วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

สํ.นิ. อุปายสูตร แปลอธิบายใหม่

มัชฌิมปัณณาสก์
อุปายวรรคที่ ๑
๑. อุปายสูตร (ตัวหน้าบรรทัดบนถูกขยายเป็นตัวหนาบรรทัดล่าง, ตัวเอียงก็นัยนี้, ในวงเล็บ คือ เอาสูตรนี้มาสัมพันธ์กันเอง)
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นความหลุดพ้นและไม่หลุดพ้น
[๑๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า...
[อุทเทส-หัวข้อ]
ดูกรภิกษุทั้งหลาย 1. ความเข้าถึงเป็นความไม่หลุดพ้น 2.ความไม่เข้าถึงเป็นความหลุดพ้น.
[นิทเทส-ขยายหัวข้อ]
1.ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อวิญญาณที่เข้าถึงรูปตั้งอยู่ มีรูปเป็นอารมณ์ตั้งอยู่ มีรูปเป็นที่ตั้ง ตั้งอยู่ มีความยินดี(ความกำหนัด)เป็นที่เข้าไปซ่องเสพตั้งอยู่ ก็พึงตั้งอยู่ได้ พึงถึง(การมา การไป จุติ อุปบัติ และ)ความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ ฯลฯ เมื่อวิญญาณที่เข้าถึงสังขารตั้งอยู่ มีสังขารเป็นอารมณ์ตั้งอยู่ มีสังขารเป็นที่ตั้งตั้งอยู่ มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพตั้งอยู่ ก็พึงตั้งอยู่ได้ พึงถึง(การมา การไป จุติ อุปบัติ และ)ความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้.
(อนุสนธิเชื่อมระหว่างข้อ 1 กับ 2 เพื่อขึ้นข้อ 2 ในย่อหน้าถัดไป)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เราจักบัญญัติการมา การไป จุติ อุปบัติหรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร(ที่แสดงว่าเป็นอารมณ์ไว้ในย่อหน้าก่อน)” ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ (เพราะ “เมื่อวิญญาณที่เข้าถึงรูปตั้งอยู่ มีรูปเป็นอารมณ์ตั้งอยู่ มีรูปเป็นที่ตั้ง ตั้งอยู่ มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพตั้งอยู่ ก็พึงตั้งอยู่ได้ พึงถึง(การมา การไป จุติ อุปบัติ และ)ความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ ฯลฯ”). 
2.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัด(ความยินดี)ในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี (เพราะ ‘เมื่อวิญญาณที่มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ[รูปเป็นต้นที่เป็นอารมณ์]ตั้งอยู่ วิญญาณนั้นก็พึงตั้งอยู่ได้’). วิญญาณอันไม่มีที่ตั้ง ไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น ภิกษุนั้น ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร https://wiki.sutta.men/ฟุตโน้ต:541:99 -------------...