วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

วิญญาณ วิญญาณธาตุ มโน มนายตนะ มโนธาตุ มโนวิญญาณ มโนวิญญาณธาตุ:วินิจฉัย

ปัญจวิญญาณธาตุ (ทรงไว้ซึ่งกิจของตน+กิจคือการน้อมไปรู้เท่านั้น) + มโนธาตุ (ทรงไว้ซึ่งกิจของตน+กิจคือการน้อมไปรู้เท่านั้น)

คือ จิตน้อมไปรู้กามคุณ 5 ที่เป็นสภาวะธรรมอย่างเดียว ไม่สามารถคิดประมวลอะไรได้ ไม่ว่าจะทำดีทำชั่ว หรือคิดบัญญัติอะไรก็ไม่ได้เลย. ทั้ง มโนธาตุ และ วิญญาณธาตุข้างต้น จึงใช้ในความหมายเดียวกัน คือ แค่น้อมไป ไม่คิด ไม่คำนวนใดๆ เป็นไปด้วยอำนาจกรรมที่ให้เกิด จักขุวัตถุอินทรีย์ (เฉพาะทวิปัญจวิญญาณจิต) และด้วยอำนาจกรรมี่ทำให้เกิดจักขุวิญญาณ/สัมปฏิจฉัน-วิปากมนินทรีย์, จึงไม่ต้องมีวิริยะฉันทะ เพราะทำตามอำนาจของปุเรชาตกัมมชปัจจัย กัมมปัจจัย สหชาตวิปากปัจจัย จึงไม่ได้ใคร่ทำการคิดประมวลอะไรในแบบที่มโนวิญญาณธาตุคิดได้ ทำตามที่ถูกปัจจัยที่มีกำลังมาก อย่างกัมมปกตูปนิสสยปัจจัยทั้งหลาย กัมมชวิปากปัจจัย กัมมชรูป ทำให้เกิดเท่านั้น ปัจจัยที่มีกำลังน้อยกว่า อย่างวิตกวิจารอธิโมกข์วิริยฉันทะเป็นต้นจึงไม่ต้องเกิดช่วยในจิตเหล่านี้.
อธิบายเป็นตัวอย่างได้ว่า จะวิริยะกับฉันทะเพื่อทำกรรมแบบชวนะก็ไม่ได้, และไม่สามารถวิริยะกับฉันทะเพื่อใคร่ครวญแบบอเหตุกกุสลสันตีรณมโนวิญญาณจิต ว่า "อารมณ์นี้เป็นอติอิฏฐารมณ์ ควรให้เกิดปีติโสมนัส". ฉะนั้น วิญญาณธาตุ/มโนธาตุเหล่านี้ จึงสักแต่ว่าน้อมไปรู้เท่านั้นจริงๆ ไม่ใคร่ครวญก่อนทำอะไรใดๆทั้งสิ้น กรรมและปัจจัยแวดล้อมมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น สหชาตปัจจัยไม่ช่วยให้จิตเหล่านี้คิดเองแบบมโนวิญญาณธาตุได้เลย.
ฉะนั้น สัมปฏิจฉันนวิปากจิต 2 จึงเป็นแค่ มโนธาตุ (จิตที่รับปัญจารมณ์จากทวิปัญจวิญญาณ+เป็น+การทรงไว้ซึ่งกิจของตน+คือการน้อมไปรู้เท่านั้น), และปัญจทวาราวัชชนกิริยาจิต 1 เป็นแค่ มโนธาตุ (จิตที่รับปัญจารมณ์จากภวังคุปัจเฉทวิปากจิต+เป็น+การทรงไว้ซึ่งกิจของตน+คือการน้อมไปรู้เท่านั้น)
อนึ่ง, ภวังคุปัจเฉทะไม่รู้ปัญจารมณ์แต่ได้รับปกตูปนนิสสยปัจจัยจากการกระทบระหว่างจักขุวัตถุกัมมชรูปอินทริยปัจจัย กับ รูปารมณ์, จึงทำกิจเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนะที่เกิดถัดมาต้องทำวิตกวิจารอธิโมกข์เพื่อไปรับรู้รูปารมณ์นั้นโดยตรง.

อุปมา: 

เหมือนอุบาสกคนหนึ่งขณะสนทนาธรรมกับสามเณรรูปหนึ่งที่หันหน้าเข้าหากัน โดยที่อุบาสกหันหลังให้พระอรหันต์รูปหนึ่งที่เพิ่งเดินมาโดยไม่รู้มาก่อน พออุบาสกซึ่งหันหลังอยู่เห็นอากัปกิริยาเปลี่ยนไปของสามเณรที่เห็นพระอรหันต์ที่กำลังเดินเข้ามารูปนั้น ก็เป็นปัจจัยให้อุบาสกหันหลังกลับไปมองพระอรหันต์แล้วกราบไหว้ จากนั้นก็พากันหลับตาตั้งใจฟังเทศนาของพระอรหันต์, ตามอุปมานี้ สามเณรที่หันหลังดุจจักขุวัตถุ, พระอรหันต์ดุจรูปารมณ์, อุบาสกขณะเห็นอากัปกิริยาของสามเณรเปลี่ยนไปดุจภวังคุปัจเฉท,ะ อุบาสกขณะที่หันไปมองพระภิกษุ ดุจปัญจทวาราวัชชนวิตกวิจารอธิโมกข์สหคตจิต เพราะรู้ด้วยปัญจทวาราวัชชนะจิตที่เกิดจากภวังคุปัจเฉทะแล้วว่าจะรับรู้อารมณ์ทางปสาทะ เพียงแต่ยังไม่เห็นอารมณ์นั้นด้วทวิปัญจวิญญาณจริงๆ, อุบาสกขณะแรกที่เห็นพระอรหันต์ทางจักขุนทรีย์กัมมชรูป ดุจจักขุวิญญาณที่รับรู้รูปารมณ์โดยไม่ต้องมิวิตกวิจารอธิโมกข์, อุบาสกขณะแรกที่หลับตาแต่ยังรู้พระอรหันต์ได้ ดุจสัมปฏิจฉันนะจิตที่รู้รูปารมร์ได้โดยไม่ได้อาศัยจักขุนทรีย์ แต่อาศัยจักขุวิญญาณินทรีย์ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย  อาศัยกัมมปัจจัย และอาศัยสหชาตวิปากปัจจัย เกิดขึ้นรู้รูปารมณ์โดยไม่ต้องอาศัยจักขุสัมผัสสะที่จักขุปสาทะโดยตรง.

อนึ่ง, ที่ท่านใช้มโนธาตุ กับ วิญญาณธาตุแยกกัน ทั้งที่เป็นแค่สภาพน้อมรู้ไปเหมือนกัน เพราะทวิปัญจวิญญาณเกิดทางอุปัตติทวารโดยมีกัมมปัจจัยและสหชาตวิปากปัจจัยเป็นหลัก. แต่ปัญจทวาราวัชชนะจิตและสัมปฏิจฉันนะจิตนั้น แม้ไม่ได้ถึงพร้อมด้วยปัจจัยมีกำลังเท่าทวิปัญจวิญญาณธาตุนั้นก็จริง แต่ก็ทำหน้าทีแค่นั้น ไม่ได้รู้ ไม่คิดใคร่ครวญประมวลใดๆ มีวิตกวิจารอธิโมกข์มาช่วยแค่ให้น้อมไปรู้ได้แบบทวิปัญจวิญญาณธาตุเท่านั้น, พระพุทธเจ้าจึงใช้ศัพท์ว่าวิญญาณธาตุ กับ จิต 5 ทวารแรก จากนั้นจึงใช้คำว่า มโนธาตุกับจิตที่ทำกิจแบบวิญญาณทางทวารสุดท้าย เพื่อแยกความเหมือนกันนี้ออกจากกัน เพราะปัจจัยต่างกัน และมโนธาตุทวารสุดท้ายนี้ก็ไม่ได้แสดงโดยอุปัตติทวารเหมือน 5 ทวารแรกด้วย. จากนั้น จึงแสดง มโนวิญญาณธาตุอีกศัพท์ เพราะมโนวิญญาณธาตุเป็นวิญญาณที่ไม่ใช่แค่น้อมไปรู้อย่างที่วิญญาณธาตุ  และ มโนธาตุ เหล่านั้นเป็น, แต่มโนวิญญาณธาตุเป็นวิญญาณที่คิดใคร่ครวญด้วย, เป็นไปตามความหมายของ มโน และ วิญญาณ รวมกัน ก็คือ เมื่อรู้ด้วยวิญญาณธาตุ 5 กับมโนธาตุ 3 ในช่วงแรกของวิถีวาระแล้ว (ปัญจทวาราวัชชนะ ทวิปัญจวิญญาณ สัมปฏิจจฉันนะ) ก็ถึงจะมารู้ด้วยมโนวิญญาณอีกทีหนึ่ง.

ถามว่า ถ้าเช่นนั้น ทำไมอรรถกถาสฬายตนวิภังคสูตร จึงกล่าวว่า เว้น ทวิปัญจวิญญาณจิต จิตที่เหลือเป็นมโนวิญญาณ? 

ตอบว่า เพราะในสฬายตนวิภังคสูตรนั้น กล่าวถึงมโนปวิจาร ว่าเป็น มโน วิตก วิจาร, ดังนั้น มโนธาตุซึ่งมีวิตกวิจาร จึงนับเป็นมโนวิญญาณด้วย. และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ มโน ในคำว่า "อาศัยมโนกับธรรมะจึงเกิดฯลฯ"  จะหมายถึง วิตก วิจาร ที่ประกอบกับมโนธาตุ 3 ไปก็ได้, พระพุทธเจ้า จึงตรัสว่า มโนปวิจาระ ไว้ในสูตรนั้น และพระสารีบุตรจึงอธิบายสฬายตนวิภังสูตรไว้ในอรรถกถาเช่นนั้น. แต่ในสูตรอื่นให้ถือเอาตามวิสุทธิมรรคและปฏิสัมภิทามรรคนั่นแหละ.

ถามว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วมโนวิญญาณธาตุของอรูปพรหมเล่า ทำไมเรียกมโนวิญญาณธาตุได้ ทั้งๆ ที่ในภพนั้นไม่มีทวิปัญจวิญญาณธาตุ และไม่มีมโนวิญญาณธาตุ, และจิตทางมโนทวารเล่า ทำไมจึงเรียกมโนวิญญาณธาตุ ทั้งๆที่ไม่ได้มีทวิปัญจวิญญาณธาตุและมโนธาตุในมโนทวารวิถีวาระ.

ตอบว่า ทั้งสองคำถามตอบอย่างเดียวกัน คือ เพราะอรูปพรหมจิตและจิตทางมโนทวารวาระทั้งหมด ล้วนได้ปกตูปนิสสยปัจจัยจาก ทวิปัญจวิญญาณธาตุและมโนธาตุทั้งสิ้น. อธิบายว่า ไม่อาศัยกามคุณ 5 ครั้งยังเป็นกามบุคคล ก็ทำรูปฌานไม่ได้ เมื่อไม่มีรูปฌาน ก็ยังอรูปฌานให้เกิดไม่ได้ เมื่อไม่มีอรูปฌานก็ไปเกิดในอรูปภพไม่ได้, ฉะนั้น อรูปพรหมจึงได้ปกตูปนิสสยปัจจัยจากกามคุณโดยประการอย่างนี้ จิตของอรูปพรหมจึงเรียกมโนวิญญาณธาตุ แม้ไม่มีทวิปัญจวิญญาณธาตุและมโนวิญญาณธาตุในอรูปพรหมก็ตาม. ในมโนทวารวิถีวาระก็ทำนองเดียวกัน คือ ถ้าไม่อาศัยปกตูปนิสสยปัจจัยจากการรับรู้ของมโนธาตุและทวิปัญจวิญญาณธาตุที่เกิดก่อนๆ แล้วไซร้ มโนวิญญาณธาตุทั้งปวงทั้งในวิถีวาระเดียวกัน และในมโนทวารวิถีวาระหลังๆ ก็ล้วนเกิดไม่ได้, โดยประการอย่างนี้ จิตทางมโนทวารจึงเรียกมโนวิญญาณธาตุได้ แม้ไม่มีทวิปัญจวิญญาณธาตุและมโนธาตุเกิดในวาระเดียวกันก็ตาม.

มโนวิญญาณธาตุ (ทรงไว้ซึ่งกิจของตน+คือการน้อมไปรู้ด้วย [มโน]+และการพยายามใคร่ทำการคิดใคร่ครวญตามที่น้อมไปรู้นั่นด้วย [ฉันทะ+วิริยะ+วิญญาณ])

มโนวิญญาณธาตุรู้อารมณ์ตาม มโนธาตุและวิญญาณธาตุที่เกิดก่อนๆ นั่นแหละโดยปกตูปนิสสยปัจจัย. รายละเอียดได้อธิบายแล้วข้างต้น.

มโนทวาราวัชชนจิต เป็น มโนวิญญาณธาตุ (ช่องทางเพื่อน้อมไป+จิตที่เริ่มคิดในช่องทางนั้น+เป็น+การทรงไว้ซึ่งกิจของตน+คือการน้อมไปด้วย+การรู้คิดใคร่ครวญตามที่น้อมไปรู้นั่นด้วย)

มโนทวาราวัชชนจิต ทั้งน้อม(มโน) ทั้งคิดประมวล(วิญญาณ) ตามปกตูปนิสสยปัจจัย คือ มโนธาตุและทวิปัญจวิญญาณธาตุที่เกิดก่อนๆ เพราะเหตุนั้นจึงเป็นปัจจัยแก่ชวนะให้ทำกรรมได้ และเพราะเหตุนั้นจึงรู้บัญญัติได้.

รายละเอียดได้อธิบายแล้วข้างต้น.

ภวังคจิต เป็น มโนวิญญาณธาตุ (จิตที่เป็นองค์รักษาภพนั้นๆ ไว้+เป็น+การทรงไว้ซึ่งกิจของตน+คือการน้อมไปด้วย+การรู้คิดใคร่ครวญตามที่น้อมไปรู้นั่นด้วย)

รายละเอียดได้อธิบายแล้วข้างต้นในเรื่อง มโนวิญญาณธาตุ.

ถามว่า ภวังคจิตคิดใคร่ครวญอะไรจึงจัดเป็นวิญญาณธาตุ?

ตอบว่า ภวังคจิตคิดใคร่ครวญตามที่ปฏิสนธิกรรมจัดแจง.

ถามว่า ถ้าภวังคจิตคิดอยู่ดังว่ามา ทำไมเราจึงไม่รู้เรื่องที่ภวังคจิตคิด?

ตอบว่า เพราะเราเคยชิน(ชำนาญ)กับเรื่องเหล่านั้น และเพราะการให้ผลของกรรมเป็นเรื่องละเอียดมากเกินความเข้าใจของคนธรรมดา. ภวังคจิตคิดรักษาภพชาติให้ดำรงค์อยู่ตามอำนาจปฏิสนธินานักขณิกกัมมปัจจัย ยังให้เกิดสหชาตวิปากจิตตชรูป ยังให้เกิดอนันตรูปนิสสยภวังคจิตหลังๆ ยังให้เกิดอาวัชชนะแบบพระอรหันต์ เป็นต้น. อุปมาเหมือนพระอรหันตภิกษุ แม้เมื่อไม่ได้ใช้เวลาคิดเลยว่า "เราจะนุ่งอย่างนี้ เราจะพูดอย่างนี้ เราจะทำอย่างนี้ "แต่ท่านก็ย่อมดำเนินชีวิตแบบพระอรหันต์ได้ไม่ผิดเพี้ยน, เพราะว่าได้เกิดเป็นพระอรหันต์แล้ว ความสิ้นกิเลสย่อมทำให้คิดโดยไม่มีกิเลส และจิตตชรูปต่างๆ ก็เกิดตามจิตที่ไม่มีกิเลสนั้นๆ ได้ โดยไม่ต้องใช้เวลาคิดเลย (คิดใคร่ครวญ แต่ไวมากจนเหมือนกับไม่ได้คิด).

ทำไมมนายตนะท่านจึงอธิบายว่า จิตทั้งหมด 89/121 เล่า ทำไมไม่อธิบายเหมือนมโนธาตุ?

เพราะมนายตนะ เป็น อายตนะที่ 6 แห่งสฬายตนะในปัจจุบันอัทธาปฏิจจสมุปบาท ซึ่งตามสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรคนั้น มนายตนะ เป็นวิญญาณ 32 แห่งวิญญาณปฏิจจสมุปบาทในปฏิสนธิกาล  และ เป็นวิญญาณ 121 ในปวัตติกาล กล่าวคือ วิบากจิตที่เป็นปัจจุบันนัทธาปฏิจจสมุปบาท ก็เป็นมนายตนะ, ชวนจิตที่เป็นปัจจุบันนัทธาก็เป็นมนายตนะ.  เพราะเหตุนี้อายตนะจึงวิเคราะห์ศัพท์ว่า เป็นรอยต่อ/เป็นที่นำไป คือ เป็นรอยต่อของผัสสะด้วย เป็นรอยต่อของวัฏฏะด้วย เป็นรอยต่อของวิบากวัฏฏ์กิเลสวัฏฏ์ด้วย, และดังนั้น มโนธาตุจึงไม่ได้อธิบายเหมือนมนายตนะ.

อนึ่ง เป็นการคิดเอาเองคร่าวๆ ครับ ถ้ามีผู้รู้ ช่วยตรวจสอบติติง คงจะเป็นประโยชน์กับผมอย่างมาก.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร https://wiki.sutta.men/ฟุตโน้ต:541:99 -------------...