วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วิสุทธิมรรค แนะนำให้หาผู้ได้ฌานที่ทรงพระไตรปิฎก มาสอนกรรมฐาน

ต่อไปนี้ เป็นข้อความใน #วิสุทธิมรรค #กัมมัฏฐานคหณนิทเทส (อธิบายวิธีการถือเอากรรมฐานจากพระอาจารย์) ที่ทำให้พวกเราจำเป็นแสวงหาพระภิกษุที่เคร่งพระวินัย ทรงจำพระไตรปิฎก ปฏิบัติฌาน ปฏิบัติวิปัสสนาตามพระไตรปิฎกอรรถกถา เพื่อมาสอนธรรมะ สอนกรรมฐาน, โดยข้อความมีอยู่ว่า:

" ...เมื่อพระมหาสาวกนั้นไม่มีอยู่แล้ว ก็พึงเรียนเอาในสำนักของพระอรหันตขีณาสพองค์ #ที่ได้ฌานจตุกกนัย #หรือฌานปัญจกนัย ด้วยพระกัมมัฏฐานบทที่ตนประสงค์จะเรียนเอานั้น แล้วเจริญวิปัสสนาซึ่งมีฌานเป็นปทัฏฐาน จนได้บรรลุถึงซึ่งความสิ้นสุดแห่งอาสวะกิเลสนั่นเถิด

ถาม –ก็แหละ พระอรหันตขีณาสพนั้น ท่านประกาศตนให้ทราบหรือว่าท่านเป็นพระขีณาสพ ?

ตอบ –จะต้องตอบทำไม เพราะพระอรหันตขีณาสพนั้น ท่านรู้ถึงภาวะที่ผู้จะทำความเพียรแล้ว #ย่อมแสดงตนให้ทราบ ด้วยความอาจหาญและรื่นเริง โดยชี้ให้เห็นถึงภาวะแห่งการปฏิบัติไม่เป็นโมฆะ พระอัสสคุตตเถระรู้ว่า ภิกษุนี้เป็นผู้จะทำกัมมัฏฐาน ฉะนี้แล้ว ท่านปูลาดแผ่นหนังไว้บนอากาศแล้วนั่งขัดสมาธิอยู่บนแผ่นหนังนั้น บอกพระกัมมัฏฐานแก่ภิกษุผู้ปรารภพระกัมมัฏฐานแล้ว มิใช่หรือ ?

เพราะเหตุฉะนั้น ถ้าโยคีบุคคลได้พระอรหันตขีณาสพ ข้อนั้นนับว่าเป็นบุญ แต่ถ้าหาไม่ได้ พึงเรียนเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของท่านผู้ทรงคุณสมบัติเหล่านี้ โดยจากก่อนมาหลังคือ พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน #ปุถุชนผู้ได้ฌาน #ท่านผู้ทรงจำปิฏกทั้งสาม ท่านผู้ทรงจำปิฏกสอง ท่านผู้ทรงจำปิฏกหนึ่ง แม้เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฏกหนึ่งก็ไม่มี ท่านผู้ใดมีความชำนาญแม้เพียงสังคีติอันเดียวพร้อมทั้งอรรถกถา #และเป็นผู้มีความละอายด้วย พึงเรียนกัมมัฏฐานในสำนักของท่านผู้นั้นเถิด ด้วยว่าบุคคลผู้มีลักษณะเห็นปานฉะนี้ ชื่อว่า #เป็นผู้รักษาประเพณี #เป็นอาจารย์ผู้นับถือมติของอาจารย์ #ไม่ใช่ผู้ถือมติของตนเองเป็นใหญ่ เพราะเหตุฉะนี้แหละ พระเถระในปางก่อนทั้งหลาย จึงได้กล่าวประกาศไว้ถึง ๓ ครั้งว่า ท่านผู้มีความละอายจักรักษา, ท่านผู้มีความละอายจักรักษา, ท่านผู้มีความละอายจักรักษา ฉะนี้

ก็แหละ ในบรรดากัลยาณมิตรเหล่านั้น กัลยาณมิตรที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ เป็นอาทิ ที่ข้าพเจ้ากล่าวมาในตอนต้น ท่านย่อมบอกพระกัมมัฏฐานให้ได้เฉพาะแต่แนวทาง ที่ท่านได้บรรลุมาด้วยตนเองเท่านั้น ส่วนกัลยาณมิตรผู้เป็นพหุสูต เพราะเหตุที่พระบาลีและอรรถกถาอันเป็นอุปการะแก่กัมมัฏฐานเป็นสิ่งที่ท่านได้เข้าไปหาพระอาจารย์นั้น ๆ แล้วเรียนเอาอย่างขาวสะอาด ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยอยู่ ท่านจึงเลือกสรรเอาแต่สุตบทและเหตุอันคล้อยตามสุตบทซึ่งสมควรแก่กัมมัฏฐานนั้น ๆ จากนิกายนี้บ้างโน้นบ้าง แล้วเอามาปรับปรุงให้เป็นที่สะดวกสบายเหมาะสมแก่โยคีบุคคลผู้ที่ท่านจะให้กัมมัฏฐาน แสดงวิธีแห่งกัมมัฏฐานให้เห็นแนวทางอย่างกว้างขวาง เป็นดุจพญาช้างบุกไปในสถานที่รกชัฏ จึงจักบอกกัมมัฏฐาน

เพราะเหตุฉะนั้น โยคีบุคคลพึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้กัมมัฏฐาน ซึ่งมีคุณสมบัติเห็นปานฉะนี้ ทำวัตรปฏิบัติแก่ท่านแล้ว พึงเรียนเอาพระกัมมัฏฐานเถิด... "

https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๑_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๓_กัมมัฏฐานคหณนิเทศ_หน้าที่_๑๕๖_-_๑๖๐

รอพระพุทธองค์ใหม่ในพรหมโลก คิดผิดคิดใหม่ได้, ขนาดนิยตโพธิสัตว์ ยังต้องรอเป็นอสงขัยมหากัป

เห็นหลายๆ คน อ้างแต่ว่า ฟังธรรม เพื่อเป็นอุปนิสัยไปบรรลุชาติหน้าอันไกลโพ้น. ก็เห็นควรว่า น่าจะเตือนสติกันสักหน่อย. ประกอบกับมีคนถามคำถามเรื่อง การไปเกิดบนพรหมโลกรอพระพุทธเจ้า มาพอดี ก็เลยได้โอกาสเขียนบทความนี้ขึ้นมา.
อสงขัยมหากัป = 10139 มหากัป = (อสงขัยปีสังวัฏฏะ [=10139 ปี]+อสงขัยปีสังวัฏฏฐายี+อสงขัยปีวิวัฏฏะ+อสงขัยปีวิวัฏฏฐายี) x10139 มหากัป.
อนึ่ง เลข 10139 หมายถึง 1 ตามด้วยศูนย์ 140 ตัว.
พรหมปุถุชนที่มีอายุมากที่สุด ที่สามารถฟังธรรมะได้ด้วย คือ เวหัปผลาพรหม อายุ 500 มหากัป.
500 มหากัปข้างหน้า มีพยากรณ์พระพุทธเจ้าไว้พระองค์เดียว คือ พระพุทธเจ้าเมตเตยยะ (พระศรีอารย์).
พระโพธิสัตว์สุเมธดาบส สมัยบารมีเต็ม พอจะได้รับพยากรณ์ ท่านเป็นมนุษย์ อยู่บนแผ่นดินเดียวกับพระพุทธเจ้าทีปังกรแท้ๆ. แผ่นดินไหวเพราะพระโพธิสัตว์ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าทีปังกร กี่ครั้งๆ สุเมธดาบสไม่ล่วงรู้เลย เพราะมัวแต่เข้าฌาน. ถ้าพระพุทธเจ้าทีปังกร ไม่เสด็จไปโปรด ก็จะพลาดพุทธพยากรณ์ และอาจไม่ได้เจอพระพุทธเจ้าเสียด้วยซ้ำ.
หลังจากชาตินั้นแล้ว พระโพธิสัตว์สุเมธดาบส แม้ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ก็ยังต้องรออีกนับสุญญตอสงขัยมหากัป จึงจะได้เจอพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าโกณฑัญญะ หลังจากนั้น ก็รออีกสุญญตอสงขัยมหากัป จึงจะได้เจอพระพุทธเจ้าสุมังคละ เป็นต้น พึ่งจะเมื่อเศษแสนมหากัปที่แล้วนี่เอง ที่พระโพธิสัตว์เจอพระพุทธเจ้าถี่ขึ้นไม่ได้รอนานเป็นสุญญตอสงขัยมหากัป.
"ถ้า" ท่านมีบุญพอจะได้เจอพระพุทธเจ้าเมตเตยยะ ก็ลองทิ้งมรรคผล ที่ควรจะได้ในชาตินี้ดูครับ. แต่ถ้าท่านยังไม่แน่ใจ, แนะนำให้รีบทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุครับ เพราะท่านไม่ใช่นิยตโพธิสัตว์อย่างสุเมธดาบส, หรือถึงท่านมีบารมีเท่าสุเมธดาบส ท่านก็ยังต้องตกนรกหลายรอบอยู่ดีกว่าจะได้เจอพระพุทธเจ้า, และถึงอยู่จนพระพุทธเจ้าอาริยเมตเตยะอุบัติขึ้น ท่านก็อาจจะมัวแต่เข้าฌาน หรือ รับผลกรรมในนรกอยู่ จนพลาดมรรคผลไปอีกก็เป็นได้, จริงไหมครับ?
ประเด็นเรื่องไปเกิดเป็นพรหมรอพระพุทธเจ้า กลายเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ไปเลยใช่ไหมครับ? เพราะขนาดนิยตโพธิสัตว์แท้ๆ แรกๆ ท่านยังต้องรอเป็นเวลาอสงขัยมหากัป (มหากัป จำนวนเกิน 1 ตามด้วยศูนย์ 140 ตัว)  ตกนรกไปไม่รู้กี่รอบ กว่าจะได้เจอพระพุทธเจ้าองค์ถัดจากพระพุทธเจ้าทีปังกร, แล้วพวกที่ต้องการแค่บรรลุธรรมดาๆ บารมีน้อยๆ คิดว่า จะได้เจอพระศรีอารย์ไหม?
ถ้าชาตินี้ไม่บรรลุ พระศรีอารย์ก็เสี่ยงสูงมากที่จะไม่ได้เจอ ถ้าพลาดต้องรออีกเป็นอสงขัยมหากัป  หรือมากกว่า ตกนรกอีกนับไม่ถ้วนชาติ ถ้าคิดว่าทนได้ ก็แล้วแต่ท่านจะ "ลองของ" ครับ.



คำถามนี้ คนที่ตอบไม่ถูก ไม่มีทางได้บรรลุ

คำถามนี้ คนที่ตอบไม่ถูก ไม่มีทางได้บรรลุ เว้นแต่จะมีผู้ทรงพระไตรปิฎก ได้อภิญญา ได้พลววิปัสสนา มาคอยสอนกรรมฐานให้.
  1. ทุกวันนี้ ท่านสมาทานศีล 5 ไหม?
  2. ทุกวันพระ ท่านสมาทานศีล 8 รึเปล่า?
  3. ท่านเข้าหาพระภิกษุเพื่อขอกรรมฐานครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?
  4. ถ้าท่านเป็นเนยยะ อะไรคือสมถะที่ท่านใช้ข่มตัณหาจริต?
  5. ถ้าท่านเป็นเนยยะที่เจริญวิปัสสนา สมถกรรมฐานอะไรที่ท่านเจริญอยู่ แล้วทำให้ท่านมั่นใจว่ามีจิตตวิสุทธิพอจะข่มตัณหาจริตของท่าน? (เพราะวิสุทธิมรรคว่า อุปจารและอัปปนา เป็นจิตตวิสุทธิ, และเนตติว่า ตัณหาจริต [เนยยะและวิปปจิกิเลสมาก] เป็นสมถยานิก)
เพราะตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ หลายคนจึงคิดสั้นๆ แค่ว่า "เรียนธรรมะไว้เป็นอุปนิสัยบรรลุชาติหน้า (ที่ไม่รู้ว่าจะเจอพระพุทธเจ้าอีกเมื่อไหร่?)"

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ศาสนาพุทธไม่ใช่ hate speech เพราะพระพุทธเจ้าไม่สอนว่า "เพื่อมุ่งทำร้ายจึงเกลียด" แต่สอนให้ "เพื่อพ้นทุกข์เกลียด"

ประเด็นนึงที่น่าสนใจในสังคมโลกปัจจุบัน คือ ชาวพุทธที่ปฏิบัติตามคำสอน และพูดตามคำสอน โดยเฉพาะพระภิกษุ มักจะถูกมองว่า เป็นพวก hater (พวกขี้ยุแยง) เพราะมักจะกล่าวคำพูดที่ส่อว่า "อาจจะ" เป็น hate speech (คำพูดยุแยง), ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับวัฒนธรรมทางยุโรป เช่น อังกฤษ เป็นต้น (ทั้งที่ประเทศนั้น จริงๆ แล้วก็มีหนังสือพิมพ์ขายดี จากการเป็นนักส่อเสียดยั่วยุอย่าง the sun เป็นต้น ซึ่งร้ายกาจ น่ากลัวมากๆ).

ทั้งๆ ที่พระภิกษุเป็นผู้มีเมตตาหาประมาณไม่ได้ ก็ยังถูกฝรั่ง  "เหมารวม" ว่า เป็น hater. จะให้เป็นผู้มีเมตตา หรือ ให้เป็นแฮเตอร์กันแน่? ฟังดูขัดแย้งกันเอง.

จริงๆ แล้ว ตามหลักพระไตรปิฎกเถรวาทดั้งเดิม คำสอนจะไม่ขัดแย้งกันเอง. แต่ถ้าพระเป็น hater ก็จะขัดกับคำสอนที่ว่า 'จงเมตตาในสัตว์ทุกหมู่เหล่าไม่มีประมาณ', และถ้าพระภิกษุไม่สอนให้เกลียดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกปุถุชน ก็จะขัดกับคำสอนที่ว่า "ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ". อย่างนี้ ขัดแย้งกันเอง.

ฉะนั้น จึงเป็นการเข้าใจผิดทั้งคู่ ไม่ว่าจะเข้าใจว่า "พระภิกษุที่มีเมตตาจะไม่มี hate speech" หรือ "พระภิกษุที่มี hate speech จะไม่มีเมตตา" ก็ล้วนมองศาสนาพุทธอย่างไม่เป็นกลาง มีอคติทั้งสิ้น.

แท้จริงแล้ว ศาสนาพุทธสอนยังไง?

ศาสนาพุทธไม่เคยสอนว่า "เพื่อมุ่งทำร้ายจึงเกลียด" แต่สอนให้ "เพื่อพ้นทุกข์เกลียด". ถ้าเข้าใจเช่นนี้ พระไตรปิฎกที่ยกมาอ้างก่อนหน้านี้ ก็จะไม่ขัดแย้งกัน และมีความชัดเจนว่า พระภิกษุ ไม่ใช่ hater.

"เพื่อมุ่งทำร้ายจึงเกลียด" เป็นยังไง?

  • ทำเพื่อมุ่งทำร้าย คือ โทสะ, ทำร้ายทางกาย วาจา ใจ <<< บาปเท่านั้น เพราะบุญไม่ร้ายใครเลย.
  • เกลียด คือ ไม่เอาของไม่สะอาด <<< บาปก็ได้ ไม่บาปก็ได้. เกลียดที่ไม่บาป เช่น เกลียดเพราะเข้าใจดีว่ายุ่งกับคนที่ฆ่ายุงจะทำให้มีสิทธิ์ติดนิสัยฆ่ายุงไปด้วย จึงไม่เอา ไม่อยากยุ่งกับคนๆ นั้น แต่ไม่ได้คิดทำร้ายคนๆ นั้น ยังมีเมตตา และความปรารถนาดี พร้อมช่วยเหลือตามความเหมาะสม คือ พูดดี มีการทำดีด้วย เท่าที่สมควรต่อกฎหมาย. เกลียดที่บาป เช่น เกลียดเพราะอยากทำร้ายคนที่ฆ่าคน ไม่คิดช่วยเหลือ ไม่ปรารถนาให้คนที่ฆ่าคนได้ดีมีความสุข.
"เพื่อพ้นทุกข์จึงเกลียด" เป็นยังไง?
  • ทำเพื่อพ้นทุกข์ คือ การทำทาน ศีล (แม่ตำหนิลูก) สมถะ (เมตตา ฯลฯ) วิปัสสนา เพื่อไม่ให้โทสะ คือ ความมุ่งร้าย เป็นต้น เกิดได้อีก <<< ในโลกิยะเป็นบุญเท่านั้น.
  • เกลียด คือ ตามที่อธิบายไว้แล้วข้างบน.
จะเห็นได้ว่า เกลียดตามที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น ยังคงคิดดี พูดดี ทำดี ต่อบุคคลที่น่ารังเกียจทุกคน ตามสมควร. แตกต่างจาก hate speech ที่เป็นคำพูด หรือ การกระทำ ที่มีเจตนามุ่งร้าย ทำร้ายร่างกาย และจิตใจ ของเป้าหมายตรงๆ.
ฉะนั้น ศาสนาพุทธไม่ใช่ hate speech, แต่คำสอนสูงสุดของศาสนาพุทธ คือ การเกลียดทุกสิ่งทุกอย่าง รวมถึงตัวเอง ต้องการดับตัณหา ความอยากในทุกๆสิ่ง (แต่ไม่ได้มีเจตนามุ่งทำร้าย) จึงดูคล้ายกับ hate speech เท่านั้นเอง.




วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สติปัฏฐานสูตร: "พิจารณาเห็นธรรม คือ เหตุให้เกิด และ ความเกิด ในกาย เป็นต้น บ้าง", ไม่ใช่ "พิจารณาเห็นความเกิดในกายบ้าง"

ตอนท้ายของทุกบรรพะในมหาสติปัฏฐานสูตร เคยแปลกันมาว่า :

ภิกษุพิจารณาเห็นความเกิดในกายบ้าง.

การแปลอย่างนี้ ขัดกับ ปฏิสัมภิทามรรค อุททยัพพยญาณนิทเทส ครับ.

จริงๆ ควรแปลว่า

ภิกษุหมั่นอนุปัสสนา 7 (แบบอุทยัพพยญาณ) คือ เห็นอวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร (โดยปัจจัย) และอุปาทขณะ ของรูป  ในกาย บ้าง. (แปลตามฏีกามหาสติปัฏฐานสูตรของคำว่า สมุทยธมฺมานุปสฺสี[เหตุแห่งความเกิดด้วย ไม่ใช่แค่ธรรมคือความเกิด] วา กายสฺมึ วิหรติ).

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร https://wiki.sutta.men/ฟุตโน้ต:541:99 -------------...