วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สติปัฏฐานทำอย่างไร-04: สติปัฏฐาน คือ อากาสานัญจายตนสมาบัติ วิญญาณัญจายตนสมาบัติ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ฯลฯ

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ ๒๓
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
หน้าที่ ๕๑๓ ข้อที่ ๓๗
-----------------------------------------------
๖. อานันทสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์
[๒๔๑,๓๗]    สมัยหนึ่ง    ท่านพระอานนท์อยู่    ณ    โฆสิตาราม    เขตกรุงโกสัมพี    ณที่นั้นแล    ท่านพระอานนท์เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า    “ผู้มีอายุทั้งหลาย    ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว    ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวดังนี้ว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย    น่าอัศจรรย์จริง    ไม่เคยปรากฏ    พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น    เป็นพระอรหันต์    ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ    ได้ตรัสรู้วิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ(๑)    เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะ(ความเศร้าโศก)    และปริเทวะ(ความร่ำไร)    เพื่อดับทุกข์(ความทุกข์กาย)    โทมนัส(ความทุกข์ใจ)    เพื่อบรรลุญายธรรม(๒)    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
คือ    จักษุ    (ตา)    ชื่อว่าจักเป็นจักษุนั้นนั่นเอง    คือ    รูปเหล่านั้นก็จักไม่รับรู้อายตนะนั้น    และอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้รูปเหล่านั้น
โสตะ    (หู)    ชื่อว่าจักเป็นโสตะนั้นนั่นเอง    คือ    เสียงเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้นและอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้เสียงเหล่านั้น
ฆานะ    (จมูก)    ชื่อว่าจักเป็นฆานะนั้นนั่นเอง    คือ    กลิ่นเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้นและอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้กลิ่นเหล่านั้น
ชิวหา    (ลิ้น)    ชื่อว่าจักเป็นชิวหานั้นนั่นเอง    คือ    รสเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้นและอายตนะนั้นก็จักไม่รับรสเหล่านั้น
กาย    ชื่อว่าจักเป็นกายนั้นนั่นเอง    คือ    โผฏฐัพพะเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้นและอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้โผฏฐัพพะเหล่านั้น”
เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว    ท่านพระอุทายี(๓)ได้ถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า    “ท่านอานนท์    คนผู้มีสัญญาเท่านั้น    หรือว่าคนไม่มีสัญญา    ไม่รับรู้อายตนะนั้น”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า    “ผู้มีอายุ    คนมีสัญญานั้นก็ไม่รับรู้อายตนะได้    หรือคนไม่มีสัญญาก็ไม่รับรู้อายตนะนั้นได้”
ท่านพระอุทายีถามว่า    “ผู้มีอายุ    คนผู้มีสัญญาอย่างไร    จึงไม่รับรู้อายตนะนั้น”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า    “ผู้มีอายุ    ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า    ‘อากาศหาที่สุดมิได้’    อยู่    เพราะล่วงรูปสัญญา    ดับปฏิฆสัญญาไม่กำหนดนานัตตสัญญา    ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้แล    ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น
ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง    บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน    โดยกำหนดว่า    ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’    อยู่    ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้แล    ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น
ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง    บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า    ‘ไม่มีอะไร’    อยู่    ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้แล    ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น
ผู้มีอายุ    ครั้งหนึ่ง    ผมพักอยู่    ณ    อัญชนมิคทายวัน    เมืองสาเกต    ครั้งนั้นแลภิกษุณีชื่อชฏิลภาคิกาเข้าไปหาผมจนถึงที่อยู่    ไหว้แล้วยืนอยู่    ณ    ที่สมควร    ครั้นแล้วได้กล่าวกับผมดังนี้ว่า    ‘ท่านอานนท์ผู้เจริญ    สมาธิใดอันกิเลสน้อมไปไม่ได้(๔)    นำไปไม่ได้(๕)    ไม่มีการข่มห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง    ชื่อว่าตั้งมั่นแล้วเพราะหลุดพ้น    ชื่อว่ายินดีเพราะตั้งมั่น    ชื่อว่าไม่สะดุ้งเพราะยินดี    สมาธินี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า    มีอะไรเป็นผล’    เมื่อชฏิลภาคิกาภิกษุณีกล่าวอย่างนี้แล้ว    ผมได้กล่าวกับภิกษุณีนั้นว่า    ‘น้องหญิง    สมาธิใดอันกิเลสน้อมไปไม่ได้    นำไปไม่ได้    ไม่มีการข่มห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง    ชื่อว่าตั้งมั่นแล้วเพราะหลุดพ้น    ชื่อว่ายินดีเพราะตั้งมั่น    ชื่อว่าไม่สะดุ้งเพราะยินดี    สมาธินี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า    มีอรหัตเป็นผล’    ผู้มีอายุ    ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้    ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น”
อานันทสูตรที่ ๖ จบ


   ..............................
๑ วิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ  มีความหมายดังนี้  คำว่า  ที่คับแคบ  มีความหมาย  ๒  นัย  คือ  นัยที่  ๑   หมายถึงที่คับแคบสำหรับปุถุชนผู้ครองเรือน  ได้แก่  กามคุณ  ๕  นัยที่  ๒  หมายถึงที่คับแคบสำหรับผู้  บำเพ็ญฌาน  ได้แก่  นิวรณ์  ๕  เป็นต้น  คำว่า  วิธีบรรลุช่องว่าง  หมายถึงภาวะที่ปลอดจากกิเลสต่าง ๆ   ได้แก่  รูปฌาน  ๔  อรูปฌาน  ๔  สัญญาเวทยิตนิโรธ  ๑  และอรหัตตมรรค  แต่ละภาวะก็ปลอดจากกิเลสต่างกัน   เช่น  ปฐมฌานปลอดจากนิวรณ์  ๕  จตุตถฌานปลอดจากสุขและทุกข์  ดู  ที.ม.  ๑๐/๒๘๘/๑๘๓,  ที.ม.อ.   ๒/๒๘๘/๒๕๕,  องฺ.นวก.ฏีกา  ๓/๓๗/๓๖๙  ประกอบ
๒ ญายธรรม  หมายถึงอริยมัคคธรรม  (สํ.ม.  ๑๙/๒๔/๑๕,  สํ.ม.อ.  ๓/๒๑-๓๐/๑๙๕)
๓ พระอุทายี  ในที่นี้คือพระกาฬุทายีเถระ  (องฺ.นวก.อ.  ๓/๓๗/๓๑๑)
๔ น้อมไปไม่ได้  ในที่นี้หมายถึงไม่น้อมไปตามอำนาจราคะ  (องฺ.นวก.อ.  ๓/๓๗/๓๑๑)
๕ นำไปไม่ได้  ในที่นี้หมายถึงไม่ถูกชักนำไปตามอำนาจโทสะ  (องฺ.นวก.อ.  ๓/๓๗/๓๑๑)        

เทียบผลทาน ระหว่าง การให้ทานกะสงฆ์หวังถูกหวย กับ การให้ทานกะบุคคลเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง 3 กาล

ถามว่า:
คฤหัสน์ถวายทาน
‪#‎แก่ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล‬
(‪#‎ให้วัตถุทานชนิดเดียวกัน‬)
แบ่งคำถามเป็น 2 กรณี
คนแรก
‪#‎กล่าวคำถวายหรือตั้งเจตนาถวายเป็นสังฆทาน‬
และถวายเป็นสังฆทานจนเสร็จเรียบร้อย
‪#‎แต่ให้เพราะฝันร้าย‬ ให้ตามประเพณี
‪#‎ให้เพราะชีวิตไม่ดีหวังจะพึ่งพาผลบุญ‬ ให้เพื่อทำบุญล้างซวย ฯลฯ
(คล้ายๆ คนส่วนมากในยุคปัจจุบัน)
คนที่ 2
‪#‎กล่าวคำถวายหรือตั้งเจตนาถวายเป็นปาฏิปุคคลิกทาน‬
และถวายเป็นปาฏิปุคคลิกทานจนสำเร็จเรียบร้อย
โดยให้ด้วย ‪#‎เจตนาทั้ง‬ 3 กาลที่ดี ที่บริสุทธิ์
1.‪#‎เจตนาก่อนให้ดี‬
2.เจตนาขณะที่กำลังให้ดี
3.‪#‎เจตนาหลังให้ดี‬(ไม่คิดมาก ไม่สงสัยอะไร ไม่ยึดมั่น)
(คล้ายๆ คนส่วนน้อยในยุคปัจจุบัน)
คำถาม
‪#‎ผู้ให้ทานกรณีใดจะได้รับผลที่ดีกว่า‬?
1.‪#‎ชาตินี้‬
2.‪#‎ชาติหน้า‬

ตอบว่า:


คนแรกได้ผลบุญปริมาณมาก แต่ไม่ประณีต, คนที่ 2 ได้ผลบุญปริมาณน้อยกว่า แต่ประณีต.


อีกอย่าง คือ คนแรก เมื่อปฏิบัติธรรมเป็นทุกขาปฏิปทา, ส่วนคนหลังจะเป็นสุขาปฏิปทา
พวกทุกขาปฏิปทา กิเลสหนา โอกาสจะเอาบุญมาต่อยอดเป็นสมถะวิปัสสนาในชาตินี้ก็ยาก, ชาติหน้า แม้จะได้ผลบุญหลายภพชาติ ก็ไม่ประณีต เหมือนเรื่องเศรษฐีตีนแมว.

พวกสุขาปฏิปทา กิเลสน้อย โอกาสจะเอาบุญมาต่อยอดเป็นสมถะวิปัสสนาในชาตินี้มีมากกว่า (กิเลสน้อย=บุญเกกิดมากกว่ากิเลส) รวมถึงทานก็มีโอกาสทำมากกว่าพวกกิเลสหนาด้วย, ชาติหน้า ผลบุญที่ได้แม้จะน้อยกว่า(แต่ประณีต)เมื่อนับผู้รับ, แต่อย่าลืมว่า คนหลังมีโอกาสทำทานบ่อยกว่าเพราะกิเลสน้อยกว่า ฉะนั้น เอาจริงๆแล้ว คนหลังก็ยังได้ผลทานอื่นๆ ด้วย เยอะกว่าอยุ่ดี (อาจจะทำกับสงฆ์เยอะกว่าด้วยอีกต่างหาก).

อีกเรื่อง คือ ทิฏฐธัมมเวทนียกรรมฉับพลันชาตินี้ พวกทุกขาปฏิปทาไม่มีโอกาสได้แน่นอน เพราะผู้ให้ไม่บริสุทธิ์, ส่วนพวกสุขาปฏิปทามีโอกาสมากกว่า เพราะปกติเป็นผู้ไม่ค่อยมีกิเลสอยู่แล้ว ถ้าได้ผู้รับที่มีคุณสมบัติถึงพร้อม ก็มีโอกาสได้ทิฏฐธัมมเวทนียกรรมแบบฉับพลันชาตินี้.

สติปัฏฐานทำอย่างไร-04: เจริญสติปัฏฐานด้วยอนุสสติ 6 (อุปจารสมาธิก็เป็นสติปัฏฐาน)

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ ๒๒
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
หน้าที่ ๔๕๙ ข้อที่ ๒๖
-----------------------------------------------
๖. มหากัจจานสูตร
ว่าด้วยพระมหากัจจานะ(๑)
[๒๙๗,๒๖]    ณ    ที่นั้นแล    ท่านพระมหากัจจานะ    เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่าผู้มีอายุทั้งหลาย    ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว    ท่านพระมหากัจจานะจึงได้กล่าวดังนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย    น่าอัศจรรย์จริง    ไม่เคยปรากฏ    พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้    ทรงเห็น    เป็นพระอรหันต์    ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ    ได้ตรัสรู้วิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ(๒)คืออนุสสติฏฐาน    ๖    ประการ    เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะ(ความเศร้าโศก)และปริเทวะ(ความร่ำไร)    เพื่อดับทุกข์(ความทุกข์กาย)และโทมนัส(ความทุกข์ใจ)    เพื่อบรรลุญายธรรม(๓)    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
อนุสสติฏฐาน    ๖    ประการ    อะไรบ้าง    คือ

(หมั่นนึกถึงคุณธรรมของพระพุทธเจ้า)

๑.    อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ระลึกถึงพระตถาคตว่า    ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น    เป็นพระอรหันต์    ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ    เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี    รู้แจ้งโลก    เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม     เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย    เป็นพระพุทธเจ้า    เป็นพระผู้มีพระภาค’    สมัยใด    อริยสาวก ระลึกถึงพระตถาคต    สมัยนั้น    จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะ กลุ้มรุม    ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม    เป็นจิตดำเนินไป ตรงทีเดียว    เป็นจิตออกไป    พ้นไป    หลุดไปจากความกำหนัด    คำว่า ‘กำหนัด’    นี้    เป็นชื่อของกามคุณ    ๕    อริยสาวกนั้นแล    มีจิตเสมอ อากาศ    อันไพบูลย์    เป็นมหัคคตะ    ไม่มีขอบเขต    ไม่มีเวร    ไม่มีความ เบียดเบียน(๔)อยู่โดยประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย    สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำพุทธานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์    ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล

(หมั่นนึกถึงคุณของพระธรรม)

๒.    อริยสาวกระลึกถึงพระธรรมว่า    ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระ ภาคตรัสไว้ดีแล้ว   ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด  ด้วยตนเอง    ไม่ประกอบด้วยกาล    ควรเรียกให้มาดู    ควรน้อมเข้า  มาในตน    อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’    สมัยใด    อริยสาวก ระลึกถึงพระธรรม    สมัยนั้น    จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะ กลุ้มรุม    ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม    ย่อมเป็นจิตดำเนิน ไปตรงทีเดียว    เป็นจิตออกไป    พ้นไป    หลุดไปจากความกำหนัด    คำว่า ‘กำหนัด’    นี้เป็นชื่อของกามคุณ    ๕    อริยสาวกนั้นแล    มีจิตเสมอ อากาศ    อันไพบูลย์    เป็นมหัคคตะ    ไม่มีขอบเขต    ไม่มีเวร    ไม่มีความ เบียดเบียนอยู่    โดยประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย    สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำธัมมานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์    ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล

(หมั่นนึกถึงคุณธรรมของพระสงฆ์)

๓.    อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ว่า    ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค    เป็นผู้ปฏิบัติดี    ปฏิบัติตรง    ปฏิบัติถูกต้อง    ปฏิบัติสมควร    ได้แก่    อริยบุคคล    ๔    คู่    คือ    ๘    บุคคล  พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้    เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย    ควรแก่ของต้อนรับ    ควรแก่ทักษิณา    ควรแก่การทำอัญชลี  เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก’    สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์    สมัยนั้น    จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ ถูกราคะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม    ย่อมเป็น จิตดำเนินไปตรงทีเดียว    เป็นจิตออกไป    พ้นไป    หลุดไปจากความ กำหนัด    คำว่า    ‘กำหนัด’    นี้เป็นชื่อของกามคุณ    ๕    อริยสาวกนั้นแล มีจิตเสมออากาศ    อันไพบูลย์    เป็นมหัคคตะ    ไม่มีขอบเขต    ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่โดยประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย    สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำสังฆานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์    ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล

(หมั่นนึกถึงศีลที่รักษาอยู่)

๔.    อริยสาวกระลึกถึงศีลของตนที่ไม่ขาด    ไม่ทะลุ    ไม่ด่าง    ไม่พร้อย    เป็นไท    ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ    เป็นไปเพื่อสมาธิ สมัยใด    อริยสาวกระลึกถึงศีลของตน    สมัยนั้น    จิตของอริยสาวก นั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว    เป็นจิตออกไป    พ้นไป    หลุดไปจาก ความกำหนัด    คำว่า    ‘กำหนัด’    นี้เป็นชื่อของกามคุณ    ๕    อริยสาวก นั้นแล    มีจิตเสมออากาศ    อันไพบูลย์    เป็นมหัคคตะ    ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร    ไม่มีความเบียดเบียนอยู่    โดยประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย    สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำสีลานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์    ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล

(หมั่นนึกถึงทานที่เคยให้)

๕.    อริยสาวกระลึกถึงจาคะของตนว่า    ‘เป็นลาภของเราหนอ    เราได้ดีแล้วหนอ    เราเป็นผู้มีจาคะ    คือ    มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน  มีจาคะอันสละแล้ว    มีฝ่ามือชุ่ม    ยินดีในการสละ    ควรแก่การขอ  ยินดีในการแจกทานอยู่ครองเรือน’ สมัยใด    อริยสาวกระลึกถึงจาคะของตน    สมัยนั้น    จิตของอริยสาวก นั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว    เป็นจิตออกไป    พ้นไป    หลุดไปจาก ความกำหนัด    คำว่า    ‘กำหนัด’    นี้    เป็นชื่อของกามคุณ    ๕    อริยสาวก นั้นแลมีจิตเสมออากาศ    อันไพบูลย์    เป็นมหัคคตะ    ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร    ไม่มีความเบียดเบียนอยู่    โดยประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย    สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำจาคานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์    ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล

(หมั่นนึกถึงคุณธรรมของเทวดา)

๖.    อริยสาวกระลึกถึงเทวดาว่า    ‘“เทวดาชั้นจาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวดี เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม เทวดาชั้นที่สูงกว่านั้นขึ้นไปมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น     แม้เราเองก็มีศรัทธาเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด...    สุตะ...    จาคะ...    ปัญญาเช่นใด แม้เราเองก็มีปัญญาเช่นนั้น    สมัยใด    อริยสาวกระลึกถึงศรัทธา ศีล    สุตะ    จาคะ    และปัญญาของตน    และของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น    จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม    ไม่ถูกโทสะ กลุ้มรุม    ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม    เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว    เป็นจิต ออกไป    พ้นไป    หลุดไปจากความกำหนัด    คำว่า    ‘กำหนัด’    นี้เป็นชื่อ ของกามคุณ    ๕    อริยสาวกนั้นแลมีจิตเสมอด้วยอากาศ    อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ    ไม่มีขอบเขต    ไม่มีเวร    ไม่มีความเบียดเบียนอยู่โดย ประการทั้งปวง
ผู้มีอายุทั้งหลาย    สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำเทวตานุสสตินี้ให้เป็นอารมณ์    ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาอย่างนี้แล
ผู้มีอายุทั้งหลาย    น่าอัศจรรย์จริง    ไม่เคยปรากฏ    พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้    ทรงเห็น    เป็นพระอรหันต์    ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ    ได้ตรัสรู้วิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ    คือ    อนุสสติฏฐาน    ๖    ประการนี้    เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะ    และปริเทวะ    เพื่อดับทุกข์    และโทมนัส    เพื่อบรรลุญายธรรม    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
มหากัจจานสูตรที่ ๖ จบ
  ..............................
๑ คัมภีร์บางแห่งใช้ว่า  มหากัจจายนะ
๒ ช่องว่างในที่คับแคบ  หมายถึงทางหลุดพ้นจากกามคุณ  ๕  (รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ)  ทางหลุดพ้น
   นั้นคืออนุสสติฏฐาน  ๖  ประการ  (องฺ.ฉกฺก.อ.  ๓/๒๖/๑๑๐)
๓ ญายธรรม  หมายถึงอริยมัคคธรรม  (สํ.ม.  ๑๙/๒๔/๑๕,  สํ.ม.อ.  ๓/๒๑-๓๐/๑๙๕)
๔ จิตเสมออากาศ  หมายถึงจิตที่ไม่ต้องเกี่ยวข้อง  ไม่ต้องผูกพัน
   ไพบูลย์  หมายถึงจิตไม่ใช่นิดหน่อย
   มหัคคตะ  หมายถึงจิตที่ยิ่งใหญ่  หรือเป็นจิตที่พระอริยสาวกจำนวนมากปฏิบัติมา
   ไม่มีขอบเขต  หมายถึงประมาณไม่ได้
   ไม่มีเวร  หมายถึงปราศจากอกุศลเวรและบุคคลผู้เป็นเวรกัน
   ไม่มีความเบียดเบียน  หมายถึงปราศจากความโกรธและความทุกข์  (องฺ.ฉกฺก.อ.  ๓/๒๖/๑๑๐)

สติปัฏฐานทำอย่างไร-03: พยายามให้บริสุทธิ์ ทั้งศีล ทั้งฌาน ทั้งทิฏฐิ ทั้งวิมุติ เป็นสติปัฏฐานทั้งนั้น

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ ๒๑
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
หน้าที่ ๒๘๙ ข้อที่ ๑๙๔
-----------------------------------------------
๔. สาปุคิยาสูตร
ว่าด้วยโกฬิยบุตรชาวสาปุคิยนิคม
[๑๙๔,๑๙๔]    สมัยหนึ่ง    ท่านพระอานนท์อยู่ในนิคมของโกฬิยราชสกุลชื่อสาปุคะ    แคว้น  โกฬิยะ(๑)    ครั้งนั้นแล    โกฬิยบุตรชาวสาปุคิยนิคม๒จำนวนมากเข้าไปหาท่านพระ  อานนท์ถึงที่อยู่    ไหว้แล้ว    นั่ง    ณ    ที่สมควร    ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกับโกฬิยบุตร  ชาวสาปุคิยนิคม(๒) ดังนี้ว่า
“ท่านพยัคฆปัชชะ(๓)ทั้งหลาย    องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ    (ความบริสุทธิ์)    ๔  ประการพระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น    เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระ  องค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว    เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะและ  ปริเทวะ    (ความเศร้าโศกและความคร่ำครวญ)    เพื่อดับทุกข์    (ความทุกข์กาย)    และ  โทมนัส    (ความทุกข์ใจ)    เพื่อบรรลุญายธรรม    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ    ๔    ประการ    อะไรบ้าง    คือ
๑.    องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ
๒.    องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ
๓.    องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ
๔.    องค์ความเพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ    เป็นอย่างไร
คือ    ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล    ฯลฯ(๔)    สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย  นี้เรียกว่า    สีลปาริสุทธิ
ความพอใจ(๕)    ความพยายาม    ความอุตสาหะ    ความขะมักเขม้น    ความไม่  ท้อถอย    สติและสัมปชัญญะในสีลปาริสุทธินั้นว่า    ‘เราจักยังสีลปาริสุทธิเห็นปานนั้น  ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองสีลปาริสุทธิที่บริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้น  ๆ ด้วยปัญญา’    ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย    นี้เรียกว่า    องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ    เป็นอย่างไร
คือ    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วบรรลุปฐมฌานที่มีวิตกวิจาร ปีติและสุขเกิดจากวิเวกอยู่, เพราะวิตกและวิจารสงบระงับ บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง ผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่, เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะ สรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’, เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานอยู่    นี้เรียกว่า  จิตตปาริสุทธิ
ความพอใจ    ความพยายาม    ความอุตสาหะ    ความขะมักเขม้น    ความไม่ท้อถอย    สติและสัมปชัญญะในจิตตปาริสุทธินั้นว่า    ‘เราจักบำเพ็ญจิตตปาริสุทธิเห็นปานนั้นที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองจิตตปาริสุทธิที่บริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้น  ๆ    ด้วยปัญญา’    ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย    นี้เรียกว่า    องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ    เป็นอย่างไร
คือ    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า    ‘นี้ทุกข์    นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ    นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’    นี้เรียกว่า    ทิฏฐิปาริสุทธิ
ความพอใจ    ความพยายาม    ความอุตสาหะ    ความขะมักเขม้น    ความไม่ท้อถอยสติสัมปชัญญะในทิฏฐิปาริสุทธินั้นว่า    ‘เราจักบำเพ็ญทิฏฐิปาริสุทธิเห็นปานนั้นที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองทิฏฐิปาริสุทธิ์ที่บริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆด้วยปัญญา’    ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย    นี้เรียกว่า    องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ    เป็นอย่างไร
คือ    อริยสาวกนี้แลเป็นผู้ประกอบองค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ    ประกอบองค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ    ประกอบองค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิแล้วย่อมคลายจิตในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัด(๖)    ย่อมเปลื้องจิตในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเปลื้องแล้วย่อมถูกต้องสัมมาวิมุตติ(๗)    นี้เรียกว่า    วิมุตติปาริสุทธิ
ความพอใจ    ความพยายาม    ความอุตสาหะ    ความขะมักเขม้น    ความไม่ท้อถอย    สติและสัมปชัญญะในวิมุตติปาริสุทธินั้นว่า    ‘เราจักบำเพ็ญวิมุตติปาริสุทธิเห็นปานนั้นที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองวิมุตติปาริสุทธิที่บริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้น  ๆ    ด้วยปัญญา’    ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย    นี้เรียกว่า    องค์ความเพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ
ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย    องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ    ๔    ประการนี้แล  พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น    เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้วเพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ    เพื่อ  ดับทุกข์และโทมนัส    เพื่อบรรลุญายธรรม    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
สาปุคิยาสูตรที่ ๔ จบ
..............................
๑ ดูเชิงอรรถที่  ๑  ข้อ  ๕๗  (สุปปวาสาสูตร)  หน้า  ๙๕  ในเล่มนี้
๒ หมายถึงชนผู้อยู่ในนิคมชื่อว่า  สาปุคะ  (องฺ.จตุกฺก.อ.  ๒/๑๙๔/๔๑๓)
๓ เป็นชื่อเรียกชาวโกฬิยะ  เพราะบรรพบุรุษของชาวโกฬิยะนี้สร้างบ้านเรือนอยู่ในพยัคฆปัชชนคร  (นครทางเสือผ่าน)  (องฺ.จตุกฺก.อ.  ๒/๑๙๔/๔๑๓)
๔ ดูข้อความเต็มในข้อ  ๓๗  (อปริหานิยสูตร)  หน้า  ๖๐  ในเล่มนี้
๕ ดูเชิงอรรถที่  ๑  ข้อ  ๙๓  (ทุติยสมาธิสูตร)  หน้า  ๑๔๑  ในเล่มนี้
๖ ธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัด  หมายถึงอิฏฐารมณ์  (อารมณ์ที่น่าปรารถนา)อันเป็นปัจจัยให้เกิดราคะ   (องฺ.จตุกฺก.อ.  ๒/๑๙๔/๔๑๓)
๗ สัมมาวิมุตติ  หมายถึงอรหัตตผลวิมุตติ  วิมุตติคืออรหัตตผล  (องฺ.จตุกฺก.อ.  ๒/๑๙๔/๔๑๓)

สติปัฏฐานทำอย่างไร-02: สมาทานศีลและเข้าฌานก็เป็นสติปัฏฐานด้วย

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ ๒๐
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
หน้าที่ ๒๙๗ ข้อที่ ๗๕
-----------------------------------------------
๔. นิคัณฐสูตร
ว่าด้วยนิครนถนาฏบุตร
[๕๑๔,๗๕]  สมัยหนึ่ง  ท่านพระอานนท์อยู่ที่กูฏาคารศาลา  ป่ามหาวัน  เขตกรุงเวสาลี  สมัยนั้น  เจ้าอภัยลิจฉวีและเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวีพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่  ไหว้แล้วนั่ง  ณ  ที่สมควร  เจ้าอภัยลิจฉวีผู้นั่ง  ณ  ที่สมควร  ได้เรียนถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  นิครนถนาฏบุตรเป็นสัพพัญญู(ผู้รู้ทุกสิ่ง)  มองเห็นทุกอย่างปฏิญญาญาณทัสสนะโดยไม่เหลือว่า  ‘เมื่อเราเดิน  ยืน  หลับ  และตื่น  ญาณทัสสนะ(๑)ก็ปรากฏเป็นนิตย์’  เขาบัญญัติว่ากรรมเก่าสิ้นสุดเพราะตบะ(การบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก)  บัญญัติการกำจัดเหตุได้เพราะไม่ทำกรรมใหม่  ด้วยเหตุนี้  เพราะกรรมสิ้นไปทุกข์จึงสิ้นไป  เพราะทุกข์สิ้นไป  เวทนาจึงสิ้นไป  เพราะเวทนาสิ้นไป  ทุกข์ทั้งสิ้นจึงจักเป็นอันสลายไป  การล่วงพ้นทุกข์ทั้งสิ้นย่อมมีได้ด้วยความบริสุทธิ์ที่ทำให้กิเลสสิ้นไปซึ่งประจักษ์ชัดด้วยตนเองนี้  ด้วยประการฉะนี้  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไร”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า  “ท่านอภัย  ความบริสุทธิ์ที่ทำให้กิเลสสิ้นไป  ๓  ประการนี้อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น  เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ  ตรัสไว้ชอบแล้ว  เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย  เพื่อล่วงพ้นความโศก  ความร่ำไร  เพื่อความสิ้นทุกข์และโทมนัส  เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้  เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
ความบริสุทธิ์  ๓  ประการ  อะไรบ้าง  คือ
๑.  ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีศีล  สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์    เพียบพร้อมด้วยอาจาระ (มารยาท)และโคจร(การเที่ยวไป)    มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย    สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย    แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล    สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์    เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร    มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย    สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย  เธอไม่ทำกรรมใหม่  และรับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า  “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง  ทำให้กิเลสสิ้น  ไป  ไม่ประกอบด้วยกาล  ควรเรียกให้มาดู  ควรน้อมเข้ามาในตน  อัน  วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
๒.  ภิกษุนั้นเพียบพร้อมด้วยศีล  สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขเกิดจากวิเวกอยู่, เพราะวิตกและวิจารสงบระงับ บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง ผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่, เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะ สรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’, เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาอยู่  เธอไม่ทำกรรมใหม่  และ  รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า  “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้  ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง  ทำให้กิเลสสิ้นไป  ไม่ประกอบด้วยกาล  ควรเรียกให้มาดู  ควรน้อมเข้ามาในตน  อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
๓.  ภิกษุนั้นเพียบพร้อมด้วยศีลอย่างนี้  เพียบพร้อมด้วยสมาธิอย่างนี้  ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติที่ไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป  ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน  เธอไม่ทำกรรมใหม่และรับผล  กรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า  “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะ  พึงเห็นชัดด้วยตนเอง  ทำให้กิเลสสิ้นไป  ไม่ประกอบด้วยกาล  ควรเรียก  ให้มาดู  ควรน้อมเข้ามาในตน  อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
ความบริสุทธิ์ที่ทำให้กิเลสสิ้นไป  ๓  ประการนี้แลอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น  เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ  ได้ตรัสไว้ชอบแล้วเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย  เพื่อล่วงพ้นความโศก  ความร่ำไร  เพื่อความสิ้นทุกข์และโทมนัส  เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้  เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว  เจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวีได้กล่าวกับเจ้าอภัยดังนี้ว่า  “อภัยเพื่อนรัก  ทำไมท่านจึงไม่ชื่นชมคำที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ดีโดยความเป็นคำสุภาษิตเล่า”
เจ้าอภัยตอบว่า  “บัณฑิตกุมารเพื่อนรัก  ไฉนเราจักไม่ชื่นชมคำที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ดีโดยความเป็นคำสุภาษิตเล่า  ความคิดของผู้ที่ไม่ชื่นชมคำที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ดีโดยความเป็นคำสุภาษิต  พึงเสื่อมแน่นอน”
นิคัณฐสูตรที่ ๔ จบ
..............................
(๑) ญาณทัสสนะ  ในที่นี้หมายถึงพระสัพพัญญุตญาณ  (องฺ.ติก.อ.  ๒/๗๕/๒๒๖)

สติปัฏฐานทำอย่างไร-01: ทำสติปัฏฐาน มองอะไร? ฟังอะไร? รับอะไร? ศึกษาอะไร? รับใช้ใคร? คิดถึงใคร?

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ ๒๒
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
หน้าที่ ๔๗๑ ข้อที่ ๓๐  อนุตตริยสูตร
-----------------------------------------------
   ๑๐. อนุตตริยสูตร
      ว่าด้วยอนุตตริยะ
    [๓๐๑,๓๐]    ภิกษุทั้งหลาย    อนุตตริยะ    (ภาวะอันยอดเยี่ยม)    ๖    ประการนี้
อนุตตริยะ    ๖    ประการ    อะไรบ้าง    คือ
๑. ทัสสนานุตตริยะ    (การเห็นอันยอดเยี่ยม)
๒. สวนานุตตริยะ    (การฟังอันยอดเยี่ยม)
๓. ลาภานุตตริยะ    (การได้อันยอดเยี่ยม)
๔. สิกขานุตตริยะ    (การศึกษาอันยอดเยี่ยม)
๕. ปาริจริยานุตตริยะ    (การบำรุงอันยอดเยี่ยม)
๖. อนุสสตานุตตริยะ    (การระลึกอันยอดเยี่ยม)

(มองให้เป็นสติปัฏฐาน)

ทัสสนานุตตริยะ    เป็นอย่างไร
(อทัสสนานุตตริยะ) คือ    บุคคลบางคนในโลกนี้ไปเพื่อเห็นช้างแก้วบ้าง    ไปเพื่อเห็นม้าแก้วบ้างไปเพื่อเห็นแก้วมณีบ้าง    ไปเพื่อเห็นของสูงของต่ำบ้าง    หรือไปเพื่อเห็นสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง    ภิกษุทั้งหลาย    การเห็นนี้มีอยู่    เราไม่กล่าวว่าไม่มี    แต่ว่าการเห็นนี้ยังเป็นการเห็นที่เลว    เป็นของชาวบ้าน    เป็นของปุถุชน    ไม่ใช่อริยะ(๑)    ไม่ประกอบด้วยประโยชน์(๒)    ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย    ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด    ไม่เป็นไปเพื่อดับ    ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ    ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง    ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้    ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
(ทัสสนานุตตริยะ) คือ ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น    มีความรักตั้งมั่น    บรรลุที่สุด(๓)    มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง    ไปเพื่อเห็นตถาคตหรือสาวกของตถาคต    ภิกษุทั้งหลาย    การเห็นนี้ของบุคคลนั้น    เป็นการเห็นที่ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย    เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ    เพื่อดับทุกข์และโทมนัส    เพื่อบรรลุญายธรรม    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น    มีความรักตั่งมั่น    บรรลุที่สุด    มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง    ไปเพื่อเห็นตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต    นี้เรียกว่า    ทัสสนานุตตริยะ, ทัสสนานุตตริยะ    เป็นอย่างนี้

(ฟังให้เป็นสติปัฏฐาน)

สวนานุตตริยะ    เป็นอย่างไร
(อสวนานุตตริยะ) คือ    บุคคลบางคนในโลกนี้ไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง    ไปเพื่อฟังเสียงพิณบ้างไปเพื่อฟังเสียงเพลงขับบ้าง    ไปเพื่อฟังเสียงสูงเสียงต่ำบ้าง    หรือไปเพื่อฟังธรรมของสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง    ภิกษุทั้งหลาย    การฟังนี้มีอยู่    เราไม่กล่าวว่า    ไม่มี    แต่ว่าการฟังนี้    ยังเป็นการฟังที่เลว    เป็นของชาวบ้าน    เป็นของปุถุชนไม่ใช่อริยะ    ไม่ประกอบด้วยประโยชน์    ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย    ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด    ไม่เป็นไปเพื่อดับ    ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ    ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง    ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้    ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
(สวนานุตตริยะ) คือ ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น    มีความรักตั้งมั่น    บรรลุที่สุด    มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง    ไปเพื่อฟังธรรมของตถาคตหรือสาวกของตถาคต    ภิกษุทั้งหลาย    การฟังนี้ของบุคคลนั้น    เป็นการฟังที่ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย    เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ    เพื่อดับทุกข์และโทมนัส    เพื่อบรรลุญายธรรม    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น    มีความรักตั้งมั่น    บรรลุที่สุด    มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง    ไปเพื่อฟังธรรมของตถาคต    หรือสาวกของพระตถาคต    นี้เรียกว่าสวนานุตตริยะ, ทัสสนานุตตริยะ    สวนานุตตริยะ    เป็นอย่างนี้

(รับให้เป็นสติปัฏฐาน)

ลาภานุตตริยะ    เป็นอย่างไร
(อลาภานุตตริยะ) คือ    บุคคลบางคนในโลกนี้ได้บุตรบ้าง    ได้ภรรยาบ้าง    ได้ทรัพย์บ้าง    ได้ของสูงของต่ำบ้างหรือได้ศรัทธาในสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง    ภิกษุทั้งหลาย    การได้นั้นมีอยู่    เราไม่กล่าวว่า    ไม่มี    แต่ว่าการได้นี้ยังเป็นการได้ที่เลวเป็นของชาวบ้าน    เป็นของปุถุชน    ไม่ใช่อริยะ    ไม่ประกอบด้วยประโยชน์    ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย    ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด    ไม่เป็นไปเพื่อดับ    ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง    ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้    ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
(ลาภานุตตริยะ) คือ ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น    มีความรักตั้งมั่น    บรรลุที่สุด    มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง    ได้ศรัทธาในตถาคต    หรือสาวกของตถาคต    ภิกษุทั้งหลาย    การได้นี้ของบุคคลนั้นเป็นการได้ที่ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย    เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ    เพื่อดับทุกข์และโทมนัส    เพื่อบรรลุญายธรรมเพื่อทำให้แจ้งนิพพาน 
การที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น    มีความรักตั้งมั่น    บรรลุที่สุด    มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง    ได้ศรัทธาในตถาคต    หรือสาวกของตถาคต นี้เรียกว่า ลาภานุตตริยะ, ลาภานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ    สวนานุตตริยะ    ลาภานุตตริยะ    เป็นอย่างนี้

(ศึกษาให้เป็นสติปัฏฐาน)

สิกขานุตตริยะ    เป็นอย่างไร
(อสิกขานุตตริยะ) คือ    บุคคลบางคนในโลกนี้ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับช้างบ้าง    ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับม้าบ้าง    ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับรถบ้าง    ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับธนูบ้าง    ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับดาบบ้าง    ศึกษาศิลปะชั้นสูงชั้นต่ำบ้าง    หรือศึกษาศิลปะจากสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง    ภิกษุทั้งหลาย    การศึกษานั้นมีอยู่    เราไม่กล่าวว่าไม่มี    แต่ว่าการศึกษานี้ยังเป็นการศึกษาที่เลว    เป็นของชาวบ้าน    เป็นของปุถุชนไม่ใช่อริยะ    ไม่ประกอบด้วยประโยชน์    ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย    ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด    ไม่เป็นไปเพื่อดับ    ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ    ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง    ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้    ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
(สิกขานุตตริยะ) คือ ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น    มีความรักตั้งมั่น    บรรลุที่สุด    มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง    ศึกษาอธิศีลบ้าง    ศึกษาอธิจิตบ้าง    ศึกษาอธิปัญญาบ้าง    ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้    การศึกษานี้ของบุคคลนั้นเป็นการศึกษาที่ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลาย    เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะเพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลมีศรัทธาตั้งมั่น    มีความรักตั้งมั่น    บรรลุที่สุด    มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง    ศึกษาอธิศีลบ้าง    ศึกษาอธิจิตบ้าง    ศึกษาอธิปัญญาบ้าง    ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้  นี้เรียกว่า    สิกขานุตตริยะ, ทัสสนานุตตริยะ    สวนานุตตริยะ    ลาภานุตตริยะ    สิกขานุตตริยะ    เป็นอย่างนี้

(รับใช้ให้เป็นสติปัฏฐาน)

ปาริจริยานุตตริยะ    เป็นอย่างไร
(อปาริจริยานุตตริยะ) คือ    บุคคลบางคนในโลกนี้บำรุงกษัตริย์บ้าง    บำรุงพราหมณ์บ้าง    บำรุงคหบดีบ้างบำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำบ้าง    หรือบำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง    ภิกษุทั้งหลาย    การบำรุงนั้นมีอยู่    เราไม่กล่าวว่า    ไม่มี    แต่ว่าการบำรุงนี้ยังเป็นการบำรุงที่เลว    เป็นของชาวบ้าน    เป็นของปุถุชน    ไม่ใช่อริยะ    ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
(ปาริจริยานุตตริยะ) คือ ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น    มีความรักตั้งมั่น    บรรลุที่สุด    มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง    บำรุงตถาคตหรือสาวกของตถาคต    การบำรุงนี้ของบุคคลนั้นเป็นการบำรุงที่ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย    เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ    เพื่อดับทุกข์และโทมนัส    เพื่อบรรลุญายธรรม    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลมีศรัทธาตั้งมั่น    มีความรักตั้งมั่น    บรรลุที่สุด    มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง    บำรุงตถาคตหรือสาวกของตถาคต    นี้เรียกว่า    ปาริจริยานุตตริยะ, ทัสสนานุตตริยะ    สวนานุตตริยะ    ลาภานุตตริยะ    สิกขานุตตริยะ    ปาริจริยา-นุตตริยะ    เป็นอย่างนี้

(คิดถึงให้เป็นสติปัฏฐาน)

อนุสสตานุตตริยะ    เป็นอย่างไร
(อนนุสสตานุตตริยะ) คือ    บุคคลบางคนในโลกนี้ระลึกถึงการได้บุตรบ้าง    ระลึกถึงการได้ภรรยาบ้างระลึกถึงการได้ทรัพย์บ้าง    ระลึกถึงการได้ของสูงของต่ำบ้าง    หรือระลึกถึงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดปฏิบัติผิดบ้าง    ภิกษุทั้งหลาย    การระลึกนั้นมีอยู่    เราไม่กล่าวว่า    ไม่มี    แต่ว่าการระลึกนี้ยังเป็นการระลึกที่เลว    เป็นของชาวบ้าน    เป็นของปุถุชน    ไม่ใช่อริยะ    ไม่ประกอบด้วยประโยชน์    ไม่เป็นไปความเบื่อหน่าย    ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด    ไม่เป็นไปเพื่อดับ    ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ    ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่งไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้    ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
(อนุสสตานุตตริยะ) คือ ส่วนบุคคลใดมีศรัทธาตั้งมั่น    มีความรักตั้งมั่น    บรรลุที่สุด    มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง    ระลึกถึงตถาคตหรือสาวกของตถาคต    ภิกษุทั้งหลาย    การระลึกถึงนี้ของบุคคลนั้น    เป็นการระลึกถึงที่ยอดเยี่ยมกว่าการระลึกถึงทั้งหลาย    เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ    เพื่อดับทุกข์และโทมนัสเพื่อบรรลุญายธรรม    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
การที่บุคคลมีศรัทธาตั้งมั่น    มีความรักตั้งมั่น    บรรลุที่สุด    มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง    นี้เรียกว่า    อนุสสตานุตตริยะ
ภิกษุทั้งหลาย    อนุตตริยะ    ๖    ประการนี้แล
ภิกษุเหล่าใดได้ทัสสนานุตตริยะ
สวนานุตตริยะ    ลาภานุตตริยะ
ยินดีในสิกขานุตตริยะ    ตั้งมั่นปาริจริยานุตตริยะ
เจริญอนุสสตานุตตริยะอันประกอบด้วยวิเวก(๔)
อันเกษม    ให้ถึงอมตธรรม
เป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท
มีปัญญาเครื่องรักษาตน    สำรวมในศีล
ภิกษุเหล่านั้นแล    ย่อมรู้ที่เป็นที่ดับแห่งทุกข์ตามกาลอันควร

----------------------------------------------------
(๑) ไม่ใช่อริยะ ในที่นี้หมายถึง ไม่ประเสริฐ ไม่สูงสุด ไม่บริสุทธิ์ อันพระอริยะทั้งหลายไม่เสพ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๐/๑๑๔, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๓๐/๑๒๘) 
(๒) ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ หมายถึงไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่ไพบูลย์ต่าง ๆ เช่นทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ (ประโยชน์ภพนี้) และสัมปรายิกัตถประโยชน์ (ประโยชน์ในภพหน้า) (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๐/๑๑๔,องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๓๐/๑๒๘) 
(๓) บรรลุที่สุด  ในที่นี้หมายถึงถึงความไม่หวั่นไหว  (องฺ.ฉกฺก.อ.  ๓/๓๐/๑๑๔)
(๔) ทั้ง  ๓  คำ  คือ  วิเวก  อมตธรรม  และ  ที่เป็นที่ดับแห่งทุกข์  ในคาถานี้หมายถึงนิพพาน  (องฺ.ฉกฺก.อ.  ๓/๓๐/๑๑๔)

สติปัฏฐานทำอย่างไร (คำนำ): ฐานที่ตั้งให้เกิดกุศลทั้งปวง มีทานและศีล เป็นต้นล้วนเป็นสติปัฏฐาน แต่อาจไม่ใช่ภาวนา


ติดตาม "สติปัฏฐานทำอย่างไร" ในลิงก์นี้ (อัพเดทใหม่เรื่อยๆ): 

แต่เดิม เมื่อสนทนากันเรื่องสติปัฏฐาน ก็จะพูดถึงกันแต่มหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเป็นสูตรที่ว่าด้วยขยญาณ มีเฉพาะสติปัฏฐานที่เป็นภาวนา กล่าวไว้สำหรับอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู อย่างชาวกุรุรัฐ ที่ฟังจบแล้วบรรลุเลย.
ในที่นี้จึงจะรวบรวม สติปัฏฐานอื่นๆ นอกเหนือจากสติปัฏฐานสูตร ที่มีอานิสงส์แบบเดียวกัน มาให้นำไปประพฤติปฏิบัติตามกำลังของท่านผู้อ่าน เพราะเมื่อว่าตามปทัฏฐาน (เหตุใกล้) ของสติเจตสิกที่ว่า "กายาทิสติปัฏฐานปทัฏฐานา สติ-พื้นฐานของสติ คือ สติปัฏฐานมีกายเป็นต้น" แล้ว, ก็กล่าวได้ชัดเจนว่า ฐานที่ตั้งให้เกิดกุศลทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน. แต่เฉพาะสมถะและวิปัสสนาเท่านั้น ที่เป็นภาวนาด้วย. 
เพียงแต่ว่าทานและศีล เป็นต้น เป็นสติปัฏฐาน ที่ไม่ใช่ภาวนา. อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาเป็นอารมณ์ของสมถภาวนาตามหลักอนุสสติสูตรเป็นต้นที่จะทยอยยกมาให้อ่านในบทความนี้ ก็จะเป็นทั้งสติปัฏฐานด้วย และเป็นภาวนาด้วย.
ฉะนั้น ผู้ที่ทำตามมหาสติปัฏฐานสูตรมานาน แต่ยังไม่บรรลุสักที ก็จะได้มีโอกาสลองทำสติปัฏฐานอื่นๆ ดูบ้าง ที่อาจจะเหมาะกับจริตของท่าน. รวมถึงอาจต่อยอดสติปัฏฐาน มีทานและศีลเป็นต้นของท่านที่อาจจะทำเป็นปกติทุกวันอยู่แล้ว ให้เป็นภาวนาต่อไปได้ด้วย.
กราบขอบพระคุณ ท่านพระอาจารย์สันติ อุตฺตมปุญฺโญ ที่สอนวิธีอ่านเรื่องสติปัฏฐานในพระไตรปิฎกตามหลักเนตติปกรณ์ให้กับผู้เรียบเรียง.

ติดตาม "สติปัฏฐานทำอย่างไร" ในลิงก์นี้ (อัพเดทใหม่เรื่อยๆ): 

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เดินเข้าห้องน้ำกับเดินจงกรมต่างกันที่กิจหลักกับกิจรอง, อุปจาร/อัปปนาสมาธิทำให้การเดินเข้าห้องน้ำไม่เป็นอุปสรรคต่อวิปัสสนา


เวลาปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติจะต้องหมั่นนึกถึงอารมณ์กรรมฐานที่อาจารย์ให้มาทุกอิริยาบถ มีเดิน เป็นต้น เช่น อาจารย์ให้อานาปานัสสติกัมมัฏฐานมา เขาก็ต้องนึกถึงลมหายใจทุกอิริยาบถ.

ถาม: แล้วการเดินไปเข้าห้องน้ำของผู้ปฏิบัติธรรม จะต่างจาก การเดินจงกรมอย่างไร?
ตอบ:

  1. การเดินอื่นๆ มุ่งหมายทำสิ่งที่ไม่ใช่กรรมฐานเป็นหลัก เพราะ ต้องคิดถึงกิจอื่นไปด้วย เช่น จะไปเข้าห้องน้ำ เป็นต้น ซึ่งจะคอยสลับไปกับการคิดถึงอารมณ์กรรมฐานที่เป็นเรื่องรอง. ในการทำสมถะกรรมฐาน การเดินทำกิจอื่นๆ นี้ อาจเป็นอุปสรรคต่อภาวนาได้.
  2. การเดินจงกรม มุ่งหมายทำกรรมฐานโดยตรง จะคิดถึงแต่อารมณ์กรรมฐานเป็นหลัก, กิจอื่นๆ เป็นรอง เช่น จะคิดถึงแต่ลมหายใจ เป็นต้น. การเดินจงกรมไม่เป็นอุปสรรคต่อสมถกรรมฐาน.
ถาม: ทำไมการเดินอื่นๆ ไม่เป็นอุปสรรคต่อวิปัสสนากรรมฐาน?
ตอบ: เพราะผู้ทำวิปัสสนา ต้องได้จิตตวิสุทธิมีอุปจารสมาธิเป็นต้นมาแล้ว (นัยยะวิสุทธิมรรค) หรือ ไม่เช่นนั้นก็ต้องเป็นสุขาปฏิปทาบุคคล (นัยยะวิสุทธิมรรคฏีกา ซึ่งเอาตามเนตติปกรณ์ เทสนาหารปฏินิทเทส). ฉะนั้น แม้จะเปลี่ยนอิริยาบถก็ไม่ทำให้ผู้ทำวิปัสสนาเกิดนิวรณ์มาทำลายภาวนาได้ ตราบเท่าที่อำนาจสมาธิยังไม่เสื่อมไป. 

อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร บอกว่า อัปปนาฌานก็เป็นสติปัฏฐาน


  1. อุทเทสของสติปัฏฐานสูตรอรรถกถา:
    • ตตฺถ วิเนยฺยาติ ตทงฺควินเยน วา วิกฺขมฺภนวินเยน วา วินยิตฺวาฯ
    • ในคำว่า วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ นั้น วิเนยฺย คือ นำออกด้วย ตทังควินัย หรือ วิกขัมภนวินัย
  2. ท้ายกายานุปัสสนาสติปัฏฐานอรรถกถา:
    • ตตฺถ อานาปานปพฺพํ, ปฏิกูลมนสิการปพฺพนฺติ อิมาเนว ทฺเว อปฺปนากมฺมฏฺานานิ, สิวถิกานํ ปน อาทีนวานุปสฺสนาวเสน วุตฺตตฺตา เสสานิ ทฺวาทสาปิ อุปจารกมฺมฏฺานาเนวาติฯ
    • ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (14 กอง) เฉพาะอานาปาบรรพะและปฏิกูลมนสิการบรรพะ แค่ 2 ที่เป็นอัปปนากัมมัฏฐาน. ส่วนสีวถิกา (ซากศพ) ทรงตรัสไว้เป็นอาทีนวานุปัสสนา (ไม่ใช่อัปปนากัมมัฏฐาน) ฉะนั้น 12 บรรพะที่เหลือทั้งหมดจึงเป็นอุปจารกัมมัฏฐาน.
  3. ท้ายสติปัฏฐานสูตรอรรถกถา:
    • อานาปานํ ทฺวตฺตึสาการํ นวสิวถิกาติ เอกาทส อปฺปนากมฺมฏฺานานิ โหนฺติฯ
    • อานาปานบรรพะ+ทวัตติงสาการบรรพะ, +9 สีวถิกาบรรพะ คือ 11 อัปปนากัมมัฏฐาน.
  4. ท้ายสติปัฏฐานสูตรอรรถกถา:
    • ทีฆภาณกมหาสีวตฺเถโร ปน "นวสิวถิกา อาทีนวานุปสฺสนาวเสน วุตฺตา"ติ อาหฯ ตสฺมา ตสฺส มเตนทฺเวเยว อปฺปนากมฺมฏฺานานิ, เสสานิ อุปจารกมฺมฏฺานานิฯ
    • แต่ผู้ทรงจำทีฆนิกาย ชื่อ พระมหาสีวเถระ อธิบายไว้ว่า นวสีวถิกาตรัสไว้เป็นอาทีนวานุปัสสนา, เพราะฉะนั้น มติของท่านจึงมีอัปปนากัมมัฏฐานแค่ 2 ที่เหลือเป็นแค่อุปจารกัมมัฏฐาน.

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วินัยพระน่ารู้คู่มือโยม: หนังสือพระวินัยจากสำนักที่เคร่งครัดพระวินัยชั้นนำของไทย

หนังสือ:
https://drive.google.com/file/d/0B4DvBxIA-pbzbldkU3FKV3VxVEU/view?usp=sharing

เสียงอ่าน:
http://www.puthakun.org/puthakun/index.php?option=com_content&view=article&id=1175:2012-08-31-23-16-35&catid=159:2012-08-31-23-05-44&Itemid=152

สุตมยปัญญา, จินตามยปัญญาเอง, จินตามยปัญญาที่เกิดจากสุตมยปัญญา, ภาวนามยปัญญา (จากเนตติปกรณ์)

ในเนตติปกรณ์ เทสนาหารปฏินิทเทส ท่านแสดงปัญญาหมวด 3 ไว้ 2 นัยยะ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันดังนี้:
  1. สุตมยปัญญา
  2. จินตามยปัญญา
    1. จินตามยปัญญาเกิดจากสุตมยปัญญา (พลววิปัสสนาของพระสาวก)
    2. จินตามยปัญญาเกิดเองไม่ต้องฟังใครก่อนเลย (พลววิปัสสนาญาณของพระโพธิสัตว์, พระปัจเจก, อนึ่ง นัยยะนี้ เป็นนัยยะเดียวกับในวิภังคปกรณ์)
  3. ภาวนามยปัญญา
    1. บุพพภาคภาวนามยปัญญา คือ สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ที่เกิดบ่อยๆ นั่นเอง ชื่อว่า ภาวนา (ภาวนา คือ ทำให้เกิดบ่อยๆ ทำให้ตั้งมั่น ทำให้มากๆ ทำให้เป็นเหตุ สั่งสม ให้เป็นอาวัชชนวสี). ตามในปฏิสัมภิทามรรค ที่กล่าวว่า ญาตัฏเฐนะ ญาณัง (ปัญญา ชื่อว่า ญาณ เพราะว่ารู้จนชำนาญ คือ รู้ดี).
    2. มัคคภาวนามยปัญญา (นัยยะเดียวกับวิภังคปกรณ์)

ทำไมจงกรมสมัยนี้ เดินช้าๆ, และประวัติศาสตร์ศาสนาพุทธไทยในยุคมืด.

ถาม: ทำไมจงกรมสมัยนี้ เดินช้าๆ?
ตอบ: มันเป็นจงกรมแบบพม่าผสมไทย ครับ.
จริงๆ แล้วที่พม่าสายเคร่งๆ เช่น pa-auk จะเป็นแบบพระป่าโบราณ ที่ทำตามพระไตรปิฎก อรรถกถา อย่างเคร่งครัด คือ เดินปกตินี่แหละ เพื่อพิจารณากรรมฐาน, พระป่าสมัยนี้บางสายที่ผมเคยไปอยู่ด้วยมา ก็ยังเดินจงกรมความเร็วปกติอยู่ครับ.
ที่นี้ ช่วงที่บาลีน้อยบูมเมื่อร้อยกว่าปี, พระป่าก็ทิ้งบาลีใหญ่ กับอภิธรรม และแนวที่สืบๆกันมาแต่โบราณ ไปเอาบาลีน้อย กับหลักสูตรทางโลก (มหามกุฎ มหาจุฬา).
สายบาลีน้อย ธรรมะยุคใหม่ ที่เพิ่งเริ่มเมื่อร้อยกว่าปีนี้แหละ ที่เป็นต้นกำเนิด "อะไรที่มันช้าๆ" เช่น การสวดยานคาง และรวมถึงรูปแบบต่างๆ ที่ฆราวาสจะทำตามได้ง่ายๆ คือ ทำช้าๆ เพื่อให้ฆราวาสทำตามได้. โดยไม่รู้ว่า มันจะเป็นแบบอย่างที่แย่มากๆ ให้กับพระรุ่นหลัง, กลายเป็นว่า พระสมัยนี้ ทำแบบนั้นหมดเลย. ระบบการศึกษาแบบโบราณล่มหมด พระรุ่นหลังเลยได้แต่อ้างว่า ทำนั่นไม่ได้ ทำนู่นไม่ได้ (แล้วทำไมบางวัดเขาทำกันได้ ไม่ต้องอ้างอะไร?).
ผลคือ ข้อปฏิบัติที่สืบมาแบบพระป่าโบราณมันขาดช่วงหายไป เหลือมาไม่ครบ. ทั้งหลักสูตรพ้นนิสสัย หลักสูตรบาลี หลักสูตรอภิธรรม, ทุกอย่างเหลือมาแบบกระท่อนกระแท่น หลวงปู่มั่น เหลือแค่สังคหะแปลไทยเล่มเดียวติดตัว (อาจจะมีเล่มอื่น แต่ไม่เหลือมาถึงลูกศิษย์เลย). หลวงปู่ฝั้น ได้อภิธรรมมาติกามา (ซึ่งอธิบายไม่ผิดองค์ธรรม แต่บางอย่างก็ไม่ตรงตำราเดิม ซึ่งบ่งบอกว่า สอนปฏิบัติได้ แต่ปริยัติไม่แน่น เป็นการบั่นทอนอายุของศาสนา เพราะ พระอรรถกถาจารย์ ท่านกล่าวไว้ว่า "ปริยัติ คือ อายุของศาสนา").
แต่ที่นี้มีพระยุคบาลีน้อยสมัยประมาณ 50-60 ปีก่อน ( ราวๆ ปี 2500 หรือ ก่อนนั้นเล็กน้อย) ที่อยากบรรลุมากๆ แต่ไม่เลื่อมใสพระป่า (เพราะพระป่าสมัยนั้น ซึ่งก็คือสายหลวงปู่มั่น ก็เจอกระแสเทคโนโลยี การเรียนยุคใหม่ และบาลีน้อย รุมเร้าอยู่เหมือนกัน ประกอบกับปริยัติไม่แน่น จึงไม่สามารถทำให้พระด้วยกันที่เป็นสายปริยัติบางรูป เกิดความเลื่อมใสได้).
พระกลุ่มนี้ ก็คือสายที่ไปเอาพระมาจากพม่า เช่น สมเด็จอาจ อาสภะ เป็นต้น ได้สายหนอขึ้นมา โดยเอามาจากสายของมหาสีสยาดอ (สายสุธรรมนิกาย ซึ่งมีปัญหาทางด้านพระวินัย จนเกิดการแยกตัวออกมาเป็นนิกายชเวจิน จากพระที่ทรงพระไตรปิฎก ปฏิบัติวินัยและกรรมฐานเคร่งครัด ในคริสตศตวรรษที่ 19, และพระที่ทรงพระไตรปิฎก และปฏิบัติพระวินัย ฌาน วิปัสสนา อย่างเคร่งครัด ก็ไม่ยอมรับพระมหาสีสยาดอ ต้นตำหรับสายหนอด้วย). นอกจากนี้ก็ยังมีฆราวาสด้วย เช่น อ.แนบ เป็นต้น.
ปัญหา คือ ได้มาแต่การปฏิบัติ กับ อภิธรรม. บาลีใหญ่ไม่ได้มาด้วย ที่สำคัญ คือ เนตติปกรณ์ซึ่งเป็นคู่มืออ่านพระไตรปิฎกที่สำคัญที่สุดอีกเล่มก็ไม่เรียนมาด้วย ดังนั้น ปริยัติที่ไม่แน่น ก็เลยยังไม่แน่นเหมือนเดิม เพราะภาษาไทยแปล ไม่ใช่ตันติภาษา รักษาสภาวะที่พระไตรปิฎก อรรถกถาพยายามจะสื่อไว้ได้ไม่หมด ต้องมาเดาความกันอีกที. (เพิ่งมาบูมทีหลังช่วงปี 2520 ที่ลำปาง วัดท่ามะโอ แล้วค่อยแผ่ออกมาจากที่นั่น ลูกศิษย์วัดท่ามะโอแผ่ไปวัดชนะสงคราม วัดจากแดง วัดมหาธาตุ วัดหาดใหญ่สิตาราม).
ทีนี้เพราะสายหนอนี่แหละ ไม่ศรัทธาวัดป่า จึงไม่รู้เหตุผลของการจงกรมซึ่งจะต้องรู้วิธีอ่านพระไตรปิฎก อรรถกถา ที่ถูกต้อง สืบๆกันมาในสายพระป่าโบราณ หรือ สายพม่า ที่เป็นสายปริยัติและปฏิบัติโดยตรง (แต่สายที่สมเด็จอาจเอาเข้ามา เป็นแค่สายอภิธรรม ซึ่งใช้คำสอนสำหนับวิปัสสนายานิก ที่เป็นอุคฆฏิตัญญู หรือ วิปปจิตัญญูขึ้นไป ไม่ใช่สำหรับเนยยะ สายนี้จะไม่เน้นการทรงพระไตรปิฎก การทำฌานการ ทำวิปัสสนาอย่างครบถ้วนทุกกระบวนการตามตำรา จึงไม่สมบูรณ์พอจะรักษาพระศาสนา).
เมื่อไม่รู้ก็เลยหาวิธีการจงกรมต่างๆ นาๆ ออกมาสอน โดยไม่ได้ให้เหตุผลที่ถูกต้อง, กลายเป็นจงกรมเพื่อสมาธิ, จงกรมแล้วก็เป็นวิปัสสนาเลย อะไรไปนู่น ออกป่าออกพงไปไกลสุดลูกหูลูกตา.
ทีนี้ ไม่รู้เรื่องจงกรม ไม่รู้เรื่องวิปัสสนาตามตำราอย่างถ่องแท้... มันก็มารวมกับการสอนฆราวาส ทั้งที่ตนเองไม่ได้รู้เรื่องวิปัสสนาจริงๆ ... ‪#‎จงกรมสมัยใหม่ก็เลยช้าครับ‬.

ช่วงตั้งแต่ ร.4 จนถึงต้น ร. 9 เป็นยุคมืดของศาสนาพุทธในไทย

ช่วงตั้งแต่ ร.4 จนถึงต้น ร. 9  เป็นยุคมืดของศาสนาพุทธในไทย
จากเดิมตามหลักฐานยังพบว่ามีผู้ทรงพระไตรปิฎก/ผู้ทรงพระอภิธรรม
สายหลวงปู่เสาร์, หรือ พระอมโร (เกิด) วัดบรมนิวาส เป็นต้น.
ช่วงนั้นผู้ทรงพระไตรปิฎกที่เคยมี ค่อยๆ อันตรธานหมดไป,
เพราะมีการยกเลิกระบบท่องจำ
แล้วไปเอาวิธีเรียนแบบฝรั่งมาใช้แทน.

เนื่องจากสมัยนั้น ไทยเราโดนพวกตะวันตกบีบบังคับมาก
ด้วยสัญญาเบาริ่ง เป็นต้น จนลามไปถึงรุกรานดินแดน
ทำให้เราต้องรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามาก เพื่อรักษาคนในชาติ.

ทีนี้ธรรมชาติของศาสนาพุทธยุคกึ่งพุทธกาลไปแล้ว
คือ พระดีๆ จะหลบอยู่กลางป่า กลางเขา
พระราชาท่านอยู่ในเมือง ท่านก็จะเห็นแต่พระแย่ๆ
ยุค ร.4 เป็นต้นมาก็เลยทำการปฏิรูป เพราะอยากช่วยศาสนา
มีการตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์, มีการพิมพ์พระไตรปิฎกลงหนังสือ,
ยกเลิกระบบมุขปาฐะ เป็นต้น.

ปัญหา คือ พระป่าสมัยนั้นก็ทิ้งข้อวัตรของตนมาทำตามด้วย
เลยเลิกท่อง เลิกเรียนแบบมุขปาฐะ
เลิกทำตามพระวินัยที่สั่งให้ท่องจำ, 
ยังเหลือมุขปาฐะแค่ตอนสอนกรรมฐานเท่านั้น.
จากนั้นมา ผู้ทรงพระไตรปิฎก ผู้ทรงพระอภิธรรมของไทย
ก็เลยอันตรธานหมดไป ในช่วง 100 ปีนั้น
เพิ่งมาเริ่มมีอีกครั้งเมื่อ 10-20 ปีนี้เอง.

เมื่อไม่มีผู้ทรงพระไตรปิฎกคอยสอน
มันก็เลยมีพวกที่อ่านเอา ไม่ท่อง ไม่เรียนให้ครบถ้วนตามระเบียบ
ตัดเอาบางคำจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ไปคิดเอง,
บางทีก็เอาแนวคิดฝรั่ง (ซึ่งก็มั่วๆ พอกัน) มาผสม.
จึงเกิดการแอนตี้พระไตรปิฎก (บางส่วน) และอรรถกถา ขึ้น
จากการเรียนผิดวิถี และเข้าใจไม่ครบถ้วนของคนเหล่านั้น ครับ.

ผมเองก็เป็นคนเปิดูเปิดตา ศึกษาตามที่พวกนั้นพูดแล้ว
ก็ไม่เห็นว่า จะเป็นจริง อ่านดูก็รู้เลยว่า พวกเขาไม่รู้จริง
ไม่ได้ท่องจำพระไตรปิฎก, สักแต่ว่าอ่านผ่านๆ เท่านั้นเอง.
ดังนั้น แม้จะพยายามอ่านเรื่องที่พวกเขาเขียนเท่าไหร่ๆ
ก็ไม่ได้ทำให้ผมคล้อยตาม, เพราะเห็นแต่ข้อผิดพลาด คือ
พระไตรปิฎก อรรถกถา ว่าอย่างหนึ่ง,
พวกเขาก็เอาไปพูดให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง
ตัดเอาบางอย่างไปพูด, พูดไม่หมด
เหมือนพวกคนโกหกเก่งๆ
ก็จะพูดจริงบ้าง เท็จบ้าง เพื่อหลอกให้คนเชื่อตาม.

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว, เราสมควรจะฟัง
จะอ่านอะไรตามที่มันเป็น ไม่ต้องไปปรุงแต่งอะไร
เมื่อเข้าใจพระไตรปิฎก อรรถกถา ตามที่ตำราพยายามบอกหมดสิ้นแล้ว
จะชอบหรือไม่ชอบ ผมก็คงไม่ตำหนิ.
แต่คนที่ไม่มีผู้ทรงพระไตรปิฎกสั่งสอนเหล่านี้
กลับไม่เข้าใจพระไตรปิฎกอย่างถ่องแท้
ไม่ได้เข้าใจพระไตรปิฎกอย่างที่พระไตรปิฎกเป็น
พูดผิดๆ ถูกๆ พูดความจริงแค่บางส่วน
ฉะนั้น ผมตำหนิมาก เพราะถือว่า ไม่รู้จริง เดาเอามาพูด.

ฉะนั้นระวังโดนหลอก ครับ.
จะชอบพระไตรปิฎก หรือ ไม่ชอบก็ช่าง.
ก็ให้เกิดจากความรู้ความเข้าใจทุกอย่าง ตามที่พระไตรปิฎกเป็น.
ตามที่ผู้ทรงจำพระไตรปิฎกสืบๆกันมา (อรรถกถาจารย์) ท่านเข้าใจ.
เมื่อเข้าใจความคิดของพวกท่านตรงหมด ถูกหมดแล้ว,
จะชอบ หรือไม่ชอบ ก็เป็นสิทธิ์ส่วนตัว ครับ.
แต่อย่าอ่านบางส่วนแล้วไปเที่ยวบิดเบือน แบบคนในยุคมืด ครับ.
เพราะถ้ามันผิด, ผลเสียมันจะเกิดกะตัวเอง.
และอาจจะเดือดร้อนคนรอบข้างด้วย.

สังคายนาที่ 1 ไม่มีใครบังคับพระอานนท์, พระมหากัจจายนะ, พระอุบาลี, และพระอรหันต์ 500 รูป

ถาม: ในกัสสปะสังยุต เป็นพระพุทธพจน์รึป่าวครับ
ตอบ: พระไตรปิฎก และอรรถกถา ส่วนไหนทีไม่ได้ระบุว่า เติมเข้ามา นอกนั้นทั้งหมด มาจากสังคายนาครั้งที่ 1 ครับ.
แต่ถ้าเติมเข้ามาที่หลัง ในพระไตรปิฎก อรรถกถา จะบอกไว้ว่า เติมเข้ามาทีหลัง ครับ.
ถ้อยคำในกัสสปะสังยุต ผ่านหูพระอานนท์มาแล้ว ครับ.
และพระอานนท์นั่นแหละ ที่เป็นคนสวดออกมา ตอนสังคายนาครั้งที่ 1.
เป็นไปไม่ได้ ที่จะมีใครบังคับพะอรหันต์ทั้ง 500 รูป ให้สวดสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้.
อย่างในมูลเหตุสังคายนาครั้งที่ 3 พระอรหันต์ก็ยังยอมงดปาติโมกข์ 7 ปี เพราะการทำสังฆกรรมร่วมกับอลัชชีเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เช่นกัน ครับ.

พระรับเงินไม่ได้เลย, เวลาปวารณา ห้ามบอกว่าให้เงินกะพระ ห้ามบอกว่าให้พระใช้เงิน

ถาม: พระรับเงินแบบไหนไม่อาบัติครับ
ตอบ: ไม่มีครับ
พระรับได้แต่ของกินของใช้ที่ไม่ผิดวินัยครับ
แต่ไวยาวัจจกรสามารถเอาเงินที่ญาติโยมมาฝากไว้กับตัวเอง ไปซื้อของที่พระต้องการใช้ ให้ท่านได้ โดยญาติโยมสามารถไปบอกกะพระภิกษุไว้ว่า:
"คนๆ โน้น ชื่อโน้น สามารถไปซื้อของใช้ให้ท่านได้ ราคาไม่เกิน... บาท, ถ้าพระคุณเจ้าต้องการของฉันของใช้อะไร ไปบอกกะเขาได้นะครับ"
ห้ามบอกว่าให้เงินกะพระ ห้ามบอกว่าให้พระใช้เงิน,
เพราะท่านไม่ได้เกี่ยวกับเงินนั่น ท่านแค่ไปขอของฉันของใช้กะคนที่ปวารณาเท่านั้นเอง ไม่ได้แม้แต่จะไปสั่งไวยาวัจจกรให้ซื้อของ (อาบัติเหมือนกัน).
ถาม: ค่าไฟ น้ำ ?
ตอบ: เวยยาวัจจกรวัดเขาจัดการเองครับ
ไม่ต้องห่วง โยมมีศรัทธาเยอะมาก สมัยนี้
ขาดแต่พระที่จะรักษาวินัยจริงๆ นี่แหละ หายาก.

สนใจรักษาพระวินัยตามพระไตรปิฎก:
วัดเขาสนามชัย หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์
http://dhammacomment.blogspot.com/2016/07/blog-post_42.html

สนใจปฏิบัติธรรมะตามพระไตรปิฎก:
วัดพะอ็อก อ่างทอง
http://www.paauktawyathailand.org/main/index.php/th/2-uncategorised/17-2015-07-07-05-09-34

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อดีตธรรม อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ล้วนเป็นอุปปันนธรรม ล้วนมีสังขตลักษณะ

อตีตธรรม คือ สังขตธรรมที่ถึงสังขตลักษณะ (อุปาทะ ฐิติ ภังคะ) ก่อนกว่า ปัจจุบันธรรม.
ปัจจุบันธรรม คือ สังขตธรรมที่ถึงสังขตลักษณะ (อุปาทะ ฐิติ ภังคะ) ก่อนกว่า อนาคตธรรม แต่หลังกว่าอตีตธรรม.
อนาคตธรรม คือ สังขตธรรมที่ถึงสังขตลักษณะ (อุปาทะ ฐิติ ภังคะ) หลังกว่าปัจจุบันธรรม.
ข้อความรู้:

  1. ปัจจุบันธรรมที่ดับไปแล้ว คือ อดีตธรรมของอนาคตธรรม, และอนาคตธรรม ต้องเปลี่ยนไปเรียกว่า ปัจจุบันธรรม เมื่อมันกำลังถึงสังขตลักษณะอยู่ แทนที่ปัจจุบันธรรมของมันผ่านสังขตลักษณะไปแล้ว. ด้วยเหตุนี้ กาลจึงเป็นเพียง อุปาทาบัญญัติ, อัตถบัญญัติ.
  2. ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันธรรม ทั้งหมดล้วนเป็นอุปปันนธรรม เพราะในอรรถกถากล่าวไว้ว่า อุปปันนธรรม คือ ธรรมที่ถึงสังขตลักษณะ.

อุปาทานในปฏิจจสมุปบาท คือ โลภะในชวนะดวงที่ 2-7, กัมมภพที่สัมปยุต จึงเป็นปัจจัยให้มี ชาติ คือ ปฏิสนธิ (อุปปัตติภพ)

อุปาทานในปฏิจจสมุปบาท คือ โลภชวนอาเสวนปัจจยุปปันนจิตตุปบาท ที่มีปฏิสนธินานักขณิกกัมมปัจจยสัมปยุตคอยเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิในภพต่อๆ ไป, ได้แก่ โลภะในชวนะดวงที่ 2-7 ของโลกิยสุทธมโนทวารวิถีนั่นเอง.

ที่ตำราอภิธรรมต้องพูดถึงขั้นวิถีจิตก็เพราะต้องเอาไปอธิบายปฏิจจสมุปบาท ตรงที่ท่านเอาอดีตเหตุมาขยายในปัจจุบันเหตุว่าอุปาทาน เป็นปัจจุบันเหตุของภพ ที่เป็นอนาคตผล เพราะชวนะที่ 1 มีแต่ทิฏฐธัมมนานักขณิกกัมมสัมปยุต ไม่มีปฏิสนธินานักขณิกกัมมสัมปยุต.

ด้วยเหตุนี้แหละ ที่วิสุทธิมรรค จำเป็นต้องพูดถึงวิถีจิตบ่อยมากๆ เพราะต้องใช้พิจารณาในปัจจยปริคคหญาณขึ้นไป เวลาพิจารณาปฏิจจสมุปบาท.

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

มิจฉาทิฏฐิเป็นยังไง? (ทำไมอุทยัพพยญาณ ที่เห็นเกิดดับ จึงทำให้เห็นชัดปฏิจจสมุปบาท และละทิฏฐิ 2)

ความจริง คือ อุปปันนธรรม ซึ่งชื่อว่า สังขตธรรม เพราะมีปัจจัยให้ถึงสังขตลักษณะ 3.
ความคลาดเคลื่อนจากความจริง เรียกว่า "มิจฺฉา",
ความเข้าใจ เรียกว่า "ทิฏฺฐิ".
เมื่อเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความจริงว่า "อันนี้เท่านั้นเป็นความจริง, ความจริงอื่นไม่ใช่ความจริง" เรียกว่า "มิจฉาทิฏฐิ".

ป.ล. ความจริงในที่นี้ ไม่รวมโลกุตตรอุปปันนธรรม เพราะไม่เป็นอารมณ์ของมิจฉาทิฏฐิ.

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

คันถธุระไม่ใช่แค่นั่งเรียน, วิปัสสนาธุระก็ไม่ใช่ไม่ต้องเรียน (วิธีเรียนและเตรียมปฏิบัติธรรมสมัยพุทธกาล)

จากเรื่องพระจักขุปาลเถรวัตถุ (ของธรรมบท พระไตรปิฎกเล่มที่ 25 และประมวลพระวินัยปิฎก เล่ม 4 มหาวรรค ภาค 1 รวมทั้ง อรรถกถา)
  1. พระจักขุบาลท่านไปอยู่กับอุปัชฌาย์จารย์ (ผู้ทรงพระไตรปิฎกบางส่วนเคร่งครัดวินัยที่จบหลักสูตรภิกขุปริสูปัฏฐาปกะสอนหลักสูตรนิสสยมุจจกะให้พระนวกะได้ เช่น อูอาจิณณะแห่ง pa-auk ตอยะ).
    • หลักสูตรนิสสยมุจจกะ ที่ทำให้พระจักขุบาลต้องเรียน  (ท่องจำ, ทำความเข้าใจ) ก่อนทำวิปัสสนาธุระ (ปฏิบัติ) คันถธุระ (กิจหลังปฏิบัติจบแล้ว) เป็นอย่างไร?
    1. #หลักสูตรฆราวาสและสามเณรสำหรับเตรียมความพร้อม
      1. ในอรรถกถาขุททกปาฐะ กล่าวไว้มีใจความว่า การสังคายนาครั้งที่ 1 พระอรหันต์ 500 รูปได้รวบรวมพระสูตรบทเล็กๆ ที่นิยมใช้เริ่มเรียนเริ่มสอนกันในสมัยพุทธกาล ไว้ให้ผู้ใหม่ได้ท่องจำและทำความเข้าใจ เรียกว่า ขุททกปาฐะ มี 9 ข้อ คือ ไตรสรณคมน์, ศีล 10, อาการ 32, กุมารปัญหา, มงคล 38, รตนสูตร, นิธิกัณฑสูตร, ติโรกุฑฒสูตร, เมตตสูตร.
    2. #หลักสูตรนิสสยมุจจกะสำหรับพระภิกษุที่เตรียมความพร้อมมาแล้ว
      1. ท่องภิกขุปาติโมกข์ ภิกขุนีปาติโมกข์ คล่องปาก ขึ้นใจ เข้าใจเป็นอย่างดีด้วย.
      2. ท่องพระสูตร ขนาดประมาณมหาสติปัฏฐานสูตร 4 สูตร (4 ภาณวาร) และเข้าใจเป็นอย่างดีด้วย.
      3. เข้าในสังฆกรรมน้อยใหญ่.
      4. รู้กถามรรค.
      5. ท่องสูตรสำหรับงาน 3 ประเภทได้ วิวาหะ, มงคล, อวมงคล.
      6. เข้าใจสมถกรรมฐานจนถึงบรรลุ (สมถยานิก), หรือวิปัสสนากรรมฐานจนถึงบรรลุ (วิปัสสนายานิก).
      7. อยู่กับอุปัชฌาย์ 5 ปีขึ้นไป จึงจะจบหลักสูตรได้ และต้องได้ 6 ข้อข้างต้นด้วย ไม่ได้ก็ไปไหนไม่ได้.
  2. พระจักขุบาลอยู่ครบ 5 ปี ฝึกฝนทุกอย่างครบ จบหลักสูตรนิสสยมุจจกะ (ถ้าไม่จบต้องอยู่ต่อ ห้ามทิ้งอาจารย์).
  3. หลังจากนั้น ท่านพระจักขุบาลจึงถึงขั้นตอนที่จะพิจารณาว่า จะทำคันถะธุระ หรือวิปัสสนาธุระ?
    • คันถธุระ ในบาลีนั้น คือ หลังจากจบหลักสูตรนิสสยมุจจกะแล้ว ถ้ายังไม่บรรลุ ยังหนุ่มอยู่ก็ไปท่องจำพระไตรปิฎก ทำความเข้าใจอรรถกถา บอกสอน 1 นิกายบ้าง 2 นิกายบ้าง หรือ พระไตรปิฎกทั้งหมดบ้าง.
    • วิปัสสนาธุระ ในบาลีนั้น คือ หลังจากจบหลักสูตรนิสสยมุจจกะแล้ว ถ้ายังไม่บรรลุ ก็ทิ้งทุกอย่าง (สลฺลหุกวุตฺติ) ไปอยู่ในเสนาสนะไกลจากกามคุณ 5 แล้วทำขยวยญาณ (อุทยัพพยญาณเป็นต้นไป) ด้วยใจเด็ดเดี่ยวสละชีวิตได้ เจริญวิปัสสนา ให้บรรลุอรหัตตมรรค.
    • ทั้งสองอย่างต้องท่องจำ คือ คันถธุระต้องท่องจำพระสูตรตามลำดับทั้งนิกาย (ตามที่แปลไว้ให้ข้างต้น), ส่วนวิปัสสนาธุระต้องท่องจำกรรมฐานที่ใช้ปฏิบัติ (คำว่า "การทรงไว้" ในลิงก์ แปลให้ถูกว่า "การท่องจำ (ธารณ)").
  4. สุดท้ายท่านจักขุบาลเลือกวิปัสสนาธุระ.
จะเห็นได้ว่า แม้จะเลือกเป็นวิปัสสนาธุระ ก็ต้องเรียนพระไตรปิฎกไม่น้อยเลย. และเป็นข้อบังคับมาจากพระไตรปิฎกอรรถกถาเองด้วย ท่านหรืออาจารย์ของท่าน ไม่ได้คิดขึ้นเอง, ทุกอย่างมีอธิบายในพระวินัยปิฎก และอรรถกถา.

ในอดีตสายพระป่าโบราณก็ศึกษาคล้ายๆ กันนี้, และปัจจุบัน การศึกษาแบบนี้ ยังมีอยู่ที่วัดสาย Pa-Auk ที่พม่าเป็นต้น.

จักขุปาลเถรวัตถุ อรรถกถาธรรมบท

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อกุศลจิต กับ อกุศลกรรม ต่างกันอย่างไร?

อกุศลจิต 12 มีเจตสิกที่เกิดด้วยได้ 27 ดวง ซึ่งใน 27 ดวงนี้ เมื่อเกิดกับอกุสลจิต(เท่าที่เกิดได้) จะมีอกุสลกรรม รวมอยู่ด้วย เรียกว่า เจตนาเจตสิก.
ใน 27 ดวงนี้ เจตนาเจตสิกเป็นทั้งอกุสลเจตสิกและอกุสลกรรม, ส่วนเจตสิก 26 ที่เหลือ เป็นอกุสลเจตสิกเท่านั้น ไม่เป็นอกุสลกรรม.

ยุคนี้เบาแล้ว

ยุคนี้เบาแล้ว ย้อนไปก่อนจะมีพระพุทธเจ้า  ดูประวัติศาสตร์โลกก็ได้โหดร้ายขนาดไหน, เดี๋ยวพอหมดยุคของพระพุทธเจ้านะ  โคตรหนักแน่นอน 😊  ไม่งั้นจะ...