วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วิสุทธิมรรค แนะนำให้หาผู้ได้ฌานที่ทรงพระไตรปิฎก มาสอนกรรมฐาน

ต่อไปนี้ เป็นข้อความใน #วิสุทธิมรรค #กัมมัฏฐานคหณนิทเทส (อธิบายวิธีการถือเอากรรมฐานจากพระอาจารย์) ที่ทำให้พวกเราจำเป็นแสวงหาพระภิกษุที่เคร่งพระวินัย ทรงจำพระไตรปิฎก ปฏิบัติฌาน ปฏิบัติวิปัสสนาตามพระไตรปิฎกอรรถกถา เพื่อมาสอนธรรมะ สอนกรรมฐาน, โดยข้อความมีอยู่ว่า:

" ...เมื่อพระมหาสาวกนั้นไม่มีอยู่แล้ว ก็พึงเรียนเอาในสำนักของพระอรหันตขีณาสพองค์ #ที่ได้ฌานจตุกกนัย #หรือฌานปัญจกนัย ด้วยพระกัมมัฏฐานบทที่ตนประสงค์จะเรียนเอานั้น แล้วเจริญวิปัสสนาซึ่งมีฌานเป็นปทัฏฐาน จนได้บรรลุถึงซึ่งความสิ้นสุดแห่งอาสวะกิเลสนั่นเถิด

ถาม –ก็แหละ พระอรหันตขีณาสพนั้น ท่านประกาศตนให้ทราบหรือว่าท่านเป็นพระขีณาสพ ?

ตอบ –จะต้องตอบทำไม เพราะพระอรหันตขีณาสพนั้น ท่านรู้ถึงภาวะที่ผู้จะทำความเพียรแล้ว #ย่อมแสดงตนให้ทราบ ด้วยความอาจหาญและรื่นเริง โดยชี้ให้เห็นถึงภาวะแห่งการปฏิบัติไม่เป็นโมฆะ พระอัสสคุตตเถระรู้ว่า ภิกษุนี้เป็นผู้จะทำกัมมัฏฐาน ฉะนี้แล้ว ท่านปูลาดแผ่นหนังไว้บนอากาศแล้วนั่งขัดสมาธิอยู่บนแผ่นหนังนั้น บอกพระกัมมัฏฐานแก่ภิกษุผู้ปรารภพระกัมมัฏฐานแล้ว มิใช่หรือ ?

เพราะเหตุฉะนั้น ถ้าโยคีบุคคลได้พระอรหันตขีณาสพ ข้อนั้นนับว่าเป็นบุญ แต่ถ้าหาไม่ได้ พึงเรียนเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของท่านผู้ทรงคุณสมบัติเหล่านี้ โดยจากก่อนมาหลังคือ พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน #ปุถุชนผู้ได้ฌาน #ท่านผู้ทรงจำปิฏกทั้งสาม ท่านผู้ทรงจำปิฏกสอง ท่านผู้ทรงจำปิฏกหนึ่ง แม้เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฏกหนึ่งก็ไม่มี ท่านผู้ใดมีความชำนาญแม้เพียงสังคีติอันเดียวพร้อมทั้งอรรถกถา #และเป็นผู้มีความละอายด้วย พึงเรียนกัมมัฏฐานในสำนักของท่านผู้นั้นเถิด ด้วยว่าบุคคลผู้มีลักษณะเห็นปานฉะนี้ ชื่อว่า #เป็นผู้รักษาประเพณี #เป็นอาจารย์ผู้นับถือมติของอาจารย์ #ไม่ใช่ผู้ถือมติของตนเองเป็นใหญ่ เพราะเหตุฉะนี้แหละ พระเถระในปางก่อนทั้งหลาย จึงได้กล่าวประกาศไว้ถึง ๓ ครั้งว่า ท่านผู้มีความละอายจักรักษา, ท่านผู้มีความละอายจักรักษา, ท่านผู้มีความละอายจักรักษา ฉะนี้

ก็แหละ ในบรรดากัลยาณมิตรเหล่านั้น กัลยาณมิตรที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ เป็นอาทิ ที่ข้าพเจ้ากล่าวมาในตอนต้น ท่านย่อมบอกพระกัมมัฏฐานให้ได้เฉพาะแต่แนวทาง ที่ท่านได้บรรลุมาด้วยตนเองเท่านั้น ส่วนกัลยาณมิตรผู้เป็นพหุสูต เพราะเหตุที่พระบาลีและอรรถกถาอันเป็นอุปการะแก่กัมมัฏฐานเป็นสิ่งที่ท่านได้เข้าไปหาพระอาจารย์นั้น ๆ แล้วเรียนเอาอย่างขาวสะอาด ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยอยู่ ท่านจึงเลือกสรรเอาแต่สุตบทและเหตุอันคล้อยตามสุตบทซึ่งสมควรแก่กัมมัฏฐานนั้น ๆ จากนิกายนี้บ้างโน้นบ้าง แล้วเอามาปรับปรุงให้เป็นที่สะดวกสบายเหมาะสมแก่โยคีบุคคลผู้ที่ท่านจะให้กัมมัฏฐาน แสดงวิธีแห่งกัมมัฏฐานให้เห็นแนวทางอย่างกว้างขวาง เป็นดุจพญาช้างบุกไปในสถานที่รกชัฏ จึงจักบอกกัมมัฏฐาน

เพราะเหตุฉะนั้น โยคีบุคคลพึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้กัมมัฏฐาน ซึ่งมีคุณสมบัติเห็นปานฉะนี้ ทำวัตรปฏิบัติแก่ท่านแล้ว พึงเรียนเอาพระกัมมัฏฐานเถิด... "

https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๑_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๓_กัมมัฏฐานคหณนิเทศ_หน้าที่_๑๕๖_-_๑๖๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร https://wiki.sutta.men/ฟุตโน้ต:541:99 -------------...