำญาตปริญญาอย่างเดียว เพราะตัณหาไม่รู้จัก ไม่สามารถยึดติดให้มีภพชาติต่อๆ ไปได้.

ในพระไตรปิฎก จะมีใช้หลากหลายมากกว่านี้อีก ให้สังเกตบริบทเอา หรือ ถ้าชอบความรวดเร็ว ก็ลัดไปอ่านอรรถกถาก็ได้ ถ้าตรงนั้นท่านไม่เคยอธิบายไปแล้ว ก็จะมีบอกไว้ ครับ, แต่ถ้าไม่บอกไว้ แสดงว่าท่านอธิบายไว้ในที่อื่นแล้ว ก็ต้องหาเอา.

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ศีลเป็นบุญเท่านั้น แต่มีกิเลสก่อนและหลังได้ จึงสมาทานศีลได้เลยไม่ต้องกลัวบาป.

จิตที่รักษาศีล ไม่เคยเป็นกิเลส เป็นบุญเท่านั้น, แต่จิตก่อนจะรักษา และหลังรักษา อาจเป็นกิเลสได้.

ตัวอย่าง: เช่นอยากให้คนชม(กิเลส) เลยตั้งใจถือศีล(บุญ) หลังจากนั้นพยายามรักษาศีล แต่ใจก็อยากทานข้าว คิดถึงแต่โรงอาหาร(กิเลส) เป็นต้น.

ฉะนั้น สมาทานศีลกันไปเถอะครับ อย่ากลัวบุญกันเลย.

วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

อศาสนิก แปลว่า ผู้ไม่เอาคำสอน

อศาสนิก แปลว่า ผู้ไม่เอาคำสอน.

ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีใครสั่งใครสอน,
แต่หมายความว่า ถึงมีคนสอน และเขาก็เผลอเอามาใช้มากมาย แต่เขาไม่มีกตัญญูรู้บุญคุณว่ามีคนสอน. เขาไม่เคยมองเห็นความเชื่อที่ตนเองเคยมีเหล่านั้น, และก็ยังคงมีอยู่.

พระสารีบุตรเอง แม้จะเคยบอกว่า ท่านเองไม่จำเป็นต้องเชื่อพระพุทธเจ้า, แต่ท่านก็สรรเสริญความเชื่อที่เป็นบุญไว้มากมายในตำราของท่าน เพราะท่านมีความกตัญญูต่อกุศลศรัทธาที่ทำให้ท่านมีปัญญาขึ้นมาได้.

ต่างจากพวกอศาสนิกส่วนมาก ที่แสดงตัวเป็นพวกอเหตุกวาทะ (รู้เองลอยๆ ทุกอย่าง) นึกอยากจะยอมรับก็ยอมรับ นึกอยากจะปฏิเสธก็ปฏิเสธ เนรคุณผู้ให้ความรู้ ไม่มีจรรยาบรรณ ไม่มีวินัยใดๆ.
ที่โพสต์มานี้ ก็เพื่อให้ระวังตัว อยู่ให้ห่างอศาสนิก ซึ่งเป็นคนคนเนรคุณ อกตัญญู อกตเวทีให้มาก ครับ. คนพวกนี้ ฆ่าได้ฆ่า, ลักได้ลัก, ชู้ได้ชู้, โกหกด่าว่าได้ก็ทำ, สุราก็อาจจะร่ำเป็นนิจ เพราะเขาไม่เคยเห็นโลงศพ แม้โลงจะตั้งอยู่ข้างหน้าแล้วก็ตาม. พวกที่สนทนากับคนพวกนี้ ก็อาจจะเป็นเหยื่อรายต่อไป ครับ.

เพราะการไม่ยึดติดเป็นบาป ให้โทษก็มี, ฉะนั้นเด็กทารกจึงไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์

ยึดติด = โลภะ (โทษมากกว่าคุณ)
ไม่ยึดติดเพราะหลง = โมหะ (โทษมากกว่าคุณ)
ไม่ยึดติดเพราะเข้าใจ = ปัญญา (คุณมากกว่าโทษ)
ไม่ยึดติดเพราะโกรธ = โทสะ (โทษมากกว่าคุณ)

จะเห็นว่า ไม่ยึดติดแบบเด็กๆ ส่วนมากเป็นโมหะ, ให้ผลเป็นทุกข์ เพราะจับไฟบ้าง, ล้มบ้าง, โดนแกล้งบ้าง, ทุกข์ปางตายบ้าง,ถึงตายบ้าง.

ส่วนคนมีปัญญา พอจะเป็นผู้ใหญ่ จะมองเห็นสังขารตามความเป็นจริงว่า สังขารทั้งปวงล้วนมีปัจจัยและปัจจยุปบันมากมาย, คนที่รู้จักกรอบเหล่านั้นดี ก็คาดการณ์อนาคต และเลือกทางเลือกที่ดี เหมาะควรแก่ผลดีๆ ได้มากเท่าที่ความรู้ตัวเองมี. กรอบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ หรือเทพเจ้าตนใดสร้างขึ้น. ไม่ได้เกิดขึ้นจากศาสนาใดๆ. เป็นเพียงธรรมชาติตามสภาพของสังขารธรรมเท่านั้น.

ฉะนั้น พวกคิดแต่จะไม่ยึดติด ไม่เลือกว่าจะเป็นจิตแบบใด บาปก็ไม่รู้บุญก็ไม่รู้ ก็จะเป็นเด็กต่อไป. ส่วนคนที่รู้จักกรอบของสังขาร ไม่ยึดติดเพราะเข้าใจกรอบปัจจัยปัจจยุปบันของสังขารเป็นอย่างดี เขาก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ ครับ.

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

สํ.นิ. อุปายสูตร แปลอธิบายใหม่

มัชฌิมปัณณาสก์
อุปายวรรคที่ ๑
๑. อุปายสูตร (ตัวหน้าบรรทัดบนถูกขยายเป็นตัวหนาบรรทัดล่าง, ตัวเอียงก็นัยนี้, ในวงเล็บ คือ เอาสูตรนี้มาสัมพันธ์กันเอง)
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นความหลุดพ้นและไม่หลุดพ้น
[๑๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า...
[อุทเทส-หัวข้อ]
ดูกรภิกษุทั้งหลาย 1. ความเข้าถึงเป็นความไม่หลุดพ้น 2.ความไม่เข้าถึงเป็นความหลุดพ้น.
[นิทเทส-ขยายหัวข้อ]
1.ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อวิญญาณที่เข้าถึงรูปตั้งอยู่ มีรูปเป็นอารมณ์ตั้งอยู่ มีรูปเป็นที่ตั้ง ตั้งอยู่ มีความยินดี(ความกำหนัด)เป็นที่เข้าไปซ่องเสพตั้งอยู่ ก็พึงตั้งอยู่ได้ พึงถึง(การมา การไป จุติ อุปบัติ และ)ความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ ฯลฯ เมื่อวิญญาณที่เข้าถึงสังขารตั้งอยู่ มีสังขารเป็นอารมณ์ตั้งอยู่ มีสังขารเป็นที่ตั้งตั้งอยู่ มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพตั้งอยู่ ก็พึงตั้งอยู่ได้ พึงถึง(การมา การไป จุติ อุปบัติ และ)ความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้.
(อนุสนธิเชื่อมระหว่างข้อ 1 กับ 2 เพื่อขึ้นข้อ 2 ในย่อหน้าถัดไป)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เราจักบัญญัติการมา การไป จุติ อุปบัติหรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร(ที่แสดงว่าเป็นอารมณ์ไว้ในย่อหน้าก่อน)” ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ (เพราะ “เมื่อวิญญาณที่เข้าถึงรูปตั้งอยู่ มีรูปเป็นอารมณ์ตั้งอยู่ มีรูปเป็นที่ตั้ง ตั้งอยู่ มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพตั้งอยู่ ก็พึงตั้งอยู่ได้ พึงถึง(การมา การไป จุติ อุปบัติ และ)ความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ ฯลฯ”). 
2.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัด(ความยินดี)ในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี (เพราะ ‘เมื่อวิญญาณที่มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ[รูปเป็นต้นที่เป็นอารมณ์]ตั้งอยู่ วิญญาณนั้นก็พึงตั้งอยู่ได้’). วิญญาณอันไม่มีที่ตั้ง ไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น ภิกษุนั้น ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

การชอบพูดไม่ตรงตามตำราดั้งเดิม ทำให้ศาสนาเสื่อม

สมัยพระเจ้าอโศกมีศาสนาพุทธเถรวาทนิกาย 18 นิกาย ที่พยายามตีความคำบาลีเอาเองตามใจเจ้าลัทธิ. นั่นทำให้มรรคผลเสื่อมจากนิกายเหล่านั้นทั้งหมด และตำราในนิกายเหล่านั้น ก็สูญหายไปตามกาลเวลา. คงเหลือแต่เถรวาทดั้งเดิมที่รักษากันมาในมหาวิหารนี่แหละครับ. #ขลังนะ


สมัยนี้ก็มีคนส่วนมากที่พยายามลบหลู่ดูหมิ่นความขลังของวิธีการรักษาศาสนาแบบโบราณสองพันปีเกินครึ่งนี้อยู่เหมือนกัน พยายามบิดเบือนบาลี คิดเองเดาเอง, มรรคผลก็จะหมดไปจากคนเหล่านั้น ตำราใดๆ เขาก็จะรักษาไม่ได้เลยเช่นกันกับ 18 นิกายนั่นแหละครับ.

อ่าน อรรถกถาอันตรธาน 3:
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14.0&i=234&p=2

ประสบการณ์ 10 ปีที่อินเตอร์เน็ตสอนผมมา‬, ผู้ปริยัติ vs ผู้ปฏิบัติ ที่มีวิปปฏิสาร.

‪#‎ผู้ปฏิบัติ‬ บางท่านเกิด "วิปปฏิสาร (กุกฺกุจฺจ)" 
เมื่อมีคนกล่าวทำนองว่า "ท่านไม่ได้ปริยัติเล่าเรียน", 

และ ‪#‎ผู้ปริยัติ‬ บางท่านเกิด "วิปปฏิสาร" 
เมื่อมีคนกล่าวทำนองว่า "ท่านไม่ได้ปฏิบัติฝึกฝน".

วิปปฏิสารนี้เกิดร่วมกับโทสะที่ชอบประทุษร้ายสิ่งที่ตนรับรู้,
จะนำมาซึ่งปิสุณาวาจา และผรุสวาจา 
นำมาซึ่งอกุศลกรรมบถจำนวนมาก.

บางคนวิปปฏิสารกำเริบ เสียดสีให้เจ็บแสบ,
บางคนวิปปฏิสารกำเริบ ยุยงให้คนในกลุ่มแตกแยกบ้าง.

น้อยคนที่จะย้อนมาดูตัวเองว่า "จริงอย่างที่เขาว่าไหม?" 
น้อยคนที่พยายามแก้ไขตัวเองเมื่อพลาด.

----------------------------------

ในบรรดาคนที่เกิดวิปปฏิสาร มี 2 แบบ คือ 
พวกที่พยายามเจริญวิปปฏิสาร กับ พวกที่พยายามกำจัดวิปปฏิสาร. 

พวกที่เจริญวิปปฏิสาร จะพยายามยืนยันสิ่งที่ตนสนับสนุนว่าถูก สิ่งอื่นผิด. 
ส่วนผู้ที่พยา่ยามกำจัดวิปปฏิสาร จะพยายามหาความเป็นจริงจากสภาวะปัจจัยปัจจยุปบัน ครับ.

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

สาวกทำได้แต่วิปัสสนาที่เป็นสุตมยปัญญาเท่านั้น, ไม่สามารถทำวิปัสสนาที่เป็นจินตามยปัญญาได้

ข้อความจากอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ญาณวิภังค์ ติกนิทเทสว่า: 
ก็จินตามยปัญญานั้น ย่อมไม่เกิดแก่บุคคลพวกใดพวกหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้นแก่พระมหาสัตว์ทั้งหลาย ผู้รู้ยิ่งเท่านั้น. สัจจานุโลมิกญาณแม้ในที่นี้ ก็ย่อมเกิดแก่พระโพธิสัตว์ทั้งสอง (ทฺวินฺนํเยว โพธิสตฺตานํ) เท่านั้น.
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=35.0&i=795&p=2

อนึ่ง บทความนี้ กำลังพูดจึงจินตามยปัญญาข้อที่ 2 ของจินตามยปัญญาในเนตติปกรณ์ ที่แสดงไว้ 2 อย่าง คือ:
1. จินตามยปัญญา ที่เกิดหลังจากที่ได้สุตมยปัญญาจากการฟังพระพุทธเจ้าเป็นต้นแล้ว.
2. จินตามยปัญญา ที่เกิดเองล้วนๆ ไม่ได้ฟังใครเลย.

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

สงสัย ดีหรือไม่ดี?

อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้โดยปกตูปนิสสยปัจจัย ครับ.
ความสงสัยมีอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว มันคอยทำให้เราไม่แน่ใจ ตัดสินใจไม่ได้ ตัดสินใจผิด คิดผิด ทำอกุศลต่างๆ นาๆแทางกายวาจาใจ, เพียงแต่จะมีบัณฑิตให้เราได้สอบถาม ทบทวน ทำความเข้าใจ แล้วกำจัดความสงสัยเหล่านั้นหรือเปล่า เท่านั้นเอง.
ฉะนั้นคามสงสัยนั้นไม่ดีแน่นอน ครับ, แต่การสอบถาม เล่าเรียน เพื่อแก้ความสงสัย ขจัดความสงสัยนั้น เป็นกุศล เป็นปัญญา เป็นสิ่งที่ดี ครับ.

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

วิปัสสนาเหมือนการไปรบ สมถะเหมือนค่ายพักรบ

จากพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฉบับ มหามกุฏ

ก็พระโพธิสัตว์นั้นมีสมาธิบ้าง ตรุณวิปัสสนาบ้าง เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นตั้งวิปัสสนาประทับนั่งนานเกินไป พระวรกายย่อมลำบาก ย่อมร้อนดุจไฟในภายใน พระเสโททั้งหลายย่อมไหลออกจากพระกัจฉะ ไออุ่นจากพระเศียรเป็นดุจเกลียวตั้งขึ้น พระหฤทัยย่อมเดือดร้อน กระสับกระส่าย เป็นจิตฟุ้งซ่าน.

แต่พระโพธิสัตว์นั้นทรงเข้าสมาบัติแล้ว บริกรรมสมาบัตินั้น ทำให้อ่อนทรงเบาพระหฤทัย ทรงตั้งวิปัสสนาอีก ก็เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นประทับนั่งนานนัก พระวรกายก็เป็นอย่างนั้น. ก็พระโพธิสัตว์นั้นทรงเข้าสมาบัติแล้ว ทรงกระทำอย่างนั้น เพราะสมาบัติมีอุปการะมากแก่วิปัสสนา. 

เปรียบเหมือน ธรรมดาโล่มีอุปการะมากแก่ทหาร ทหารนั้นอาศัยโล่นั้นเข้าสงคราม ครั้นเมื่ออาวุธทั้งหลายที่ใช้การรบรวมทั้งเหล่าช้าง เหล่าม้าและเหล่าทหารในสงครามนั้น หมดไป คงมีแต่ความเป็นผู้ใคร่จะบริโภคเป็นต้นเท่านั้น กลับแล้วเข้าไปยังค่ายพักแล้ว จับอาวุธทั้งหลายบ้าง ทดลองบ้าง บริโภคบ้าง ดื่มน้ำบ้าง ผูกสอดเกราะบ้าง ทำกิจนั้นๆ แล้วเข้าสงครามอีก หรือทำการรบในสงครามนั้น เกิดปวดอุจจาระเป็นต้นเข้าไปค่ายพัก ด้วยกิจอันควรทำบางอย่างอีก ครั้นทำธุระเสร็จในค่ายพักนั้นแล้วก็เข้าสงครามอีก. 
สมาบัติมีอุปการะมากแก่วิปัสสนา เหมือนค่ายพักมีอุปการะมากแก่ทหารฉะนั้น. 

อนึ่ง วิปัสสนามีอุปการะแก่สมาบัติมากกว่าค่ายพักของทหารที่ประสงค์จะระงับสงคราม. 

จริงอยู่ พระโพธิสัตว์ทรงอาศัยสมาบัติ เจริญวิปัสสนาแม้ก็จริง แต่วิปัสสนามีกำลังย่อมรักษาแม้สมาบัติ กระทำสมาบัติให้เกิดกำลัง. ก็ชนทั้งหลายย่อมทำเรือในทางบกบ้าง สินค้าในเรือบ้างให้เป็นภาระของเกวียน แต่ถึงน้ำแล้วย่อมทำเกวียนบ้าง สินค้าในเกวียนบ้าง โคเทียมเกวียนบ้างให้เป็นภาระของเรือ เรือตัดกระแสทางขวางแล่นไปสู่ท่าโดยสวัสดีฉันใด วิปัสสนาอาศัยสมาบัติย่อมเป็นไปแม้โดยแท้ แต่วิปัสสนามีกำลังย่อมรักษาแม้สมาบัติ ย่อมทำสมาบัติให้เกิดกำลังฉันนั้นเหมือนกัน. ก็สมาบัติเปรียบเหมือนเกวียนถึงบก วิปัสสนาเปรียบเหมือนเรือถึงน้ำ. กาลเวลาในการอาศัยสมาบัติแล้วตั้งวิปัสสนาของพระโพธิสัตว์ ท่านแสดงแล้วด้วยประมาณเท่านี้ด้วยประการดังนี้.


วิธีดูจิต

แปลเผด็จอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร อุทเทสของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานว่า: 

อธิบายจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอุทเทสก่อน. ผู้ปฏิบัติต้อง...
  1. ตามเห็นอารมณ์ อธิบดี สหชาต ภูมิ กรรม วิบาก กิริยา เป็นต้นด้วย, และต้อง 
  2. ตามเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นด้วย, และ 
  3. ต้องตามเห็นตามที่แสดงไว้ในนิทเทสของมหาสติปัฏฐานสูตร มีความเป็นสราคะธรรม (จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ) เป็นต้น ด้วย.
บาลี:
จิตฺตํ ตาว อารมฺมณาธิปติสหชาตภูมิกมฺมวิปากกิริยาทินานตฺตเภทานํ อนิจฺจาทิอนุปสฺสนานํ นิทฺเทสวาเร อาคตสราคาทิเภทานญฺจ วเสน อนุปสฺสิตพฺพํฯ

ป.ล. แปลตามฏีกาของพระธัมมปาลาจารย์ ผู้เรียบเรียงอรรถกถาขุททกนิกายหลายคัมภีร์.

คนที่พูดไม่ถูกหูเรา ไม่จำเป็นต้องพูดด้วย อกุศล เสมอไป

คนที่พูดไม่ถูกหูเรา ไม่จำเป็นต้องพูดด้วย อกุศล เสมอไป ครับ. เหมือนพ่อแม่, เหมือนสหธรรมิก, หรือ พระบางรูป. ท่านก็ไม่ได้มีจิตคิดร้ายต่อเด็กน้อยอย่างเรา. แต่บางเรื่องท่านก็ต้องพูดทั้งที่รู้ว่าไม่ถูกหูเรา เพราะปรารถนาดีกันเราเอง. และคนบางคนก็อาจถูกเลี้ยงดูมาในสภาวะแวดล้อมที่ใช้คำพูดแบบนั้นเป็นคำธรรมดา ไม่ใช่คำด่าก็เป็นได้ครับ.

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558

ชื่อญาณที่วิสุทธิมรรคเอามาจากปฏิสัมภิทามรรคตั้งจากผลปรากฎของภาวนา, ไม่ใช่ชื่อที่แสดงข้อปฏิบัติ.

ชื่อญาณที่วิสุทธิมรรคเอามาจากปฏิสัมภิทามรรคตั้งจากผลปรากฎของภาวนา, ไม่ใช่ชื่อที่แสดงข้อปฏิบัติ.

ซึ่งผู้ที่เข้าใจผิดบางท่าน ก็จะเอาชื่อญาณมาแปล แล้วก็จะเอาไปปฏิบัติเลย เช่น:-

ข้อความในอุทเทส (ส่วนสารบัญหัวข้อสำหรับท่องจำ) มีอยู่ว่า:

ปจฺจุปฺปนฺนานํ ธมฺมานํ วิปริณามานุปสฺสเน ปฺา อุทยพฺพยานุปสฺสเน าณํฯ
สภาพที่เข้าใจ(ชัดเจนโดยนัยยะต่างๆ)ในการตามเห็นความแปรปรวนของปัจจุบันธรรม, เรียกว่า อุททยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณตามเห็นความเกิดความดับ)

คนที่ไม่รอบคอบ ก็จะคิดว่า "ก็ตามดูขันธ์ทุกอิริยาบถไง ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ได้ญาณนี้". ซึ่งไม่ปรากฎในนิทเทส (ส่วนอธิบายขยายความ) ของญาณนี้เลย. นั่นก็เพราะชื่อของญาณนี้ และคำจำกัดความที่ยกมาข้างต้นจากอุทเทส กำลังสื่อถึงจุดสุดยอดที่จะได้เมื่อปฏิบัติตามข้อความในนิทเทสที่ยังไม่ได้ยกมาแสดงในอุทเทสที่ยกมานี้ ไม่ใช่ชื่อที่แสดงข้อปฏิบัติ. แต่คนอ่าน ก็ตีความไปก่อนเองแล้วว่า แค่อุทเทสนี่แหละข้อปฏิบัติ เพราะอ่านข้อความในส่วนขยาย คือ นิทเทสแล้วไม่เข้าใจนั่นเอง.

บางคนตีความย้อนยอกตำราไปอีกว่า ก็ดูอิริยาบถ ดู กาย ดูจิตไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เห็นอวิชชาตัณหา กรรม อาหาร เป็นต้น ที่เป็นเหตุของอุปาทะขณะของรูป เป็นต้น เองแหละ. กลายเป็นเอาเหตุไปเป็นผล เอาผลไปเป็นเหตุ. กลายเป็นเหมือนเรือที่จะวิ่งเข้าฝั่งโน้นดีๆ ตามคำสอนในตำรา ก็พลิกกลับมาเข้าฝั่งนี้ อยู่ในวัฏฏะต่อไปอีกเหมือนเดิม.

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

มิจฉาทิฏฐิ เทียบกับ ปัญญา

องค์ของมิจฉาทิฏฐิมี 2 ข้อ คือ
  1. วตฺถุโน จ คหิตาการวิปรีตตา, ความผิดเพี้ยนแห่งปัจจยาการของวัตถุที่โลภะยึดไว้, หรือ ความผิดเพี้ยนแห่งอาการของโลภะที่เข้าไปยึดวัตถุไว้.
  2. ยถา จ ตํ คณฺหาติ ตถาภาเวน ตสฺสุปฏฺฐานํ, โลภะยึด(วัตถุผิดๆ)ไว้แบบไหน, มิจฉาทิฏฐิก็เข้าไปตั้งมั่นด้วยอาการอย่างผิดๆ แบบนั้น (ในวัตถุนั้นที่ปรากฎชัดแบบผิดๆกับทิฏฐิเองไว้ ว่า "ที่เราเข้าใจเท่านั้นเป็นจริง, นอกจากนี้ไม่ใช่ ไม่จริง ไม่ถูก").
จาก คำขยายของฏีกาที่ว่า "ที่เราเข้าใจเท่านั้นเป็นจริง, นอกจากนี้ไม่ใช่" ก็ไปสอดคล้องกับอรรถะของปัญญาที่ว่า "ปชานนา ปญฺญา (การเข้าใจความจริงต่างๆ คือ ปัญญา)" เพราะมิจฉาทิฏฐิ เข้าใจสิ่งที่ผิดไว้อย่างเดียว แล้วร่วมมือกับโลภะยึดเอาไว้, ส่วนปัญญานั้น เข้าใจสิ่งที่ถูกต้องทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ 6 เท่าที่สามารถ ตามความเป็นจริงซึ่งมีหลายอย่างต่างๆ กันไป.

---------------------------------------------------------
อนึ่ง, จริงๆ แล้ว ฏีกา โยคมิจฉาทิฏฐิเข้ามาในข้อแรกเลย ทำให้บางคนอาจจะงงว่าผมแปลขัดกับฏีกาหรือเปล่า, ซึ่งอันที่จริงไม่ได้ขัดกัน. 
แต่ที่ผมโยคเอาโลภะ เพราะ...
  1. เพราะทิฏฐิเจตสิกไม่ได้มีสภาพยึดติด (คหิต แปลตรงกับ อุปาทาน ซึ่งองค์ธรรม ได้แก่ โลภะ ไม่ใช่ ทิฏฐิ), ถ้าโยคเอาทิฏฐิเจตสิกเข้ามา ก็จะผิดลักขณาทิจจตุกะของทิฏฐิเอง และเกิดความสับสนระหว่างทิฏฐิ โลภะ และจิตด้วย. 
  2. อีกอย่างคือเพราะพระโสดาบันแม้ไม่มีทิฏฐิ แต่ก็ยังมีวิปลาสอยู่ ถ้าโยคเอาทิฏฐิเจตสิกเข้ามาในข้อแรกนี้เลย พระโสดาบันก็จะกลายเป็นผู้มีทิฏฐิเจตสิกด้วย. 
  3. และอีกอย่าง คือ เพราะองค์กรรมบถข้ออื่น เช่น ปาณาติบาต เป็นต้น จะไม่มีตัวองค์ธรรมอยู่ในองค์แรกเลย แต่จะแสดงอารมณ์ของปาณาติบาตก่อน เพราะถ้ามี องค์ข้อที่เหลือก็หมดประโยชน์ทันที. 
  4. และอย่างสุดท้าย คือ เพราะในอรรถกถาไม่ได้โยคไว้ให้ตรงๆ. 

ด้วยเหตุผล 4 ข้อนี้ จึงไม่เห็นมิจฉาทิฏฐิในคำแปลข้อแรกที่ผมแปล. แต่ทั้งผมและฏีกา ไม่ได้ขัดกัน เพราะจะโยคเจาะจงมิจฉาทิฏฐิในข้อแรกเลย หรือ จะโยคโลภะมาก่อน, แต่เมื่อรวมองค์ทั้ง 2 ข้อแล้ว ก็ได้เป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ดี ครับ. 
แต่ฏีกาโยคมิจฉาทิฏฐิมา ก็เพื่อให้ครบรูปประโยคที่ควรจะเป็น ไม่ให้นักศึกษาโยคเองผิดพลาด, เป็นการบอกว่า "ความผิดเพี้ยนของวัตถุนี้ ต้องถือเอาด้วยมิจฉาทิฏฐิเท่านั้นนะ จึงจะเป็นวัตถุของมิจฉาทิฏฐิ ถ้าถือเอาด้วย โลภะ หรือ ด้วยจิตเฉยๆ ยังไม่แน่ว่าจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ". 
ส่วนผมไม่ได้โยค เพื่อที่จะรักษารูปบาลีในอรรถกถาไว้ และเพื่อที่จะแสดงว่า "จิตตวิปลาสไม่จำเป็นต้องมีทิฏฐิวิปลาสเกิดร่วมเสมอไป" เพราะโลภะก็ยึดผิดจากปัจจยาการโดยปราศจากทิฏฐิได้ (จิตตวิปลาส, สัญญาวิปลาส ของพระเสกขบุคคล), และเพราะจิตก็รับรู้ผิดจากที่บัญญัติกันได้ เช่น ฏีกาบอกว่าอนุสัยเป็นอวิชชมาน เพราะมุ่งหมายเอาอนุสัยในขณะที่กุศลปหานอยู่, ส่วนอรรถกถาบอกว่า อนุสัยเป็นสังขต เพราะมุ่งหมายเอาอนุสัยที่กำลังปริยุฏฐิตะอยู่ เป็นต้น. อีกประการหนึ่ง ที่ไม่โยคมิจฉาทิฏฐิมาให้เลย ก็เพื่อให้ไม่เข้าใจผิด (อย่างที่มักจะเข้าใจกัน) ว่า "การรับรู้ข้อมูลมาผิด จะต้องเป็นมิจฉาทิฏฐิเสมอไป", แต่แท้ที่จริงแล้ว แม้จะรับรู้ข้อมูลมาผิดจากหลักปัจจยาการ แต่ไม่ได้ตัดสินใจว่า "ที่เราเข้าใจนี้แหละที่เป็นจริง, ไม่มีทางเป็นอื่นจากนี้ (เอวเมตํ, น อิโต อญฺญถา)" ก็ยังไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ. หรือแม้ตัดสินใจว่า "ที่เราเข้าใจนี้แหละที่เป็นจริง, ไม่มีทางเป็นอื่นจากนี้ (เอวเมตํ, น อิโต อญฺญถา)" แต่สิ่งที่เข้าใจนั้นคล้อยตามปฏิจจสมุปบาท, และสิ่งที่เราปฏิเสธนั้น ก็ผิดจากปฏิจจสมุปบาทจริงๆ อย่างนี้ก็เป็นสัมมาทิฏฐิได้เช่นกัน ไม่จำเป็นว่าวัตถุผิดแล้วจะต้องเป็นมิจฉาทิฏฐิเสมอไป ครับ. ต้องดูตามความเป็นจริงโดยสภาวะ (ตามลักขณาทิจจตุกะ) และ โดยปัจจยาการ (ปัจจัยปัจจยุปบัน) จึงจะสรุปได้ว่า อะไรเป็นสังขต และอะไรไม่ใช่. นี่แหละที่เรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะระดับญาตปริญญา (สัมมาทิฏฐิที่เห็นอย่างชำนาญตามความเป็นจริงโดยปัจจัตตลักษณะ) ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เห็นความเกิดดับ (เพราะปัจจัยเกิด สังขตก็เกิด, ปัจจัยหมด สังขตก็หมด) ที่จะต้องใช้ในตีรณปริญญาต่อไปในวิสุทธิขั้นที่สูงกว่า. 

(ปาถิกวคฺคฏีกา: คหิตาการวิปรีตตาติ มิจฺฉาทิฏฺฐิยา คหิตาการวิปรีตภาโวฯ วตฺถุโนติ ตสฺส อยถาภูตสภาวมาหฯ ตถาภาเวนาติ คหิตากาเรเนว วิปรีตากาเรเนวฯ ตสฺสทิฏฺฐิคติกสฺส, ตสฺส วา วตฺถุโน อุปฏฺฐานํ, "เอวเมตํ น อิโต อญฺญถา"ติฯ, นิทานวคฺคฏีกา: วตฺถุโนติ คหิตวตฺถุโนฯ คหิตาการวิปรีตตาติมิจฺฉาทิฏฺฐิยา คหิตาการสฺส วิปรีตตาฯ ตถาภาเวนาติ อตฺตโน คหิตากาเรเนว ตสฺสาทิฏฺฐิยา, คหิตสฺส วา วตฺถุโน อุปฏฺฐานํ "เอวเมตํ, น อิโต อญฺญถา"ติฯ )

โครงสร้าง อนุราธสูตร

ตอนต้นของสูตร แสดงเหตุปรารภให้พระพุทธเจ้าตรัสตัวสูตรแท้ๆ ที่แสดงกับพระอนุราธะ ครับ. 

ซึ่งตอนต้นนั้น อรรถกถาบอกไว้ประมาณว่า ทั้งอัญญเดียรถีย์ และ พระอนุราธะ ล้วนไม่ได้รู้จริงทั้งคู่ พระอนุราธะพูดเพื่อให้ตรงกันข้ามกับเดียรถีย์, เดียรถีย์เองก็แค่พูดเพื่อเอาชนะ.

ฉะนั้น พระพุทธเจ้า ทรงอาศัยเหตุที่พระอนุราธะกำลังสนใจในเรื่อง "พระตถาคตจะเกิดอีกไหม?" นี่เองมาแสดงวิปัสสนา ให้พระอนุราธะบรรลุธรรม.

พอแสดงธรรม จึงแสดงการเพิกสัตว์บุคคล ให้เห็นว่าไม่มีสัตว์บุคคลอยู่ตรงไหนเลย (เพราะการเกิดชาติใหม่ เว้นศาสนาพุทธแล้ว ศาสนาอื่น ถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลไปเกิด, การเกิดของคนนอกศาสนานั้น ไม่ใช่เพียงแต่ธาตุขันธ์ที่ถึงพร้อมด้วยปัจจัยและธาตุขันธ์ที่หมดปัจจัยอย่างที่อธิบายในปัจจยปริคคหญาณขึ้นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทในศาสนาพุทธ) ทรงทำลายสักกายะทิฏฐิ 20 แสดงให้เหลือเพียงขันธ์ 5 ก่อน, ต่อมาก็ยกขันธ์ 5 เพียวๆ ที่ไม่มีความเข้าใจว่ามี ว่าเป็น สัตว์บุคคลอยู่แล้ว ที่กำลังเป็นอารมณ์ของพระอนุราธะนั่นแหละ สู่ไตรลักษณ์ ครับ.

อนึ่ง สูตรนี้ฉบับสยามรัฐแปลผิดไปจากบาลี. ฉบับมหาจุฬา(ลิงก์)แปลตรงบาลี ครับ. แต่โดยอรรถะ ก็ความหมายเดียวกัน ครับ. คือ ในพระไตรปิฎก ถ้าพวกนอกศาสนามีการพูดถึงการเกิดการตายข้ามภพชาติ เขาก็พูดมาจากสักกายทิฏฐิสหคตจิตกัน ครับ.

เป็นอันจบสูตรนี้, รายละเอียดอ่าน อรรถกถาที่ลิงก์นี้:
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=208

วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

อธิบายความต่างของนิพพาน และ บัญญัติ (ลึกซึ้งมาก)

ตามปฏิจจสมุปบาท โลกิยกุศล แม้ที่เป็นวิปัสสนา ที่สามารถปหานอนุสัยกิเลสได้เป็นขณิกะ ก็ยังเป็นปัจจัยแก่ขันธ์ในภพใหม่ได้.

แต่โลกุตตรกุศล เมื่อมีนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว จะไม่เป็นปัจจัยแก่ขันธ์ในภพใหม่เลย.

ส่วนนิพพานนั้น ไม่มีปัจจัย จึงไม่มีขันธ์ทั้งปวง ไม่เป็นสังขต, ทั้งยังทำให้ทั้งโลกุตตรกุศล และโลกุตตรวิบาก ไม่เป็นจัยจัยแก่ขันธ์ในภพใหม่ด้วย.

สิ่งเหล่านี้บัญญัติทำไม่ได้. 

เพราะแม้บัญญัติจะสามารถเป็นอารมณ์ของมหัคคตกุศล แต่มหัคคตกุศลก็ไม่ได้มีกำลังขึ้นเพราะบัญญัติ เนื่องจากบัญญัติไม่ใช่สภาพที่สามารถหมดกิเลส หมดขันธ์ได้. แต่ตัวมหัคคตกุศลเองนั่นแหละมีกำลังขึ้นเพราะภาวนา คือ การทำให้เกิดขึ้นต่อเนื่องของตนเอง ทำให้สามารถข่มกิเลสไว้ได้ ทำวิกขัมภนปหานได้. และแม้จะมีบัญญัติบางอย่างที่กามาวจรกุศลรู้ไม่ได้ เพราะจิตมีกำลังความาสามารถไม่พอจะไปรับรู้ก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะกำลังจิตฝ่ายเดียว บัญญัติไม่ได้มีสภาพหมดกิเลส หมดขันธ์ ที่จะเป็นราวกะไปช่วยห้ามว่า "ฉันเป็นสภาพที่ไม่มีวิญญาณัญจายตนะ แต่เธอยังไม่มีแม้แต่วิญญานัญจายตนะเกิดเลย ฉะนั้นเธอมารู้บัญญัติสำหรับอากิญจัญญายตนะอย่างฉันไม่ได้หรอก". ไม่เลยบัญญัติไม่มีสภาพเช่นนั้น แค่กามาวจรจิตไม่มีกำลังฝ่ายเดียวเท่านั้น จึงคิดบัญญัติที่เป็นอารมณ์ของมหัคคตะขึ้นมาไม่ได้ ก็เท่านั้นเอง บัญญัตินั้นก็ไม่สามารถเป็นอารมณ์ของจิตได้แล้ว เพราะจิตไม่มีกำลังพอจะคิดแต่งตั้งมันขึ้นมาได้. ฉะนั้น จิตบาป จิตบุญ จึงมีอารมณ์เป็นบัญญัติได้ทั้งสิ้น เพราะจิตเป็นผู้เอาปรมัตถ์ทั้งหลายมาคิดตั้งบัญญัติขึ้นเอง ตามเท่าที่จิตมีกำลัง ไม่ใช่โดยสภาพของบัญญัติ เพราะบัญญัติไม่มีสภาพ เป็นแค่สิ่งที่จิตคิดขึ้นเองตามกำลังของจิตจะสามารถคิดได้ก็เท่านั้น. 

กลับกันกับนิพพาน ที่ตนเองเป็นสภาพที่ละกิเลส ละขันธ์ทั้งปวงได้เป็นนิสสรณปหานอยู่แล้ว (บัญญัติไม่มีสภาพธรรมเลยจึงชื่อว่าปหานะกิเลสไม่ได้ แม้จะไม่มีกิเลสอยู่เลยก็ตาม แต่ตัวมันเองก็ไม่มีอยู่เลยเช่นกัน บัญญัติไม่มีลักษณะ ไม่มีสภาพ ไม่มีปัจจัย กิเลสจะหมดไม่หมด จิตก็ยังรู้บัญญัติได้อยู่ดี). จิตแม้จะต้องภาวนาให้มีกำลังไปรู้นิพพานได้ก็จริง, แต่นิพพานก็ต้องมีสภาพตายตัวอยู่เองแล้วว่า "ฉันเป็นสภาพหมดกิเลส หมดขันธ์แน่นอน จิตจะมีกำลังหรือไม่มีกำลัง จะคิดถึงฉันหรือไม่คิดถึงก็ตาม ฉันก็จะหมดกิเลสหมดขันธ์ ของฉันอย่างนี้แหละ". ฉะนั้น ทั้งจิตเจตสิกเองก็เป็นสภาพ และ นิพพานเองก็เป็นสภาพ. ทั้งคู่เป็นปรมัตถ์ จึงแสดงไว้โดยอภิธรรมนัย อยุ่ในสังคณีมาติกา. ต่างโดยสิ้นเชิงกับบัญญัติ ไม่มีสภาพ จิตรู้ปรมัตถ์แล้วก็ประมวลเป็นบัญญัติแค่นั้น ไม่มีสภาพของตนเองที่แน่นอน ตายตัว จึงไม่ได้ทรงแสดงไว้ในอภิธรรมนัยของสังคณีมาติกา มีเพียงในสุตตันตนัยเท่านั้น**.

**อรรถกถาแสดงไว้แล้วว่าธรรมะศัพท์มีอรรถถึงธรรมที่มีลักษณะ, และอภิศัพท์ก็สื่อถึงเป็นสิ่งที่โดยที่สุดแล้วมีอยู่โดยสภาวะของตน (ธรรมที่มีมีภาวะของตน)
"อตฺถานํ สูจนโต, สุวุตฺตโต สวนโตถ สูทนโต;
สุตฺตาณา สุตฺตสภาคโต จ สุตฺตนฺติ อกฺขาต"นฺติฯ
อภิธมฺมสฺส วจนตฺโถ วุตฺโตเยวฯ อปโร นโย~
ยํ เอตฺถ วุฑฺฒิมนฺโต, สลกฺขณา ปูชิตา ปริจฺฉินฺนา;
วุตฺตาธิกา จ ธมฺมา, อภิธมฺโม เตน อกฺขาโตฯ

วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

ที่ถูก คือ "จิตอาศัยปรมัตถ์แล้วรู้บัญญัติ" ไม่ใช่ "บัญญัติอาศัยปรมัตถ์" ซึ่งเป็นข้อความที่แปลผิดสอนผิด

 ที่ถูก คือ "จิตอาศัยปรมัตถ์แล้วรู้บัญญัติ" ไม่ใช่ "บัญญัติอาศัยปรมัตถ์" ซึ่งเป็นข้อความที่แปลผิดสอนผิดนะครับ.
จิตเจตสิกอาศัยนิพผันรูปปรมัตถ์กับอาการรูปปรมัตถ์เป็นอารัมมณปัจจัยแล้วรู้บัญญัติ, ไม่ใช่บัญญัติเข้าไปอาศัยปรมัตถ์ใดๆ. สังขตธรรมเท่านั้น ที่มีปัจจัยให้ตนเองซึ่งเป็นปัจจยุปบันเข้าไปอาศัย.  ส่วนนิพพาน กับ บัญญัติ ไม่ใช่สังขตธรรม ไม่ได้อาศัยอะไรทั้งนั้นครับ เป็นได้แต่เพียงปัจจัยเท่านั้น. ไม่เป็นปัจจยุปบัน ไม่ได้ไปอาศัยสิ่งใดๆ เกิดขึ้น หรือ มีขึ้นนะครับ.

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วินิจฉัยโดยวาระจิตและวิถีจิต จะยิ่งเห็นได้ชัดว่า กลาปะเป็นบัญญัติ

กลาปะ เป็นคำที่ใช้ในลักษณะเดียวกับฆฏนาในปัฏฐาน คือ กลุ่มก้อนที่เกิดพร้อมกัน. ถ้าอาวัชชนะถึงปฐวีรูปอย่างเดียว นามัคคหณวิถี จะไม่สามารถเรียกว่ากลาปะได้ เพราะอัตถัคคหณวิถีจะต้องรู้กลุ่มก้อนไม่ต่ำกว่า 8 รูปขึ้นไปที่เกิดพร้อมกัน (ที่ในตำราเรียกว่า สมูหฆน-อัตถบัญญัติ) แล้วนามัคคหณวิถีจึงจะเรียกว่า กลาปะ ได้, แต่แม้จะอาวัชชนะถึงปฐวีรูปอย่างเดียว นามัคคหณวิถีก็สามารถเรียกว่า รุปฺปนลกฺขณ ได้เลย เพราะปฐวีมีอยู่จริง มีทั้งปัจจัตตลักษณะของตน (กกฺขฬตฺตลกฺขณ) และปัจจัตตลักษณะของรูป (รุปฺปนลกฺขณ) ปญฺญัตฺติคคหณวิถีไม่จำเป็นต้องไปรู้รูป 8 รูปเป็นต้นใดๆ ก่อนที่จะเรียกปฐวีว่ารุปฺปนลกฺขณเลย, สามารถรู้รุปฺปนลกฺขณของปฐวีที่อตีตคฺคหณวิถีได้เลย. จากข้อความยังสามารถอธิบายได้อีกวิธีว่า ปฐวี (กกฺขฬตฺตลกฺขณ และ รุปฺปนลกฺขณ) เกิดได้จากปัจจัย. แต่กลาปะเกิดไม่ได้ เพราะไม่มีปัจจัย. จิตรู้กลาปะได้ เพราะเข้าไปอาศัยกลุ่มก้อนของรูปที่เกิดพร้อมกัน. ในขณะที่จิตรู้กลาปะ จิตไม่ได้รู้รุปฺปนลกฺขณํ หรือ กกฺขฬตฺตลกฺขณํ แต่รู้สมูหบัญญัติของรูปอย่างน้อย 8 รูปที่เกิดพร้อมกัน ซึ่งอาศัยกลุ่มของรูป (สมูหุปาทาย) ในการแสดงตัวให้ถูกจิตเจตสิกรู้ (ปญฺญาปิยตฺตา).

วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เรื่องจริง กับ เรื่องหลอก พิสูจน์ด้วยการวิเคราะห์องค์ธรรม แล้วหาปัจจัยปัจจยุปบัน โดยรอบ.

เรื่องจริง (สัจจะ) กับ เรื่องหลอก (วัญจนะ) พิสูจน์ด้วยการวิเคราะห์องค์ธรรม (นามรูปปริจเฉทญาณ) แล้วหาปัจจัยปัจจยุปบัน(ปัจจยปริคคหญาณ) โดยรอบ (ปริญญา). และเมื่อหาโดยรอบแล้ว คุณก็จะพบแต่ทุกขสัจจะ ที่มีแต่ลักษณะไม่เที่ยง ลักษณะทนอยู่ไม่ได้ ลักษณะไร้อำนาจ. ซึ่งในตอนท้ายของปัจจยปริคคหญาณนิทเทส ก็ว่าไว้โดยนัยนี้.

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อุทิศส่วนบุญ ไม่ใช่แผ่เมตตา คนละอย่างกัน.

อุทิศส่วนบุญ คือ #ปัตติทานมัยบุญกิริยาวัตถุ, องค์ธรรม คือ #อโลภะเจตสิก, แต่ เมตตา คือ #ภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุ องค์ธรรม คือ #อโทสะเจตสิก ครับ. คนละอย่าง คนละวิธีการกันครับ. การอุทิศส่วนบุญเป็นแค่วิธีการละโทสะอย่างหนึ่ง ของ เมตตา, ไม่ใช่เมตตาโดยตรง ครับ.

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เราอุทิศส่วนกุศลให้คนที่นอนป่วยอยู่ได้หรือไม่? ต่างจากการอุทิศให้คนตายอย่างไร?

เราอุทิศส่วนกุศลให้คนที่นอนป่วยอยู่ได้ครับ, เพราะการอุทิศส่วนกุศล มันก็คือการบอกบุญ หรือ ปัตติทานมัยนั่นเอง ครับ.

ความต่าง คือ อุทิศให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ค่อนข้างแน่นอนว่าเขารับรู้และร่วมยินดีในบุญได้, ส่วนการอุทิศให้คนตายนั้น เราไม่รู้ว่า เขาจะได้ยินหรือไม่.

วิธีการอุทิศส่วนกุศลแก่คนนอนป่วยอยู่ ให้นั่งข้างๆ คนที่ป่วย แล้วพูดด้วยน้ำเสียงที่น่าฟัง สบายหู ไม่น่ารำคาญ บอกเขาว่าให้ท่านร่วมดีใจที่เราได้ทำบุญนั้นๆ เล่านานๆ ก็ได้ เหมือนเราเล่าให้เพื่อนฟังว่า ไปทำบุญวัดนั้น ถวายอันนั้น ได้กวาดลานวัด เห็นพระน่าเลื่อมใส เป็นต้น เล่าไปเรื่อยๆ ได้เลย ครับ, อันนี้ คือ การอุทิศส่วนบุญให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ถูกต้อง ครับ ก็เหมือนๆ การบอกบุญนั่นแหละครับ.

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทงตลอดต่างจากเข้าใจแต่ไม่แทงตลอดอย่างไร?

แทงตลอด (ปฏิเวธ) องค์ธรรม คือ ปัญญาเจตสิก.
ปัญญาเจตสิกที่เกิดบ่อยๆ สั่งสมกำลัง มีความชำนาญขึ้นๆ เรียกว่า ญาณ.
ที่สุดของการสั่งสมญาณ คือ ปฏิเวธ.

ลองนึกถึงภาพการเสียบแทงดาบในต้นกล้วย  ดาบจะต้องถูกต้นกล้วยโอบและอัดแน่นอยู่รอบๆ ไปตลอดทางจนทะลุสุดต้นกล้วยออกไป. ความรู้ที่ถูกปฏิเวธก็เช่นกัน, มันมีจำนวนมากมายมหาศาล เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นจนจบ. ปัญญาที่เข้าไปรู้มันตั้งแต่ต้นตลอดสายไปจนจบนั่นแหละเรียกว่าญาณ ปัญญาที่จุดสิ้นสุดแทงทะลุออกไปเรียกว่าปฏิเวธ.

ฉะนั้น แม้ในอรรถกถา จะแสดงปัญญา ญาณ และปฏิเวธ เป็นคำขยายของกันและกัน. แต่เวลาใช้จริงๆ ในพระไตรปิฎกมักจะใช้แยกกัน เช่น ในธัมมสังคณีเวลาขยายปัญญาก็จะไม่มีคำว่าญาณ ไม่มีคำว่าปฏิเวธ, หรือในปฏิสัมภิทามรรค ก็จะแสดงอรรถะของปัญญา และญาณแยกกันในตอนท้ายนิทเทสทุกนิทเทส เป็นต้น.

ที่นี้ ในความเป็นจริงแล้ว ความเข้าใจของสัตว์โลก ก็มีทั้งที่เข้าใจถูก และเข้าใจผิด มีการแทงตลอดทั้งที่ถูกและที่ผิด  และทั้งสองอย่างมันก็มีทั้งที่แทงไปสุด และ แทงยังไม่สุด.

จะขอยกตัวอย่างของการเข้าใจถูก แต่แทงไม่สุด เช่น เข้าใจว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เหตุต้องมีผล และผลต้องมีเหตุ แต่ไม่ได้รู้วิธีหลุดพ้นจากเหตุผลเหล่านั้น เช่นนี้ เข้าใจถูก แทงแล้ว แต่ไม่สุด คือไม่สำเร็จประโยชน์ 6 ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดสมบูรณ์ ความรู้นั้นให้ผลประโยชน์ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น.

นั่นคือ ปัญญาแทงแล้ว แต่แทงไม่สุด.

ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาก็เช่นกัน...

อุคฺคห ปริปุจฺฉา ธารณ สวน เป็นปัญญาที่จุดเริ่มต้น, สมฺมสน เป็นญาณ และปฏิเวธ ก็คือ ปัญญาที่ปลายสุดนั่นเอง.

จะเรื่องทานก็มีจุดเริ่มต้น ทามกลาง และที่สุดอย่างนี้ จะศีล สมถะ วิปัสสนา ก็อย่างนี้เช่นกัน ต่างกันที่รายละเอียด เช่น ปฏิเวธเรื่องทานเป็นขณิกะ,  ปฏิเวธเรื่องศีลเป็นขณิกะ, ปฏิเวธจาคานุสสติเป็นอุปจาระ, ปฏิเวธอานาปานัสสติเป็นโลกิยอัปปนา, ปฏิเวธวิปัสสนา เป็นโลกุตตรอัปปนา เป็นต้น.

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พระ-เณร ดูหนังออนไลน์ได้หรือไม่?

    ข้อความในพระวินัยปิฎก:
        ๑๐. อนึ่ง ภิกษุณีใด ไปดูการฟ้อนรำก็ดี การขับร้องก็ดี การประโคมดนตรีก็ดี เป็นปาจิตตีย์.
    ข้อความในอรรถกถา:
        ท่านกล่าวไว้ในทุก ๆอรรถกถาว่า เป็นปาจิตตีย์(แก่ภิกขุนี)ในฐานะทั้งปวง. เป็นทุกกฏแก่ภิกษุ. 
    ตอนท้ายอรรถกถาสรุปว่า:
        สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ โลกวัชชะ กายกรรม อกุศลจิต มีเวทนา ๓ ฉะนี้แล....
    บทสวดมนต์โหลดมาไม่ใช่ปัญหา ตราบเท่าที่ไม่มีวัตถุเคลื่อน ก็ไม่มีอาบัติ, แต่ก็ยังอาจเป็นภัณฑะไทยโดยเรียกสินไหมทดแทนได้ ถ้ากฎหมายบ้านเมืองจะเอาโทษเรื่องลิขสิทธิ์, และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คอมพิวเตอร์ไม่ใช่ของควรแก่พระภิกษุ ครับ.
    http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=03&i=182

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา 01

กามตัณหา- 
ติดใจรสของกามคุณโดยจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับเหตุเกิดเหตุดับหรือไม่ก็ได้.

ภวตัณหา-
ติดใจการเกิดของอารมณ์แล้วเข้าใจผิดปฏิเสธการดับ.
วิภวตัณหา-
ติดใจการดับของอารมณ์โดยเข้าใจผิดปฏิเสธการเกิด.

วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ถูก: "พิจารณาเห็นเหตุเกิดเหตุดับแห่งกายด้วยอุทยัพยญาณ" ผิด: "พิจารณาเห็นธรรมคือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความดับ ในกายอยู่"

เหตุใดประโยคนี้จึงแปลผิด: "พิจารณาเห็นธรรมคือ ทั้งความเกิดขึ้น (สมุทยะ) ทั้งความดับ (วยะ) ในกายอยู่"
  1. ตอบโดยสภาวะ: สัตว์ที่ไม่มีปัญญาก็เห็นความเกิด ความดับอยู่ตลอดเวลา เพราะตัวอย่างเช่น เมื่อตาเห็นสี ย่อมเห็นสีทั้งอุปาทะ ทั้งฐิติ และทั้งภังคะ, ตาไม่สามารถเลือกจะเห็นแต่ฐิติขณะได้เลย. แต่คนเราก็เห็นสีอยู่ทั้งวัน, การเห็นความเกิดความดับจึงไม่ใช่ปัญญาเสมอไป. ดังนั้น การเห็นเช่นนี้ จึงเป็นการเห็นระดับที่อรรถกถา อ. มหาสติปัฏฐานสูตร กล่าวไว้ว่า "สุนัขก็รู้จิต รู้เวทนาได้". 
  2. ตอบโดยลักษณะการใช้ศัพท์ในตำรา: ความเกิด ในพระไตรปิฎกอรรถกถาและฏีกา ใช้ศัพท์ว่า นิพพัตติลักขณะ  และ ความดับ ใช้ศัพท์ว่า วิปริณามลักษณะ. ส่วนศัพท์ว่า สมุทยะ ในประโยคนี้ เมื่อใช้ในที่แสดงวิปัสสนาญาณ ท่านจะหมายถึงเหตุแห่งนิพพัตติลักษณะเสมอ ซึ่งเหตุแห่งนิพพัตติลักษณะก็ไม่ใช่ตัวนิพพัตติลักษณะตามที่อธิบายในข้อต้น. วยะ-ศัพท์ ก็เช่นเดียวกัน โดยศัพท์นี้เมื่อมากับสมุทยะในที่เป็นวิปัสสนา ให้แปลความหมายเดียวกับคู่ สมุทยะ-นิโรธะ.
  3. ตอบโดยหลักฐานในอรรถกถา: ไม่สอดคล้องกับอรรถกถา อรรถกถาอธิบายคำนี้ด้วยองค์ธรรมที่เป็นเหตุแห่งความเกิดความดับด้วย, (อวิชชา ตัณหา กรรม เป็นต้น หรือ ธรรมเป็นเหตุเกิดอัสสาสะปัสสาสะ เป็นต้น) ส่วนองค์ธรรมที่เป็นความเกิด (อุปาทขณะ) ความดับ (ภังคขณะ) นั้น ก็เห็นเป็นผลของธรรมะศัพท์นี้อีกที คือ ไม่ได้เห็นแต่ความเกิดความดับ แต่เห็นเหตุแห่งความเกิดความดับด้วย.
  4. ตอบโดยหลักฐานในฉบับแปลอื่นๆ: แปลไม่ตรงกับพระไตรปิฎกแปลฉบับมหาจุฬา เพราะฉบับนั้นแปลตามฏีกา.
  5. ตอบโดยหลักฐานในฏีกา: แปลไม่ตรงกับฏีกามหาสติปัฏฐานสูตร.

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

หลักการพิจารณาหาคำตอบของเพจนี้

ผมจะอ่านแล้วแปลเป็นบาลี ครับ คือ พยายามกำหนดให้ได้องค์ธรรมตามหลักอภิธรรมตรงกับอรรถกถาเสียก่อน แล้วค่อยหาคำตอบตามแนวในพระไตรปิฎก อรรถกถา ครับ. ถ้าอ่านภาษาไทยให้เป็นไทย พยายามหาคำตอบด้วยภาษาไทย แม้ผมเอง ก็จะต้องงงเวลาที่เจอคำถามซับซ้อนมากแน่ๆ ครับ. ผมต้องแปลกลับไปที่องค์ธรรมตามหลักอภิธรรม แล้วค่อยตีกลับมาเป็นคำแปลภาษาไทยตามแนวบาลีอีกที ครับ (จะเห็นได้ว่า บทความส่วนมากจะมีบาลีกำกับตลอด). เหตุผลก็เพราะ ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาสภาวะ ครับ เลยต้องทำแบบนี้ เพื่อแยกสภาวะออกให้เป็นปริจเฉท.

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าภาษาไทยไม่ใช่ภาษาสภาวะ เช่น รู้แล้วทำบาปนั่นแหละครับ. ถ้าบาลี จะต้องกำหนดไปเลยว่า เป็น ปัญญา หรือ สัญญา. แต่ภาษาไทยไม่มีคำเฉพาะที่ปริจเฉทออกมาแล้วได้อรรถะพอดีกับตัวสภาวะอย่างนั้น ครับ.

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงต้องพยายามนึกตัวภาษาบาลีให้ออก ก่อนจะวิเคราะห์คำถาม เพื่อให้สามารถหาคำตอบได้ตรงตามแนวของพระไตรปิฎก อรรถกถา มากที่สุด ครับ.

วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พระพุทธเจ้าเทศน์ไม่เก่งเอง หรือ เราไม่พยามดีให้พอจะบรรลุนิพพาน?

พระพุทธเจ้า เทศนาไม่เก่ง จึงไม่สามารถทำให้พวกเราบรรลุได้โดยง่าย ไม่สามารถทำให้พวกเราฟังอภิธรรมเข้าใจได้ง่ายๆ?, หรือ พวกเราเอง ที่ไม่พยายามพัฒนาตนเองให้ดีพอที่จะฟังพระพุทธเจ้ารู้เรื่อง?

วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แม้ธรรมะจะน่าเคารพในทุกภาษา, แต่เมื่อจะรักษาศาสนา ก็ควรจะรักษาไว้ในรูปแบบของภาษาบาลี.

ธรรมะ จะภาษาไหน ก็น่าเคารพ เพราะถ้าเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ทำให้บรรลุธรรมได้ ก็เป็นของที่ควรเน้น ควรทำให้หนักอยู่แล้ว ครับ.

พระพุทธเจ้าไปในแต่ละท้องถิ่น ก็ทรงแสดงบาลีในแบบของท้องถิ่นนั้นๆ ที่เขาฟังแล้วเข้าใจ ครับ.

แต่บาลี เป็นภาษาที่รักษาธรรมะ และไม่มีภาษาใดที่รักษาธรรมะได้ดีเท่าบาลี ครับ. ฉะนั้น เมื่อจะเรียนธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างพิศดาร จึงต้องกลับมาใช้ภาษาบาลี เพราะภาษาอื่นไม่รองรับสภาวะธรรมที่ลึกซึ้ง.

อย่างอภิธรรมที่เรียนๆ กันอยู่ ก็มีแต่ภาษาบาลีทั้งนั้น เพราะแปลไม่ได้ แปลแล้ว องค์ธรรมไม่ครบ เข้าใจกันไปคนละทิศทาง.

เช่น อภิญฺญาตํ ศัพท์นี้ มีอุปสรรค ธาตุ ปัจจัย ลิงค์ วิภัติ สมาส มีฐาน กรณ์ ปยตนะ และถ้าไปอยู่กับศัพท์อื่นก็มีสนธิอีก เป็นต้น เป็นของๆ ตนในแบบบาลี.

แต่พอแปลเป็นไทยปุ๊ปว่า "มีชื่อเสียง" คำนี้ถ้าไม่ลบทิ้งแล้วแปลศัพท์ใหม่ให้ตรงตามหลักบาลีน้อยก็หาอุปสรรค ธาตุ ปัจจัย วิภัติ ไม่ได้, ฐาน กรณ์ ปยตนะ ในภาษาไทย ก็มีน้อยกว่าบาลี ฉะนั้น ท่องไปท่องมา คำก็จะเหมือนกันไปหมด แล้วก็สับสน, สนธิภาษาไทยก็แทบไม่มี ติดกันเป็นพรืดไปหมด.

ฉะนั้น แม้ธรรมะจะน่าเคารพในทุกภาษา, แต่เมื่อจะรักษาศาสนา ก็ควรจะรักษาไว้ในรูปแบบของภาษาบาลี ครับ. ทั้งนี้ก็เพื่อความเข้าใจธรรมะอย่างครบถ้วนของผู้รักษาธรรมะเองจนถึงมรรคผลก่อน แล้วจึงจะรักษาโดยการมอบธรรมะ มอบมรรคผล ให้ผู้อื่น ครับ.

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

การแชร์ประจาน มี 2 อย่าง แชร์ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ กับ แชร์มุ่งประทุษร้าย

การแชร์ประจาน มี 2 อย่าง แชร์ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ กับ แชร์มุ่งประทุษร้าย.
ในการแชร์ 2 อย่าง แชร์เพื่อประทุษร้าย มีโทษ. 
ตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้า ยกชาดกเกี่ยวกับพระเทวทัศมาแสดง จะเห็นได้ว่า เป็นการประจาน แต่ไม่มุ่งประทุษร้ายเลย เป็นเพียงแต่อุทาหรณ์เท่านั้นครับ.
ฉะนั้น การแชร์แบบนี้ ไม่เป็นผรุสวาจา เพราะเมื่อพิจารณาโดยลักษณะของจิตที่กระทำแล้วไม่มีโทสะประทุษร้ายในอารมณ์(อารมณ์ในที่นี้ คือ ผู้ถูกกล่าวถึง) ครับ.

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

ปรมัตถ์ ไม่ได้แปลว่า ประเสริฐ เว้นแต่จะใช้กับกุศล หรือวิบากของกุศล หรือนิพพาน เท่านั้น.

ตรงนี้ต้องแก้นะครับ แปลผิดพลาดร้ายแรงมาก.
ปรมัตถ์ มี ๒ ความหมาย 
๑) สภาวะที่ประเสริฐ คือไม่วิปริต
วิ. ปรโม (อุตฺตโม อวิปรีโต) อตฺโถ ปรมตฺโถ
..............................
อุตฺตมตรงนี้ ไม่แปลว่าประเสริฐ ครับ.
ประเสริฐมาจาก เสฏฺฐ ซึ่งในบาลีแม้จะใช้ในหลายความหมาย แต่ในภาษาไทย มีความหมายไปในทางดี งาม เป็นกุศล หรือวิบากของกุศล หรือนิพพานเท่านั้น ครับ.
อุตฺตมตรงนี้ แปลว่า ที่สุด, ไม่สามารถมากไปกว่านี้ได้ มีแค่นี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงจะสอดคล้องกับ คำขยายที่ว่า อวิปรีตะ. ซึ่งจะเป็นที่สุดของสิ่งที่ดี (ประเสริฐ) หรือ ชั่ว (ไม่ประเสริฐ) ก็ตาม ก็เป็นปรมัตถ์ มีขอบเขตสุดรอบของตัวเองให้จิตเข้าไปกำหนดรู้ สัญญาเข้าไปจดจำ ให้จิตเจตสิกเข้าไปทำกิจกับตนเอง ให้ปัจจัยยังตนเองให้เกิดได้ ให้เกิดปัจจยุปบันของตนเองได้เหมือนๆ กัน ตามขอบเขต ตามที่สุดของตน ตามความไม่วิปริต ไม่เปลี่ยนแปลง มีขอบเขตของตนเอง ครับ.

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

ตราบที่ปัจจัยมีอยู่ ปัจจยุปบันนั้นเป็น ต้องเป็นนามหรือรูปเสมอ

นามรูป... จะกำลังเกิดขึ้นอยู่ หรือไม่ได้กำลังเกิดขึ้นอยู่ก็ตาม... นามรูปนั้นก็มีอยู่ ตามปัจจัยของตนที่ยังให้ผลได้อยู่.

ไม่ใช่ว่า "นามรูปที่กำลังเกิดขึ้นอยู่เท่านั้นมีอยู่จริง นามรูปที่ไม่ได้กำลังเกิดอยู่ไม่มีอยู่จริง" แบบที่อุจเฉทวาทีชอบพูดกัน.

ตราบที่ปัจจัยมีอยู่ ปัจจยุปบันนั้นเป็น ต้องเป็นนามหรือรูปเสมอ ไม่ว่ามันจะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ก็ตามนะครับ.

วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

จิตกุศลของพระอริยะคิดถึงจิตจะฆ่าได้, แต่จิตจะฆ่าเกิดกับพระอริยไม่ได้เลย

จิตกุศลของพระอริยะคิดถึงจิตจะฆ่าได้, แต่จิตจะฆ่าเกิดกับพระอริยไม่ได้ เลยครับ.

เช่น ขณะที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องปาณาติบาตอยู่ ขณะนั้นจิตกิริยา (ซึ่งเทียบเท่ากับจิตกุศล แต่ไม่ให้วิบากและกรรมชรูป) ของพระองค์ กำลังคิดถึงจิตจะฆ่าชีวิตินทรีย์ที่จะถูกฆ่า. แต่จิตจะฆ่าไม่ได้เกิดขึ้นเลย.

หรือตัวอย่างในคนธรรมดา เช่น ขณะคิดถึงตอนทีตนเองเคยตบยุง ขณะนั้น จิตของเขากำลังคิดถึงจิตจะฆ่ายุงในอดีต คิดถึงยุงที่ถูกฆ่า, แต่เขาอาจจะคิดถึงสิ่งเหล่านั้นอยู่ด้วยกุศลก็ได้ เช่นคิดว่า เราจะไม่ฆ่าแบบนั้นอีก ไม่ให้จิตแบบนั้นเกิดขึ้นอีก เป็นต้น.

วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

เคยต้องสังฆาทิเสสตอนเป็นพระ สึกมาได้รับการยกเว้นไม่ต้องแก้ไขอาบัติได้ จนกว่าจะบวชใหม่อีกครั้ง

ถ: ถ้าติดสังฆาทิเสสแล้วไม่ได้แก้ก่อนสึกจะทำให้ชีวิตไม่ดีทำมาหากินไมขึ้นจริงหรือเปล่าครับ?


ต: อาบัติไม่มีผลกับฆราวาส ครับ, สึกมาเป็นฆราวาสแล้ว อาบัติก็ไม่ตามมา, ต่อเมื่อบวชใหม่ ถึงจะต้องไปอยู่กรรมแก้ของที่บวชครั้งที่แล้ว ครับ. ฉะนั้น สบายใจได้ว่า อาบัติไม่ตามมาในตอนเป็นฆราวาส ครับ.



ถ: ถ้าไม่ได้กลับไปบวชอีกจะมีวิธีแก้ไขได้ไหมครับ?


ไม่ต้องแก้ครับ เรื่องของพระ ไม่ใช่เรื่องของโยม, เกิดใหม่เป็นฆราวาสแล้ว ก็มีความผิดตามกฎหมายฆราวาส ส่วนกฎหมายพระก็ตามมาไม่ถึงครับ. 


บาปกรรมก็สำเร็จไปตั้งแต่ขณะทำแล้ว ถึงแม้ตอนนี้ยังเป็นพระอยู่ก็ตาม ก็ไม่สามารถจะไปแก้บาปได้เหมือนกันครับ.



เป็นอันว่า บาปเก่าแก้ไม่ได้ไม่ว่าเป็นพระอยู่หรือเป็นโยม... 

ส่วนอยู่ปริวาสมานัติไม่ต้องทำ เพราะเป็นข้อยกเว้นให้ฆราวาสอยู่แล้ว... 


ดังนั้น จึงเหลือสิ่งที่ต้องทำคือ ทำความเข้าใจแล้วตัดกังวลเสีย เพราะกุกกุจจะความเดือดร้อนใจในสิ่งไม่ดีที่ทำไว้และสิ่งดีๆที่ไม่ได้ทำนั้นคือบาปแน่นอนที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ ซึ่งแก้ได้เด็ดขาด ด้วยการเข้าใจถูกต้อง ครับ.

วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2558

ธาตุในอรรถกถาบางทีแปลว่ากระดูก ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะพิเศษกว่ากระดูกทั่วไป

ในอรรถกถา คำว่า ธาตุ ในที่ๆ มีการเผาศพกัน ตรงนั้นตามอภิธานัปปทีปิกาให้แปลว่า กระดูก (อฏฺฐิ). ธาตุในที่นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นกระดูกที่ผิดปกติ หรือ สวยกว่าปกติ เป็นกระดูกสีขาวธรรมดาๆ ก็ได้ ครับ.

ลองค้นคำว่า ธาตุ ดูนะครับ.
http://www.mahamodo.com/buddict/buddict_pali.asp

ที่ทรงให้เอากระดูกไปสร้างอนุเสาวรีย์เก็บไว้ ก็เพราะคนๆ นั้นมีบุญคุณน่ายกย่องเป็นแบบอย่าง ครับ.

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

แปลเรื่องกสิณและปริตตาภาพรหมในอนุรุทธสูตรใหม่





ตรงนี้ฉบับมหาจุฬายังแปลผิดอยู่นะครับ คำว่า กสิณตรงนี้ โยคมาผิด ครับ. ในบาลีไม่มี ในอรรถกถาก็ไม่ได้ใส่ให้ ครับ. ควรแปลประมาณว่า "แผ่ไป น้อมไปว่า เป็นผู้แสงสว่างเล็กน้อย(ปริตตาภา)" (ไม่แน่ใจเรื่องปัจจัยว่าลงเป็นบุคคล สิ่งของ หรืออะไร เนื่องจากอ่านคร่าวๆ และไม่เคยอ่านมาก่อน).




ส่วนข้อความตรงนี้ คนที่อ่านไม่ตามลำดับ และไม่แม่นอภิธรรมอาจจะสับสนได้นะครับ อาจจะเข้าใจผิดไปได้ว่า "ผุ้เข้ากสิณฌานอยู่มีแสงสว่างเศร้าหมองหรือบริสุทธิ์เป็นอารมณ์อยู่" ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดนะครับ.
จริงๆ ตรงนี้ หมายความว่า ผู้ทำฌานจากย่อหน้าก่อนๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรูปนี้ เมื่อออกจากฌานในย่อหน้านี้ แล้วน้อมไปคำนึงถึงแสงสว่างเศร้าหมองเป็นอารมณ์ของปริตตาภาพรหม ซึ่งเป็นภพที่ตรงกับภูมิฌานที่ตนทำได้นั้น ในขณะที่ไม่ได้ทำฌานอยู่นะครับ ไม่ใช่ในขณะที่ทำฌาน.
ในฏีกาปฏิเสธไว้ประมาณว่า เพราะการแผ่อย่างนี้ไม่มีอยู่ในผู้ที่ทำฌาน (มีแต่กสิณนิมิตบัญญัติเป็นอารมณ์) ในอรรถกถาจึงแสดงว่า ท่านกล่าวอย่างนี้ เพราะเมื่อทำฌาน ในย่อหน้าก่อนๆ แล้ว ก็จะได้เป็นปริตตาภาพรหม ซึ่งเป็นพรหมที่มีแสงแผ่ ตามภูมิฌานที่เศร้าหมอง หรือ บริสุทธิ์ ด้วยอำนาจวสีของตน.
ต้องเรียนเรื่อง อุปจาระ และนยะ ให้ดี แล้วดูอรรถกถาบาลีประกอบครับ เป็นปาฐะที่เข้าใจผิดง่ายมาก เพราะเมื่อไม่เข้าใจหลักอุปจาระ นยะ จะอ่านอรรถกถาตรงนี้ไม่ เข้าใจ ผมเองก็ยังอ่านอยู่ 2 ชั่วโมง ถึงจะจับความได้ เพราะมีความซับซ้อนทางสำนวน และบริบทที่เชื่อมโยงกัน #จะตัดเอามาอ่านอย่างในรูปแค่นั้นไม่ได้ ครับ.
อนึ่ง นี่เป็นข้อดีของการคบผู้ที่ทำฌาน อย่าง Pa-Auk นะครับ คือ อ่านปาฐะบาลีเรื่องฌานพวกนี้ได้รู้เรื่องจนได้ แม้ตัวเองจะไม่ได้ทำฌาน ครับ.

วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

บัณเฑาะก์บางประเภทที่บวชไม่ได้ เพราะมีกิเลสกล้า

อุภโตพฺยฺชนกปณฺฑกาติ อุภโตพฺยฺชนกา,ปณฺฑกา จฯ #กามฺ เจเต อเหตุกปฏิสนฺธิกตฺตา วิปากาวรเณน สมนฺนาคตา โหนฺติ, #ตถาปิ ติพฺพกิเลสตฺตา กิเลสาวรเณน สมนฺนาคตา วุตฺตาฯ (ปรมตฺถมญฺชูสา วิสุทฺธิมคฺคมหาฏีกา)
-----------------------------------------

"กามํ" และ "ตถาปิ" แสดงถึงประโยค ปุจฉาโจทกาโภคะ (คันถาภรณะ) คือ แปลว่า "ถึงแม้อุภโตพยัญชนกและบัณเฑาะก์จะมีวิปากาวรณ์ เพราะเป็นอเหตุกปฏิสนธิแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นอันท่านกล่าวว่า อุภโตพยัญชนกและบัณเฑาะก์มีกิเลสาวรณ์ด้วย เพราะความที่พวกเขามีกิเลสกล้า".

ก็คือ ที่มีกิเลสกล้า เพราะเป็นอเหตุกะ ฉะนั้น อุสสูยและอาสิตบัณเฑาะก์ที่อนุญาตให้บวชไว้ จึงไม่เข้าพวก เพราะโดยปกติพระวินัยห้ามพวกอเหตุกะไม่ให้บวชไว้หมดแล้ว การที่อนุญาต อาสิตตและอุสสูยไว้ แสดงว่า ต้องมีคนกลุ่มนี้ที่ไม่เป็นอเหตุกะด้วย.

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตัวอย่างการฝึกวิรตีศีล

หลักการ คือ วัตถุไหนไม่ได้ทำสมาทานวิรัติไว้เยอะๆ ให้มั่นคง, วัตถุนั้น สัมปัตตวิรัติจะไม่เกิดครับ.
อย่างที่ทำงานใหม่ของผมนี้ ตอนสมาทานศีล 8 ครั้งแรก จิตไม่มีกำลัง และสถานที่ก็ใหม่ ไม่เคยวิรัติในที่นี้ และไม่ได้ตั้งจิตวิรัติให้มั่นคง จึงทำให้ครั้งแรกเผลอทานไปทั้งจานเลย.
พอจะกลับห้อง ซึ่งเป็นสถานที่เริ่มตั้งสมาทานวิรัติ จึงระลึกได้ว่าศีลขาด.
ครั้งต่อๆ มา เวลาสมาทาน ก็จะนึกถึงห้องครัวด้วย ศีลก็เลยไม่ขาดอีก เพราะจิตคิดถึงห้องครัวเกิดขึ้นว่าจะไปทานข้าว ตัวสัมปัตตวิรัติก็จะเกิดขึ้นตามทันที.
แต่วันนี้ ตอนสมาทาน ลืมนึกถึงห้องครัว จึงเดินเข้าไปตักข้าว. แต่ก็เพราะครั้งก่อนๆ เคยวิรัติได้มาบ้างแล้ว บวกกับวันนี้อากาศสัปปายะต่อกุศลจิต พอจะทานก็เลยทำให้ระลึกได้ก่อนจะทานจริงๆ ครับ.

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2558

เจตสิกแค่มีอารมณ์เท่านั้น แต่ไม่ใช่สภาพรู้ (3)


ย้ายไปที่ลิงก์ข้างล่างนี้
http://dhammacomment.blogspot.com/2015/02/blog-post_24.html
ตามไปอ่านที่ลิงก์นั้นนะครับ.

เกย์ที่บรรลุธรรมได้ก็มี ที่บรรลุไม่ได้ก็มี แต่เกย์ทุกคนก็ควรปฏิบัติธรรมอยู่ดี เพราะมีดีกว่าอึ่งอ่าง ค้างคาว และพญานาค

เกย์ กระเทยจะมีโอกาสบรรลุหรือไม่, ก็ต้องปฏิบัติธรรมอยู่ดี ครับ, เพราะผู้ปฏิบัติธรรม แม้เกิดเป็นอึ่งอ่าง เป็นค้างคาว ก็ยังได้รับผลบุญมหาศาลเช่นกัน. ฉะนั้น เกย์ กระเทย จะบรรลุ ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ดี ทั้ง 2 ประเภท ก็ควรปฏิบัติธรรมทั้งนั้น เพราะเกิดมาดีกว่าอึ่งอ่าง ค้างคาวเยอะ ครับ อย่าให้เสียชาติเกิด.

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร https://wiki.sutta.men/ฟุตโน้ต:541:99 -------------...