สติปัฏฐานสูตร หรือ
มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นพระสูตรสำคัญในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่ชาวกุรุชนบท ชื่อว่ากัมมาสทัมมะ
[1][2][3]โดยปัจจุบันเมืองกัมมาสทัมมะอยู่ใน
กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย. สติปัฏฐานสูตรหรือมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นแนวทางปฏิบัตินี้มีเป้าหมายเดียว คือ การบรรลุนิพพาน.
มหาสติปัฏฐานสูตร เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์ตอนเริ่มพระสูตร อาจกล่าวได้ว่าพระสูตรนี้แสดงหลักการพัฒนาตนเพื่อเป้าหมายคือการบรรลุนิพพานสำหรับบุคคลหลายจริต หลายระดับ
[4] คือให้มีสติสัมปชัญญะตามดูอารมณ์กรรมฐานไม่ขาดตอนให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง
[5]เพื่อไม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจกิเลสต่าง ๆ โดยมีแนวปฏิบัติเป็นขั้นตอน 4 ระดับ คือ พิจารณากาย, ความรู้สึก (เวทนา), จิต, และเหตุเกิดเหตุดับ (ธรรม).
สูตร เป็น นามกิตก์ แปลว่า การฟัง หรืออาจแปลได้อีกหลายความหมาย แต่ในที่นี้หมายถึงพระสูตรในพระไตรปิฎกหมวด
สุตตันตปิฎก ซึ่งหมายถึง สิ่งที่ได้ฟังแล้วจำมาได้.
ใน
มหาสติปัฏฐานสูตรท่านได้แสดงเรื่องเกี่ยวกับสติปัฏฐานไว้อย่างละเอียด โดยแบ่งแสดงออกเป็นข้อ ๆ เรียกว่า ปพฺพ(ปัพพะ,บรรพะ, ข้อ, แบบ) โดยในพระบาลีใช้คำว่า อปิจ(อะปิจะ - อีกอย่างหนึ่ง) เป็นเครื่องหมายในการแบ่ง
สติปัฏฐาน 4 อย่างลงไปอีก รวมทั้งสิ้น 21 บรรพะ เริ่มที่อานาปานบรรพะ และไปสิ้นสุดที่ สัจจบรรพะ โดยเรียงตาม พระพุทธพจน์ ได้ดังต่อไปนี้ :-
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานแสดงวิธีทำกรรมฐานด้วยการตามดูกาย 14 บรรพะ. ตาม
หลักเนตติปกรณ์บรรพะนี้เหมาะสำหรับการเริ่มต้นของตัณหา
จริต ที่มี
อินทรีย์คือปัญญาอ่อนกำลัง เพราะกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็น
รูปกรรมฐานเป็นของหยาบพิจารณาได้ชัดเจนง่ายกว่านามกรรมฐานใน 3 สติปัฏฐานที่เหลือ. ตาม
อรรถกถาของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานและ
หลักเนตติปกรณ์ ผู้ที่ปฏิบัติตามกายานุปัสสนา
สติปัฏฐานจนสามารถ
ตทังคปหานหรือวิกขัมภนปหานอภิชฌาและโทมนัสได้แล้ว เท่ากับได้รูปกรรมฐานแล้ว ฉะนั้น จะต้องทำสติปัฏฐาน 3 ข้อหลังต่อด้วย, เพื่อทำปหานในอรูปธรรมด้วย ไม่เช่นนั้น อนุสัยกิเลสก็จะนอนเนืองในอรูปกรรมฐานเหล่านั้น คอยเป็น
อุปปนิสสยปัจจัยแบบอารัมมณะแก่ปริยุฏฐานกิเลส. อนึ่ง ในทุกๆ ท้ายบรรพะ จะมีการทำภังคญาณในสติของจิตดวงที่ทำรูปกรรมฐานหรืออรูปกรรมฐานดับไปในวาระจิตก่อนหน้าด้วย เพราะแม้เมื่อทำกรรมฐานทั้ง 21 บรรพะจนเป็นตทังคปหานหรือวิกขัมภนปหานแล้ว แต่อภิชฌาและโทมนัสก็ยังสามารถอาศัยอยู่ในจิตที่เพิ่งทำวิปัสสนาได้. ต่อไปนี้เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน 14 แบบ:-
1.
อานาปานบรรพะ - แสดงวิธีทำกรรมฐานด้วยการตามดูลมหายใจ หรือ ที่เรียกว่า
อานาปานสติ โดยพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างย่อเฉพาะฝ่ายสมถะ 4 ข้อ จาก 16 ข้อ ใน
อานาปานัสสติสูตร.
อรรถกถา
กล่าวว่า "บรรพะนี้เหมาะกับสมถ
ยานิก[6]" เพราะเป็นกรรมฐานที่ทำให้ถึงโลกิย
อัปปนาได้. ส่วนวิปัสสนาที่เหลือ 12 ข้อในอานาปานัสสติสูตร ถูกย่อไว้ในท้ายบรรพะที่แสดงวิธีการเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาไว้ว่า "โยคีตามเห็นเหตุเกิดในกายบ้าง ตามเห็นเหตุดับในกายบ้าง (สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา ฯลฯ)", ซึ่งอรรถกถาอธิบายข้อความนั้นไว้ 2 ส่วน คือ
- ส่วนสมถะ อธิบายเหตุให้เกิดลมหายใจ
- ส่วนภังคญาณ อธิบายนิโรธสัจของสติในจิตที่พิจารณาเหตุเกิดส่วนสมถะไป.
อนึ่ง บรรพะนี้และทุกบรรพะรวมถึงในอุทเทส แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ
- ส่วนอารมณ์ที่ถูกตามดู จะอยู่ก่อนอนุปัสสี (ตามพิจารณาเห็น) และ อิติ (ดังนี้) ศัพท์ ซึ่งส่วนนี้ของแต่ละบรรพะจะเหมาะกับสมถยานิกหรือวิปัสสนายานิกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น. อย่างอานาปานสติบรรพะนี้ ท่านแสดงว่าเป็นสมถยานิก.
- ส่วนสติสัมปชัญญะที่ตามดู จะอยู่หลังอนุปัสสีและอิติศัพท์ ซึ่งส่วนนี้ของแต่ละบรรพะจะให้ตามดูอารมณ์กรรมฐานนั้นๆ ทั้งของตนเองและของผู้อื่น แต่ตอนจบจะเหมือนกัน คือ ภังคญาณที่พิจารณาอริยสัจในสติดวงที่เพิ่งดับไปหลังทำกรรมฐานในอารมณ์ที่แสดงไว้ในส่วนแรกของบรรพะ.
อนึ่ง ส่วนนี้ในพระไตรปิฎกของมหายานไม่มี เพราะตาม
มหาโคสิงคสาลสูตรพระ
เถระผู้นำในสังคายนาครั้งที่ 1ของเถรวาท ส่วนมากท่านเป็นลูกศิษย์พระสารีบุตรอัครสาวกด้วย ฉะนั้น ท่านจึงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตรตามที่ฟังมาจากพระสารีบุตร เพราะพระพุทธเจ้า
ยกย่องธรรมะที่พระสารีบุตรแสดงให้เทียบเท่ากับที่พระองค์แสดง, ส่วนทางนิกายอื่นรวมถึงมหายานนั้น สังคายนากันโดยไม่มีพระเถระเหล่านั้นอยู่ด้วย ฉะนั้น พระสูตรฝั่งมหายานจึงไม่มีส่วนที่มาจากพระสารีบุตร ทั้งในสูตรนี้ และทั้งอภิธรรมด้วย.
2.
อิริยาปถบรรพะ - แสดงวิธีการทำกรรมฐานที่เรียนมาใดๆ ทั้งสมถะและวิปัสสนาให้ต่อเนื่องทุกอิริยาบถใหญ่ทั้ง 4
อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน.
อิริยาบถบรรพะและสัมปชัญญะบรรพะ เป็นกรรมฐานที่เหมาะกับวิปัสสนายานิก เพราะ
- ตามมติของพระมหาสิวะอารมณ์ที่แสดงในบรรพะนี้และสัมปชัญญะบรรพะไม่ใช่อารมณ์แบบอัปปนากรรมฐาน 30 จึงทำให้ถึงอัปปนาไม่ได้.
- แม้ตามมติของมหาอรรถกถา บรรพะนี้จะไม่ได้แสดงอารมณ์กรรมฐานไว้โดยตรง เพราะเป็นแค่บรรพะที่ย้ำให้ทำกรรมฐานใดๆ ให้ตลอดเวลาไม่มีหยุดพัก จึงไม่แสดงอารมณ์ของกรรมฐานไว้โดยตรง แต่เมื่อแยกอิริยาบถบัญญัติจากปรมัตถ์ตามมติของพระมหาสิวะแล้ว ก็จะได้อารมณ์เป็นรูปปรมัตถ์ ซึ่งรูปปรมัตถ์ไม่เป็นอารมณ์ของอัปปนาฌาน, ฉะนั้น อัปปนาจึงไม่เกิดในสองบรรพะนี้.
- อัปปนาสามารถเกิดได้ง่ายกว่าในอิริยาบถนั่ง, ถ้าท่านแสดงสองบรรพะนี้เป็นสมถะด้วย โยคีผู้ใหม่จะเดินบ้าง นอนบ้างทำสมถะ ซึ่งเป็นอิริยาบถที่ยากต่อการทำให้เกิดอัปปนา. แม้ผู้ที่ได้วสีแล้ว อิริยาบถนั่งก็ยังเป็นอิริยาบถที่เข้าอัปปนาได้ง่ายกว่า. อย่างไรก็ตาม สมถายานิกผู้ใหม่เมื่อเริ่มทำสมถะก็ควรทำทั้งอิริยาบถใหญ่และย่อยเช่นกันเพื่อรักษานิมิตกรรมฐาน เพียงแต่เน้นที่อิริยาบถนั่งเพราะจิตจะตั้งมั่นได้ง่ายกว่า กรรมฐานจะเจริญขึ้นง่ายและไวกว่าอิริยาบถอื่น.
ด้วยประการดังกล่าวมาแล้วนั้น อิริยาบถบรรพะและสัมปชัญญะบรรพะจึงเหมาะกับวิปัสสนายานิก. นอกจากนี้ มหาอรรถกถาของบรรพะนี้ก็อธิบายไว้ตามแนววิปัสสนาด้วย.
มีประเด็นว่า มหาอรรถกถา
[7]ไม่ให้ปฏิบัติวิปัสสนาโดยใช้อิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อย เพราะอิริยาบถไม่ใช่
สัมมสนรูป, แต่พระมหาสิวะได้อธิบายวิธีที่สามารถนำมาทำวิปัสสนาได้ โดยการแยก
รูปปรมัตถ์ออกจากอิริยาบถที่เป็น
อัตถบัญญัติ แล้วทำวิปัสสนาเฉพาะในสัมมสนรูป. อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์โดยหลัก
จตุพยูหหาระแล้ว วัตถุประสงค์ของบรรพะนี้ คือ การเน้นให้
โยคีทำกรรมฐานที่เรียนมาเช่นอานาปานัสสติเป็นต้นตลอดเวลาไม่ขาดช่วง, ฉะนั้น มติของ
มหาอรรถกถาจึงอธิบายโครงสร้างของสูตรได้ตรงตามพุทธประสงค์มากกว่า. ส่วนมติของพระมหาสิวะนั้นก็ถูกต้องตามหลักธรรมะและช่วยอธิบายเรื่องสมถยานิกและวิปัสสนายานิกที่มาในมหาอรรถกถาด้วย แม้จะไม่เข้ากับโครงสร้างของสูตรนี้ก็ตาม. ทั้งสองมติ
ไม่ได้ขัดแย้งกันและเป็นประโยชน์ทั้งคู่ พระพุทธโฆสาจารย์จึงไม่ตัดสินถูกผิดใดๆ ในสองมตินี้ เพียงแต่ให้มติของมหาอรรถกถาเป็นมติหลัก เพราะมติของมหาอรรถกถาเข้ากับโครงสร้างของสูตรมากกว่า.
3. สัมปชัญญบรรพะ - แสดงวิธีการทำกรรมฐานใดๆ ที่เรียนมาทั้งสมถะและวิปัสสนาให้ต่อเนื่องทุกอิริยาบถย่อยทั้ง 7 คือ เดินหน้า ถอยหลัง แล เหลียว เหยียด คู้ ใช้สอยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ. คำอธิบายที่เหลือดูคำอธิบายอิริยาบถบรรพะข้างบน.
4.
ธาตุมนสิการบรรพะ - แสดงวิธีการทำกรรมฐานด้วย
ธาตุ 4อย่าง
ย่อ คือ แสดงเพียงธาตุดิน (m-มวล) ธาตุน้ำ (a-ความดึงดูด,ความเร่ง,ความหนืด) ธาตุไฟ (t-อุณหภูมิ) ธาตุลม (v,u-ความเร็ว,ความไหว) ซึ่งต่างจาก
มหาหัตถิปโทปมสูตรที่แสดงไว้อย่างละเอียดกว่า. บรรพะนี้เหมาะกับวิปัสสนายานิก เพราะธาตุ 4 เป็นรูปปรมัตถ์ ไม่ใช่อารมณ์ของอัปปนา อรรถกถาของบรรพะนี้จึงอธิบายทั้งสองส่วนของสูตรเป็นกรรมฐานวิปัสสนาทั้งหมด คือ จตุธาตุววัตถานในส่วนแรกและภังคญาณในส่วนหลัง.
5.
ปฏิกูลมนสิการบรรพะ - แสดงวิธีการทำกรรมฐานด้วย
การระลึกถึงแต่อวัยวะ 32 หรือที่เรียกว่า อาการ 32. บรรพะนี้เหมาะกับสมถะยานิก เพราะมีอารมณ์เป็นอวัยวะสมูหฆนอัตถ
บัญญัติจึงสามารถบรรลุโลกิยอัปปนาได้. คำอธิบายที่เหลือดูคำอธิบายอานาปานบรรพะข้างบน.
6-14.
นวสีวถิกาบรรพะ - แสดงวิธีการทำกรรมฐานด้วย
สีวถิกหรือ ซากศพไว้ 9 วาระ. มหาอรรถกถาแนะนำว่า "บรรพะนี้เหมาะกับสมถยานิก" เพราะอารมณ์ของอสุภกรรมฐานที่ทำให้บรรลุโลกิยอัปปนาได้. และพระมหาสิวะได้กล่าวเสริมว่า "บรรพะนี้แสดงวิปัสสนา" ไว้ด้วย เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงนวสีวถิกาไว้ด้วยสำนวนอาทีนวญาณ. สรุปว่า อารมณ์เหมาะกับสมถยานิก แต่ก็สามารถนำไปทำวิปัสสนาได้เช่นกัน.
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานแสดงวิธีการทำกรรมฐานด้วยเวทนา 3 ไว้ 1 บรรพะ. ตาม
หลักเนตติปกรณ์บรรพะนี้เหมาะสำหรับโยคีที่เป็นตัณหา
จริต ที่มี
อินทรีย์คือปัญญาแก่กล้า เพราะเมื่อปหานอภิชฌาและโทมนัสในกายได้แล้ว ตัณหาก็จะไปติดใจในอรูปธรรมอยู่อีก ทำให้นิวรณ์ยังคงเกิดแทรกภาวนาได้ ทั้งโลกิยะและโลกุตตรอัปปนาจึงไม่อาจเกิดได้ ทางแก้คือ ทำอรูปกรรมฐาน แต่อรูปกรรมฐานมีถึง 3 สติปัฏฐาน จะต้องเลือกว่าจะเจริญสติปัฏฐานไหนก่อน มหาอรรถกถา
จึงอธิบายว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานต่อจากกายานุปัสสนา เพราะเวทนา ผัสสะ และจิต สามารถตามดูได้ชัดเจนง่ายกว่า
อรูปธรรมอื่นๆ. ส่วนวิธีเลือกว่าจะเอาเวทนาหรือจิตมาเป็นอารมณ์กรรมฐานนั้น ตาม
หลักเนตติปกรณ์ มีหลักอยู่ว่า โยคีตัณหาจริตที่มีปัญญาแก่กล้าแล้ว ยังมีสุขเวทนา
วิปัลลาสในอรูปธรรมอยู่มาก จึงควรทำปหานะตัณหาในเวทนาก่อน ด้วยการทำเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน, ส่วนโยคีทิฏฐิจริตที่อินทรีย์คือปัญญาอ่อนหัดนั้นปหานวิปัลลาสในเวทนาได้แล้ว จึงให้ทำจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเหลือนิจจและอัตตวิปัลลาสอยู่ โดยให้ทำจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก่อน เพราะมีรายละเอียดน้อยกว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อปหานนิจจทิฏฐิได้แล้ว ถ้ายังไม่บรรลุมรรคผลค่อยทำธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเพื่อละอัตตทิฏฐิ. ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายหลักการปฏิบัติโดยย่อ:-
15.
เวทนาบรรพะ - แสดงวิธีการทำกรรมฐานด้วย
เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ ที่มี
อามิส ไม่มีอามิสไว้ เพื่อที่จะทำปหานะเวทนาที่มีอามิสและเจริญเวทนาที่ไม่มีอามิสแทน.
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานแสดงวิธีการทำกรรมฐานด้วยจิต 1 บรรพะ. ตาม
หลักเนตติปกรณ์บรรพะนี้เหมาะสำหรับโยคีที่เป็นทิฏฐิ
จริต ที่มี
อินทรีย์คือปัญญาอ่อนหัด คำอธิบายอื่นดูในหัวข้อเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน. ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายหลักการปฏิบัติโดยย่อ:-
16.
จิตตบรรพะ - แสดงวิธีการทำกรรมฐานด้วย
จิตด้วยการวิเคราะห์สัมปยุตธรรมของจิตปัจจุบันสันตติ เพื่อทำ
ฆนะวินิพโภคะ (การแยกปัจจัยปัจจยุปบันที่ซับซ้อน)ในอรูปธรรม.
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานแสดงวิธีการทำกรรมฐานด้วยการหาเหตุเกิดและเหตุดับ 5 บรรพะ (ธัมม ศัพท์ ในอรรถการณะ, เหตุ). ตาม
หลักเนตติปกรณ์บรรพะนี้เหมาะสำหรับโยคีที่เป็นทิฏฐิ
จริต ที่มี
อินทรีย์คือปัญญาแก่กล้า คำอธิบายอื่นดูในหัวข้อเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน. ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายหลักการปฏิบัติโดยย่อ:-
17.
นีวรณบรรพะ - แสดงวิธีการทำกรรมฐานด้วยการหาเหตุเกิดและเหตุดับของ
นิวรณ์ เพื่อดับนิวรณ์ทั้งปวงโดยการทำสมถะเข้าฌาน แล้วทำให้ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปด้วยการทำปริญญากิจตามขันธบรรพะ.
18.
ขันธบรรพะ - แสดงวิธีการทำกรรมฐานด้วยการหาหาเหตุเกิดและเหตุดับของ
ขันธ์ทั้งปวง เพื่อดับขันธ์ทั้งปวงโดยไม่มีส่วนเหลือด้วยการทำสมุจเฉทปหานในเหตุเกิดและเหตุดับ คือ อวิชชาสังโยชน์และตัณหาสังโยชน์ตามอายตนบรรพะ.
19.
อายตนบรรพะ - แสดงวิธีการทำกรรมฐานด้วยการหาเหตุเกิดและเหตุดับของ
สังโยชน์ เพื่อทำให้สังโยชน์ทั้งปวงเกิดไม่ได้อีกต่อไป ด้วยการทำภาเวตัพพกิจตามโพชฌังคบรรพ.
20.
โพชฌังคบรรพะ - แสดงวิธีการทำกรรมฐานด้วยการหาเหตุเกิดและเหตุดับของ
โพชฌงค์ (องค์แห่งการตรัสรู้) เพื่อทำให้เจริญงอกงามสมบูรณ์เป็นอริยมรรคสัจที่ตรัสรู้อริยสัจ 4 ตามสัจจบรรพ.
21. สัจจะบรรพะ - แสดงวิธีการทำกรรมฐานด้วยการใช้สัมมาทิฏฐิในมรรคสัจหาเหตุเกิด (สมุทัยสัจ) และเหตุดับ (นิโรธสัจ) ของทุกข์. สัจจบรรพะในสูตรนี้แสดงละเอียดกว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เพราะในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรกล่าวว่า"ผู้ฟังมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 หมื่นคน" และ "ผุ้ฟังมีทั้งบรรพชิตและฆราวาส" ฉะนั้น จึงมีคนที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องฌานรวมอยู่ด้วย จึงต้องแสดงสัจจบรรพละเอียดกว่า ส่วนพระปัญจวัคคีย์นั้นตามพระโพธิสัตว์มานานจึงเคยทำฌานมาก่อนแล้ว เลยไม่ต้องแสดงมรรคสัจฝ่ายศีลและสมาธิอีก สมุทยสัจและนิโรธสัจก็ไม่ต้องแสดงละเอียดเท่า เพราะข่มมาดีแล้วด้วยฌาน.
การแสดงข้อมูลสำหรับสะสมอบรมสติปัฏฐานไว้ถึง 21 แบบ ซ้ำกันไปซ้ำกันมาในเรื่องเดียวกันอยู่อย่างนี้ เพราะทรงแสดงตามนิสัยสันดานของแต่ละคนที่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านข้อมูลและภาษาเป็นต้นมาไม่เหมือนกัน หากทรงแสดงย่อเพียงแบบใดแบบหนึ่ง ผู้ฟังบางส่วนอาจไม่สามารถทำความเข้าใจจนบรรลุได้.
แต่หากทรงแสดงหลากหลายแบบ เลือกคำพูดและร้อยเรียงเอาเรื่องราวที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลมาแสดงแล้ว ก็อาจทำให้ผู้ฟังบรรลุได้ตามประสงค์ เพราะผู้ฟังก็มีความเข้าใจในเรื่องนั้นๆอยู่ในระดับชำนาญเฉพาะทางอยู่แล้ว เพียงแค่ทรงบอกแนะเพิ่มเติมในจุดที่ขาดตกบกพร่องไปเท่านั้นเขาก็สามารถเข้าใจและบรรลุตามได้ไม่ยากเลย, เหมือนการอธิบายเรื่องพระเจ้าหลุยให้ชาวฝรั่งเศสฟังด้วยภาษาฝรั่งเศส ถ้าเจอคนโง่ก็อธิบายให้คนโง่ฟังอย่างละเอียด ถ้าเจอคนฉลาดก็อธิบายให้คนฉลาดอย่างสังเขป เป็นต้นนั่นเอง.
อนึ่ง ทั้ง 21 บรรพะนี้ พึงทราบว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้อย่างย่อเท่านั้น รายละเอียดจำเป็นต้องดูเพิ่มเติมที่สติปัฏฐานสังยุตต์ ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, สติปัฏฐานนิทเทส ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค, สติปัฏฐานวิภังค์ ในอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์(<<ละเอียดที่สุด) และคัมภีร์ชั้นอรรถกถา-ฏีกา เช่น อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร ใน สุมังคลวิลาสินีปกรณ์, อรรถกถาสติปัฏฐานสูตร ใน ปปัญจสูทนีปกรณ์, อรรถกถาสติปัฏฐานสังยุตต์ ใน สารัตถปกาสินีปกรณ์, อรรถกถาสติปัฏฐานนิทเทส ใน สัทธัมมปกาสินีปกรณ์, อรรถกถาสติปัฏฐานวิภังค์ ใน สัมโมหวิโนทนีปกรณ์, อภิธัมมัตถวิภาวินีฏีกา ฏีกาของอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ 7(ย่อไว้ดีมาก),ฏีกา-อนุฏีกาของอรรถกถาเหล่านั้น เป็นต้น. อย่างไรก็ตาม การจะทำความเข้าใจอย่างละเอียดนั้นจำเป็นต้องมีพื้นฐานในด้านข้อมูล-ภาษา-และความสัมพันธ์ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก-อรรถกถา-ฏีกามากพอสมควร ซึ่งสามารถหาประสบการและความชำนาญได้ด้วยการหาความรู้เพิ่มเติมไปอีก เช่น ถ้าอ่านเรื่อง "รูปขันธ์" ใน ขันธบรรพะ พร้อมอรรถกถา-ฏีกาแล้ว ก็ควรอ่านขันธวารวรรค ในสังยุตตนิกาย, ขันธวิภังค์ ในวิภังคปกรณ์, ขันธนิทเทส ในวิสุทธิมรรค ปัญญานิทเทส, การจำแนกขันธ์ที่มาในธัมมสังคณีปกรณ์, อภิธัมมัตถสังคหปกรณ์, อภิธัมมัตถวิภาวินีปกรณ์ เป็นต้น.
เปรียบเทียบมหาสติปัฏฐานสูตรกับสติปัฏฐานสูตร[แก้ | แก้ไขต้นฉบับ]
มหาสติปัฏฐานสูตร กับ สติปัฏฐานสูตร ต่างกันดังนี้ :-
- มหาสติปัฏฐานสูตรอยู่ในทีฆนิกาย ส่วนสติปัฏฐานสูตรอยู่ในมัชฌิมนิกาย และในสังยุตตนิกายเป็นต้น
- สติปัฏฐานสูตรในมัชฌิมนิกาย จะมีการใช้เปยยาล(ฯลฯ) มาย่อข้อความที่ซ้ำๆกัน จึงทำให้ดูเหมือนสั้นลง แต่ความจริงถ้าแทนเปยยาลด้วยข้อความปรกติก็จะต้องมีขนาดเท่า กัน
- อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร ในทีฆนิกายนั้น บางบรรพะ เช่น อรรถกถาของสัมปชัญญบรรพะ เป็นต้น จะมีขนาดสั้นกว่า อรรถกถาของสติปัฏฐานสูตร ในมัชฌิมนิกาย เพราะท่านได้อธิบายไว้ก่อนแล้วในอรรถกถาของสามัญญผลสูตรเป็นต้น ท่านจึงไม่กล่าวซ้ำอีก. อรรถกถาของสติปัฏฐานสูตร ในมัชฌิมนิกายก็เช่นกัน คือ อรรถกถาของบางบรรพะ เช่น อรรถกถาของสัจจบรรพะ เป็นต้น ก็จะสั้นกว่าอรรถกถาเรื่องเดียวกันในทีฆนิกาย เพราะท่านได้กล่าวไว้ก่อนแล้วในอรรถกถาสูตรอื่นที่มาก่อน ซึ่งอยู่ในมัชฌิมนิกายเหมือนกัน เพราะแต่ละนิกายก็จะมีอรรถกถาคนละเล่ม เช่น อรรถกถาของทีฆนิกาย ชื่อ สุมังคลวิลาสินี, อรรถกถาของมัชฌิมนิกาย ชื่อ ปปัญจสูทนี เป็นต้น ซึ่งแม้จะมีเนื้อหาคล้ายๆกัน แต่ก็จะมีการเรียงเนื้อหาอธิบายต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่า สูตรไหนมาก่อน-คำไหนมาก่อน ก็ถูกอธิบายก่อน, สูตรไหนมาหลัง-คำไหนมาหลัง ก็ถูกอธิบายทีหลัง ที่อธิบายมาแล้วท่านก็จะให้ย้อนดูอันที่ผ่านมาแล้ว ไม่อธิบายซ้ำอีก, พอเป็นอรรถกถาคนละเล่มกัน อรรถกถาจึงสั้นยาวต่างกัน แต่ถ้าเอาที่ท่านละไว้มาเติมก็จะได้พอๆกัน ต่างกันบ้างเล็กน้อยแค่ในบางจุดเท่านั้น.
อนึ่ง ข้อน่าสังเกต คือ ฉ.
ฉัฏฐสังคายนาของพม่า
สติปัฏฐานสูตร ใน
มัชฌิมนิกาย ชื่อของพระพุทธพจน์จะใช้
มหาสติปัฏฐานสูตร ส่วนใน
อรรถกถาจะใช้แค่
สติปัฏฐานสูตร. เมื่อตรวจสอบกับที่อื่นๆ ใน
อรรถกถาก็พบว่า เมื่อ
สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกายอ้างถึงมหาสติปัฏฐานสูตรว่าจะอธิบายในสูตรนี้ ท่านก็จะใช้คำว่า "มหาสติปฏฺฐานสุตฺต". แต่ถ้าเป็นปปัญจสูทนี อรรถกถาของมัชฌิมนิกาย เวลาอ้างท่านจะใช้แค่ว่า "สติปฏฺฐานสุตฺต" ไม่ใช่ "มหาสติปฏฺฐานสุตฺต". ซึ่งเป็นอย่างนี้ทั้งในอรรถกถาและฏีกาของทั้ง 2 คัมภีร์ และตรงกันทั้ง ฉบับไทย ทั้ง ฉบับพม่า. จึงมีความเป็นไปได้ว่า ท่านใช้ชื่อสติปัฏฐานสูตรกับมหาสติปัฏฐานสูตร ตามแบบที่ไทยใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยแยกอย่างนี้มาตั้งแต่โบราณแล้ว.
ในอรรถกถาที่อื่นนั้น มีอยู่ 1 ที่ ในนิทานวรรคท่านเรียกรวมทั้ง มหาสติปัฏฐานสูตร ในทีฆนิกาย และ สติปัฏฐานสูตร ในมัชฌิมนิกาย รวมกันทั้ง 2 สูตร ว่าเป็น "มหาสติปัฏฐาน" ไปเลยก็มี. คงเป็นเพราะว่า ถ้าสติปัฏฐานสูตร ในมัชฌิมนิกายไม่ทำ
เปยยาลแล้วเขียนเต็มก็จะต้องมีขนาดเท่ากับมหาสติปัฏฐาน สูตรในมัชฌิมนิกายนั่นเอง.
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากอรรถกถา-ฏีกาของสติปัฏฐานสูตรและสติปัฏฐานสูตรสูตรมีดังนี้ :-
- ในอรรถกถา-ฏีกาท่านแนะไว้ใน สัจจบรรพวรรณนา ของทีฆนิกายว่า ไม่ควรกำหนด 4 บรรพะดังต่อไปนี้ก่อน คือ อิริยาบถบรรพะ สัมปชัญญบรรพะ นิวรณบรรพะ และโพชฌังคบรรพะ
เพราะอิริยาบถทั้งน้อยและใหญ่ไม่ใช่สัมมสนรูป จึงไม่ใช่อารมณ์ของวิปัสสนา, นิวรณ์เป็นปหาตัพพธรรม ควรข่มให้ได้ก่อน ไม่ใช่มัวแต่สัมมสนะ แล้วปล่อยให้นิวรณ์เกิด, ส่วนโพชฌงค์ในที่นี้ท่านหมายถึงโลกิยโพชฌงค์ ซึ่งถ้าหากกำหนดให้เบื่อหน่ายแล้วก็จะไม่คิดเจริญต่อ ฉนั้นจึงไม่ควรกำหนดตั้งแต่แรก.
- ในอรรถกถาท่านกล่าวว่า สติปัฏฐาน เป็นวินัยทั้ง 2 คือ ทั้งตทังควินัยและวิกขัมภนวินัย กล่าวคือ เป็นได้ทั้งขณิกสมาธิและอัปปนาสมาธิ ซึ่งอีกที่หนึ่งก็กล่าวให้บางบางบรรพะเป็นสมถะและบางบรรพะเป็น วิปัสสนา จึงสรุปความได้ว่า สติปัฏฐานเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา อย่าง อิริยาบถบรรพะเป็นต้นท่านก็ว่าเป็นวิปัสสนา ส่วนการจะทำฌานให้เป็นสติปัฏฐานได้นั้นก็ต้องทำเพื่อเป็น บาทของวิปัสสนา และถ้าไม่ทำฌานแต่จะทำสติปัฏฐานก็ต้องทำวิปัสสนา เพียงแต่การได้ฌานจะช่วยให้บรรลุได้สบายขึ้นกว่าคนที่ไม่ทำฌาน มาก่อนเท่านั้นเอง.
- หลักการวิปัสสนาที่อรรถกถาขยายความสติปัฏฐานในแต่ละบรรพะคือหลักปริญญา 3 ที่มาใน พระไตรปิฎก เล่ม 29 คัมภีร์มหานิทเทส และปฏิสัมภิทามรรคของพระสารีบุตรรวมถึงเนตติปกรณ์ทั้งสิ้น พระพุทธโฆสาจารย์ไม่ใช่การแต่งขึ้นเองแต่อย่างใด.
- บทว่า สมุทยธมฺมานุปสฺสี, วยธมฺมานุปสฺสี, สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี ที่มีอยู่ในทุกบรรพะ ในอรรถกถาและฏีกาท่านให้แปลว่า ผู้หมั่นเห็นเหตุของความเกิดขึ้น, ผู้หมั่นเหตุแห่งความหมดไป, ผู้หมั่นเหตุแห่งความเกิดขึ้นและความหมดไป ตามลำดับ. เพราะคำว่า ธรรม หมายถึงเหตุเกิดขึ้นหรือเหตุดับของขันธ์ 5 อย่าง ที่มาในปฏิสัมภิทามรรค อุทยัพพยญาณนิทเทส และวิสุทธิมรรค อุทยัพพยญาณกถา ได้แก่ การเกิดขึ้นและการดับของธรรมะ 2 อย่าง คือ ปัจจัย 6 อย่าง ได้แก่ อวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร ผัสสะ นามรูป และนิพพัตติลักษณะ คือ อุปาทขณะของสภาวะธรรมนั้น ๆ หรือ วิปริณามลักษณะ คือ ภังคขณะของสภาวะธรรมนั้น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง หากแปลว่า ธรรมคือความเกิด เป็นต้น จะหมายถึง นิพพัตติลักษณะหรือวิปริณามลักษณะเท่านั้น ส่วนธรรมอีก 4 อย่างที่เป็นปัจจัยจะคลุมไม่ถึง จึงเป้นคำแปลที่ขัดกับปฏิสัมภิทามรรค, อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร, ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร.
- ในอรรถกถาของทีฆนิกาย ระบุจำนวนคนที่บรรลุไว้ 30,000 ในตอนจบของอรรถกถาสูตรนี้.
- ในอรรถกถาใช้หลักปริญญา 3 เป็นเกณฑ์ในการอธิบายเนื้อความทั้งหมด และท่านขยายความปริญญา 3 ไว้แล้ว ในนิทเทสของวิสุทธิ 3 ได้แก่ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ และมัคคามัคญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเมื่อรวมพื้นฐานแล้วก็ได้วิสุทธิทั้ง 7 หรือ วิสุทธิมรรคทั้งเล่มนั่นเอง. ฉะนั้นท่านจึงอ้างถึงวิสุทธิมรรคไว้บ่อยมาก และใครที่ไม่เคยอ่านวิสุทธิมรรค หรืออ่านแล้วแต่ไม่รู้เรื่องเพราะไม่ชำนาญพระอภิธรรม หากไปอ่านอรรถกถาของมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นต้น และอรรถกถาส่วนใหญ่ที่เป็นข้อปฏิบัติอาจจะไม่เข้าใจเลย เพราะข้ามลำดับการศึกษาไปนั่นเอง แต่ทั้งนี้หากจะอ่านให้ผ่านตาไว้ก่อนในระหว่างศึกษาคัมภีร์พื้นฐานอยู่ก็ควรทำ เพราะจะสะสมเป็นอุปนิสัย ให้สามารถเข้าใจในอนาคตได้ในที่สุด.
- ก่อนสติปัฏฐานสูตร ในมัชฌิมนิกาย มีสูตรชื่อว่า สัมมาทิฏฐิสูตร ซึ่งท่านพระสารีบุตรบอกกรรมฐานไว้มากกว่าสติปัฏฐานสูตรอีก โดยกล่าวไว้ถึง 32 กรรมฐาน ในขณะที่สติปัฏฐานสูตรกล่าวไว้เพียง 21 กรรมฐานเท่านั้น. ในบรรดาพระสูตรด้วยกัน สัมมาทิฏฐิสูตรจึงถูกจัดว่า เป็นสูตรที่แสดงกรรมฐานไว้มากที่สุด.
- ในอรรถกถาและฏีกาท่านอธิบายคำว่า เอกายนมรรค ไว้ว่า หมายถึง ทางมุ่งสุ่พระนิพพานอย่างเดียว. ซึ่งจากคำอธิบายและตัวอย่างในฏีกานั้น ทำให้ทราบได้ว่า เอกายนมรรคอาจจะมีข้อปฏิบัติหลายอย่างได้ เช่น ในสติปัฏฐานสูตรก็มีกรรมฐานถึง 21 ข้อ ใน สัมมาทิฏฐิสูตรก็มีกรรมฐานถึง 32 ข้อ เป็นต้น.
- จากการที่สติปัฏฐานเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาจึงทำให้ทราบได้ ว่าสติปัฏฐานมีทั้งบัญญัติและปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เพราะสมถะ เช่น นิมิต ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่านิมิตเป็นบัญญัติ, ส่วนวิปัสสนา เช่น อิริยาบถบรรพะ ก็มีอิริยาบถและไตรลักษณ์เป็นต้น ซึ่งเป็นบัญญัติ เป็นอารมณ์ได้.
- ในสติปัฏฐานสูตรจะเน้นให้พิจารณาทั้งสิ่งที่เป็นของตนและของคนอื่นเพราะมี ข้อความว่า "พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ-เป็นผู้หมั่นพิจารณากายในกายอยู่" อยู่ในทุกบรรพะทั้ง 21 บรรพะเลยทีเดียว ซึ่งพระอรรถกถาและพระฏีกาจารย์ก็ย้ำไว้อีกในอรรถกถาของทุกบรรพะเช่นกันว่า "พิจารณาภายนอก หมายถึง ของคนอื่น". คำนี้ก็สอดคล้องกับสูตรทั่วไป เช่นที่เรามักได้ยินคำว่า "รูปที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ไกล ใกล้"เป็นต้น.
- สาเหตุที่คนมักเข้าใจว่า ท่านให้พิจารณาแค่จิตของตนเท่านั้น กายของตน เท่านั้น เป็นต้น อย่างหนึ่งน่าจะมาจากข้อความว่า "กายยาววาหนาคืบ"ซึ่งมีต้นเค้ามาจากพระไตรปิฎก แต่คำนี้ท่านก็ไม่ได้ระบุว่าหมายถึงของตนเองเท่านั้น.
- คำว่า "ตัณหาจริตอย่างอ่อน" และ"ทิฏฐิจริตอย่างอ่อน"นั้น สมัยนี้มีการพูดถึงกันมาก เพราะเอามาจากอรรถกถาสติปัฏฐานสูตรเป็นต้นนั่นเอง มาจากศัพท์ว่า "มนฺทสฺส ตณฺหาจริตสฺส" กับ "ทิฏฺฐิจริตสฺส มนฺทสฺส" ซึ่งดูจากฏีกาวิสุทธิมรรค และเนตติปกรณ์ รวมถึงในอรรถกถาของทีฆนิกายแล้ว ถ้าจะอ่านให้รู้เรื่องควรเข้าใจคำนี้ว่าเป็น "ตัณหาจริต ปัญญินทรีย์แก่กล้า/ปัญญินทรีย์อ่อนหัด" กับ "ทิฏฐิจริต ปัญญินทรีย์แก่กล้า/ปัญญินทรีย์อ่อนหัด".