วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ถูก: "พิจารณาเห็นเหตุเกิดเหตุดับแห่งกายด้วยอุทยัพยญาณ" ผิด: "พิจารณาเห็นธรรมคือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความดับ ในกายอยู่"

เหตุใดประโยคนี้จึงแปลผิด: "พิจารณาเห็นธรรมคือ ทั้งความเกิดขึ้น (สมุทยะ) ทั้งความดับ (วยะ) ในกายอยู่"
  1. ตอบโดยสภาวะ: สัตว์ที่ไม่มีปัญญาก็เห็นความเกิด ความดับอยู่ตลอดเวลา เพราะตัวอย่างเช่น เมื่อตาเห็นสี ย่อมเห็นสีทั้งอุปาทะ ทั้งฐิติ และทั้งภังคะ, ตาไม่สามารถเลือกจะเห็นแต่ฐิติขณะได้เลย. แต่คนเราก็เห็นสีอยู่ทั้งวัน, การเห็นความเกิดความดับจึงไม่ใช่ปัญญาเสมอไป. ดังนั้น การเห็นเช่นนี้ จึงเป็นการเห็นระดับที่อรรถกถา อ. มหาสติปัฏฐานสูตร กล่าวไว้ว่า "สุนัขก็รู้จิต รู้เวทนาได้". 
  2. ตอบโดยลักษณะการใช้ศัพท์ในตำรา: ความเกิด ในพระไตรปิฎกอรรถกถาและฏีกา ใช้ศัพท์ว่า นิพพัตติลักขณะ  และ ความดับ ใช้ศัพท์ว่า วิปริณามลักษณะ. ส่วนศัพท์ว่า สมุทยะ ในประโยคนี้ เมื่อใช้ในที่แสดงวิปัสสนาญาณ ท่านจะหมายถึงเหตุแห่งนิพพัตติลักษณะเสมอ ซึ่งเหตุแห่งนิพพัตติลักษณะก็ไม่ใช่ตัวนิพพัตติลักษณะตามที่อธิบายในข้อต้น. วยะ-ศัพท์ ก็เช่นเดียวกัน โดยศัพท์นี้เมื่อมากับสมุทยะในที่เป็นวิปัสสนา ให้แปลความหมายเดียวกับคู่ สมุทยะ-นิโรธะ.
  3. ตอบโดยหลักฐานในอรรถกถา: ไม่สอดคล้องกับอรรถกถา อรรถกถาอธิบายคำนี้ด้วยองค์ธรรมที่เป็นเหตุแห่งความเกิดความดับด้วย, (อวิชชา ตัณหา กรรม เป็นต้น หรือ ธรรมเป็นเหตุเกิดอัสสาสะปัสสาสะ เป็นต้น) ส่วนองค์ธรรมที่เป็นความเกิด (อุปาทขณะ) ความดับ (ภังคขณะ) นั้น ก็เห็นเป็นผลของธรรมะศัพท์นี้อีกที คือ ไม่ได้เห็นแต่ความเกิดความดับ แต่เห็นเหตุแห่งความเกิดความดับด้วย.
  4. ตอบโดยหลักฐานในฉบับแปลอื่นๆ: แปลไม่ตรงกับพระไตรปิฎกแปลฉบับมหาจุฬา เพราะฉบับนั้นแปลตามฏีกา.
  5. ตอบโดยหลักฐานในฏีกา: แปลไม่ตรงกับฏีกามหาสติปัฏฐานสูตร.

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

หลักการพิจารณาหาคำตอบของเพจนี้

ผมจะอ่านแล้วแปลเป็นบาลี ครับ คือ พยายามกำหนดให้ได้องค์ธรรมตามหลักอภิธรรมตรงกับอรรถกถาเสียก่อน แล้วค่อยหาคำตอบตามแนวในพระไตรปิฎก อรรถกถา ครับ. ถ้าอ่านภาษาไทยให้เป็นไทย พยายามหาคำตอบด้วยภาษาไทย แม้ผมเอง ก็จะต้องงงเวลาที่เจอคำถามซับซ้อนมากแน่ๆ ครับ. ผมต้องแปลกลับไปที่องค์ธรรมตามหลักอภิธรรม แล้วค่อยตีกลับมาเป็นคำแปลภาษาไทยตามแนวบาลีอีกที ครับ (จะเห็นได้ว่า บทความส่วนมากจะมีบาลีกำกับตลอด). เหตุผลก็เพราะ ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาสภาวะ ครับ เลยต้องทำแบบนี้ เพื่อแยกสภาวะออกให้เป็นปริจเฉท.

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าภาษาไทยไม่ใช่ภาษาสภาวะ เช่น รู้แล้วทำบาปนั่นแหละครับ. ถ้าบาลี จะต้องกำหนดไปเลยว่า เป็น ปัญญา หรือ สัญญา. แต่ภาษาไทยไม่มีคำเฉพาะที่ปริจเฉทออกมาแล้วได้อรรถะพอดีกับตัวสภาวะอย่างนั้น ครับ.

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงต้องพยายามนึกตัวภาษาบาลีให้ออก ก่อนจะวิเคราะห์คำถาม เพื่อให้สามารถหาคำตอบได้ตรงตามแนวของพระไตรปิฎก อรรถกถา มากที่สุด ครับ.

วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พระพุทธเจ้าเทศน์ไม่เก่งเอง หรือ เราไม่พยามดีให้พอจะบรรลุนิพพาน?

พระพุทธเจ้า เทศนาไม่เก่ง จึงไม่สามารถทำให้พวกเราบรรลุได้โดยง่าย ไม่สามารถทำให้พวกเราฟังอภิธรรมเข้าใจได้ง่ายๆ?, หรือ พวกเราเอง ที่ไม่พยายามพัฒนาตนเองให้ดีพอที่จะฟังพระพุทธเจ้ารู้เรื่อง?

วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แม้ธรรมะจะน่าเคารพในทุกภาษา, แต่เมื่อจะรักษาศาสนา ก็ควรจะรักษาไว้ในรูปแบบของภาษาบาลี.

ธรรมะ จะภาษาไหน ก็น่าเคารพ เพราะถ้าเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ทำให้บรรลุธรรมได้ ก็เป็นของที่ควรเน้น ควรทำให้หนักอยู่แล้ว ครับ.

พระพุทธเจ้าไปในแต่ละท้องถิ่น ก็ทรงแสดงบาลีในแบบของท้องถิ่นนั้นๆ ที่เขาฟังแล้วเข้าใจ ครับ.

แต่บาลี เป็นภาษาที่รักษาธรรมะ และไม่มีภาษาใดที่รักษาธรรมะได้ดีเท่าบาลี ครับ. ฉะนั้น เมื่อจะเรียนธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างพิศดาร จึงต้องกลับมาใช้ภาษาบาลี เพราะภาษาอื่นไม่รองรับสภาวะธรรมที่ลึกซึ้ง.

อย่างอภิธรรมที่เรียนๆ กันอยู่ ก็มีแต่ภาษาบาลีทั้งนั้น เพราะแปลไม่ได้ แปลแล้ว องค์ธรรมไม่ครบ เข้าใจกันไปคนละทิศทาง.

เช่น อภิญฺญาตํ ศัพท์นี้ มีอุปสรรค ธาตุ ปัจจัย ลิงค์ วิภัติ สมาส มีฐาน กรณ์ ปยตนะ และถ้าไปอยู่กับศัพท์อื่นก็มีสนธิอีก เป็นต้น เป็นของๆ ตนในแบบบาลี.

แต่พอแปลเป็นไทยปุ๊ปว่า "มีชื่อเสียง" คำนี้ถ้าไม่ลบทิ้งแล้วแปลศัพท์ใหม่ให้ตรงตามหลักบาลีน้อยก็หาอุปสรรค ธาตุ ปัจจัย วิภัติ ไม่ได้, ฐาน กรณ์ ปยตนะ ในภาษาไทย ก็มีน้อยกว่าบาลี ฉะนั้น ท่องไปท่องมา คำก็จะเหมือนกันไปหมด แล้วก็สับสน, สนธิภาษาไทยก็แทบไม่มี ติดกันเป็นพรืดไปหมด.

ฉะนั้น แม้ธรรมะจะน่าเคารพในทุกภาษา, แต่เมื่อจะรักษาศาสนา ก็ควรจะรักษาไว้ในรูปแบบของภาษาบาลี ครับ. ทั้งนี้ก็เพื่อความเข้าใจธรรมะอย่างครบถ้วนของผู้รักษาธรรมะเองจนถึงมรรคผลก่อน แล้วจึงจะรักษาโดยการมอบธรรมะ มอบมรรคผล ให้ผู้อื่น ครับ.

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร https://wiki.sutta.men/ฟุตโน้ต:541:99 -------------...