วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2563

วิธีเริ่มเจริญธรรมคุณ บทว่า สฺวากฺขาโต

คนที่ท่องจำจนชำนาญและมีความเข้าใจแทงตลอด จะได้รับคุณสมบัติ ในบทธรรมคุณข้อแรก ตามคำอธิบายบทที่สวดกันอยู่ทุกวันว่า สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เมื่อท่านสวดไปท่านจะเกิดปิติอย่างมาก หากท่านมีความชำนาญในพระธรรมคำสอนในระดับที่กล่าวไว้ในบทนี้จริงๆ
---------------
  ๑. อธิบายบท สวากฺขาโต
ก็แหละในบท สวากฺขาโต นี้ แม้ปริยัติธรรมก็ถึงอันสงเคราะห์เอาด้วยในบทอื่น ๆ นอกนี้สงเคราะห์เอาเฉพาะโลกุตตรธรรม
ปริยัติธรรมเป็นสวากขาตธรรม

ในธรรม ๒ ประเภทนั้น ปริยัติธรรมประการแรก ชื่อว่า อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เพราะมีความงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด และเพราะประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
ความงาม ๓ ของปริยัติธรรม

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระพุทธพจน์อันใดแม้เพียงพระคาถาอันเดียว พระพุทธพจน์นั้น ชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้นด้วยบาทต้น ชื่อว่ามีความงามในท่ามกลางด้วยบาทที่ ๒ และที่ ๓ ชื่อว่ามีความงามในที่สุดด้วยบาทหลัง เพราะธรรมมีความงามรอบตัว
(หน้าที่ 356)

พระสูตรมีอนุสนธิอันเดียว มีความงามในเบื้องต้นด้วยคำนิทาน มีความงามในที่สุดด้วยคำนิคมน์ มีความงามในท่ามกลางด้วยคำที่เหลือ
พระสูตรทีมีอนุสนธิมากหลาย มีความงามในเบื้องต้นด้วยอนุสนธิแรก มีความงามในที่สุดด้วยอนุสนธิหลัง มีความงามในท่ามกลางด้วยอนุสนธิที่เหลือ
อีกประการหนึ่ง พระสูตรที่มีอนุสนธิมากหลายนั้น ชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้น เพราะมีทั้งคำนิทาน มีทั้งคำอุบัติเหตุ ชื่อว่ามีความงามในท่ามกลาง เพราะมีเนื้อความไม่วิปริตผิดเพี้ยนไป และเพราะประกอบด้วยเหตุและอุทาหรณ์โดยสมควรแก่เวไนยนิกรทั้งหลาย และชื่อว่ามีความงามในที่สุด เพราะคำนิคมน์อันให้เกิดความได้ศรัทธาแก่ผู้ฟังทั้งหลาย
ศาสนธรรมแม้ทั้งสิ้น มีความงามในเบื้องต้นด้วยศีลอันเป็นเหตุของตน มีความงามในท่ามกลางด้วยสมถะ วิปัสสนา มรรค และผลทั้งหลาย มีความงามในที่สุดด้วยนิพพาน
อีกประการหนึ่ง ศาสนธรรมทั้งสิ้น มีความงามในเบื้องต้นด้วยศีลและสมาธิ มีความงามในท่ามกลางด้วยวิปัสสนาและมรรค ๔ มีความงามในที่สุดด้วยผล ๔ และนิพพาน
อีกประการหนึ่ง ศาสนธรรมทั้งสิ้น ชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้นเพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ดี ชื่อว่ามีความงามในท่ามกลางเพราะพระธรรมเป็นธรรมดี ชื่อว่ามีความงามในที่สุดเพราะพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี
อีกประการหนึ่ง ศาสนธรรมทั้งสิ้น ชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้น ด้วยอภิสัมโพธิที่สาธุชนฟังศาสนธรรมนั้นแล้วปฏิบัติเพื่อประโยชน์ด้วยประการนั้นจะพึงบรรลุได้ ชื่อว่ามีความงามในท่ามกลางด้วยปัจเจกโพธิ ชื่อว่ามีความงามในที่สุดด้วยสาวกโพธิ
ก็แหละ ศาสนธรรมนั้น ขณะฟังย่อมนำความงามมาแม้ด้วยการฟังนั่นเทียว โดยการข่มเสียซึ่งนิวรณ์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้น ขณะปฏิบัติก็นำความงามมาแม้ด้วยข้อปฏิบัติ โดยนำมาซึ่งความสุขอันเกิดแต่สมถะและวิปัสสนา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีความงามในท่ามกลางและขณะปฏิบัติแล้ว ด้วยประการนั้น เมื่อผลแห่งปฏิบัติสำเร็จแล้ว ย่อมนำความงามมาแม้ด้วยผลแห่งการปฏิบัติ โดยนำมาซึ่งความเป็นผู้คงเส้นคงวา เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่ามีความงามในที่สุด
(หน้าที่ 357)

พระธรรม ชื่อว่าอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว เพราะมีความงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้
อธิบาย พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะ

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคนั้น เมื่อทรงแสดงธรรม ย่อมทรงประกาศคือทรงแสดงซึ่งศาสนพรหมจรรย์และมรรคพรหมจรรย์อันใด โดยนัยต่าง ๆ พรหมจรรย์อันนั้น ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะด้วยอรรถสมบัติตามสมควร ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะด้วยพยัญชนสมบัติตามสมควร
ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะเพราะประกอบด้วยอรรถบท คือ สงฺกาสน แสดงความโดยย่อ ๑ ปกาสน แสดงความเบื้องต้น ๑ วิวรณ การไขความ ๑ วิภชน การจำแนกความ ๑ อุตฺตานีกรณ การทำความให้ตื้น ๑ ปญฺญตฺติ การแต่งความ ๑ ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะถึงพร้อมด้วย อักขระ ตัวหนังสือ ๑ บท คำประกอบวิภัติ ๑ พยัญชนะ คำที่เป็นพากย์ ๑ อาการ คำแบ่งพากย์ออกไป ๑ นิรุตติ วิเคราะห์ศัพท์ ๑ นิทเทส อธิบายให้พิศดาร ๑
ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ ด้วยความเป็นธรรมลึกซึ้งแห่งเนื้อความและความเป็นธรรมลึกซึ้งแห่งการแทงตลอด ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ ด้วยความเป็นธรรมลึกซึ้งโดยธรรม และความเป็นธรรมลึกซึ้งโดยเทศนา
ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ โดยเป็นวิสัยแห่งอัตถปฏิสัมภิทาและปฏิภาณปฏิสัมภิทา ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ โดยเป็นวิสัยแห่งธัมมปฏิสัมภิทาและนิรุตติปฏิสัมภิทา
ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ เพราะว่าทำให้คนชั้นปัญญาชนเลื่อมใส โดยเป็นสิ่งอันบัณฑิตพึงรู้แจ้งได้ ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะว่าทำให้ชั้นโลก ๆ เลื่อมใส โดยเป็นสิ่งที่น่าเชื่อ
ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ โดยมีอธิบายอันลึกซึ้ง ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ โดยมีบทตื้น
(หน้าที่ 358)

อธิบาย บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

ชื่อว่า บริบูรณ์สิ้นเชิง โดยเป็นธรรมมีความบริบูรณ์อย่างสิ้นเชิง เพราะไม่มีสิ่งที่จะพึงนำเข้าไปเพิ่มเติม ชื่อว่า บริสุทธิ์ โดยเป็นธรรมที่ปราศจากโทษ เพราะไม่มีสิ่งที่จะพึงนำออก
อรรถาธิบายอีกนัยหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง พรหมจรรย์ ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ เพราะให้คนฉลาดในอธิคม คือ นิพพาน ด้วยการปฏิบัติ ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะให้ฉลาดในอาคมปริยัติด้วยการเล่าเรียน ชื่อว่าบริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะประกอบด้วยธรรมขันธ์ ๕ กองมีศีลขันธ์เป็นต้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะไม่มีอุปกิเลส เพราะเป็นไปเพื่อสลัดออก และเพราะไม่มุ่งโลกามิส
ปริยัติธรรมชื่อว่าเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว เพราะประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้
ปริยัติธรรมเป็นสวากขาตธรรมอีกนัยหนึ่ง

อีกนัยหนึ่ง ปริยัติธรรม ชื่อว่าอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยดีแล้ว เพราะไม่มีข้อความอันวิปลาสคลาดเคลื่อน เพราะฉะนั้น ปริยัติธรรมนั้น จึงชื่อว่าอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว
เป็นความจริงเช่นนั้น ข้อความของธรรมของอัญญเดียรถีย์ทั้งหลาย ยังถึงความวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะว่าธรรมทั้งหลายที่เขากล่าวว่าเป็นอันตรายก็ไม่เป็นอันตรายจริง ธรรมทั้งหลายที่เขากล่าวว่าเป็นเครื่องนำออก ก็ไม่เป็นเครื่องนำออกจริง ด้วยเหตุนั้นอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้มีธรรมอันกล่าวไว้ไม่ดีโดยแท้
ข้อความของธรรมของพระผู้มีพระภาค มิได้ถึงความวิปลาสคลาดเคลื่อนเหมือนอย่างนั้น เพราะว่าธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอันตรายิกธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องนำออก เช่นนี้แล้ว ก็มิได้เกินเลยจากความเป็นอย่างนั้นไปได้
ปริยัติธรรม ประการแรก เป็นสวากขาตธรรม ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้
https://th.m.wikisource.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84_%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%99_%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%97_%E0%B9%97_%E0%B8%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%AA#อธิบายบท%20สวากฺขาโต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร https://wiki.sutta.men/ฟุตโน้ต:541:99 -------------...