องค์ของมิจฉาทิฏฐิมี 2 ข้อ คือ
- วตฺถุโน จ คหิตาการวิปรีตตา, ความผิดเพี้ยนแห่งปัจจยาการของวัตถุที่โลภะยึดไว้, หรือ ความผิดเพี้ยนแห่งอาการของโลภะที่เข้าไปยึดวัตถุไว้.
- ยถา จ ตํ คณฺหาติ ตถาภาเวน ตสฺสุปฏฺฐานํ, โลภะยึด(วัตถุผิดๆ)ไว้แบบไหน, มิจฉาทิฏฐิก็เข้าไปตั้งมั่นด้วยอาการอย่างผิดๆ แบบนั้น (ในวัตถุนั้นที่ปรากฎชัดแบบผิดๆกับทิฏฐิเองไว้ ว่า "ที่เราเข้าใจเท่านั้นเป็นจริง, นอกจากนี้ไม่ใช่ ไม่จริง ไม่ถูก").
---------------------------------------------------------
อนึ่ง, จริงๆ แล้ว ฏีกา โยคมิจฉาทิฏฐิเข้ามาในข้อแรกเลย ทำให้บางคนอาจจะงงว่าผมแปลขัดกับฏีกาหรือเปล่า, ซึ่งอันที่จริงไม่ได้ขัดกัน.
แต่ที่ผมโยคเอาโลภะ เพราะ...
- เพราะทิฏฐิเจตสิกไม่ได้มีสภาพยึดติด (คหิต แปลตรงกับ อุปาทาน ซึ่งองค์ธรรม ได้แก่ โลภะ ไม่ใช่ ทิฏฐิ), ถ้าโยคเอาทิฏฐิเจตสิกเข้ามา ก็จะผิดลักขณาทิจจตุกะของทิฏฐิเอง และเกิดความสับสนระหว่างทิฏฐิ โลภะ และจิตด้วย.
- อีกอย่างคือเพราะพระโสดาบันแม้ไม่มีทิฏฐิ แต่ก็ยังมีวิปลาสอยู่ ถ้าโยคเอาทิฏฐิเจตสิกเข้ามาในข้อแรกนี้เลย พระโสดาบันก็จะกลายเป็นผู้มีทิฏฐิเจตสิกด้วย.
- และอีกอย่าง คือ เพราะองค์กรรมบถข้ออื่น เช่น ปาณาติบาต เป็นต้น จะไม่มีตัวองค์ธรรมอยู่ในองค์แรกเลย แต่จะแสดงอารมณ์ของปาณาติบาตก่อน เพราะถ้ามี องค์ข้อที่เหลือก็หมดประโยชน์ทันที.
- และอย่างสุดท้าย คือ เพราะในอรรถกถาไม่ได้โยคไว้ให้ตรงๆ.
ด้วยเหตุผล 4 ข้อนี้ จึงไม่เห็นมิจฉาทิฏฐิในคำแปลข้อแรกที่ผมแปล. แต่ทั้งผมและฏีกา ไม่ได้ขัดกัน เพราะจะโยคเจาะจงมิจฉาทิฏฐิในข้อแรกเลย หรือ จะโยคโลภะมาก่อน, แต่เมื่อรวมองค์ทั้ง 2 ข้อแล้ว ก็ได้เป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ดี ครับ.
แต่ฏีกาโยคมิจฉาทิฏฐิมา ก็เพื่อให้ครบรูปประโยคที่ควรจะเป็น ไม่ให้นักศึกษาโยคเองผิดพลาด, เป็นการบอกว่า "ความผิดเพี้ยนของวัตถุนี้ ต้องถือเอาด้วยมิจฉาทิฏฐิเท่านั้นนะ จึงจะเป็นวัตถุของมิจฉาทิฏฐิ ถ้าถือเอาด้วย โลภะ หรือ ด้วยจิตเฉยๆ ยังไม่แน่ว่าจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ".
ส่วนผมไม่ได้โยค เพื่อที่จะรักษารูปบาลีในอรรถกถาไว้ และเพื่อที่จะแสดงว่า "จิตตวิปลาสไม่จำเป็นต้องมีทิฏฐิวิปลาสเกิดร่วมเสมอไป" เพราะโลภะก็ยึดผิดจากปัจจยาการโดยปราศจากทิฏฐิได้ (จิตตวิปลาส, สัญญาวิปลาส ของพระเสกขบุคคล), และเพราะจิตก็รับรู้ผิดจากที่บัญญัติกันได้ เช่น ฏีกาบอกว่าอนุสัยเป็นอวิชชมาน เพราะมุ่งหมายเอาอนุสัยในขณะที่กุศลปหานอยู่, ส่วนอรรถกถาบอกว่า อนุสัยเป็นสังขต เพราะมุ่งหมายเอาอนุสัยที่กำลังปริยุฏฐิตะอยู่ เป็นต้น. อีกประการหนึ่ง ที่ไม่โยคมิจฉาทิฏฐิมาให้เลย ก็เพื่อให้ไม่เข้าใจผิด (อย่างที่มักจะเข้าใจกัน) ว่า "การรับรู้ข้อมูลมาผิด จะต้องเป็นมิจฉาทิฏฐิเสมอไป", แต่แท้ที่จริงแล้ว แม้จะรับรู้ข้อมูลมาผิดจากหลักปัจจยาการ แต่ไม่ได้ตัดสินใจว่า "ที่เราเข้าใจนี้แหละที่เป็นจริง, ไม่มีทางเป็นอื่นจากนี้ (เอวเมตํ, น อิโต อญฺญถา)" ก็ยังไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ. หรือแม้ตัดสินใจว่า "ที่เราเข้าใจนี้แหละที่เป็นจริง, ไม่มีทางเป็นอื่นจากนี้ (เอวเมตํ, น อิโต อญฺญถา)" แต่สิ่งที่เข้าใจนั้นคล้อยตามปฏิจจสมุปบาท, และสิ่งที่เราปฏิเสธนั้น ก็ผิดจากปฏิจจสมุปบาทจริงๆ อย่างนี้ก็เป็นสัมมาทิฏฐิได้เช่นกัน ไม่จำเป็นว่าวัตถุผิดแล้วจะต้องเป็นมิจฉาทิฏฐิเสมอไป ครับ. ต้องดูตามความเป็นจริงโดยสภาวะ (ตามลักขณาทิจจตุกะ) และ โดยปัจจยาการ (ปัจจัยปัจจยุปบัน) จึงจะสรุปได้ว่า อะไรเป็นสังขต และอะไรไม่ใช่. นี่แหละที่เรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะระดับญาตปริญญา (สัมมาทิฏฐิที่เห็นอย่างชำนาญตามความเป็นจริงโดยปัจจัตตลักษณะ) ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เห็นความเกิดดับ (เพราะปัจจัยเกิด สังขตก็เกิด, ปัจจัยหมด สังขตก็หมด) ที่จะต้องใช้ในตีรณปริญญาต่อไปในวิสุทธิขั้นที่สูงกว่า.
(ปาถิกวคฺคฏีกา: คหิตาการวิปรีตตาติ มิจฺฉาทิฏฺฐิยา คหิตาการวิปรีตภาโวฯ วตฺถุโนติ ตสฺส อยถาภูตสภาวมาหฯ ตถาภาเวนาติ คหิตากาเรเนว วิปรีตากาเรเนวฯ ตสฺสทิฏฺฐิคติกสฺส, ตสฺส วา วตฺถุโน อุปฏฺฐานํ, "เอวเมตํ น อิโต อญฺญถา"ติฯ, นิทานวคฺคฏีกา: วตฺถุโนติ คหิตวตฺถุโนฯ คหิตาการวิปรีตตาติมิจฺฉาทิฏฺฐิยา คหิตาการสฺส วิปรีตตาฯ ตถาภาเวนาติ อตฺตโน คหิตากาเรเนว ตสฺสาทิฏฺฐิยา, คหิตสฺส วา วตฺถุโน อุปฏฺฐานํ "เอวเมตํ, น อิโต อญฺญถา"ติฯ )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.