พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ ๒๒
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
หน้าที่ ๔๗๑ ข้อที่ ๓๐ อนุตตริยสูตร
-----------------------------------------------
๑๐. อนุตตริยสูตร
ว่าด้วยอนุตตริยะ
[๓๐๑,๓๐] ภิกษุทั้งหลาย อนุตตริยะ (ภาวะอันยอดเยี่ยม) ๖ ประการนี้
อนุตตริยะ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทัสสนานุตตริยะ (การเห็นอันยอดเยี่ยม)
๒. สวนานุตตริยะ (การฟังอันยอดเยี่ยม)
๓. ลาภานุตตริยะ (การได้อันยอดเยี่ยม)
๔. สิกขานุตตริยะ (การศึกษาอันยอดเยี่ยม)
๕. ปาริจริยานุตตริยะ (การบำรุงอันยอดเยี่ยม)
๖. อนุสสตานุตตริยะ (การระลึกอันยอดเยี่ยม)
(มองให้เป็นสติปัฏฐาน)
ทัสสนานุตตริยะ เป็นอย่างไร
(อทัสสนานุตตริยะ) คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไปเพื่อเห็นช้างแก้วบ้าง ไปเพื่อเห็นม้าแก้วบ้างไปเพื่อเห็นแก้วมณีบ้าง ไปเพื่อเห็นของสูงของต่ำบ้าง หรือไปเพื่อเห็นสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง ภิกษุทั้งหลาย การเห็นนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี แต่ว่าการเห็นนี้ยังเป็นการเห็นที่เลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่อริยะ(๑) ไม่ประกอบด้วยประโยชน์(๒) ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
(ทัสสนานุตตริยะ) คือ ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด(๓) มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ไปเพื่อเห็นตถาคตหรือสาวกของตถาคต ภิกษุทั้งหลาย การเห็นนี้ของบุคคลนั้น เป็นการเห็นที่ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั่งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ไปเพื่อเห็นตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต นี้เรียกว่า ทัสสนานุตตริยะ, ทัสสนานุตตริยะ เป็นอย่างนี้
(ฟังให้เป็นสติปัฏฐาน)
สวนานุตตริยะ เป็นอย่างไร
(อสวนานุตตริยะ) คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง ไปเพื่อฟังเสียงพิณบ้างไปเพื่อฟังเสียงเพลงขับบ้าง ไปเพื่อฟังเสียงสูงเสียงต่ำบ้าง หรือไปเพื่อฟังธรรมของสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง ภิกษุทั้งหลาย การฟังนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี แต่ว่าการฟังนี้ ยังเป็นการฟังที่เลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชนไม่ใช่อริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
(สวนานุตตริยะ) คือ ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของตถาคตหรือสาวกของตถาคต ภิกษุทั้งหลาย การฟังนี้ของบุคคลนั้น เป็นการฟังที่ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของตถาคต หรือสาวกของพระตถาคต นี้เรียกว่าสวนานุตตริยะ, ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ เป็นอย่างนี้
(รับให้เป็นสติปัฏฐาน)
ลาภานุตตริยะ เป็นอย่างไร
(อลาภานุตตริยะ) คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ได้บุตรบ้าง ได้ภรรยาบ้าง ได้ทรัพย์บ้าง ได้ของสูงของต่ำบ้างหรือได้ศรัทธาในสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง ภิกษุทั้งหลาย การได้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี แต่ว่าการได้นี้ยังเป็นการได้ที่เลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่อริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
(ลาภานุตตริยะ) คือ ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้ศรัทธาในตถาคต หรือสาวกของตถาคต ภิกษุทั้งหลาย การได้นี้ของบุคคลนั้นเป็นการได้ที่ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรมเพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้ศรัทธาในตถาคต หรือสาวกของตถาคต นี้เรียกว่า ลาภานุตตริยะ, ลาภานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ เป็นอย่างนี้
(ศึกษาให้เป็นสติปัฏฐาน)
สิกขานุตตริยะ เป็นอย่างไร
(อสิกขานุตตริยะ) คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับช้างบ้าง ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับม้าบ้าง ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับรถบ้าง ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับธนูบ้าง ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับดาบบ้าง ศึกษาศิลปะชั้นสูงชั้นต่ำบ้าง หรือศึกษาศิลปะจากสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง ภิกษุทั้งหลาย การศึกษานั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี แต่ว่าการศึกษานี้ยังเป็นการศึกษาที่เลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชนไม่ใช่อริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
(สิกขานุตตริยะ) คือ ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ศึกษาอธิศีลบ้าง ศึกษาอธิจิตบ้าง ศึกษาอธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ การศึกษานี้ของบุคคลนั้นเป็นการศึกษาที่ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะเพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ศึกษาอธิศีลบ้าง ศึกษาอธิจิตบ้าง ศึกษาอธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ นี้เรียกว่า สิกขานุตตริยะ, ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ เป็นอย่างนี้
(รับใช้ให้เป็นสติปัฏฐาน)
ปาริจริยานุตตริยะ เป็นอย่างไร
(อปาริจริยานุตตริยะ) คือ บุคคลบางคนในโลกนี้บำรุงกษัตริย์บ้าง บำรุงพราหมณ์บ้าง บำรุงคหบดีบ้างบำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำบ้าง หรือบำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง ภิกษุทั้งหลาย การบำรุงนั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี แต่ว่าการบำรุงนี้ยังเป็นการบำรุงที่เลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่อริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
(ปาริจริยานุตตริยะ) คือ ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง บำรุงตถาคตหรือสาวกของตถาคต การบำรุงนี้ของบุคคลนั้นเป็นการบำรุงที่ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง บำรุงตถาคตหรือสาวกของตถาคต นี้เรียกว่า ปาริจริยานุตตริยะ, ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ ปาริจริยา-นุตตริยะ เป็นอย่างนี้
(คิดถึงให้เป็นสติปัฏฐาน)
อนุสสตานุตตริยะ เป็นอย่างไร
(อนนุสสตานุตตริยะ) คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ระลึกถึงการได้บุตรบ้าง ระลึกถึงการได้ภรรยาบ้างระลึกถึงการได้ทรัพย์บ้าง ระลึกถึงการได้ของสูงของต่ำบ้าง หรือระลึกถึงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง ภิกษุทั้งหลาย การระลึกนั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี แต่ว่าการระลึกนี้ยังเป็นการระลึกที่เลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่อริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่งไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
(อนุสสตานุตตริยะ) คือ ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ระลึกถึงตถาคตหรือสาวกของตถาคต ภิกษุทั้งหลาย การระลึกถึงนี้ของบุคคลนั้น เป็นการระลึกถึงที่ยอดเยี่ยมกว่าการระลึกถึงทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัสเพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น บรรลุที่สุด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง นี้เรียกว่า อนุสสตานุตตริยะ
ภิกษุทั้งหลาย อนุตตริยะ ๖ ประการนี้แล
ภิกษุเหล่าใดได้ทัสสนานุตตริยะ
สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ
ยินดีในสิกขานุตตริยะ ตั้งมั่นปาริจริยานุตตริยะ
เจริญอนุสสตานุตตริยะอันประกอบด้วยวิเวก(๔)
อันเกษม ให้ถึงอมตธรรม
เป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท
มีปัญญาเครื่องรักษาตน สำรวมในศีล
ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมรู้ที่เป็นที่ดับแห่งทุกข์ตามกาลอันควร
----------------------------------------------------
(๑) ไม่ใช่อริยะ ในที่นี้หมายถึง ไม่ประเสริฐ ไม่สูงสุด ไม่บริสุทธิ์ อันพระอริยะทั้งหลายไม่เสพ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๐/๑๑๔, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๓๐/๑๒๘)
(๒) ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ หมายถึงไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่ไพบูลย์ต่าง ๆ เช่นทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ (ประโยชน์ภพนี้) และสัมปรายิกัตถประโยชน์ (ประโยชน์ในภพหน้า) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๐/๑๑๔,องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๓๐/๑๒๘)
(๓) บรรลุที่สุด ในที่นี้หมายถึงถึงความไม่หวั่นไหว (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๐/๑๑๔)
(๔) ทั้ง ๓ คำ คือ วิเวก อมตธรรม และ ที่เป็นที่ดับแห่งทุกข์ ในคาถานี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๐/๑๑๔)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.