วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ปฏิสนธิรูปของอสัญญสัตว์ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะรูปขณะปฏิสนธิ ไม่ได้เกิดจากปฏิสนธิจิต(โดยชนกสัตติ) แต่เกิดจากนานักขณิกกรรมในอดีตชาติ

#ปฏิสนธิ = วิบากของนานักขณิกกรรมและ/หรือนานักขณิกกัมมชรูป. ปฏิสนธิ #ไม่ใช่ วิบากของสหชาตจิตและ/หรือ #ไม่ใช่ สหชาตจิตตชรูป(โดยชนกสัตติ=ความสามารถให้เกิด แต่เป็นปัจจัยโดยอุปัตถัมภกสัตติ).
ฉะนั้นปฏิสนธิเฉพาะรูปอย่างเดียวของอสัญญสัตว์จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ครับ เพราะนานักขณิกกรรม(เจตนาในอดีต) เป็นอดีตเหตุของปฏิสนธิวิบากและ/หรือกัมมชรูปอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ครับ.

สรุปว่า ปฏิสนธิรูปของอสัญญสัตว์มีได้ เพราะรูปขณะปฏิสนธิในทุกภพภูมิที่มีรูป ไม่ได้เกิดจากปฏิสนธิจิต (โดยชนกสัตติ) แต่เกิดจากนานักขณิกกรรมในอดีตชาติ(โดยชนกสัตติ)ครับ.

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

นี้คือพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสตรงๆ ว่า 'วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท คือ การเกิดในท้องแม่'

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
๒. มหานิทานสูตร (บางส่วน)

             ก็คำนี้ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป เรากล่าวอธิบายดังต่อไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าวไว้ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป ดูกรอานนท์ ก็วิญญาณจักไม่หยั่งลง ในท้องแห่งมารดา นามรูปจักขาดในท้องแห่งมารดาได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             ดูกรอานนท์ ก็ถ้าวิญญาณหยั่งลงในท้องแห่งมารดาแล้วจักล่วงเลยไป นามรูปจักบังเกิดเพื่อความเป็นอย่างนี้ได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             ดูกรอานนท์ ก็ถ้าวิญญาณ ของกุมารก็ดี ของกุมาริกาก็ดี ผู้ยังเยาว์วัยอยู่จักขาดความสืบต่อ นามรูปจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งนามรูปก็คือวิญญาณนั่นเอง ฯ

http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=1455&Z=1887&pagebreak=0

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ปฏิสนธิวิญญาณเป็นศัพท์จากพระสูตรขุททกนิกาย มีมาแต่สมัยพระสารีบุตรอัครมหาสาวกยังมีชีวิตอยู่

พระไตรปิฎกเล่มที่ 31  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 23
ขุททกนิกาย  ปฏิสัมภิทามรรค
ธัมมัฏฐิติญาณนิทเทส

อิธ ปริปกฺกตฺตา อายตนานํ โมโห อวิชฺชา, อายูหนา สงฺขารา, นิกนฺติ ตณฺหา อุปคมนํ อุปาทานํ, เจตนา ภโวฯ อิเม ปญฺจ ธมฺมา อิธ กมฺมภวสฺมิํ อายติํ ปฏิสนฺธิยา ปจฺจยาฯ อายติํ ปฏิสนฺธิ วิญฺญาณ, โอกฺกนฺติ นามรูปํ, ปสาโท อายตนํ, ผุฏฺโฐ ผสฺโส, เวทยิตํ เวทนาฯ อิเม ปญฺจ ธมฺมา อายติํ อุปปตฺติภวสฺมิํ อิธ กตสฺส กมฺมสฺส ปจฺจยาฯ อิติเม จตุสงฺเขเป ตโย อทฺเธ ติสนฺธิํ วีสติยา อากาเรหิ ปฏิจฺจสมุปฺปาทํ ชานาติ ปสฺสติ อญฺญาติ ปฏิวิชฺฌติฯ ตํ ญาตฏฺเฐน ญาณํ, ปชานนฏฺเฐน ปญฺญาฯ เตน วุจฺจติ – ปจฺจยปริคฺคเห ปญฺญา ธมฺมฏฺฐิติญาณํ.

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=31&siri=16

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ฝรั่งเข้าใจอภิธรรมผิดๆ เพราะไม่เคยเรียนไม่เคยสอนแบบมุขปาฐะ มุ่งเอาแต่กามคุณ 5

หลังจากระบบมุขปาฐะของไทยเสียหายไป เพราะการรุกรานจากวิธีการเรียนการสอนแบบตะวันตก ตั้งแต่ยุคสนธิสัญญาเบาริ่งเป็นต้นมา, คนไทยก็เรียนโดยใช้แนวคิดแบบชาวตะวันตกมาตลอด ซึ่งต่อไปในบทความนี้จะขอเรียกว่า ฝรั่ง.

ฝรั่งเข้ามาเรียนรู้พระพุทธศาสนา ด้วยมูลเหตุทางด้านธุรกิจตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมทางทะเล คือ ต้องการทรัพยากรของประเทศที่นับถือพุทธ ก็เลยต้องมาเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวพุทธ.

วิธีการเรียนของฝรั่งนั้น ถ้าเรียนวิชาประวัติศาสตร์ จะทราบว่า ฝรั่งเป็นพวกชอบจดบันทึก มีการใช้กระดาษปาปิรุสจากอียิปมาตั้งแต่ยุคพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ (ช่วงใกล้ๆ กับยุคพระเจ้าอโศก).

ทำไมถึงชอบบันทึก?

เพราะต้องเอาเวลาไปคิดถึงกามคุณ 5 ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่มีสติที่จะระลึกถึงสิ่งที่จำไว้ได้ครบถ้วน จึงต้องจดลงกระดาษไว้เตือนความจำอีกที. (กามคุณ 5=รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส โดยมักเน้นเอาที่น่าชอบใจ ซึ่งรวมถึงสวรรค์ในศาสนาฝรั่งด้วย)

วิธีการเรียนแบบมุ่งหมายกามคุณ 5 เป็นหลักนี้แหละ คือวิธีที่ฝรั่งใช้เรียนใช้สอนสืบๆ กันมา ตั้งแต่สมัคยุคโบราณ ซึ่งเป็นวิธีที่แตกต่างจากวิธีของศาสนาพุทธ รวมไปถึงพราหมณ์ เพราะศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นต้นแบบวิธีเรียนของพุทธนั้น จะเรียนและสอนกันโดยมุ่งหมายให้เลิกคิดถึงกามคุณ 5 เพื่อเตรียมตัวตายแบบไม่ต้องเกิดมามีทุกข์ แต่ให้เกิดแบบมีความสุขนิรัดร์แทน. ดังนั้น พวกพราหมณ์ที่บำเพ็ญพรตเป็นนักบวช จึงต้องพยายามไม่คิดถึงกามคุณ 5 ทำให้คนพวกนี้มีสติ มีปัญญา ทรงจำสิ่งต่างๆ ได้ ระลึกถึงได้ โดยไม่ต้องบันทึก จึงเรียนสอนแบบมุขปาฐะสืบๆ กันมาได้.

ส่วนศาสนาพุทธ ซึ่งใช้วิธีการเรียนการสอนแบบมุ่งหมายออกจากกามคุณ 5 แตกต่างจากพราหมณ์แค่ที่ว่า พุทธเราเตรียมตัวตายแบบไม่ต้องเกิดอีกเลย ก็จะสอนแบบมุขปาฐะเช่นกัน.

หลังจากนั้นผ่านไป 2 พันปี เมื่อฝรั่งเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาจริงจังในสมัยล่าอาณานิคม ก็ไม่ได้ศึกษาด้วยวิธีแบบมุขปาฐะ เพื่อออกจากกามคุณ 5 เพราะจุดประสงค์ที่ศึกษา ก็เพื่อมากอบโกยทรัพยากร(=กามคุณ 5)จากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธอยู่แล้ว. จึงศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยวิธีของตนเองแบบฉาบฉวย จนเกิดข้อสรุปที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานมากมาย เช่น ข้อสรุปว่า "อภิธรรมและอรรถกถาแต่งขึ้นสมัยตติยสังคายนา" เป็นต้น ซึ่งล้วนขัดแย้งกับหลักฐานต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ (ที่ข้าพเจ้าได้เคยอธิบายไว้แล้ว ในลิงก์นี้).

ข้อสรุปของฝรั่งนั้น ไม่มีผลต่อประเทศที่ศึกษาด้วยระบบมุขปาฐะแบบพม่าเลย เพราะคนที่เรียนมาแบบมุขปาฐะ ล้วนแต่เห็นชัดว่า ฝรั่งอธิบายขัดกับเหตุผลข้อเท็จจริงในหลักฐานทางประวัติศาสตร์แค่ไหน.

นี่คือที่มาที่ว่า ทำไมฝรั่ง ถึงเข้าใจอภิธรรมผิดๆ.

มุขปาฐะในสมัยพุทธกาล บังคับให้มีอรรถกถามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

ถามว่า แล้วเราจะเชื่อมูลอรรถกถาได้อย่างไร ว่ามูลอรรถกถาเอง มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล? 
ตอบว่า ในระบบมุขปาฐะ อรรถกถาจะถูกสอนหลังจากท่องจำพระพุทธพจน์ได้เรื่องหนึ่งแล้ว. ดังนั้น เมื่อการท่องจำพระพุทธพจน์มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล การสอนอรรถกถาก็ต้องมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเช่นกัน. ในอรรถกถาจึงกล่าวประวัติไว้ว่า "มูลอรรถกถา คือ อรรถกถาที่มีมาตั้งแต่พุทธกาล" 
อีกอย่าง ที่อรรถกถาบันทึกแยกไว้ว่า "ในอรรถกถาทีฆนิกายอธิบายอย่างนี้ แต่ในอรรถกถามัชฌิมนิกายอธิบายต่างกัน" และที่แยกไว้ว่า "ทีฆนิกายทรงจำมาในสายพระอานนท์ มัชฌิมนิกายทรงจำมาในสายพระสารีบุตร" เป็นต้น ทั้ง 2 อย่างนั้น ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า อรรถกถามีมาตั้งแต่พุทธกาล เพราะถ้าอรรถกถาทั้งหมดถูกแต่งขึ้นพร้อมๆ กันในสมัยตติยสังคายนา ก็ไม่ควรมีการแยกมติของมูลอรรถกถาออกจากกัน แต่ที่มีการแยกออกจากกัน ก็แสดงว่าอรรถกถามีการทรงจำแยกกันมาในสำนักต่างๆ กัน ก่อนตติยสังคายนาแล้ว.

สำนวนอภิธรรม ไม่เหมือนพระสูตร เพราะเป็นสำนวนจากสำนักของพระสารีบุตร ที่พระพุทธเจ้าสอนตามอัธยาศัยของพระสารีบุตร

  • พระสูตร คือ สิ่งที่พระอานนท์เรียนจากพระพุทธเจ้า, 
  • อภิธรรม คือ สิ่งที่พระสารีบุตรเรียนจากพระพุทธเจ้า, 
  • การย่อขยายพระสูตร คือ สิ่งที่พระมหากัจจายนะเรียนจากพระพุทธเจ้า. 


พระพุทธเจ้าสอนธรรมะตามอัธยาศัยผู้เรียน. 

  • พระอานนท์มีอัธยาศัยพหูสูตร ถูกตั้งไว้ในเอตทัคคะด้านพหูสูตร จึงทรงสอนแบบให้ท่องจำมากๆ จึงเรียบเรียงออกมาได้เยอะมากแบบสุตตันตปิฎก. 
  • พระสารีบุตร มีอัธยาศัยด้านปัญญา ถูกตั้งไว้ในเอตทัคคะด้านปัญญา จึงทรงสอนให้ใช้ปัญญา (ปรัชญา) คิดวิเคราะห์มากๆ จึงเรียบเรียงออกมาได้วิจิตรพิศดารมากแบบพระอภิธรรม ปฏิสัมภิทามรรค นิทเทส. 
  • พระมหากัจจายนะ มีอัธยาศัยด้าน ด้านย่อขยายพระสูตรมาก จึงเรียบเรียงออกมาได้เป็นเนตติปกรณ์. 


ในอภินวอรรถกถาระบุว่า มูลอรรถกถาทรงจำมาคู่กับพระไตรปิฎกตั้งแต่ครั้งพุทธกาล (เพราะต้องเรียนคู่กันเป็นอุทเทส กับ นิทเทส) ซึ่งในมูลอรรถกถา ระบุว่า อภิธรรมนี้ เรียนกันมาในสำนักของพระสารีบุตร. ดังนั้น การที่สำนวนของพระอานนท์ผู้เรียบเรียงพระสูตร จะต่างจากพระสารีบุตร ที่เรียบเรียงพระอภิธรรม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล ไม่ใช่สักแต่ว่าแสดงมั่วๆ ไป เพราะทรงเป็น "ภควา (ครูที่ดีที่สุด)" ดังกล่าวมานี้.

พระอุบาลี เอตทัคคด้านวินัยปิฎก ก็เรียนอภิธรรมจากพระสารีบุตร

ชื่อของปัจจัยต่างๆ ในคัมภีร์ปัฏฐานของพระสารีบุตร ก็ปรากฎใน คัมภีร์ปริวารของพระอุบาลี เช่นกัน ที่สำคัญ คือ ลักษณะที่ใช้ศัพท์ก็ไม่เหมือนกัน จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า คล้ายกับการที่ 18 นิกายก่อนตติยสังคายนา มีอภิธรรมแต่อธิบายไม่ตรงกัน เพียงแต่ปริวารกับปัฏฐาน อธิบายคนละนัยยะกันจึงไม่ขัดแย้งกัน แต่ของ 18 นิกายนั้น มุ่งอธิบายนัยยะเดียวกัน แต่กลับอธิบายขัดกัน.

ในลิงก์เรื่องกฐินจากพระไตรปิฎกเล่ม 8 นี้ คือ ข้อความในปริวาระ ที่มีชื่อของปัจจัยจากปัฏฐาน ปรากฎอยู่:
http://www.84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=08&siri=104#404

ส่วนมหาโคสิงคสาลสูตรนี้ คือ พระสูตรที่แสดงว่า พระอัคคสาวกทั้งหลายนิยมไปฟังธรรมกับพระสารีบุตรกัน:
www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=6877&Z=7105

ถ้าอภิธรรมไม่มีมาก่อนตติยสังคายนา 18 นิกายที่มีมาก่อนตติยสังคายนา จะเถียงกันเรื่อง อภิธรรม จนเกิดกถาวัตถุปกรณ์ได้อย่างไร?

ตามประวัติศาสตร์แล้ว นิกายอื่นๆ ก่อนครั้งตติยสังคายนา ก็มีอภิธรรมเช่นกัน แม้จะแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยก็ตาม. 
ซึ่งที่ต่างกัน ก็เพราะอภิธรรมทรงจำกันมาเฉพาะในสำนักสายพระสารีบุตรที่เรียนมาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง แต่ก็มีการสอนในสำนักอื่นด้วย เพราะในมหาโคสิงคสาลสูตรแสดงไว้ชัดเจนว่า พระอัคคสาวกต่างๆ มักจะพากันไปฟังธรรมะที่สำนักของพระสารีบุตรเสมอๆ.  
เพียงแต่อภิธรรมของสำนักอื่นๆ อาจจะไม่ได้เรียนสมบูรณ์เท่ากับลูกศิษย์ที่ติดตามพระสารีบุตร ทำให้สองร้อยปีต่อมา ในสมัยตติยสังคายนา เกิดข้อโต้แย้งในอภิธรรม จนมีการแต่งคัมภีร์กถาวัตถุขึ้น.
ซึ่งมีแค่ปกรณ์นี้ ปกรณ์เดียวเท่านั้น ที่แต่งขึ้นในสมัยตติยสังคายนา และอรรถกถาก็แสดงประวัติแยกไว้ชัดเจน ส่วนปกรณ์ 6 ที่เหลือ ล้วนสอนกันมาในสำนักของพระสารีบุตร ตั้งแต่สมัยพุทธกาลทั้งสิ้น จนมีอภิธรรมปรากฎอยู่ในนิกายต่างๆ ก่อนตติยสังคายนาหลายนิกาย. 
ถ้าไม่มีมาก่อน ก็คงไม่อาจพบอภิธรรมในนิกายอื่นๆ ที่ถูกชำระกันตามที่ปรากฎในกถาวัตถุปกรณ์ ที่เรียบเรียงขึ้นในตติยสังคายนาแน่ๆ.

วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

วิธีเจริญเมตตา

ให้คิดถึงตัวความรู้สึกสุข ที่เราพยายามหามาให้ตัวเองว่า "ขอเราจงมีความสุข"ๆๆๆ

แล้วเอาความคิดแบบเดียวกันนี้ คิดไปยังคนที่รักก่อนว่า "ขอเพื่อนรักเราจงมีความสุข"ๆๆๆ

เมื่อความรู้สึกส่งความสุข แก่เราและเพื่อน มันไม่ต่างกัน เราอยากสุขอย่างไร ก็คิดกะเพื่อนอย่างนั้น คิดกะเพื่อนอย่างไร คิดกะเราก็อย่างนั้น

ต่อไปจึงจะเริ่มคิดอย่างนี้ในคนที่ไม่รู้จัก

สุดท้ายจึงค่อยคิดกะคนที่แค้นมากๆ

คิดจนกระทั่ง ความรู้สึกส่งความสุขของเราไปคนื่น คนอื่นมายังเรา และคนอื่นไปคนอื่น มันไม่ต่างกัน ครับ

ถ้าจะเลือกให้ใครต้องตายก่อน ก็เลือกไม่ได้

แม้จะมีจิตเลือก ก็ด้วยจิตเสียสละ (อโลภะ) ไม่ใช่จิตเมตตา (อโทสะ)

อนึ่ง โลภะ กับ โทสะเกิดด้วยกัน แต่ขณะพัฒนา(ภาวนา)นั้น มันจะมุ่งเน้นไปทีละอย่างได้ ครับ.

ถามว่า: ต้องทำตามลำดับนี้ไหม?

ตอบว่า: ถ้ารู้จักความสุขดีพอ และไม่มีความแค้นกับใคร จะแผ่กะใครก็ได้, แต่ที่ท่านให้แผ่กับคนที่รักก่อน เพราะปกติแล้วเราจะปรารถนาดีกับคนเหล่านี้มาก่อนอยู่แล้ว ครับ.

ถามว่า: ต้องแผ่แค่ไหน จึงจะเลื่อนไปทำขั้นต่อไปได้?

ตอบว่า: แผ่จนกว่าจะไม่เกิดความลำเอียง ครับ ตนจงสุขเท่าไหร่ เพื่อนก็จงสุขเท่านั้น เพื่อนจงสุขเท่าไหร่ ตนก็จงสุขเท่านั้น. แต่ในอรรถกถา ท่านให้แผ่ให้ได้อัปปนาฌานก่อนทีละกลุ่มๆ เพราะในที่นั้นกล่าวถึงสมาธิที่เป็นจิตตวิสุทธิที่จะเป็นบาทฐานของทิฏฐิวิสุทธิ จึงกล่าวถึงขั้น อุปจาระและอัปปนาฌานไว้ เพื่อให้สำเร็จวิสุทธิถัดๆ ไปได้ ครับ.

คลิปสอนเริ่มทำกรรมฐาน สำหรับเนยยบุคคล


หลักการขั้นต้น ของการทำอานาปานัสสติ:
1 ความยาว-สั้นของลมหายใจ ที่ผ่านจุดกระทบ,
2. ฝึกให้ชำนาญต่อการับรู้ลมหายใจตั้งแต่เริ่มกระทบจนสุด ไม่ขาดช่วง (ปฏิสญฺจิกฺขติ)
3. ฝึกหายใจเบา
ในพระพุทธพจน์ หายใจเข้าออก รู้ 3 อย่างนี้, ซึ่งทั้ง 3 ข้อ ก็รู้แค่ลมหายใจ ที่กระทบอยู่ที่ปลายจมูก เท่านั้น, ไม่สนใจกระทั่งความรู้สึกที่ปลายจมูก ไม่สนใจแสง ไม่สนใจความรู้สึกสบายเบาสว่าง, สนใจแต่ลมหายใจตลอดเวลาเท่านั้น ครับ.

คลิปสอนเริ่มทำกรรมฐาน สำหรับเนยยบุคคล 
โดยพระกัมมัฏฐานาจริยะ ที่เรียนสืบๆ กันมา ในพม่า
ป.ล. กราบก่อนดูนะครับ อาจารย์ระดับนี้ ไม่ได้หากันได้ง่ายๆ


ป.ล. วัด pa-auk (พาเอ้า) ไม่ได้รู้เห็นใดๆ กับเพจนี้ เพจนี้กล่าวถึงวัดนี้ เพราะชื่นชมในความเคร่งครัด และซื่อตรงต่อพระไตรปิฎกของวัดนี้เท่านั้น.

วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559

อวิชชา 8 ข้อ อธิบายตามนัยยะของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร วิสุทธิ 7 ปฏิสัมภิทามรรค

อวิชชา 8 ข้อ คือ:

  1. ความไม่เข้าใจทุกข์ว่า ทุกข์ คือ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นของมีกิจควรอนุปัสสนาว่า "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" อันเรายังไม่ได้อนุปัสสนา.
  2. ความไม่เข้าใจทุกขสมุทัยว่า เหตุทุกข์คือตัณหาในอารมณ์ 6 เป็นของมีกิจควรละ ด้วยการอนุปัสสนา อันเรายังไม่ได้ละ.
  3. ความไม่เข้าใจทุกขนิโรธว่า ความดับทุกข์คือสอุปาทิเสสนิพพานธาตุในอารมณ์ 6 เป็นของมีกิจควรทำให้ประจักษ์กับใจ อันเรายังไม่ได้ประจักษ์.
  4. ความไม่เข้าใจทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาว่า "แนวทางดับทุกข์คือมรรค 8 ได้แก่ สัมมาทิฏฐิที่ทำกิจในอริยสัจจ์ 4 กำลังสะสมวิสุทธิ 5 ข้อหลังอยู่, สัมมาสังกัปปะ ที่เป็นจิตตวิสุทธิอยู่ (เพราะทำมรรค 6 ที่เหลือมาสมบูรณ์แล้ว จนจิตตวิสุทธิ์ เป็นฐานให้สัมมาทิฏฐิที่กำลังเกิดอยู่ได้), สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ที่เป็นสีลวิสุทธิมาก่อนแล้ว, สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ที่เป็นจิตตวิสุทธิมาก่อนแล้ว" เป็นของมีกิจควรทำให้เกิดขึ้นต่อเนื่องไม่ขาดสายจนมีกำลังละกิเลส (ภานากิจ) อันเรายังไม่ได้ภาวนา. 
  5. ความไม่เข้าใจอัทธาอดีตของปฏิจจสมุปบาทว่า ประกอบไปด้วยอวิชชา สังขาร แต่ละอย่างๆ มีลักษณะอย่างไร มีกิจอย่างไร.
  6. ความไม่เข้าใจอัทธาอนาคตของปฏิจจสมุปบาทว่า ประกอบไปด้วย ชาติ ชรามรณะ แต่ละอย่างๆ มีลักษณะอย่างไร มีกิจอย่างไร.
  7. ความไม่เข้าใจทั้งอัทธาอดีตและอัทธาอนาคตของปฏิจจสมุปบาทว่า มีผลและมีเหตุเป็นอัทธาปัจจุบัน คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ปัจจุบันนัทธาเหล่านี้ แต่ละอย่างๆ มีลักษณะอย่างไร มีกิจอย่างไร.
  8. ความไม่เข้าใจปฏิจจสมุปปาทธรรมว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยให้ธรรมนี้จึงเกิดขึ้นได้ คือ ไม่เข้าใจว่า อวิชชาอย่างไรเป็นปัจจัยแก่สังขารอย่างไร อวิชชาอย่างไรและสังขารอย่างไร ที่เป็นอตีตัทธาอย่างไร จึงเป็นปัจจัยอย่างไร แก่ปัจจุบันนัทธาอย่างไร และอนาคตัทธาอย่างไร เป็นต้น. (คำว่า อย่างไร ในที่นี้ ไม่ได้พิมพ์เกิน มันต้องใช้คำอธิบายอย่างนี้จริงๆ).

มานะของพระโสดาบันเป็นอย่างไร? เรา กับ อัตตา ในคำว่า "นั่นเป็นเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา" ต่างกันตรงไหน?


มานะของพระโสดาบันเป็นอย่างไร? เรา กับ อัตตา ในคำว่า "นั่นเป็นเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา" ต่างกันตรงไหน?
คำว่า "นั่นเป็นเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา" ในอรรถกถาที่กล่าวถึงการปฏิบัติตั้งแต่ปุถุชนวิปัสสนา ไปจนถึงอรหัตตผล มักจะระบุว่า "นั่นเป็นเรา" = คิดด้วยมานะ "นั่นเป็นอัตตาของเรา"  = คิดด้วยทิฏฐิ.

(ที่แสดงแบบอื่นก็มี แต่น้อย และไม่ได้ใช้อธิบายในเรื่องวิปัสสนา)

ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า:

เรา (ในประโยคนั้น) คือ ขันธ์ มีอยู่จริง แต่มานะ ไปยกชูให้แตกต่างจากขันธ์อื่นๆ ราวกะว่า เป็นของเที่ยงกว่าขันธ์อื่นๆ ทั้งที่จริงๆแล้วก็ไม่เที่ยงเหมือนๆ กัน เกิดดับเหมือนๆ กัน เช่น พระโสดาบันคิดว่า "หลานของเราเป็นคนดี (กว่าของคนอื่น)" ท่านก็รู้ว่า ไม่มีอัตตาที่เป็นหลาน ท่านไม่ได้มีทิฏฐิคิดผิดว่า ขันธ์ที่เป็นหลายนั้นเที่ยง แต่ท่านยังเผลอสติคิดว่าขันธ์อันนั้นเที่ยง เพราะยังมีสัญญาวิปลาสว่าเที่ยง มีจิตตวิปลาสว่า เที่ยง อยู่.

ถ้าใครมาสอนพระโสดาบันว่า  "เด็กอายุ 20 เป็นคนแก่แล้ว" หรือ "อายุมากแล้ว" ท่านก็จะไม่ถกเถียง ไม่ดื้อดึงด้วยทิฏฐิเลย จะกล่าวสาธุการ เห็นดีเห็นงามด้วย,

แต่ถ้าคนที่มีสักกายะทิฏฐิ เวลามีคนไปพูดเช่นนี้ว่า "เด็กอายุ 20 เป็นคนแก่แล้ว" หรือ "อายุมากแล้ว" ก็จะรู้สึกแย้ง รู้สึกไม่เห็นด้วย รู้สึกขัดใจ (จะแสดงออกมาให้คนอื่นรู้หรือไม่ก็ตาม) เพราะขัดกับนิจจทิฏฐิวิปลาส สุขทิฏฐิวิปลาส สุภทิฏฐิวิปลาส อัตตทิฏฐิวิปลาส.

ส่วนอัตตา (ในประโยคนั้น) คือ ไม่ใช่ขันธ์ ไม่มีอยู่จริง เป็นอวิชชมานะ เป็นอัตถบัญญัติ เป็นสิ่งที่สักกายทิฏฐิคิดขึ้นมาเองให้รู้สึกราวกะว่ามีอยู่จริง ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่สักกายทิฏฐิไปเอาขันธ์นู้นมาผสมกับขันธ์นี้ แล้วก็คิดมั่วๆ ผิดความจริงจนเป็นอัตตาขึ้นมา เช่น ปุถุชนคิดว่า "เราเที่ยวเกิดวนไปเวียนมา" ไม่ได้รู้ว่า "เรา" ไม่มีอยู่จริง เป็นแค่ปัจจัยปัจจยุปบันอาศัยกันเกิดขึ้นเป็นวงล้อปฏิจจสมุปบาทเท่านั้นเอง.

แต่มานะที่เกิดตามหลังทิฏฐิ จะกลายเป็นอติมานะ ยกชูไม่ตรงกับสถานะที่เป็นจริง เช่น เราศีลแย่กว่าเขา ก็ไปคิดว่า เราศีลดีกว่าเขา เพราะไม่แยกแยะปฏิจจสมุปบาทว่า "ปุญญาภิสังขารกับอปุญญาภิสังขารให้ผลต่างกันอย่างไร" จึงคิดผิดว่า คนศีลแย่จะให้ผลดี (เลยสรุปไปเองตามอำเภอใจที่มีทิฏฐิมานะว่า คนศีลแย่คือคนศีลดี).

เรื่องนี้ ยากจริงๆ ผมค้นคว้ามา 10 กว่าปีแล้ว ก็ได้ข้อสรุปแค่นี้ ส่วนนึงเป็นเพราะภาษาไทยเก็บองค์ธรรมมาไม่หมดด้วย.


---------------บันทึกเบ็ดเตล็ด---------------------
#เขียนเอง
ปุถุชน มีอกุสลจิตตุปบาทเกิดได้ครบตามสมควร.
พระโสดาบัน สกทาคามี ไม่ทิฏฐิจิตตุปบาท และวิจิกิจฉาจิตตุปบาท.
พระอนาคามี ไม่มีโทสะจิตตุปบาท และกามราคจิตตุปบาท.
พระอรหันต์ ไม่มีอกุสลจิตตุปบาท.

ฉะนั้น มานะของปุถุชน จึงยกชูผิดได้ เพราะเกิดต่อจากทิฏฐิวิถีวาระที่มาก่อนๆ มานะวิถีวาระได้ เช่น "ผมของร่างกายที่เป็นเราในชาติหน้าจะต้องสวยแบบชาตินี้ด้วยบุญนั้นบุญนี้".
มานะของพระโสดาบัน สกทาคามี ยกชูไม่ผิด แต่ยังยกชูอาศัยกามได้ เช่น ผมเราสวย (กว่าผมที่ไม่สวยจริงๆ).
มานะของพระอนาคามี ยกชูไม่ผิด ไม่ยุ่งกับกาม เช่น กามไม่ดี เราไม่ยุ่ง เราหนีกามไปเกิดเป็นพรหมดีกว่า.

(อัฏฐสาลินี)
คำว่า มานะ หมายถึง ธรรมที่ให้ความสำคัญกะสัมปยุตตธรรมของตน.
ลักขณาทิจจตุกะของมานะ
มีการยกชูสัมปยุตธรรมขึ้นเป็นลักษณะ (อุนฺนติลกฺขโณ)
มีการยกย่องสัมปยุตธรรมเป็นรส (สมฺปคฺคหนรโส)
มีความปรารถนาดุจธงเป็นปัจจุปัฏฐาน (เกตุกมฺยตาปจฺจุปฏฺฐาโน)
มีโลภะ ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิเป็นปทัฏฐาน (ทิฏฐิวิปฺปยุตตฺตโลภปทฏฺฐาโน)
พึง ทราบว่า เหมือนคนบ้า.

มญฺญตีติ อภิมญฺญติ, อหํการํ กโรตีติ อตฺโถฯ เสยฺยาทิวเสน อุจฺจโต นมนํ อุณฺณติฯ สมฺปคฺคหรโสติ อุณฺณติวเสเนว อตฺตโน, สมฺปยุตฺตธมฺมานํ วา สมฺปคฺคณฺหนกิจฺโจ, น วีริยํ วิย ตํตํกิจฺจสาธเนนฯ อพฺภุสฺสหนวเสน หีนสฺส อตฺตานํ นีจํ กตฺวา คหณมฺปิ ปคฺคณฺหนวเสเนวาติ เวทิตพฺพํฯ เกตุ…เป.… ปจฺจุปฏฺฐาโนติ เอตฺถ เกตุ วุจฺจติ อจฺจุคฺคตธโช, อิธ ปน เกตุ วิยาติ เกตุ, อุฬารตมาทิภาโว, ตํ เกตุภาวสงฺขาตํ เกตุํ กมฺยตีติ เกตุกมฺยํ, ยสฺส ธมฺมสฺส วเสน ตํ เกตุกมฺยํ, โส เกตุกมฺยตาฯ ‘‘อห’’นฺติ ปวตฺตนโต มานสฺส ทิฏฺฐิสทิสี ปวตฺตตีติ ทิฏฺฐิมานา เอกจิตฺตุปฺปาเท น ปวตฺตนฺติ, ทฺเว เกสรสีหา วิย เอกคุหายํ, ตสฺมา มาโน ทิฏฺฐิวิปฺปยุตฺตจิตฺเต สพฺพทา อนุปฺปชฺชมาโนปิ ทิฏฺฐิสมฺปยุตฺตจิตฺเต นิยเมน อนุปฺปชฺชนโต ทิฏฺฐิวิปฺปยุตฺตโลภปทฏฺฐาโนฯ
อภิธมฺมาวตาร-ปุราณฎีกา,ฏีกา ข้อ 82

'มานะว่า "เป็นเรา" มีเหตุมาจากความคิดว่าขันธ์ทั้งหลายเที่ยงยั่งยืน, และมานะก็เป็นปฏิปักข์ต่อศรัทธาด้วย ข้าพเจ้าจึงกล่าวในปรมัตถทีปนีสังคหมหาฏีกาว่า "ด้วยอำนาจการเห็นว่าเที่ยง" เป็นต้น-อุนฺนติลกฺขโณ จ อหํ มาโน ขนฺเธสุ นิจฺจธุววิปลฺลาสมูลโก สทฺธาย จ ปฏิปกฺโขติ อาห ‘‘อนิจฺจทสฺสนวเสนา’’ติอาทิํฯ' (กมฺมฏฺฐานสงฺคหอนุทีปนา, แลดี สยาดอ)

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การพิจารณาเห็นกายในกาย ตามพระอรรถกถาจารย์ (ตรวจทานแล้ว 1 รอบ)

บาลี:

ในธรรมวินัยนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ หมั่นพิจารณากายในกายดำรงอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.

อรรถกถา:

               คำว่า ในธรรมวินัยนี้ คือ ในคำสอนนี้. 
               คำว่า ภิกฺขเว นั้น เป็นคำทักเรียกบุคคลที่รับฟังธรรม. 
               คำว่า ภิกษุนั้น เป็นคำแสดงถึงบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยข้อปฏิบัติ. เทวดาและมนุษย์แม้เหล่าอื่น ที่ปฏิบัติธรรมก็มีเหมือนกัน. แต่ที่ตรัสว่า ภิกษุ 1.เพราะปฏิบัติได้ดีที่สุด และ 2.เพราะทรงแสดงความเป็นภิกษุตามการปฏิบัติ (ไม่ใช่ตามการบวช). 
               เป็นความจริง ในบุคคลทั้งหลายผู้รับคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุเป็นผู้ทำได้ดีที่สุด เพราะเป็นประหนึ่งภาชนะรองรับคำสั่งสอนมีประการต่างๆ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ภิกษุ เพราะปฏิบัติได้ดีที่สุด. แต่เมื่อทรงถือเอาภิกษุแล้วคนทั้งหลายที่เหลือก็เป็นอันทรงถือเอาด้วย เหมือนอย่างในการเสด็จพระราชดำเนิน เป็นต้น เหล่าราชบริพารนอกนั้น ก็เป็นอันท่านรวมไว้ด้วยศัพท์ว่าราช. 
ผู้ใดปฏิบัติข้อปฏิบัตินี้ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าภิกษุ. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ภิกษุ เพราะทรงแสดงความเป็นภิกษุตามการปฏิบัติ. 
              ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจะเป็นเทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม ย่อมนับได้ว่า เป็นภิกษุทั้งนั้น. 

               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ (ในธรรมบท ขุททกนิกาย) ว่า

                         อลงฺกโตฺ เจปิ สมํ จเรยฺย

                         สนฺโต ทนฺโต นิยโต พฺรหฺมจารี

                         สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ

                         โส พฺราหฺมโณ โส สมโณ ส ภิกฺขุ

                                   หากว่า บุคคลมีธรรมประดับแล้ว เป็น
                         ผู้สงบแล้ว ฝึกแล้ว เป็นคนแน่ เป็นพรหมจารี
                         เลิกอาชญากรรมในสัตว์ทั้งปวง พึงประพฤติ
                         สม่ำเสมออยู่ไซร้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าพราหมณ์ ผู้นั้น
                         ก็ชื่อว่าสมณะ ผู้นั้นก็ชื่อว่าภิกษุ ดังนี้. 

อุทเทสกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนัย 1

อธิบาย "กาเย"



               คำว่า ในกาย (กาเย) คือ ในรูปกาย. 

อธิบายว่า


  1. รูปกายในที่นั้นท่านประสงค์เอาว่า กาย เพราะอรรถว่าเป็นที่รวมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ และธรรมทั้งหลายมีผมเป็นต้น เหมือนตัวของช้างตัวของรถเป็นต้น. 
  2. ที่ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นที่รวมฉันใด ที่ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นแหล่งที่มาของสิ่งที่น่ารังเกียจฉันนั้น.  
    • เป็นความจริงที่กายนั้นเป็นแหล่งที่มาของสิ่งน่ารังเกียจ คือน่าเกียจอย่างยิ่ง แม้เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่ากาย. 
      • คำว่า เป็นแหล่งที่มา คือเป็นถิ่นเกิด ใจความของคำในคำว่า เป็นแหล่งที่มานั้น มีดังนี้ ธรรมชาติทั้งหลายมาแต่กายนั้น เหตุนั้น กายนั้นจึงชื่อว่าเป็นแหล่งที่มา. อะไรมา? สิ่งอันน่าเกลียดทั้งหลายมีผมเป็นต้นย่อมมา. ชื่อว่า อายะ เพราะเป็นแหล่งมาแห่งสิ่งน่าเกลียดทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้. 

อธิบาย "กายานุปสฺสี"


  • คำว่า หมั่นพิจารณากาย หมายความว่า มีปกติหมั่นพิจารณาในกาย หรือ กำลังหมั่นพิจารณากายอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้จะตรัสว่า ในกายแล้ว บัณฑิตพึงทราบว่าทรงกระทำโดยไม่ปนกันระหว่างศัพท์ว่า กาย เป็นครั้งที่สองอีกครั้งว่า "หมั่นพิจารณากาย"  ก็เพื่อให้ง่ายต่อการแสดง การตั้งชื่อแยกสติปัฏฐานออกจากกัน และ การทำฆนวินิพโภคะ เป็นต้น. 
    1. การตั้งชื่อแยกสติปัฏฐานออกจากกัน อธิบายว่า ภิกษุไม่ได้หมั่นพิจารณาเวทนาในกาย  ไม่ได้หมั่นพิจารณาจิตในกาย และไม่ได้หมั่นพิจารณาธรรมในกายด้วย, แต่หมั่นพิจารณากายในกายต่างหาก, เพราะฉะนั้น การตั้งชื่อแยกสติปัฏฐานออกจากกันจึงถูกแสดงไว้ด้วยการแสดงอาการที่หมั่นพิจารณากายในวัตถุที่นับว่ากาย. 
    2. การทำฆนวินิพโภคะ อธิบายว่า การหมั่นพิจารณากายนั้น มิใช่หมั่นพิจารณาธรรมอย่างหนึ่ง ที่พ้นจากอวัยวะน้อยใหญ่ในกาย ทั้งมิใช่หมั่นพิจารณาเป็นหญิงหรือเป็นชาย ที่พ้นจากผมขนเป็นต้น. 
        • อธิบายว่า การหมั่นพิจารณากายนั้น หมายถึง กายที่นับว่าเป็นที่รวมของภูตรูปและอุปาทายรูป มีผมขนเป็นต้น มิใช่หมั่นพิจารณาธรรมอย่างหนึ่งที่พ้นจากภูตรูปและอุปาทายรูป 
          • ที่แท้หมั่นพิจารณากายเป็นที่รวมอวัยวะน้อยใหญ่ในกายแม้อันนั้น เหมือนหมั่นตรวจดูส่วนประกอบของรถฉะนั้น 
          • หมั่นพิจารณากายเป็นที่รวมของผมขนเป็นต้น เหมือนหมั่นตรวจดูส่วนน้อยใหญ่ของพระนคร 
          • หมั่นพิจารณากายเป็นที่รวมของภูตรูปและอุปาทายรูป เหมือนแยกใบและก้านของต้นกล้วย และเหมือนแบกำมือที่วางเปล่าฉะนั้น 
        • เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันทรงแสดงการทำฆนวินิพโภคะ ด้วยทรงแสดงวัตถุที่นับได้ว่ากาย โดยเป็นที่รวมโดยประการต่างๆ นั่นแล้ว.  
        • อธิบายอีกว่า กายหรือชายหญิง หรือธรรมไรๆ อื่นที่พ้นจากกายอันเป็นที่รวมดังกล่าวแล้ว หาปรากฏในกายนั้นไม่ แต่สัตว์ทั้งหลายก็ยึดมันผิดๆ โดยประการนั้นๆ ในกายที่สักว่า เป็นที่รวมแห่งธรรมดังกล่าวแล้ว อยู่นั่นเอง. เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
          "ยํ ปสฺสติ น ตํ ทิฎฺฐํ    ยํ ทิฎฺฐํ ตํ น ปสฺสติ
          อปสฺสํ พชฺฌเต มูฬฺโห    พชฺฌมาโน น มุจฺจติ
          บุคคลเห็นสิ่งใด สิ่งนั้นก็ไม่ได้เห็น
          สิ่งใดเห็นแล้วก็ไม่เห็นสิ่งนั้น เมื่อไม่เห็น
          ก็หลงติด เมื่อติดก็ไม่หลุดพ้น" ดังนี้.
          ท่านกล่าวคำนี้ ก็เพื่อแสดงการแยกออกจากก้อนเป็นต้น. 
      • ด้วยศัพท์ว่า เป็นต้น (ในคำว่า การตั้งชื่อแยกสติปัฏฐานออกจากกัน และ การทำฆนวินิพโภคะ เป็นต้น) คำนี้บัณฑิตพึงทราบความดังนี้. 
    3. ก็ภิกษุนี้หมั่นพิจารณากายในกายนี้เท่านั้น ท่านอธิบายว่า มิใช่หมั่นพิจารณาธรรมอย่างอื่น. คนทั้งหลายแลเห็นน้ำในพยับแดด แม้ที่ไม่มีน้ำฉันใด ภิกษุไม่ได้เป็นอย่างนั้น คือไม่ได้หมั่นพิจารณา "กายที่ไม่เที่ยง ที่เป็นทุกข์ ที่ไม่ใช่ตัวตน ที่ไม่สวยงาม" ว่า "เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนและสวยงาม". ที่แท้ หมั่นพิจารณากาย ท่านอธิบายว่า หมั่นพิจารณากายเป็นที่รวมของอาการ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตนและไม่สวยงามต่างหาก. 
    4. อีกอย่างหนึ่ง ก็กายอันนี้ใด ที่ท่านกล่าวไว้ข้างหน้าว่า มีลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นต้น มีกระดูกที่ป่นเป็นที่สุด ตามนัยพระบาลีเป็นต้นว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปป่าก็ดี ฯลฯ เธอมีสติหายใจเข้า ดังนี้ 
    5. และกายอันใดที่ท่านกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรค (ขุททกนิกาย) ว่า "ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ หมั่นพิจารณากายคือดิน กายคือน้ำ กายคือไฟ กายคือลม กายคือผม กายคือขน กายคือผิวหนัง กายคือหนัง กายคือเนื้อ กายคือเลือด กายคือเอ็น กายคือกระดูก กายคือเยื่อในกระดูก โดยความเป็นของไม่เที่ยง" ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบเนื้อความของกายนั้นทั้งหมด แม้อย่างนี้ว่า ภิกษุหมั่นพิจารณากายในกาย โดยหมั่นพิจารณาในกายอันนี้เท่านั้น. 
    6. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความอย่างนี้ว่า หมั่นพิจารณากาย ที่นับว่าเป็นที่รวมแห่งธรรมมีผมเป็นต้นในกาย โดยไม่หมั่นพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่พึงถือว่าเป็นเรา เป็นของเราในกาย แต่หมั่นพิจารณากายนั้นๆ เท่านั้นเป็นที่รวมแห่งธรรมต่างๆ มีผมขนเป็นต้น.
    7. อนึ่ง พึงทราบความอย่างนี้ว่า หมั่นพิจารณากายในกาย แม้โดยหมั่นพิจารณากายที่นับว่าเป็นที่รวมแห่งอาการมีลักษณะไม่เที่ยงเป็นต้น ทั้งหมดทีเดียว ซึ่งมีนัยที่มาในปฏิสัมภิทามรรค ตามลำดับบาลี เป็นต้นว่า หมั่นพิจารณาในกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่โดยเป็นของเที่ยงดังนี้. 
      • จริงอย่างนั้น ภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทา คือหมั่นพิจารณากายในกายรูปนี้ ย่อมหมั่นพิจารณากายอันนี้โดยเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่เห็นโดยเป็นของเที่ยง หมั่นพิจารณาโดยเป็นทุกข์ ไม่ใช่เห็นโดยเป็นสุข หมั่นพิจารณาโดยมิใช่ตัวตน ไม่ใช่เห็นเป็นตัวตน ด้วยอำนาจอนุปัสสนา (การหมั่นพิจารณา) ๗ ประการ มีหมั่นพิจารณาความไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมเบื่อหน่าย มิใช่ยินดี ย่อมคลายกำหนัด มิใช่กำหนัด ย่อมดับทุกข์ มิใช่ก่อทุกข์ ย่อมสละ มิใช่ยึดถือ.  ภิกษุนั้น เมื่อหมั่นพิจารณากายอันนี้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาความสำคัญว่าเที่ยงเสียได้. เมื่อหมั่นพิจารณาโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละทุกขสัญญาความสำคัญว่าเป็นสุขเสียได้. เมื่อหมั่นพิจารณาโดยความเป็นของไม่ใช่ตัวตน ย่อมละอัตตสัญญาความสำคัญว่าเป็นตัวตนเสียได้. เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละความยินดีเสียได้. เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละความกำหนัดเสียได้. เมื่อดับทุกข์ ย่อมละเหตุเกิดทุกข์เสียได้. เมื่อสละย่อมละความยึดถือเสียได้ ดังนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้. 
               คำว่า อยู่ คือ ใช้ชีวิตอยู่. 

อธิบาย "อาตาปี สมฺปชาโน สติมา"


  1. คำว่า มีเพียร มีอรรถว่า สภาพใดย่อมแผดเผากิเลสทั้งหลายในภพทั้ง ๓ เหตุนั้น สภาพนั้นชื่อว่าอาตาปะแผดเผากิเลส คำนี้เป็นชื่อของความเพียร. ความเพียรของผู้นั้นมีอยู่ เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า อาตาปีมีความเพียร. คำว่า มีสัมปชัญญะ คือ ผู้ประกอบด้วยความรู้ที่นับว่า สัมปชัญญะ. คำว่า มีสติ คือ ประกอบด้วยสติกำกับกาย. ก็ภิกษุรูปนี้กำหนดอารมณ์ด้วยสติ หมั่นพิจารณาด้วยปัญญา ธรรมดาว่าปัญญาหมั่นพิจารณาของผู้เว้นจากสติ ย่อมมีไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าสติแล จำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะฉะนั้น ในที่นี่จึงตรัสว่า ย่อมหมั่นพิจารณากายในกายอยู่ ดังนี้. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นอันทรงอธิบายด้วยประการฉะนี้. 
  2. อีกอย่างหนึ่ง ความท้อแท้ภายใน ย่อมทำอันตรายแก่ผู้ไม่มีความเพียร ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ ย่อมหลงลืมในการกำหนดอุบายในการงดเว้นสิ่งที่มิใช่อุบาย ผู้มีสติหลงลืมแล้ว ย่อมไม่สามารถในการกำหนดอุบายและในการสละสิ่งที่ไม่ใช่อุบาย ด้วยเหตุนั้น กัมมัฏฐานนั้นของภิกษุนั้นย่อมไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น กัมมัฏฐานนั้นย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพแห่งธรรมเหล่าใด เพื่อทรงแสดงธรรมเหล่านั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ. ทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และองค์แห่งสัมปโยคะ 

อธิบาย "วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา โทมนสฺสํ"

               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงองค์แห่งการละ จึงตรัสว่า นำออกเสีย ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก. 
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า นำออกเสีย หมายความว่า นำออกเสีย ด้วยการนำออกชั่วขณะหรือด้วยการนำออกด้วยการข่มไว้. 
               คำว่า ในโลก ก็คือในกายอันนั้นแหละ. 
               จริงอยู่ กายในที่นี้ทรงหมายถึงโลก เพราะอรรถว่าชำรุดทรุดโทรม. อภิชฌาและโทมนัส มิใช่พระโยคาวจรนั้นละได้ในอารมณ์เพียงกายเท่านั้น แม้ในเวทนาเป็นต้น ก็ละได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในวิภังค์ (สติปัฏฐานวิภังค์) ว่า 
               (โลกเป็นอย่างไร? โลกก็คือกายอันนั้นแหละ,) อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่าโลก. 

  1. คำว่า "อุปาทานขันธ์ 5 ก็ชื่อว่าโลก" นั้น ท่านกล่าวขยายความต่ออกมา เพราะธรรมเหล่านั้น(อุปาทานขันธ์ 4 เว้นกาย) นับได้ว่าเป็นโลก. แต่คำว่า "โลกเป็นอย่างไร โลกก็คือกายอันนั้นแหละ"  เท่านั้นที่หมายเอาในอุทเทสว่า "กาเย กายานุปัสสี"เป็นต้น นี้. พึงเห็นการเชื่อมความดังนี้ว่า "นำออกเสียซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลกนั้น" (ตสฺมิํ โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ วิเนยฺย). 
  2. และเพราะเหตุที่ในที่นี้ กามฉันท์รวมเข้ากับศัพท์ว่า อภิชฌา พยาบาทรวมเข้ากับศัพท์ว่าโทมนัส ฉะนั้น จึงควรทราบว่า ทรงอธิบายการละนิวรณ์ด้วยการทรงแสดงธรรมอันเป็นคู่ที่มีกำลังนับเนื่องในนิวรณ์. 
  3. แต่โดยพิเศษ ในที่นี้ ตรัสการละความยินดีที่มีมูลจากกายสมบัติ(รูปสวย แรงดี วัยรุ่น ไม่มีโรค เป็นต้น)ด้วยการกำจัดอภิชฌา ตรัสการละความยินร้ายที่มีมูลจากกายวิบัติ ด้วยการกำจัดโทมนัส. 
  4. ตรัสการละความยินดียิ่งในกาย ด้วยการกำจัดอภิชฌา ตรัสการละความไม่ยินดียิ่งในการเจริญกายานุปัสสนา ด้วยการกำจัดโทมนัส. 
  5. ตรัสละการเข้าหาภาวะงาม ภาวะสุข เป็นต้น ที่ไม่มีจริงในกาย ด้วยการกำจัดอภิชฌา และตรัสการละการหลีกออกจากภาวะที่ไม่งาม เป็นทุกข์เป็นต้น ที่มีอยู่จริงในกาย ด้วยการกำจัดโทมนัส. 
               ด้วยพระดำรัสนั้น เป็นอันทรงแสดงการทำให้เกิดความเพียรอย่างต่อเนื่อง และความเป็นผู้สามารถในการประกอบความเพียรของพระโยคาวจร. 
  • อธิบายว่า พระโยคาวจรที่ทำให้เกิดความเพียรอย่างต่อเนื่องนั้น จะเป็นผู้หลุดพ้นจากความยินดียินร้าย ครอบงำความไม่ยินดีและความยินดี และเว้นจากการเข้าหาภาวะ(งามเป็นต้น)ที่ไม่มีจริง และเว้นจากการหลีกออกจากภาวะ(ไม่งามเป็นต้น)ที่มีจริง. ก็พระโยคาวจรนั้นเป็นผู้หลุดพ้นจากความยินดียินร้าย เป็นผู้ครอบงำความไม่ยินดี และความยินดี ไม่เข้าหาภาวะ(งามฯลฯ)ที่ไม่มีจริง ไม่หลีกออกจากภาวะ(ไม่งามฯลฯ)ที่มีจริง จึงจะชื่อว่าเป็นผู้สามารถในการประกอบความเพียรด้วยประการอย่างนี้. 

อุทเทสกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนัย 2


  • อีกนัยหนึ่ง ตรัสกัมมัฏฐานด้วยการอนุปัสสนา ในคำว่า "กาเย กายานุปสฺสี-หมั่นพิจารณากายในกาย". 
  • ตรัสการบริหารกายของพระโยคาวจร ด้วยวิหารธรรม ด้วยคำว่า "วิหรติ-อยู่". 
ก็ในคำเป็นต้นว่า อาตาปี-มีความเพียร(สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ) พึงทราบว่า 

  • ตรัสความเพียรชอบด้วย "อาตาปะ-ความเพียรเครื่องเผากิเลส" 
  • ตรัสสัพพัตถกกัมมัฏฐาน หรือ อุบายเครื่องบริหารกัมมัฏฐานด้วย "สติสัมปชัญญะ", หรือตรัสสมถะที่ได้มาด้วยอำนาจกายานุปัสสนาด้วย "สติ", ตรัสวิปัสสนาด้วย "สัมปชัญญะ
  • ตรัสผลแห่งภาวนาด้วย "การกำจัดซึ่งอภิชฌาและโทมนัส" ฉะนี้.
จาก: http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10.0&i=273&p=1
(แก้ไขบางส่วน ให้ถูกต้อง และอ่านง่ายขึ้น)

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2559

รักษาศีล แค่ 1-2 ครั้ง, อย่างนี้ ยังไม่อาจเรียกว่า "ท่านได้พยายามแล้ว"

ถ้าท่านพยายามรักษาศีล แค่ 1-2 ครั้ง แล้วก็เลิกล้มไป เพราะศีลไม่สมบูรณ์, อย่างนี้ #ยังไม่อาจเรียกว่า "ท่านได้พยายามแล้ว" เพราะศีล คือ สิ่งที่ทำเป็นปกติ เป็นเนืองนิจ ทำครั้งสองครั้ง เรียกว่าศีลไม่ได้. 

แต่เมื่อท่านพยายามรักษาศีลอยู่เป็นกิจวัตร อย่างต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต แต่มันก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่, อย่างนี้ คือ "ท่านพยายามแล้ว" #แค่มันยังไม่สำเร็จสมบูรณ์เท่านั้นเอง. ดุจการสร้างตึก ถ้าท่านแค่นึกร่างโครงไว้ในหัว ครั้งสองครั้ง อย่างนี้ ยังไม่เรียกว่า สร้างตึก, ต่อเมื่อท่านซื้อที่ ลงเสา ไปแล้วนั่นแหละ จึงจะเรียกว่า ท่านได้พยายามสร้างตึกไปแล้ว ฉันนั้น.

#ข้ออ้าง มีไว้เพื่อใช้ปรับปรุง ศีลและธรรม ที่ #กำลังรักษาอยู่, #ไม่ได้มีไว้เลื่อนเวลา รักษาศีลและธรรม #ที่ไม่เคยรักษา

#ข้ออ้าง มันมีไว้เพื่อใช้พัฒนาปรับปรุง ศีลและธรรม ที่ #กำลังรักษาอยู่, มัน #ไม่ได้มีไว้เลื่อนเวลา รักษาศีล รักษาธรรม #ที่ไม่เคยรักษา.
ถ้าท่านไม่เริ่มรักษาศีลและธรรมตั้งแต่ตอนนี้ เดี๋ยวนี้...
ข้ออ้างของท่านมันก็เป็นแค่... ข้ออ้างของคนที่ไม่เคยมีศีลและธรรม... เป็นแค่การอ้างอิงเพื่อถกเถียงเพื่อเอาชนะคนอื่น... และเป็นแค่คำพูดเพื่อที่จะไม่ต้องรักษาศีลและธรรมของคนที่ไม่มีศีลและธรรม ก็เท่านั้นเอง.

#รักษาศีล #ปฏิบัติธรรมกันเถอะ

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2559

ต้องเข้าใจในอุจเฉททิฏฐิ และสัสตทิฏฐิให้ได้ก่อน วิปัสสนาจึงจะเริ่มเป็นภาวนา

คนที่ปฏิบัติธรรมตามพระไตรปิฎกถูกต้อง ภาวนาจะเริ่มเข้าสู่วิปัสสนาได้ ต้องเข้าใจในอุจเฉททิฏฐิ และสัสตทิฏฐิ เพราะมันคือการเข้าใจปฏิจจสมุปบาท ที่ใช้พิจารณาในอุทยัพพยญาณ ครับ. หลังจากนั้นไป ก็จะเข้าสู่วิปัสสนาภาวนาได้ ปฏิสัมภิทามรรค จึงกล่าวว่า ภังคญาณ คือ วิปัสสนาญาณ. ซึ่งภังคญาณ เป็นญาณที่ต้องเข้าใจสัสสตทิฏฐิ และ อุจเฉททิฏฐิมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ตรุณอุทยัพพยญาณก่อนเกิดวิปัสสนูปกิเลสเสียอีกครับ.

ดูในวิสุทธิมรรค มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ตอนอุทยัพพยญาณกถา.

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2559

ที่โมจตุกกเจตสิกมี 4 ดวง เพราะโมหะไม่รู้จักบุญบาป จึงมีอหิริกะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะพ่วงด้วยเสมอ

เพราะโมหะ คือ ความไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล ไม่รู้ลำดับเหตุผล.
เหตุผลตามลำดับ คือ ปฏิจจสมุปบาท.
บาปบุญ คือ สังขารปฏิจจสมุปบาท.
โมหะ คือ ความไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท.
ฉะนั้น โมหะไม่รู้จักบุญบาป, คือ โมหะไม่รู้จักสังขารปฏิจจสมุปบาทด้วย.

เมื่อไม่รู้จักบุญบาป ก็ไม่ละอายบาป(อหิริกะ) ไม่กลัวบาป(อโนตตัปปะ) ฟุ้งซ่านไปทำบาปต่างๆ (อุทธัจจะ).

เหตุนี้แหละ เมื่อเกิดโมหะ จึงต้องมีอหิริกะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะ เกิดด้วยเสมอ.

และเพราะเหตุที่โมหะไม่รู้จักเหตุผล(ปฏิจจสมุปบาท)นี้เอง โมหะมูล คืออวิชชา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิจจสมุปบาท เพราะทำให้เกิดบุญบาปฝ่ายเวียนว่ายในวัฏฏะ คือ สังขารปฏิจจสมุปบาท.

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วิสุทธิมรรค แนะนำให้หาผู้ได้ฌานที่ทรงพระไตรปิฎก มาสอนกรรมฐาน

ต่อไปนี้ เป็นข้อความใน #วิสุทธิมรรค #กัมมัฏฐานคหณนิทเทส (อธิบายวิธีการถือเอากรรมฐานจากพระอาจารย์) ที่ทำให้พวกเราจำเป็นแสวงหาพระภิกษุที่เคร่งพระวินัย ทรงจำพระไตรปิฎก ปฏิบัติฌาน ปฏิบัติวิปัสสนาตามพระไตรปิฎกอรรถกถา เพื่อมาสอนธรรมะ สอนกรรมฐาน, โดยข้อความมีอยู่ว่า:

" ...เมื่อพระมหาสาวกนั้นไม่มีอยู่แล้ว ก็พึงเรียนเอาในสำนักของพระอรหันตขีณาสพองค์ #ที่ได้ฌานจตุกกนัย #หรือฌานปัญจกนัย ด้วยพระกัมมัฏฐานบทที่ตนประสงค์จะเรียนเอานั้น แล้วเจริญวิปัสสนาซึ่งมีฌานเป็นปทัฏฐาน จนได้บรรลุถึงซึ่งความสิ้นสุดแห่งอาสวะกิเลสนั่นเถิด

ถาม –ก็แหละ พระอรหันตขีณาสพนั้น ท่านประกาศตนให้ทราบหรือว่าท่านเป็นพระขีณาสพ ?

ตอบ –จะต้องตอบทำไม เพราะพระอรหันตขีณาสพนั้น ท่านรู้ถึงภาวะที่ผู้จะทำความเพียรแล้ว #ย่อมแสดงตนให้ทราบ ด้วยความอาจหาญและรื่นเริง โดยชี้ให้เห็นถึงภาวะแห่งการปฏิบัติไม่เป็นโมฆะ พระอัสสคุตตเถระรู้ว่า ภิกษุนี้เป็นผู้จะทำกัมมัฏฐาน ฉะนี้แล้ว ท่านปูลาดแผ่นหนังไว้บนอากาศแล้วนั่งขัดสมาธิอยู่บนแผ่นหนังนั้น บอกพระกัมมัฏฐานแก่ภิกษุผู้ปรารภพระกัมมัฏฐานแล้ว มิใช่หรือ ?

เพราะเหตุฉะนั้น ถ้าโยคีบุคคลได้พระอรหันตขีณาสพ ข้อนั้นนับว่าเป็นบุญ แต่ถ้าหาไม่ได้ พึงเรียนเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของท่านผู้ทรงคุณสมบัติเหล่านี้ โดยจากก่อนมาหลังคือ พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน #ปุถุชนผู้ได้ฌาน #ท่านผู้ทรงจำปิฏกทั้งสาม ท่านผู้ทรงจำปิฏกสอง ท่านผู้ทรงจำปิฏกหนึ่ง แม้เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฏกหนึ่งก็ไม่มี ท่านผู้ใดมีความชำนาญแม้เพียงสังคีติอันเดียวพร้อมทั้งอรรถกถา #และเป็นผู้มีความละอายด้วย พึงเรียนกัมมัฏฐานในสำนักของท่านผู้นั้นเถิด ด้วยว่าบุคคลผู้มีลักษณะเห็นปานฉะนี้ ชื่อว่า #เป็นผู้รักษาประเพณี #เป็นอาจารย์ผู้นับถือมติของอาจารย์ #ไม่ใช่ผู้ถือมติของตนเองเป็นใหญ่ เพราะเหตุฉะนี้แหละ พระเถระในปางก่อนทั้งหลาย จึงได้กล่าวประกาศไว้ถึง ๓ ครั้งว่า ท่านผู้มีความละอายจักรักษา, ท่านผู้มีความละอายจักรักษา, ท่านผู้มีความละอายจักรักษา ฉะนี้

ก็แหละ ในบรรดากัลยาณมิตรเหล่านั้น กัลยาณมิตรที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ เป็นอาทิ ที่ข้าพเจ้ากล่าวมาในตอนต้น ท่านย่อมบอกพระกัมมัฏฐานให้ได้เฉพาะแต่แนวทาง ที่ท่านได้บรรลุมาด้วยตนเองเท่านั้น ส่วนกัลยาณมิตรผู้เป็นพหุสูต เพราะเหตุที่พระบาลีและอรรถกถาอันเป็นอุปการะแก่กัมมัฏฐานเป็นสิ่งที่ท่านได้เข้าไปหาพระอาจารย์นั้น ๆ แล้วเรียนเอาอย่างขาวสะอาด ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยอยู่ ท่านจึงเลือกสรรเอาแต่สุตบทและเหตุอันคล้อยตามสุตบทซึ่งสมควรแก่กัมมัฏฐานนั้น ๆ จากนิกายนี้บ้างโน้นบ้าง แล้วเอามาปรับปรุงให้เป็นที่สะดวกสบายเหมาะสมแก่โยคีบุคคลผู้ที่ท่านจะให้กัมมัฏฐาน แสดงวิธีแห่งกัมมัฏฐานให้เห็นแนวทางอย่างกว้างขวาง เป็นดุจพญาช้างบุกไปในสถานที่รกชัฏ จึงจักบอกกัมมัฏฐาน

เพราะเหตุฉะนั้น โยคีบุคคลพึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้กัมมัฏฐาน ซึ่งมีคุณสมบัติเห็นปานฉะนี้ ทำวัตรปฏิบัติแก่ท่านแล้ว พึงเรียนเอาพระกัมมัฏฐานเถิด... "

https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๑_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๓_กัมมัฏฐานคหณนิเทศ_หน้าที่_๑๕๖_-_๑๖๐

รอพระพุทธองค์ใหม่ในพรหมโลก คิดผิดคิดใหม่ได้, ขนาดนิยตโพธิสัตว์ ยังต้องรอเป็นอสงขัยมหากัป

เห็นหลายๆ คน อ้างแต่ว่า ฟังธรรม เพื่อเป็นอุปนิสัยไปบรรลุชาติหน้าอันไกลโพ้น. ก็เห็นควรว่า น่าจะเตือนสติกันสักหน่อย. ประกอบกับมีคนถามคำถามเรื่อง การไปเกิดบนพรหมโลกรอพระพุทธเจ้า มาพอดี ก็เลยได้โอกาสเขียนบทความนี้ขึ้นมา.
อสงขัยมหากัป = 10139 มหากัป = (อสงขัยปีสังวัฏฏะ [=10139 ปี]+อสงขัยปีสังวัฏฏฐายี+อสงขัยปีวิวัฏฏะ+อสงขัยปีวิวัฏฏฐายี) x10139 มหากัป.
อนึ่ง เลข 10139 หมายถึง 1 ตามด้วยศูนย์ 140 ตัว.
พรหมปุถุชนที่มีอายุมากที่สุด ที่สามารถฟังธรรมะได้ด้วย คือ เวหัปผลาพรหม อายุ 500 มหากัป.
500 มหากัปข้างหน้า มีพยากรณ์พระพุทธเจ้าไว้พระองค์เดียว คือ พระพุทธเจ้าเมตเตยยะ (พระศรีอารย์).
พระโพธิสัตว์สุเมธดาบส สมัยบารมีเต็ม พอจะได้รับพยากรณ์ ท่านเป็นมนุษย์ อยู่บนแผ่นดินเดียวกับพระพุทธเจ้าทีปังกรแท้ๆ. แผ่นดินไหวเพราะพระโพธิสัตว์ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าทีปังกร กี่ครั้งๆ สุเมธดาบสไม่ล่วงรู้เลย เพราะมัวแต่เข้าฌาน. ถ้าพระพุทธเจ้าทีปังกร ไม่เสด็จไปโปรด ก็จะพลาดพุทธพยากรณ์ และอาจไม่ได้เจอพระพุทธเจ้าเสียด้วยซ้ำ.
หลังจากชาตินั้นแล้ว พระโพธิสัตว์สุเมธดาบส แม้ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ก็ยังต้องรออีกนับสุญญตอสงขัยมหากัป จึงจะได้เจอพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าโกณฑัญญะ หลังจากนั้น ก็รออีกสุญญตอสงขัยมหากัป จึงจะได้เจอพระพุทธเจ้าสุมังคละ เป็นต้น พึ่งจะเมื่อเศษแสนมหากัปที่แล้วนี่เอง ที่พระโพธิสัตว์เจอพระพุทธเจ้าถี่ขึ้นไม่ได้รอนานเป็นสุญญตอสงขัยมหากัป.
"ถ้า" ท่านมีบุญพอจะได้เจอพระพุทธเจ้าเมตเตยยะ ก็ลองทิ้งมรรคผล ที่ควรจะได้ในชาตินี้ดูครับ. แต่ถ้าท่านยังไม่แน่ใจ, แนะนำให้รีบทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุครับ เพราะท่านไม่ใช่นิยตโพธิสัตว์อย่างสุเมธดาบส, หรือถึงท่านมีบารมีเท่าสุเมธดาบส ท่านก็ยังต้องตกนรกหลายรอบอยู่ดีกว่าจะได้เจอพระพุทธเจ้า, และถึงอยู่จนพระพุทธเจ้าอาริยเมตเตยะอุบัติขึ้น ท่านก็อาจจะมัวแต่เข้าฌาน หรือ รับผลกรรมในนรกอยู่ จนพลาดมรรคผลไปอีกก็เป็นได้, จริงไหมครับ?
ประเด็นเรื่องไปเกิดเป็นพรหมรอพระพุทธเจ้า กลายเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ไปเลยใช่ไหมครับ? เพราะขนาดนิยตโพธิสัตว์แท้ๆ แรกๆ ท่านยังต้องรอเป็นเวลาอสงขัยมหากัป (มหากัป จำนวนเกิน 1 ตามด้วยศูนย์ 140 ตัว)  ตกนรกไปไม่รู้กี่รอบ กว่าจะได้เจอพระพุทธเจ้าองค์ถัดจากพระพุทธเจ้าทีปังกร, แล้วพวกที่ต้องการแค่บรรลุธรรมดาๆ บารมีน้อยๆ คิดว่า จะได้เจอพระศรีอารย์ไหม?
ถ้าชาตินี้ไม่บรรลุ พระศรีอารย์ก็เสี่ยงสูงมากที่จะไม่ได้เจอ ถ้าพลาดต้องรออีกเป็นอสงขัยมหากัป  หรือมากกว่า ตกนรกอีกนับไม่ถ้วนชาติ ถ้าคิดว่าทนได้ ก็แล้วแต่ท่านจะ "ลองของ" ครับ.



คำถามนี้ คนที่ตอบไม่ถูก ไม่มีทางได้บรรลุ

คำถามนี้ คนที่ตอบไม่ถูก ไม่มีทางได้บรรลุ เว้นแต่จะมีผู้ทรงพระไตรปิฎก ได้อภิญญา ได้พลววิปัสสนา มาคอยสอนกรรมฐานให้.
  1. ทุกวันนี้ ท่านสมาทานศีล 5 ไหม?
  2. ทุกวันพระ ท่านสมาทานศีล 8 รึเปล่า?
  3. ท่านเข้าหาพระภิกษุเพื่อขอกรรมฐานครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?
  4. ถ้าท่านเป็นเนยยะ อะไรคือสมถะที่ท่านใช้ข่มตัณหาจริต?
  5. ถ้าท่านเป็นเนยยะที่เจริญวิปัสสนา สมถกรรมฐานอะไรที่ท่านเจริญอยู่ แล้วทำให้ท่านมั่นใจว่ามีจิตตวิสุทธิพอจะข่มตัณหาจริตของท่าน? (เพราะวิสุทธิมรรคว่า อุปจารและอัปปนา เป็นจิตตวิสุทธิ, และเนตติว่า ตัณหาจริต [เนยยะและวิปปจิกิเลสมาก] เป็นสมถยานิก)
เพราะตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ หลายคนจึงคิดสั้นๆ แค่ว่า "เรียนธรรมะไว้เป็นอุปนิสัยบรรลุชาติหน้า (ที่ไม่รู้ว่าจะเจอพระพุทธเจ้าอีกเมื่อไหร่?)"

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ศาสนาพุทธไม่ใช่ hate speech เพราะพระพุทธเจ้าไม่สอนว่า "เพื่อมุ่งทำร้ายจึงเกลียด" แต่สอนให้ "เพื่อพ้นทุกข์เกลียด"

ประเด็นนึงที่น่าสนใจในสังคมโลกปัจจุบัน คือ ชาวพุทธที่ปฏิบัติตามคำสอน และพูดตามคำสอน โดยเฉพาะพระภิกษุ มักจะถูกมองว่า เป็นพวก hater (พวกขี้ยุแยง) เพราะมักจะกล่าวคำพูดที่ส่อว่า "อาจจะ" เป็น hate speech (คำพูดยุแยง), ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับวัฒนธรรมทางยุโรป เช่น อังกฤษ เป็นต้น (ทั้งที่ประเทศนั้น จริงๆ แล้วก็มีหนังสือพิมพ์ขายดี จากการเป็นนักส่อเสียดยั่วยุอย่าง the sun เป็นต้น ซึ่งร้ายกาจ น่ากลัวมากๆ).

ทั้งๆ ที่พระภิกษุเป็นผู้มีเมตตาหาประมาณไม่ได้ ก็ยังถูกฝรั่ง  "เหมารวม" ว่า เป็น hater. จะให้เป็นผู้มีเมตตา หรือ ให้เป็นแฮเตอร์กันแน่? ฟังดูขัดแย้งกันเอง.

จริงๆ แล้ว ตามหลักพระไตรปิฎกเถรวาทดั้งเดิม คำสอนจะไม่ขัดแย้งกันเอง. แต่ถ้าพระเป็น hater ก็จะขัดกับคำสอนที่ว่า 'จงเมตตาในสัตว์ทุกหมู่เหล่าไม่มีประมาณ', และถ้าพระภิกษุไม่สอนให้เกลียดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกปุถุชน ก็จะขัดกับคำสอนที่ว่า "ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ". อย่างนี้ ขัดแย้งกันเอง.

ฉะนั้น จึงเป็นการเข้าใจผิดทั้งคู่ ไม่ว่าจะเข้าใจว่า "พระภิกษุที่มีเมตตาจะไม่มี hate speech" หรือ "พระภิกษุที่มี hate speech จะไม่มีเมตตา" ก็ล้วนมองศาสนาพุทธอย่างไม่เป็นกลาง มีอคติทั้งสิ้น.

แท้จริงแล้ว ศาสนาพุทธสอนยังไง?

ศาสนาพุทธไม่เคยสอนว่า "เพื่อมุ่งทำร้ายจึงเกลียด" แต่สอนให้ "เพื่อพ้นทุกข์เกลียด". ถ้าเข้าใจเช่นนี้ พระไตรปิฎกที่ยกมาอ้างก่อนหน้านี้ ก็จะไม่ขัดแย้งกัน และมีความชัดเจนว่า พระภิกษุ ไม่ใช่ hater.

"เพื่อมุ่งทำร้ายจึงเกลียด" เป็นยังไง?

  • ทำเพื่อมุ่งทำร้าย คือ โทสะ, ทำร้ายทางกาย วาจา ใจ <<< บาปเท่านั้น เพราะบุญไม่ร้ายใครเลย.
  • เกลียด คือ ไม่เอาของไม่สะอาด <<< บาปก็ได้ ไม่บาปก็ได้. เกลียดที่ไม่บาป เช่น เกลียดเพราะเข้าใจดีว่ายุ่งกับคนที่ฆ่ายุงจะทำให้มีสิทธิ์ติดนิสัยฆ่ายุงไปด้วย จึงไม่เอา ไม่อยากยุ่งกับคนๆ นั้น แต่ไม่ได้คิดทำร้ายคนๆ นั้น ยังมีเมตตา และความปรารถนาดี พร้อมช่วยเหลือตามความเหมาะสม คือ พูดดี มีการทำดีด้วย เท่าที่สมควรต่อกฎหมาย. เกลียดที่บาป เช่น เกลียดเพราะอยากทำร้ายคนที่ฆ่าคน ไม่คิดช่วยเหลือ ไม่ปรารถนาให้คนที่ฆ่าคนได้ดีมีความสุข.
"เพื่อพ้นทุกข์จึงเกลียด" เป็นยังไง?
  • ทำเพื่อพ้นทุกข์ คือ การทำทาน ศีล (แม่ตำหนิลูก) สมถะ (เมตตา ฯลฯ) วิปัสสนา เพื่อไม่ให้โทสะ คือ ความมุ่งร้าย เป็นต้น เกิดได้อีก <<< ในโลกิยะเป็นบุญเท่านั้น.
  • เกลียด คือ ตามที่อธิบายไว้แล้วข้างบน.
จะเห็นได้ว่า เกลียดตามที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น ยังคงคิดดี พูดดี ทำดี ต่อบุคคลที่น่ารังเกียจทุกคน ตามสมควร. แตกต่างจาก hate speech ที่เป็นคำพูด หรือ การกระทำ ที่มีเจตนามุ่งร้าย ทำร้ายร่างกาย และจิตใจ ของเป้าหมายตรงๆ.
ฉะนั้น ศาสนาพุทธไม่ใช่ hate speech, แต่คำสอนสูงสุดของศาสนาพุทธ คือ การเกลียดทุกสิ่งทุกอย่าง รวมถึงตัวเอง ต้องการดับตัณหา ความอยากในทุกๆสิ่ง (แต่ไม่ได้มีเจตนามุ่งทำร้าย) จึงดูคล้ายกับ hate speech เท่านั้นเอง.




วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สติปัฏฐานสูตร: "พิจารณาเห็นธรรม คือ เหตุให้เกิด และ ความเกิด ในกาย เป็นต้น บ้าง", ไม่ใช่ "พิจารณาเห็นความเกิดในกายบ้าง"

ตอนท้ายของทุกบรรพะในมหาสติปัฏฐานสูตร เคยแปลกันมาว่า :

ภิกษุพิจารณาเห็นความเกิดในกายบ้าง.

การแปลอย่างนี้ ขัดกับ ปฏิสัมภิทามรรค อุททยัพพยญาณนิทเทส ครับ.

จริงๆ ควรแปลว่า

ภิกษุหมั่นอนุปัสสนา 7 (แบบอุทยัพพยญาณ) คือ เห็นอวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร (โดยปัจจัย) และอุปาทขณะ ของรูป  ในกาย บ้าง. (แปลตามฏีกามหาสติปัฏฐานสูตรของคำว่า สมุทยธมฺมานุปสฺสี[เหตุแห่งความเกิดด้วย ไม่ใช่แค่ธรรมคือความเกิด] วา กายสฺมึ วิหรติ).

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สติปัฏฐานทำอย่างไร-04: สติปัฏฐาน คือ อากาสานัญจายตนสมาบัติ วิญญาณัญจายตนสมาบัติ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ฯลฯ

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ ๒๓
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
หน้าที่ ๕๑๓ ข้อที่ ๓๗
-----------------------------------------------
๖. อานันทสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์
[๒๔๑,๓๗]    สมัยหนึ่ง    ท่านพระอานนท์อยู่    ณ    โฆสิตาราม    เขตกรุงโกสัมพี    ณที่นั้นแล    ท่านพระอานนท์เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า    “ผู้มีอายุทั้งหลาย    ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว    ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวดังนี้ว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย    น่าอัศจรรย์จริง    ไม่เคยปรากฏ    พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น    เป็นพระอรหันต์    ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ    ได้ตรัสรู้วิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ(๑)    เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะ(ความเศร้าโศก)    และปริเทวะ(ความร่ำไร)    เพื่อดับทุกข์(ความทุกข์กาย)    โทมนัส(ความทุกข์ใจ)    เพื่อบรรลุญายธรรม(๒)    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
คือ    จักษุ    (ตา)    ชื่อว่าจักเป็นจักษุนั้นนั่นเอง    คือ    รูปเหล่านั้นก็จักไม่รับรู้อายตนะนั้น    และอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้รูปเหล่านั้น
โสตะ    (หู)    ชื่อว่าจักเป็นโสตะนั้นนั่นเอง    คือ    เสียงเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้นและอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้เสียงเหล่านั้น
ฆานะ    (จมูก)    ชื่อว่าจักเป็นฆานะนั้นนั่นเอง    คือ    กลิ่นเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้นและอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้กลิ่นเหล่านั้น
ชิวหา    (ลิ้น)    ชื่อว่าจักเป็นชิวหานั้นนั่นเอง    คือ    รสเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้นและอายตนะนั้นก็จักไม่รับรสเหล่านั้น
กาย    ชื่อว่าจักเป็นกายนั้นนั่นเอง    คือ    โผฏฐัพพะเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้นและอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้โผฏฐัพพะเหล่านั้น”
เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว    ท่านพระอุทายี(๓)ได้ถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า    “ท่านอานนท์    คนผู้มีสัญญาเท่านั้น    หรือว่าคนไม่มีสัญญา    ไม่รับรู้อายตนะนั้น”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า    “ผู้มีอายุ    คนมีสัญญานั้นก็ไม่รับรู้อายตนะได้    หรือคนไม่มีสัญญาก็ไม่รับรู้อายตนะนั้นได้”
ท่านพระอุทายีถามว่า    “ผู้มีอายุ    คนผู้มีสัญญาอย่างไร    จึงไม่รับรู้อายตนะนั้น”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า    “ผู้มีอายุ    ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า    ‘อากาศหาที่สุดมิได้’    อยู่    เพราะล่วงรูปสัญญา    ดับปฏิฆสัญญาไม่กำหนดนานัตตสัญญา    ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้แล    ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น
ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง    บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน    โดยกำหนดว่า    ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’    อยู่    ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้แล    ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น
ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง    บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า    ‘ไม่มีอะไร’    อยู่    ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้แล    ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น
ผู้มีอายุ    ครั้งหนึ่ง    ผมพักอยู่    ณ    อัญชนมิคทายวัน    เมืองสาเกต    ครั้งนั้นแลภิกษุณีชื่อชฏิลภาคิกาเข้าไปหาผมจนถึงที่อยู่    ไหว้แล้วยืนอยู่    ณ    ที่สมควร    ครั้นแล้วได้กล่าวกับผมดังนี้ว่า    ‘ท่านอานนท์ผู้เจริญ    สมาธิใดอันกิเลสน้อมไปไม่ได้(๔)    นำไปไม่ได้(๕)    ไม่มีการข่มห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง    ชื่อว่าตั้งมั่นแล้วเพราะหลุดพ้น    ชื่อว่ายินดีเพราะตั้งมั่น    ชื่อว่าไม่สะดุ้งเพราะยินดี    สมาธินี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า    มีอะไรเป็นผล’    เมื่อชฏิลภาคิกาภิกษุณีกล่าวอย่างนี้แล้ว    ผมได้กล่าวกับภิกษุณีนั้นว่า    ‘น้องหญิง    สมาธิใดอันกิเลสน้อมไปไม่ได้    นำไปไม่ได้    ไม่มีการข่มห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง    ชื่อว่าตั้งมั่นแล้วเพราะหลุดพ้น    ชื่อว่ายินดีเพราะตั้งมั่น    ชื่อว่าไม่สะดุ้งเพราะยินดี    สมาธินี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า    มีอรหัตเป็นผล’    ผู้มีอายุ    ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้    ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น”
อานันทสูตรที่ ๖ จบ


   ..............................
๑ วิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ  มีความหมายดังนี้  คำว่า  ที่คับแคบ  มีความหมาย  ๒  นัย  คือ  นัยที่  ๑   หมายถึงที่คับแคบสำหรับปุถุชนผู้ครองเรือน  ได้แก่  กามคุณ  ๕  นัยที่  ๒  หมายถึงที่คับแคบสำหรับผู้  บำเพ็ญฌาน  ได้แก่  นิวรณ์  ๕  เป็นต้น  คำว่า  วิธีบรรลุช่องว่าง  หมายถึงภาวะที่ปลอดจากกิเลสต่าง ๆ   ได้แก่  รูปฌาน  ๔  อรูปฌาน  ๔  สัญญาเวทยิตนิโรธ  ๑  และอรหัตตมรรค  แต่ละภาวะก็ปลอดจากกิเลสต่างกัน   เช่น  ปฐมฌานปลอดจากนิวรณ์  ๕  จตุตถฌานปลอดจากสุขและทุกข์  ดู  ที.ม.  ๑๐/๒๘๘/๑๘๓,  ที.ม.อ.   ๒/๒๘๘/๒๕๕,  องฺ.นวก.ฏีกา  ๓/๓๗/๓๖๙  ประกอบ
๒ ญายธรรม  หมายถึงอริยมัคคธรรม  (สํ.ม.  ๑๙/๒๔/๑๕,  สํ.ม.อ.  ๓/๒๑-๓๐/๑๙๕)
๓ พระอุทายี  ในที่นี้คือพระกาฬุทายีเถระ  (องฺ.นวก.อ.  ๓/๓๗/๓๑๑)
๔ น้อมไปไม่ได้  ในที่นี้หมายถึงไม่น้อมไปตามอำนาจราคะ  (องฺ.นวก.อ.  ๓/๓๗/๓๑๑)
๕ นำไปไม่ได้  ในที่นี้หมายถึงไม่ถูกชักนำไปตามอำนาจโทสะ  (องฺ.นวก.อ.  ๓/๓๗/๓๑๑)        

เทียบผลทาน ระหว่าง การให้ทานกะสงฆ์หวังถูกหวย กับ การให้ทานกะบุคคลเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง 3 กาล

ถามว่า:
คฤหัสน์ถวายทาน
‪#‎แก่ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล‬
(‪#‎ให้วัตถุทานชนิดเดียวกัน‬)
แบ่งคำถามเป็น 2 กรณี
คนแรก
‪#‎กล่าวคำถวายหรือตั้งเจตนาถวายเป็นสังฆทาน‬
และถวายเป็นสังฆทานจนเสร็จเรียบร้อย
‪#‎แต่ให้เพราะฝันร้าย‬ ให้ตามประเพณี
‪#‎ให้เพราะชีวิตไม่ดีหวังจะพึ่งพาผลบุญ‬ ให้เพื่อทำบุญล้างซวย ฯลฯ
(คล้ายๆ คนส่วนมากในยุคปัจจุบัน)
คนที่ 2
‪#‎กล่าวคำถวายหรือตั้งเจตนาถวายเป็นปาฏิปุคคลิกทาน‬
และถวายเป็นปาฏิปุคคลิกทานจนสำเร็จเรียบร้อย
โดยให้ด้วย ‪#‎เจตนาทั้ง‬ 3 กาลที่ดี ที่บริสุทธิ์
1.‪#‎เจตนาก่อนให้ดี‬
2.เจตนาขณะที่กำลังให้ดี
3.‪#‎เจตนาหลังให้ดี‬(ไม่คิดมาก ไม่สงสัยอะไร ไม่ยึดมั่น)
(คล้ายๆ คนส่วนน้อยในยุคปัจจุบัน)
คำถาม
‪#‎ผู้ให้ทานกรณีใดจะได้รับผลที่ดีกว่า‬?
1.‪#‎ชาตินี้‬
2.‪#‎ชาติหน้า‬

ตอบว่า:


คนแรกได้ผลบุญปริมาณมาก แต่ไม่ประณีต, คนที่ 2 ได้ผลบุญปริมาณน้อยกว่า แต่ประณีต.


อีกอย่าง คือ คนแรก เมื่อปฏิบัติธรรมเป็นทุกขาปฏิปทา, ส่วนคนหลังจะเป็นสุขาปฏิปทา
พวกทุกขาปฏิปทา กิเลสหนา โอกาสจะเอาบุญมาต่อยอดเป็นสมถะวิปัสสนาในชาตินี้ก็ยาก, ชาติหน้า แม้จะได้ผลบุญหลายภพชาติ ก็ไม่ประณีต เหมือนเรื่องเศรษฐีตีนแมว.

พวกสุขาปฏิปทา กิเลสน้อย โอกาสจะเอาบุญมาต่อยอดเป็นสมถะวิปัสสนาในชาตินี้มีมากกว่า (กิเลสน้อย=บุญเกกิดมากกว่ากิเลส) รวมถึงทานก็มีโอกาสทำมากกว่าพวกกิเลสหนาด้วย, ชาติหน้า ผลบุญที่ได้แม้จะน้อยกว่า(แต่ประณีต)เมื่อนับผู้รับ, แต่อย่าลืมว่า คนหลังมีโอกาสทำทานบ่อยกว่าเพราะกิเลสน้อยกว่า ฉะนั้น เอาจริงๆแล้ว คนหลังก็ยังได้ผลทานอื่นๆ ด้วย เยอะกว่าอยุ่ดี (อาจจะทำกับสงฆ์เยอะกว่าด้วยอีกต่างหาก).

อีกเรื่อง คือ ทิฏฐธัมมเวทนียกรรมฉับพลันชาตินี้ พวกทุกขาปฏิปทาไม่มีโอกาสได้แน่นอน เพราะผู้ให้ไม่บริสุทธิ์, ส่วนพวกสุขาปฏิปทามีโอกาสมากกว่า เพราะปกติเป็นผู้ไม่ค่อยมีกิเลสอยู่แล้ว ถ้าได้ผู้รับที่มีคุณสมบัติถึงพร้อม ก็มีโอกาสได้ทิฏฐธัมมเวทนียกรรมแบบฉับพลันชาตินี้.

สติปัฏฐานทำอย่างไร-04: เจริญสติปัฏฐานด้วยอนุสสติ 6 (อุปจารสมาธิก็เป็นสติปัฏฐาน)

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ ๒๒
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
หน้าที่ ๔๕๙ ข้อที่ ๒๖
-----------------------------------------------
๖. มหากัจจานสูตร
ว่าด้วยพระมหากัจจานะ(๑)
[๒๙๗,๒๖]    ณ    ที่นั้นแล    ท่านพระมหากัจจานะ    เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่าผู้มีอายุทั้งหลาย    ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว    ท่านพระมหากัจจานะจึงได้กล่าวดังนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย    น่าอัศจรรย์จริง    ไม่เคยปรากฏ    พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้    ทรงเห็น    เป็นพระอรหันต์    ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ    ได้ตรัสรู้วิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ(๒)คืออนุสสติฏฐาน    ๖    ประการ    เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะ(ความเศร้าโศก)และปริเทวะ(ความร่ำไร)    เพื่อดับทุกข์(ความทุกข์กาย)และโทมนัส(ความทุกข์ใจ)    เพื่อบรรลุญายธรรม(๓)    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
อนุสสติฏฐาน    ๖    ประการ    อะไรบ้าง    คือ

(หมั่นนึกถึงคุณธรรมของพระพุทธเจ้า)

๑.    อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ระลึกถึงพระตถาคตว่า    ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น    เป็นพระอรหันต์    ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ    เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี    รู้แจ้งโลก    เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม     เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย    เป็นพระพุทธเจ้า    เป็นพระผู้มีพระภาค’    สมัยใด    อริยสาวก ระลึกถึงพระตถาคต    สมัยนั้น    จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะ กลุ้มรุม    ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม    เป็นจิตดำเนินไป ตรงทีเดียว    เป็นจิตออกไป    พ้นไป    หลุดไปจากความกำหนัด    คำว่า ‘กำหนัด’    นี้    เป็นชื่อของกามคุณ    ๕    อริยสาวกนั้นแล    มีจิตเสมอ อากาศ    อันไพบูลย์    เป็นมหัคคตะ    ไม่มีขอบเขต    ไม่มีเวร    ไม่มีความ เบียดเบียน(๔)อยู่โดยประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย    สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำพุทธานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์    ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล

(หมั่นนึกถึงคุณของพระธรรม)

๒.    อริยสาวกระลึกถึงพระธรรมว่า    ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระ ภาคตรัสไว้ดีแล้ว   ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด  ด้วยตนเอง    ไม่ประกอบด้วยกาล    ควรเรียกให้มาดู    ควรน้อมเข้า  มาในตน    อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’    สมัยใด    อริยสาวก ระลึกถึงพระธรรม    สมัยนั้น    จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะ กลุ้มรุม    ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม    ย่อมเป็นจิตดำเนิน ไปตรงทีเดียว    เป็นจิตออกไป    พ้นไป    หลุดไปจากความกำหนัด    คำว่า ‘กำหนัด’    นี้เป็นชื่อของกามคุณ    ๕    อริยสาวกนั้นแล    มีจิตเสมอ อากาศ    อันไพบูลย์    เป็นมหัคคตะ    ไม่มีขอบเขต    ไม่มีเวร    ไม่มีความ เบียดเบียนอยู่    โดยประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย    สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำธัมมานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์    ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล

(หมั่นนึกถึงคุณธรรมของพระสงฆ์)

๓.    อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ว่า    ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค    เป็นผู้ปฏิบัติดี    ปฏิบัติตรง    ปฏิบัติถูกต้อง    ปฏิบัติสมควร    ได้แก่    อริยบุคคล    ๔    คู่    คือ    ๘    บุคคล  พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้    เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย    ควรแก่ของต้อนรับ    ควรแก่ทักษิณา    ควรแก่การทำอัญชลี  เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก’    สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์    สมัยนั้น    จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ ถูกราคะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม    ย่อมเป็น จิตดำเนินไปตรงทีเดียว    เป็นจิตออกไป    พ้นไป    หลุดไปจากความ กำหนัด    คำว่า    ‘กำหนัด’    นี้เป็นชื่อของกามคุณ    ๕    อริยสาวกนั้นแล มีจิตเสมออากาศ    อันไพบูลย์    เป็นมหัคคตะ    ไม่มีขอบเขต    ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่โดยประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย    สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำสังฆานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์    ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล

(หมั่นนึกถึงศีลที่รักษาอยู่)

๔.    อริยสาวกระลึกถึงศีลของตนที่ไม่ขาด    ไม่ทะลุ    ไม่ด่าง    ไม่พร้อย    เป็นไท    ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ    เป็นไปเพื่อสมาธิ สมัยใด    อริยสาวกระลึกถึงศีลของตน    สมัยนั้น    จิตของอริยสาวก นั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว    เป็นจิตออกไป    พ้นไป    หลุดไปจาก ความกำหนัด    คำว่า    ‘กำหนัด’    นี้เป็นชื่อของกามคุณ    ๕    อริยสาวก นั้นแล    มีจิตเสมออากาศ    อันไพบูลย์    เป็นมหัคคตะ    ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร    ไม่มีความเบียดเบียนอยู่    โดยประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย    สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำสีลานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์    ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล

(หมั่นนึกถึงทานที่เคยให้)

๕.    อริยสาวกระลึกถึงจาคะของตนว่า    ‘เป็นลาภของเราหนอ    เราได้ดีแล้วหนอ    เราเป็นผู้มีจาคะ    คือ    มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน  มีจาคะอันสละแล้ว    มีฝ่ามือชุ่ม    ยินดีในการสละ    ควรแก่การขอ  ยินดีในการแจกทานอยู่ครองเรือน’ สมัยใด    อริยสาวกระลึกถึงจาคะของตน    สมัยนั้น    จิตของอริยสาวก นั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว    เป็นจิตออกไป    พ้นไป    หลุดไปจาก ความกำหนัด    คำว่า    ‘กำหนัด’    นี้    เป็นชื่อของกามคุณ    ๕    อริยสาวก นั้นแลมีจิตเสมออากาศ    อันไพบูลย์    เป็นมหัคคตะ    ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร    ไม่มีความเบียดเบียนอยู่    โดยประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย    สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำจาคานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์    ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล

(หมั่นนึกถึงคุณธรรมของเทวดา)

๖.    อริยสาวกระลึกถึงเทวดาว่า    ‘“เทวดาชั้นจาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวดี เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม เทวดาชั้นที่สูงกว่านั้นขึ้นไปมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น     แม้เราเองก็มีศรัทธาเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด...    สุตะ...    จาคะ...    ปัญญาเช่นใด แม้เราเองก็มีปัญญาเช่นนั้น    สมัยใด    อริยสาวกระลึกถึงศรัทธา ศีล    สุตะ    จาคะ    และปัญญาของตน    และของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น    จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโทสะ กลุ้มรุม    ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม    เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว    เป็นจิต ออกไป    พ้นไป    หลุดไปจากความกำหนัด    คำว่า    ‘กำหนัด’    นี้เป็นชื่อ ของกามคุณ    ๕    อริยสาวกนั้นแลมีจิตเสมอด้วยอากาศ    อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ    ไม่มีขอบเขต    ไม่มีเวร    ไม่มีความเบียดเบียนอยู่โดย ประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย    สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำเทวตานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์    ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล
ผู้มีอายุทั้งหลาย    น่าอัศจรรย์จริง    ไม่เคยปรากฏ    พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้    ทรงเห็น    เป็นพระอรหันต์    ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ    ได้ตรัสรู้วิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ    คือ    อนุสสติฏฐาน    ๖    ประการนี้    เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะ    และปริเทวะ    เพื่อดับทุกข์    และโทมนัส    เพื่อบรรลุญายธรรม    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
มหากัจจานสูตรที่ ๖ จบ
  ..............................
๑ คัมภีร์บางแห่งใช้ว่า  มหากัจจายนะ
๒ ช่องว่างในที่คับแคบ  หมายถึงทางหลุดพ้นจากกามคุณ  ๕  (รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ)  ทางหลุดพ้น
   นั้นคืออนุสสติฏฐาน  ๖  ประการ  (องฺ.ฉกฺก.อ.  ๓/๒๖/๑๑๐)
๓ ญายธรรม  หมายถึงอริยมัคคธรรม  (สํ.ม.  ๑๙/๒๔/๑๕,  สํ.ม.อ.  ๓/๒๑-๓๐/๑๙๕)
๔ จิตเสมออากาศ  หมายถึงจิตที่ไม่ต้องเกี่ยวข้อง  ไม่ต้องผูกพัน
   ไพบูลย์  หมายถึงจิตไม่ใช่นิดหน่อย
   มหัคคตะ  หมายถึงจิตที่ยิ่งใหญ่  หรือเป็นจิตที่พระอริยสาวกจำนวนมากปฏิบัติมา
   ไม่มีขอบเขต  หมายถึงประมาณไม่ได้
   ไม่มีเวร  หมายถึงปราศจากอกุศลเวรและบุคคลผู้เป็นเวรกัน
   ไม่มีความเบียดเบียน  หมายถึงปราศจากความโกรธและความทุกข์  (องฺ.ฉกฺก.อ.  ๓/๒๖/๑๑๐)

สติปัฏฐานทำอย่างไร-03: พยายามให้บริสุทธิ์ ทั้งศีล ทั้งฌาน ทั้งทิฏฐิ ทั้งวิมุติ เป็นสติปัฏฐานทั้งนั้น

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ ๒๑
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
หน้าที่ ๒๘๙ ข้อที่ ๑๙๔
-----------------------------------------------
๔. สาปุคิยาสูตร
ว่าด้วยโกฬิยบุตรชาวสาปุคิยนิคม
[๑๙๔,๑๙๔]    สมัยหนึ่ง    ท่านพระอานนท์อยู่ในนิคมของโกฬิยราชสกุลชื่อสาปุคะ    แคว้น  โกฬิยะ(๑)    ครั้งนั้นแล    โกฬิยบุตรชาวสาปุคิยนิคม๒จำนวนมากเข้าไปหาท่านพระ  อานนท์ถึงที่อยู่    ไหว้แล้ว    นั่ง    ณ    ที่สมควร    ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกับโกฬิยบุตร  ชาวสาปุคิยนิคม(๒) ดังนี้ว่า
“ท่านพยัคฆปัชชะ(๓)ทั้งหลาย    องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ    (ความบริสุทธิ์)    ๔  ประการพระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น    เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระ  องค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว    เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะและ  ปริเทวะ    (ความเศร้าโศกและความคร่ำครวญ)    เพื่อดับทุกข์    (ความทุกข์กาย)    และ  โทมนัส    (ความทุกข์ใจ)    เพื่อบรรลุญายธรรม    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ    ๔    ประการ    อะไรบ้าง    คือ
๑.    องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ
๒.    องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ
๓.    องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ
๔.    องค์ความเพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ    เป็นอย่างไร
คือ    ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล    ฯลฯ(๔)    สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย  นี้เรียกว่า    สีลปาริสุทธิ
ความพอใจ(๕)    ความพยายาม    ความอุตสาหะ    ความขะมักเขม้น    ความไม่  ท้อถอย    สติและสัมปชัญญะในสีลปาริสุทธินั้นว่า    ‘เราจักยังสีลปาริสุทธิเห็นปานนั้น  ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองสีลปาริสุทธิที่บริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้น  ๆ ด้วยปัญญา’    ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย    นี้เรียกว่า    องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ    เป็นอย่างไร
คือ    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วบรรลุปฐมฌานที่มีวิตกวิจาร ปีติและสุขเกิดจากวิเวกอยู่, เพราะวิตกและวิจารสงบระงับ บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง ผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่, เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะ สรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’, เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานอยู่    นี้เรียกว่า  จิตตปาริสุทธิ
ความพอใจ    ความพยายาม    ความอุตสาหะ    ความขะมักเขม้น    ความไม่ท้อถอย    สติและสัมปชัญญะในจิตตปาริสุทธินั้นว่า    ‘เราจักบำเพ็ญจิตตปาริสุทธิเห็นปานนั้นที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองจิตตปาริสุทธิที่บริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้น  ๆ    ด้วยปัญญา’    ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย    นี้เรียกว่า    องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ    เป็นอย่างไร
คือ    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า    ‘นี้ทุกข์    นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ    นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’    นี้เรียกว่า    ทิฏฐิปาริสุทธิ
ความพอใจ    ความพยายาม    ความอุตสาหะ    ความขะมักเขม้น    ความไม่ท้อถอยสติสัมปชัญญะในทิฏฐิปาริสุทธินั้นว่า    ‘เราจักบำเพ็ญทิฏฐิปาริสุทธิเห็นปานนั้นที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองทิฏฐิปาริสุทธิ์ที่บริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆด้วยปัญญา’    ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย    นี้เรียกว่า    องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ    เป็นอย่างไร
คือ    อริยสาวกนี้แลเป็นผู้ประกอบองค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ    ประกอบองค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ    ประกอบองค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิแล้วย่อมคลายจิตในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัด(๖)    ย่อมเปลื้องจิตในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเปลื้องแล้วย่อมถูกต้องสัมมาวิมุตติ(๗)    นี้เรียกว่า    วิมุตติปาริสุทธิ
ความพอใจ    ความพยายาม    ความอุตสาหะ    ความขะมักเขม้น    ความไม่ท้อถอย    สติและสัมปชัญญะในวิมุตติปาริสุทธินั้นว่า    ‘เราจักบำเพ็ญวิมุตติปาริสุทธิเห็นปานนั้นที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองวิมุตติปาริสุทธิที่บริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้น  ๆ    ด้วยปัญญา’    ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย    นี้เรียกว่า    องค์ความเพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ
ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย    องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ    ๔    ประการนี้แล  พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น    เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้วเพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ    เพื่อ  ดับทุกข์และโทมนัส    เพื่อบรรลุญายธรรม    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
สาปุคิยาสูตรที่ ๔ จบ
..............................
๑ ดูเชิงอรรถที่  ๑  ข้อ  ๕๗  (สุปปวาสาสูตร)  หน้า  ๙๕  ในเล่มนี้
๒ หมายถึงชนผู้อยู่ในนิคมชื่อว่า  สาปุคะ  (องฺ.จตุกฺก.อ.  ๒/๑๙๔/๔๑๓)
๓ เป็นชื่อเรียกชาวโกฬิยะ  เพราะบรรพบุรุษของชาวโกฬิยะนี้สร้างบ้านเรือนอยู่ในพยัคฆปัชชนคร  (นครทางเสือผ่าน)  (องฺ.จตุกฺก.อ.  ๒/๑๙๔/๔๑๓)
๔ ดูข้อความเต็มในข้อ  ๓๗  (อปริหานิยสูตร)  หน้า  ๖๐  ในเล่มนี้
๕ ดูเชิงอรรถที่  ๑  ข้อ  ๙๓  (ทุติยสมาธิสูตร)  หน้า  ๑๔๑  ในเล่มนี้
๖ ธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัด  หมายถึงอิฏฐารมณ์  (อารมณ์ที่น่าปรารถนา)อันเป็นปัจจัยให้เกิดราคะ   (องฺ.จตุกฺก.อ.  ๒/๑๙๔/๔๑๓)
๗ สัมมาวิมุตติ  หมายถึงอรหัตตผลวิมุตติ  วิมุตติคืออรหัตตผล  (องฺ.จตุกฺก.อ.  ๒/๑๙๔/๔๑๓)

สติปัฏฐานทำอย่างไร-02: สมาทานศีลและเข้าฌานก็เป็นสติปัฏฐานด้วย

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ ๒๐
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
หน้าที่ ๒๙๗ ข้อที่ ๗๕
-----------------------------------------------
๔. นิคัณฐสูตร
ว่าด้วยนิครนถนาฏบุตร
[๕๑๔,๗๕]  สมัยหนึ่ง  ท่านพระอานนท์อยู่ที่กูฏาคารศาลา  ป่ามหาวัน  เขตกรุงเวสาลี  สมัยนั้น  เจ้าอภัยลิจฉวีและเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวีพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่  ไหว้แล้วนั่ง  ณ  ที่สมควร  เจ้าอภัยลิจฉวีผู้นั่ง  ณ  ที่สมควร  ได้เรียนถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  นิครนถนาฏบุตรเป็นสัพพัญญู(ผู้รู้ทุกสิ่ง)  มองเห็นทุกอย่างปฏิญญาญาณทัสสนะโดยไม่เหลือว่า  ‘เมื่อเราเดิน  ยืน  หลับ  และตื่น  ญาณทัสสนะ(๑)ก็ปรากฏเป็นนิตย์’  เขาบัญญัติว่ากรรมเก่าสิ้นสุดเพราะตบะ(การบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก)  บัญญัติการกำจัดเหตุได้เพราะไม่ทำกรรมใหม่  ด้วยเหตุนี้  เพราะกรรมสิ้นไปทุกข์จึงสิ้นไป  เพราะทุกข์สิ้นไป  เวทนาจึงสิ้นไป  เพราะเวทนาสิ้นไป  ทุกข์ทั้งสิ้นจึงจักเป็นอันสลายไป  การล่วงพ้นทุกข์ทั้งสิ้นย่อมมีได้ด้วยความบริสุทธิ์ที่ทำให้กิเลสสิ้นไปซึ่งประจักษ์ชัดด้วยตนเองนี้  ด้วยประการฉะนี้  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไร”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า  “ท่านอภัย  ความบริสุทธิ์ที่ทำให้กิเลสสิ้นไป  ๓  ประการนี้อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น  เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ  ตรัสไว้ชอบแล้ว  เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย  เพื่อล่วงพ้นความโศก  ความร่ำไร  เพื่อความสิ้นทุกข์และโทมนัส  เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้  เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
ความบริสุทธิ์  ๓  ประการ  อะไรบ้าง  คือ
๑.  ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีศีล  สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์    เพียบพร้อมด้วยอาจาระ (มารยาท)และโคจร(การเที่ยวไป)    มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย    สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย    แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล    สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์    เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร    มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย    สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย  เธอไม่ทำกรรมใหม่  และรับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า  “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง  ทำให้กิเลสสิ้น  ไป  ไม่ประกอบด้วยกาล  ควรเรียกให้มาดู  ควรน้อมเข้ามาในตน  อัน  วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
๒.  ภิกษุนั้นเพียบพร้อมด้วยศีล  สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขเกิดจากวิเวกอยู่, เพราะวิตกและวิจารสงบระงับ บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง ผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่, เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะ สรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’, เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาอยู่  เธอไม่ทำกรรมใหม่  และ  รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า  “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้  ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง  ทำให้กิเลสสิ้นไป  ไม่ประกอบด้วยกาล  ควรเรียกให้มาดู  ควรน้อมเข้ามาในตน  อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
๓.  ภิกษุนั้นเพียบพร้อมด้วยศีลอย่างนี้  เพียบพร้อมด้วยสมาธิอย่างนี้  ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติที่ไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป  ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน  เธอไม่ทำกรรมใหม่และรับผล  กรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า  “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะ  พึงเห็นชัดด้วยตนเอง  ทำให้กิเลสสิ้นไป  ไม่ประกอบด้วยกาล  ควรเรียก  ให้มาดู  ควรน้อมเข้ามาในตน  อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
ความบริสุทธิ์ที่ทำให้กิเลสสิ้นไป  ๓  ประการนี้แลอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น  เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ  ได้ตรัสไว้ชอบแล้วเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย  เพื่อล่วงพ้นความโศก  ความร่ำไร  เพื่อความสิ้นทุกข์และโทมนัส  เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้  เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว  เจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวีได้กล่าวกับเจ้าอภัยดังนี้ว่า  “อภัยเพื่อนรัก  ทำไมท่านจึงไม่ชื่นชมคำที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ดีโดยความเป็นคำสุภาษิตเล่า”
เจ้าอภัยตอบว่า  “บัณฑิตกุมารเพื่อนรัก  ไฉนเราจักไม่ชื่นชมคำที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ดีโดยความเป็นคำสุภาษิตเล่า  ความคิดของผู้ที่ไม่ชื่นชมคำที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ดีโดยความเป็นคำสุภาษิต  พึงเสื่อมแน่นอน”
นิคัณฐสูตรที่ ๔ จบ
..............................
(๑) ญาณทัสสนะ  ในที่นี้หมายถึงพระสัพพัญญุตญาณ  (องฺ.ติก.อ.  ๒/๗๕/๒๒๖)

การทำบุญบาปเหมือนสะสม exp เลเวลในเกม แต่เกมชีวิตมันมีลดเลเวลได้

 การทำบุญบาปเหมือนสะสม exp เลเวลในเกม แต่เกมชีวิตมันมีลดเลเวลได้ ถ้าไม่ทำครบขั้นตอนแบบพระพุทธเจ้าบอกสูตรไว้ คือ ดีแล้วกลับมาชั่วทีหลัง ชั่วแ...