วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

นั่งสมาธิเองที่บ้านอย่างไรไม่ให้บ้า

อย่ายึดติดกับความคิดตัวเอง หรือยึดติดกับอาจารย์ของตัวเอง อย่ายึดติดกับสิ่งที่เคยปฏิบัติตามๆกันมาไม่ว่าจะทำมานานเท่าไหร่แล้วก็ตาม เปิดใจรับฟังคนอื่น #พยายามคิดปรับปรุงพัฒนาการนั่งสมาธิ ให้ใกล้เคียงกับพระไตรปิฎกมากขึ้นๆ ตลอดเวลา

แต่จริงๆพระอาจารย์ที่มีความชำนาญช่วยได้มากนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านปฏิบัติมานาน และสามารถทรงจำพระไตรปิฎกได้อย่างเข้าใจ

ถ้านั่งสมาธิ แล้วพัฒนาสม่ำเสมอแบบนี้ไม่บ้าแน่นอนครับ

แยกจิตเจตสิกได้อย่างไร ในเมื่อเกิดแยกกันไม่ได้

เรื่องนี้ คนนั่งสมาธิได้เปรียบมากๆ สามารถแยกแยะจิตเจตสิกออกได้ละเอียดกว่าคนไม่เคยนั่งสมาธิได้ง่ายๆเลย
จิตเจตสิกไม่แยกกันเกิดก็จริง แต่ปัญญาสามารถแทงตลอดหั่นแยกจิตเจตสิก ตามลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละอย่างได้ (เกิดด้วยกันเหมือนเดิม แต่ปัญญาเข้าใจแต่ละอย่างๆ แยกกันได้)
เรื่องนี้สามารถดูจาก คาถาในจตุธาตุววัตถานกถา วิสุทธิมรรคได้ครับ

สมาธิเสีย ถ้ามั่วสนใจอาการคันยุบยิบ ไม่กลับไปที่ลมหายใจ (อารมณ์กรรมฐาน)

ปกติมันก็คันอยู่แล้วครับ แต่ตอนที่ยังไม่ได้ทำสมาธิ จิตก็ไปรู้อย่างอื่นนอกจากคัน
แต่อย่าลืมว่าเรากำลังทำสมาธิครับ และอารมณ์กรรมฐานของเราไม่ใช่อาการคัน ถ้าเราไม่รีบกลับมาที่อารมณ์กรรมฐาน #นั่นคือกรรมฐานเสื่อมแล้วนะครับ ฉะนั้นอย่าสนใจอาการคันให้กลับมาที่อารมณ์กรรมฐานครับ แต่ถ้าระวังไม่ได้ก็ค่อยๆขยับไปเกาเบาๆ แล้วรีบกลับมาที่อารมณ์กรรมฐานเหมือนเดิมครับ

วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ฉลาดในประโยชน์สุข 6 จะประสบอะไรก็สบายใจ

ถ้าได้สร้างประโยชน์ 6 ไว้เป็นปกติ จนกลายเป็นนิสัยแล้ว...

จะมีคนเห็นสนใจ หรือ ไร้ค่าไม่มีความหมายสำหรับใครๆก็ตาม... จะ appear หรือ  disappear จากชาวโลกก็ตาม... 

ท่านผู้สร้างประโยชน์นั้น ก็มีความสุขไม่มีประมาณในหัวใจของท่านเองอยู่แล้ว โดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งภายนอกมาสร้างความสุข

#ประโยชน์6 คือ
1.ประโยชน์ชาตินี้ 
2.ประโยชน์ชาติอื่น 
3.ประโยชน์คือความดับทุกข์ทั้งปวงชัวร์ๆ 
4.ประโยชน์ตนเอง 
5.ประโยชน์คนรอบข้าง 
6.ประโยชน์สังคมส่วนรวมทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ตัวอย่างแปล ลักขณาทิจตุกะของสติ และวิธีแปลไม่ให้พลาด

แปลจากลักขณาทิจตุกกะของสติ:

สติที่ให้ประโยชน์สุขทั้ง 6 อย่าง จะไม่ลืมระลึกอารมณ์ที่จดจำไว้อย่างแม่นยำว่า "อารมณ์นี้เป็นอารมณ์ทำให้เกิดประโยชน์สุข 6 อย่าง" เป็นต้น.

-------------------------------------
เป็นต้น = "นี้เป็นอารมณ์ให้พลาดประโยชน์สุข 6 อย่าง", "นี้ไม่ทำให้เกิดประโยชน์สุข 6 อย่างด้วย ไม่ทำให้พลาดประโยชน์สุข 6 อย่างด้วย".
ประโยชน์สุข 6 อย่าง คือ ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า ประโยชน์คือนิพพาน ประโยชน์ตนเอง ประโยชน์คนรอบข้าง ประโยชน์ส่วนรวม.
---------------------------
ดึงปัจจยธรรมมาแปลด้วยครับ, การแปลบาลี ให้แปลแบบสภาค ฆฏนา บางคำมาก่อน บางคำมาหลัง ต้องโยคมาให้ครบตามบริบท อย่างในที่นี้ลักขณาทิจตตุกกะของสติ มาในหมวดกุสลอยู่แล้ว บริบทก็กล่าวถึงกุศล ฉะนั้นเวลาแปลต้องไปโยคลักขณาทิจตุกกะของกุศล และลักขณาทิจตุกกะของสภาวธรรมอื่นๆ ที่ระบุไว้ในลักขณาทิจตุกกะ มาแปลด้วย (ในที่นี้ คือ ถิรสัญญาเจตสิก เป็นต้น), ไม่เช่นนั้น เท่ากับแปลไม่ครบ อรรถะตกหาย ก็จะขัดกับเนตติปกรณ์ทันที. นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมพระไตรปิฎกแปลฉบับปัจจุบันจึงอ่านยากมากๆ เพราะดึงปัจจยธรรมมาไม่ครบตามที่บริบทบาลีระบุไว้, และพระพุทธเจ้าจึงไม่ให้ท่องจำพระไตรปิฎกด้วยภาษาอื่น (ก็คือ ห้ามท่องจำรักษาด้วยฉบับแปลนั่นเอง)  ก็เพราะพอไปภาษาอื่นแล้ว ทำให้เวลาโยคสภาวะปัจจัยปัจจยุปบันแล้วมันมาได้ไม่ครบ เนื่องด้วยกฎของภาษาทุกภาษาที่ล้วนมีข้อแตกต่างกันอย่างมาก (เพราะลำดับบท 6 จะเป็นหาระจะพาผู้ท่องจำไปเข้าใจพยัญชนบท 6 จนได้อัตถบท 6 เมื่อได้แล้วก็เอาอัตถบท 6 มาทำกรรมนัย 2 พอเทียบองค์ธรรมได้ทิสใครทิสมัน เหล่ากอใครเหล่ากอมันแล้ว ก็จะสามารถใช้อัตถนัย 3 นำอรรถะออกมาจากพระสูตรได้) ครับ.

ผมใช้วิธีแปลแบบนี้ร่วมกับการท่องจำซ้ำๆ ในการทำความเข้าใจปฏิสัมภิทามรรค เป็นต้น. มันได้ผลยอดเยี่มมากๆ ครับ.

วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

หลักสูตรบาลีควรให้ท่องจำพระสูตรบาลีที่เป็นกรรมฐานควบคู่ไปด้วย

หลักสูตรบาลีสมัยนี้ มีการให้ท่องจำพระสูตรบาลีที่เป็นกรรมฐานควบคู่ไปด้วยหรือไม่?

สมัยก่อนหลักสูตรบาลียุคผมไม่มีเลย น่าสังเวชมาก เพราะทำให้หัวใจผมห่างกรรมฐานตั้งแต่ต้น และกลายเป็นว่า ผมเรียนบาลีนานกว่าที่ควรจะเป็น. อย่างหลักการโยคในมหาสติปัฏฐานสูตร ผมก็ไปได้จากพะอ็อคตอยะซึ่งสอนกรรมฐาน, อาจารย์บาลีไม่มีใครสอนผมเลย กลับกันคือ อาจารย์บาลีกลับแสดงท่าทีงุนงงว่า ผมไปโยคอย่างนั้นได้ยังไง ทั้งที่จริงๆ โครงสร้างสูตรบอกไว้หมดทุกอย่าง, อรรถกถาก็บอกชัดเจน, แต่นักบาลีไม่เคยท่องจำพระสูตรให้ถูกหลักบาลีใหญ่ ก็เลยพากันงุนงงวิธีโยค เป็นต้น.

ตัวอย่างบ่งชี้ว่า ระบบการสอนบาลีปัจจุบันยังขาดความสมบูรณ์ครบวงจรอยู่ครับ และการสนทนาปรับความเข้าใจก็ลำบาก เพราะนักบาลีไม่ชอบท่องจำพระสูตรกรรมฐานบาลีมาตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อจิตไม่ผูกพันธ์ ก็เลยไม่ใส่ใจในรายละเอียด สักแต่ว่าแปลๆ ให้ผ่านๆ ไป.

แต่ทั้งนี้การอุทิศตัวสอนไม่ว่าจะสมบูรณ์หรือตามมีตามเกิด ก็ยังน่าสรรเสริญครับ. แต่ถ้าสอนไปด้วย ผูกไวยากรณ์เข้ากับกรรมฐานไปด้วย จะดีมากๆ.

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ตอบคำถามของผู้ไม่ทรงจำพระสูตรบาลี ไม่เคยทำฌาน แต่ดูหมิ่นผู้ได้ฌานที่ทรงจำพระบาลี

1. วิปัสสนาคืออะไร? ปฏิบัติอย่างไรเรียกว่าวิปัสสนา?
-การเห็นขันธ์ทั้งหมดโดยแง่มุมปัจจัยปุจจยุปบันต่างๆ คือโดยปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปปันนะ และโดยลักษณะ ทั้งโดยอัทธา สันนติ และขณะว่า แต่ละอย่างๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ชื่อว่าวิปัสสนาปัญญา, ปัญญานั้นแหละที่มีความชำนาญดี จนสามารถเห็นอย่างนั้นนั่นแหละ ในวิปัสสนาจารจิตวิถีวาระสุดท้ายที่เข้าไปเห็นขันธ์อย่างนั้นได้ ไม่เหลือขันธ์ใดที่ยังไม่ได้เข้าไปเห็นอย่างนั้นอีกเลย เรียกว่า วิปัสสนาญาณ.
-การมีสีลวิสุทธิแล้ว มีจิตตวิสุทธิแล้ว #เข้าถึงภาวะแห่งทิฏฐิจริตบุคคล มีทิฏฐิวิสุทธิแล้ว มีกังขาวิตรณวิสุทธิแล้ว มีสัมมสนญาณแล้ว มีมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิแล้ว, ทำปัญญาที่กล่าวมาข้างบนนั้นให้เกิดต่อเนื่องไม่ขาดสาย ชื่อว่า วิปัสสนาปัญญา. เมื่อใดโทษเริ่มปรากฎแก่ผู้ปฏิบัติภังคานุปัสสนาวิปัสสนาอยู่อย่างนั้น เมื่อนั้นชื่อว่า ปัญญานั้นชำนาญในขั้นวิปัสสนาญาณ เพียงพอสำหรับทำอาทีนวญาณต่อไป.
(ปฏิสมฺภิทามรรค, เนตฺติ, วิสุทฺธิมคฺค)
2. ทำสมาธิต่างจากทำสมถะ, ต่างจากทำวิปัสสนาอย่างไร ?
สมถะหนีอารมณ์ เพราะเห็นอนิจจังทุกขังแล้วเบื่อหน่าย แต่ไม่แทงตลอดปัจจัยปัจจยุปบันจนเห็นอนัตตา เพราะไม่ได้เอาอนิจจัง ทุกขังมาภาวนา, วิปัสสนาเอาอนิจจังทุกขังมาภาวนา โดยแทงตลอดปัจจัยปัจจยุปบันเห็นอนิจจังทุกขัง จนเห็นอนัตตาปรากฎชัดขึ้นมาด้วย. อย่างไรก็ตาม จิตตวิสุทธิสมถะภาวนา จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเนยยบุคคล และวิปปจิตัญญูตัณหาจริต เพราะพลววิปัสสนาญาณมีปฏิปักข์ คือ อนุสัยกิเลส, ฉะนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ข่มปริยุฏฐานกิเลสด้วยจิตตวิสุทธิสมถะภาวนามาให้ชำนาญก่อน ปัญญาจะไม่ไวและมีกำลังพอจะเกิดต่อเนื่องโดยไม่มีปริยุฏฐานขั้น และวิปัสสนาที่เกิดไม่ต่อเนื่องมีปริยุฏฐานขั้นนี้เอง ไม่เป็นภาวนาจึงไม่สามารถพัฒนาเป็นญาณได้ (แต่ในทิฏฐิจริตบุคคล หรือ ตัณหาจริตบุคคลที่ได้ฌานแล้ว จะเหลือเพียงอุปักกิเลสที่จะเกิดแทรกภังคานุปัสสนาญาณ และพลววิปัสสนาญาณจะเสื่อม กิเลสตัวนี้ละเอียดว่า ปริยุฏฐานปกติ).
3. ทำฌานนั่งทางในเห็นอดีต เห็นอนาคต เห็นเลข หวยเรียกว่าทำวิปัสสนาใช่ไหม?
คำถามนี้หมิ่นเหม่ครับ. คนไม่เคยทำฌานอย่างถูกวิธีตามวิสุทธิมรรค และไม่ได้ทรงจำกายคตาสติสูตรบาลี มหาสติปัฏฐานสูตรบาลี ด้วยวิธีของเนตติปกรณ์และปฏิสัมภิทามรรค จะคิดไปเองว่า "คนทำฌานนั่งทางในเห็นอดีต เห็นอนาคต เห็นเลข".
ระวังจะเป็นการดูหมิ่นพระบาลีนะครับ. ท่านดูตอนท้ายของกายคตาสติสูตรหรือยัง? ท่านรู้ความเชื่อมโยงของกายคตาสติสูตรและมหาสติสูตรบาลีครบถ้วนตามหลักเนตติปกรณ์หรือไม่?  ท่านเข้าใจมติกาเนตติปกรณ์และปฏิสัมภิทามรรคญาณกถา ดีเพียงไร?
ท่องจำบาลีให้ดี เพ่งทุกอักขระให้ดี สูตรเดียว แม้จำได้ทุกตัวอักษรแล้วแล้ว แต่ก็ยังต้องฝึกท่องทวนซ้ำๆ เพ่งด้วยเนตติปกรณ์อีกเป็นปีๆ กว่าจะเข้าใจได้จริงๆ แบบที่ผู้ทรงพระไตรปิฎก จูฬสุมนะและมหานาคะ ท่านทำกันในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร. ฉะนั้น ผู้ที่อ่านแต่ฉบับแปล ท่องแต่ฉบับแปล จะไม่มีทางเข้าใจพระสูตรได้อย่างลึกซึ้ง เพราะฉบับแปลซับซ้อนกว่ามาก และตกหล่นเยอะมาก จึงเป็นผู้มีปกติดูหมิ่นพระสูตรที่ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก ท่านทรงจำไว้ตามที่พระพุทธเจ้าสั่งให้จำไว้ #ดูหมิ่นพระสูตรแล้วๆเล่าๆโดยไม่รู้ตัว. ไม่ทำฌานอย่าสอนเรื่องฌาน อย่าตำหนิเรื่องฌาน, ไม่ทรงจำบาลีพระสูตรอย่างชำ่ชองแทงตลอดทุกอักขระ อย่าสอนพระสูตรครับ เพราะเมื่ออุปาทานเข้าไปยึดแล้ว ต่อให้ผมอ้างพระสูตรมาอีก 100 สูตร ท่านก็อาจไม่สละคืนทิฏฐิแล้วในตอนนั้น.
4. สติปัฏฐานต่างจากวิปัสสนาอย่างไร ? ปฏิบัติเหมือนกันหรือไม่ ? ผู้ปฏิบัติจะมีฤทธิ์ไหม ?
สติปัฏฐานมีความหมาย 3 อย่าง แต่เมื่อมาคู่กับวิปัสสนา หมายถึง สติที่ตั้งมั่นในอารมณ์. สติปัฏฐานเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา. วิปัสสนาเป็นวิปัสสนาเท่านั้น.
ในกายคตาสติสูตรอรรถกถา และวิสุทธิมรรคกายคตาสติกถา แสดงไว้ว่า กาย 11 บรรพะ เป็นได้ทั้งสมถะและได้ทั้งวิปัสสนา ขึ้นอยู่กับวิธีการกำหนด. ทั้ง 14 บรรพะท่านแสดงไว้ในกายคตาสติสูตรบาลีซึ่งแสดงเบื้องต้นด้วยอุปจาระ ท่ามกลางสูตรด้วยอัปปนาและอุปมา ที่สุดของสูตรด้วยอานิสงส์ ซึ่งรวมถึงการมีฤทธิ์ด้วย (อาศัยนิมิตของ 14 กอง มาทำกสิณต่ออีกทีหนึ่ง อรรถกถาของกายคตาสติสูตรและวิสุทธิมรรค กายคตาสติกถากล่าวไว้).
5. นิพพานเป็นเมืองใช่ไหม? ใครไปถึงแล้วไม่แก่ ไม่ตาย จริงไหม ? ทำอย่างไรจึงไปถึงนิพพานได้ ?
ไม่ใช่. ไม่ใช่. ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า.

วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ใจห่างสมาธิ อรรถกถาแนะนำว่า ให้คบหา สนทนากับผู้ชอบสมาธิ

จริงๆ ใครที่ทำอานาปานสติไม่คล่อง ไม่ค่อยได้ทำ ก็มาคุยเรื่องสมาธิกันในกลุ่มธรรมะต่างๆ ได้นะครับ เพื่อให้จิตน้อมไปในปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา.

การสนทนาจะเป็นปฏิปักข์กับผู้ที่ทำสมถกัมมัฏฐานจริงจังจนเริ่มได้นิมิต, แต่กับผู้ที่จิตใจเหินห่างจากสมาธิ ทำบ้าง ไม่ทำบ้างนั้น การสนทนาเรื่องสมาธิ ย่อมดีกว่า ปล่อยเวลาไปกับเรื่องอื่นๆ ครับ (เช่น ผมเอง หรือ ฆราวาส ที่ยังทำกิจทางโลกอยู่ เช่นเดียวกับผม)

ใน อ. มหาสติปัฏฐานสูตร เหตุเกิดโพชฌงค์ ฝ่ายสมาธิ ท่านมีการคบค้า คลุกคลี พูดคุยเรื่องสมาธิ กับผู้ชอบทำสมาธิ โดยเฉพาะผู้ที่ได้อุปจาระ อัปปนาแล้ว เป็นเหตุแห่งสมาธิด้วยนะครับ.

ธรรมเป็นเหตุเกิดสมาธิสัมโพชฌงค์
https://th.m.wikisource.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%81%E0%B8%96%E0%B8%B2_%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8F%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3_%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%99#ธรรมเป็นเหตุเกิดสมาธิสัมโพชฌงค์


การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร

การร้องทำนองเพลงที่ใจนึกถึงธรรมะ สมควรอยู่, แต่การร้องธรรมะที่ใจนึกถึงทำนองเพลง ไม่สมควร https://wiki.sutta.men/ฟุตโน้ต:541:99 -------------...