วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2560

คำว่าสังขารในพระไตรปิฎกมีใช้ 2 แบบใหญ่ๆ คือ สังขารที่เป็นเหตุ กับ สังขารที่เป็นผล

สาเหตุที่คนอ่านสังขารต่างๆ ในพระไตรปิฎกแล้วสับสน ก็เพราะไม่ได้ท่องจำพระไตรปิฎกบาลี ทำให้ไม่สามารถเข้าใจโครงสร้างของสูตรได้อย่างแจ่มแจ้ง แบบที่ผู้ทรงพระไตรปิฎกในสมัยโบราณ อย่างพระอรรถกถาจารย์ ที่เรียนแบบท่องจำกันมาท่านเข้าใจ.

สังขารที่เป็นเหตุ กับ สังขารที่เป็นผล

คำว่า สังขาร ในพระไตรปิฎกมีใช้ 2 แบบ คือ สังขารที่เป็นเหตุเกิด (ของสังขารที่เป็นผล) กับ สังขารที่เป็นผล (ที่เกิดจากสังขารที่เป็นเหตุ).
สงฺขารา ปจฺจยา วิญฺญาณํ.
แปลตรงๆ: สังขารเป็นเหตุเกิดวิญญาณ.
แปลเอาเนื้อความ: สิ่งที่มีหน้าที่ปรุงแต่ง ทำการปรุงแต่ง ให้เกิดวิญญาณ.
จะเห็นได้ชัดเจนว่า คำว่า สังขารในสูตรข้างบนกำลังทำหน้าที่เป็นเหตุ(ของวิญญาณที่เป็นผล)ในประโยค.
หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ
“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาเธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด”
จะเห็นได้ชัดเจนว่า คำว่า สังขารในสูตรข้างบนกำลังทำหน้าที่เป็นผลในประโยค เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน นิทานวรรค ปัจจยสูตร:
วิญฺาณํ ภิกฺขเว ... สงฺขารา ภิกฺขเว ... อวิชฺชา ภิกฺขเว อนิจฺจา สงฺขตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา ขยธมฺมา วยธมฺมา วิราคธมฺมา นิโรธธมฺมา ฯ อิเม วุจฺจนฺติ ภิกฺขเว ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา ธมฺมา ฯ
วิญญาณเป็นสภาวะไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันและกันเกิดขึ้น มีความ สิ้นไป มีความเสื่อมไป มีความคลายไป มีความดับไปเป็นธรรมดา.  
สังขารทั้งหลาย เป็นสภาวะไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันและกันเกิดขึ้น มีความ สิ้นไป มีความเสื่อมไป มีความคลายไป มีความดับไปเป็นธรรมดา. 
อวิชชาเป็นสภาวะไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันและกันเกิดขึ้น มีความ สิ้นไป มีความเสื่อมไป มีความคลายไป มีความดับไปเป็นธรรมดา (อาสวะก็เป็นเหตุของอวิชชาอีกที [โดยสหชาตปัจจัย] ดูสัมมาทิฏฐิสูตร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลเรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนะ (ผลของปฏิจจสมุปบาท).
จากสูตรข้างต้น คำว่า สงฺขตา (ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) และ คำว่า วยธมฺมา (ซึ่งเป็นคำเดียวกับในมหาปรินิพพานสูตรที่ยกมาอ้างข้างต้น) เป็นคำขยายความของ อวิชฺชา สงฺขารา และ วิญฺญาณํ. ดังนั้น บริบทของสูตรนี้ จึงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของปฏิจจสมุปบาท (เหตุ) และ ปฏิจจสมุปปันนะ (ผล) โดยแสดงอวิชฺชา สงฺขารา และ วิญฺญาณํ เป็นสังขารที่เป็นผล เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงคำว่าสังขารไว้ในปัจฉิมพุทโธวาท ที่ยกมาจากมหาปรินิพพานสูตรข้างต้นนั่นเอง.
เมื่อนักเรียนเข้าใจความสัมพันธ์ของคำว่าสังขาร ที่ใช้ในพระบาลีอย่างนี้แล้ว การสังเกตหน้าที่และลักษณะของกรรม (สังขารปฏิจจสมุปบาท) จากพระบาลี จึงจะเป็นไปได้.

หน้าที่ของสังขารปฏิจจสมุปบาท

จริงๆแล้ว หน้าที่ของสังขารปฏิจจสมุปบาทท่านแสดงไว้ในบาลีของนิทานวรรค ปฏิจจสมุปปาทวิภังคสูตร แล้ว ในความหมายของ สังขารที่เป็นเหตุ:
สงฺขารา ปจฺจยา วิญฺญาณํ.
แปลตรงๆ: สังขารเป็นเหตุเกิดวิญญาณ.
แปลเอาเนื้อความ: สิ่งที่มีหน้าที่ปรุงแต่ง ทำการปรุงแต่ง ให้เกิดวิญญาณ.
จากสูตรเดียวกันนี้ ท่านได้อธิบายความหมายไว้เพิ่มด้วย, เราสามารถเอาความหมายนี้ ไปค้นเพิ่มได้อีก, ความหมายที่ท่านอธิบายสังขารปฏิจจสมุปบาทไว้ คือ:
‘‘กตเม จ ภิกฺขเว สงฺขารา ตโยเม ภิกฺขเว สงฺขารา กายสงฺขาโร วจีสงฺขาโร จิตฺตสงฺขาโร  อิเม วุจฺจนฺติ ภิกฺขเว สงฺขารา ฯ
" สังขารมี ๓ ประการนี้ คือ ๑. กายสังขาร (สภาวะที่ปรุงแต่งกาย)  ๒. วจีสังขาร (สภาวะที่ปรุงแต่งวาจา)    ๓. จิตตสังขาร (สภาวะที่ปรุงแต่งใจ)
ถ้าเอาความหมายข้างต้นที่เป็นภาษาบาลีไปค้นในพระไตรปิฎก ท่านจะพบว่า ทั้งหมดล้วนพูดถึงเหตุทั้งนั้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดใน นิทานวรรค ภูมิชสูตร ซึ่งอยู่ในเล่มเดียวกัน แสดงไว้ชัดเจนเลยว่า 'กรรมคือเจตนา, เจตนา คือ สังขารปฏิจจสมุปบาท'. ซึ่งจากตรงนี้ เราสามารถเอามาสร้างคำค้นได้ว่า กายสงฺขาร (กายกมฺม, กายสญฺเจตนา, กายทุจริต, กายสุจริต, ปุญฺญาภิสงฺขาร, อปุญฺญาภิสงฺขาร), วจีสงฺขาร (วจีกมฺม, วจีสญฺเจตนา, วจีทุจริต, วจีสุจริต, ปุญฺญาภิสงฺขาร, อปุญฺญาภิสงฺขาร), จิตฺตสงฺขาร (วจีกมฺม, วจีสญฺเจตนา, วจีทุจริต, วจีสุจริต, ปุญฺญาภิสงฺขาร, อปุญฺญาภิสงฺขาร,อาเนญฺชาภิสงฺขาร). และเมื่อค้นดูคำเหล่านี้ ก็จะพบว่า ทั้งหมดในบริบทอธิบายไปในทิศทางเดียวกัน (บางทีใช้บริบทอันเดียวกันเลย) ว่า "กรรมเป็นเหตุของวิบากและกัมมชรูป".

ล้วนเป็นผลของกรรม (วิบาก/กัมมชรูป): วิญฺญาณํ นามรูปํ สฬายตนํ ผสฺโส เวทนา 

และด้วยนิทานวรรค ภูมิชสูตร นี้เอง ทำให้เราทราบว่า วิญฺญาณํ นามรูปํ สฬายตนํ ผสฺโส เวทนา ในปฏิจจสมุปบาทนั้น ล้วนเป็นผลของกรรม คือ เป็นวิบาก/กัมมชรูป. เพราะไม่มีใครสามารถพูดได้ว่า "ขณะที่วิญญาณเกิด ไม่มีนามรูปเกิด ไม่มีอายตนะเกิด, ไม่มีผัสสะเกิด, ไม่มีเวทนาเกิด". ดังนั้นใน มัชฌิมปัณณาสก์ อนุปทสูตร จึงแสดงสิ่งเหล่านี้ไว้ว่า เป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกันและกัน (เกิดพร้อมกันเพื่อเป็นเหตุซึ่งกันและกัน) ว่า:

อิธ ภิกฺขเว สารีปุตฺโต วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ สวิตกฺกํ สวิจารํ วิเวกชํ ปีติสุขํ ปฐมํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ ฯ เย จ ปฐเม ฌาเน ธมฺมา วิตกฺโก จ วิจาโร จ ปีติ จ สุขญฺจ จิตฺเตกคฺคตา จ ผสฺโส เวทนา สญฺา เจตนา วิญฺาณํ ๑- ฉนฺโท อธิโมกฺโข วิริยํ สติ อุเปกฺขา มนสิกาโร ตฺยสฺส ธมฺมา อนุปทววตฺถิตา โหนฺติ ตฺยสฺส ธมฺมา วิทิตา อุปฺปชฺชนฺติ วิทิตา อุปฏฺฐหนฺติ วิทิตา อพฺภตฺถํ คจฺฉนฺติ ฯ โส เอวํ ปชานาติ เอวํ กิรเม ธมฺมา อหุตฺวา สมฺโภนฺติ หุตฺวา ปติเวนฺตีติ ๑- ฯ โส เตสุ ธมฺเมสุ อนุปาโย อนปาโย อนิสฺสิโต อปฺปฏิพทฺโธ วิปฺปมุตฺโต วิสํยุตฺโต วิมริยาทิกเตน เจตสา วิหรติ ฯ โส อตฺถิ อุตฺตรึ นิสฺสรณนฺติ ปชานาติ ตพฺพหุลีการา อตฺถิ เตฺววสฺส โหติ ฯ
ภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนี้ สารีบุตรสงัดจากกามและอกุศลธรรม ทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ก็ธรรมในปฐมฌาน คือ วิตก(ความตรึก) วิจาร(ความตรอง) ปีติ(ความอิ่มใจ) สุข(ความสุข) จิตเตกัคคตา(ความที่จิตมีอารมณ์เดียว) ผัสสะ(ความถูกต้อง) เวทนา (ความเสวยอารมณ์) สัญญา(ความหมายรู้) เจตนา(ความจงใจ) วิญญาณ(ความ รู้แจ้ง) ฉันทะ(ความพอใจ) อธิโมกข์(ความน้อมใจเชื่อ) วิริยะ(ความเพียร) สติ(ความระลึกได้) อุเบกขา(ความวางเฉย) มนสิการ(ความใส่ใจ)เหล่านั้น สารีบุตร กำหนดตามลำดับบทได้แล้ว ธรรมที่สารีบุตรรู้แจ้งแล้วเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สารีบุตรนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ได้ยินว่า ธรรมเหล่านี้ที่ยังไม่มีก็มีขึ้น ที่มีแล้ว ย่อมดับไป’ เธอจึงไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสอาศัยไม่ได้ อันกิเลสพัวพันไม่ได้ หลุดพ้นแล้ว พรากได้แล้วในธรรมเหล่านั้น มีจิตที่ฝึกให้ปราศจากเขตแดนคือ กิเลสได้แล้วอยู่ สารีบุตรนั้นรู้ชัดว่า ‘การสลัดทุกข์ที่สูงๆ ขึ้นไป ยังมีอยู่’ เธอมี ความเห็นว่า การสลัดทุกข์มีได้เพราะการกระทำธรรมนั้นให้มากขึ้น (๑)
จะเห็นได้ว่าข้อความข้างต้นแสดงเกี่ยวกับฌาน, ซึ่งในอัฏฐกนาครสูตร ฌานเป็น ปุญฺญาภิสงฺขาร และอาเนญฺชาภิสงฺขาร, ดังนั้น สหชาตปัจจัยในอนุปทสูตรนี้ จึงหมายถึง สังขารที่เป็นเหตุ แบบในปฏิจจสมุปาทวิภังคสูตรนั่นเอง. อย่างไรก็ตาม นักศึกษาควรใช้หลักสหชาตปัจจัยนี้กับสังขารที่เป็นผลในปฏิจจสมุปบาทด้วย เพราะเวลาสัตว์เกิดขึ้น ก็ต้องมีวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนาด้วยกันทั้งนั้น. เว้นจาก อสัญสัตว์, อรูปพรหม, และผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว ไม่มีใครสามารถอยู่ได้โดยไม่มีพวกมันอันใดอันหนึ่งหรอก, จริงไหม?

ความสับสนของนักศึกษาเรื่องสังขาร

แต่สังขารใน ม.มู. จูฬเวทัลลสูตร นั้น ท่านกำลังแสดงสังขารที่เป็นผล. ฉะนั้นที่บางคนบอกว่า พระบาลีแสดงขัดกันระหว่างจูฬเวทัลลสูตร กับ ปฏิจจสมุปปาทวิภังคสูตร นั้น, จึงเป็นความไม่รู้จักสังขารที่เป็นเหตุ กับ สังขารที่เป็นผล ของตัวผู้นั้นเอง. ส่วนพระบาลีจริงๆ แล้วไม่ได้แสดงขัดกันเลย.

อธิบายสังขารที่เป็นผลในจูฬเวทัลลสูตร

ม.มู. จูฬเวทัลลสูตร นั้น ท่านกำลังแสดงสังขารที่เป็นผล, เพราะวิสาขอุบาสกเป็นพระอนาคามี, ส่วนธัมมทินนาเถรีก็เป็นพระอรหันต์ ซึ่งพระอริยะทั้งสองประเภทล้วนระงับตัณหาในกามคุณได้ราบคาบแล้ว. ดังนั้น วิสาขอุบาสก จึงทดสอบธัมมทินนาเถรีด้วยคำถามเกี่ยวกับฌาน ซึ่งเป็นเหตุระงับการเกิดขึ้นของตัณหาในกามคุณ 5 เสียได้. ซึ่งฌานก็ยังเป็นเหตุระงับของลมหายใจ, วิตกวิจาร, และสัญญาเวทนาอีกด้วย. ดังนั้น พระธัมมทินนาเถรีจึงตอบวิสาขอุบาสกว่า:
อสฺสาสปสฺสาสา โข อาวุโส วิสาข กายสงฺขาโร วิตกฺกวิจารา วจีสงฺขาโร สญฺา จ เวทนา จ จิตฺตสงฺขาโรติ ฯ 
“ลมอัสสาสะ(ลมหายใจเข้า) และลมปัสสาสะ(ลมหายใจออก) เป็นกายสังขาร, วิตกและวิจารเป็นวจีสังขาร, สัญญาและเวทนาเป็นจิตตสังขาร”
ที่ตอบอย่างนั้น เพราะฌานที่ 4 เป็นเหตุระงับลมหายใจเข้าออก, ฌานที่ 2 เป็นเหตุระงับวิตกวิจาร, และสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ก็แปลตรงตัวว่า การบรรลุอันระงับสัญญาและเวทนา.  ดังนั้น ในทสอริยวสธรรม ใน ทสุตตรสูตร จึงแสดงกายสังขาร(แบบเป็นผล) ว่าถูกระงับด้วยฌานที่ 4. นอกจากนี้ กายสังขาร ยังถูกใช้ในเรื่องอานาปานัสสติฌานในมหาสติปัฏฐานสูตรอีกด้วย. 2 สูตรนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะบอกว่า สังขาร 3 ในจูฬเวทัลลสูตรข้างต้น หมายถึง สังขารที่เป็นผล.

หลังจากเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะสามารถเข้าใจได้แล้วว่า ทำไมคนที่บอกว่า "พระไตรปิฎกแสดงกายสังขารไว้ขัดแย้งกัน" จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง.

นี่แหละ ผมถึงพยายามย้ำหนักหนาว่า "สาเหตุที่คนอ่านสังขารต่างๆ ในพระไตรปิฎกแล้วสับสน ก็เพราะไม่ได้ท่องจำพระไตรปิฎกบาลี ทำให้ไม่สามารถเข้าใจโครงสร้างของสูตรได้อย่างแจ่มแจ้ง แบบที่ผู้ทรงพระไตรปิฎกในสมัยโบราณ อย่างพระอรรถกถาจารย์ ที่เรียนแบบท่องจำกันมาท่านเข้าใจ."

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร https://wiki.sutta.men/ฟุตโน้ต:541:99 -------------...