วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ในวิภังค์

    (แปลตามอนุฏีกาของพระธัมมปาลาจารย์ครับ)

    เรื่องสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับผม เพราะมีการตีความที่ขัดแย้งกับอรรถกถาหลายมติจากหลายสำนัก จนนำไปสู่ความขัดแย้งเป็นก๊กเป็นเหล่าระหว่างสำนักที่ตั้งใจปฏิบัติตามพระไตรปิฎกด้วยกัน ซึ่งพระไตรปิฎกตรงนี้แปลยากมากสำหรับมือใหม่ (เพราะยังไม่ชำนาญกับอรรถกถาฏีกา) ผู้เขียนเองใช้เวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2006 จวบจนถึง ปีนี้ 2014 จึงแปลรู้เรื่อง. ด้วยเหตุนี้ จึงได้นำคำแปลนี้มาเผยแพร่ให้ได้ศึกษากัน ครับ.

    จินตามยปัญญา คือ บุคคลย่อมได้ปัญญาเหล่านี้โดยไม่ได้ฟังจากผู้อื่น คือ  
  1. ปัญญา(คือ ขันติ, ทิฏฐิ, รุจิ, มุทิ, เปกขา, ธัมมนิชฌานขันติ [ไวพจน์ของปัญญาทั้งหมด]) ในงานใช้แรงงานต่างๆที่จัดการด้วยปัญญาบ้าง (เช่นคิดด้วยตนเองว่าจะสร้างศาลาเพราะอยากให้คนอื่นมาพักผ่อนใช้สอย), 
  2. ปัญญาในงานใช้หัวคิดต่างๆที่จัดการด้วยปัญญาบ้าง(เช่นคิดด้วยตนเองว่าน่าจะทำแผนที่ให้คนอ่านจะได้ไม่หลงทาง),
  3. ปัญญาในงานใช้วิชชาต่างๆที่จัดการด้วยปัญญาบ้าง (เช่นคิดด้วยตนเองว่าน่าจะร่ายมนต์รักษาคนเขาจะได้หายป่วยเป็นสุข),
  4. กัมมสสกตาปัญญาบ้าง(เช่นคิดขึ้นมาเองว่า ทำบุญได้ผลเช่นนี้ ทำบาปได้ผลเช่นนี้ บุญควรทำ บาปไม่ควรทำ),
  5. สัจจานุโลมิกปัญญาบ้าง (ว่า "รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ ไม่เที่ยง" ดังนี้),
  6. หรือได้ปัญญาอะไรก็ตามที่เป็นอนุโลมิกะ (ปัญญาใดๆ ที่เข้ากันได้กับเหตุ 5 ข้อนั้น/กับประโยชน์ของสัตว์โลก/กับมัคคสัจ/และกับนิพพาน).


    -------------------------------------------------------------------------

    ในสุตมยปัญญาก็เหมือนกัน, ต่างกันตรงที่ สุตมยปัญญา ได้ยินได้ฟังมาจากคนอื่นจึงเกิดปัญญา ใน 6  ข้อนั้นขึ้นมา, ส่วนจินตามยปัญญาไม่ได้ยินได้ฟัง ก็สามารถคิดได้เอง.


    อรรถกถาบอกว่า เฉพาะสัจจานุโลมิกญาณเท่านั้น ที่เป็นจินตามยปัญญาเฉพาะของพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า, จินตามยปัญญาอื่นนอกนั้นสัตว์ที่มีปัญญามากเหล่าอื่นๆ ก็สามารถทำได้.

    ส่วนภาวนามยปัญญานั้น วิสุทธิมรรคมหาฏีกา กล่าวว่า หมายถึงวิปัสสนาและมรรคปัญญา. แต่ในที่นั้น ท่านหมายถึง ภาวนามยปัญญาในวิสุทธิ ๕ ข้อหลัง ที่เป็นวิปัสสนา เพราะเป็นเนื้อหาที่กำลังกล่าวอยู่ในวิสุทธิมรรคจุดนั้น, ดังนั้น จึงไม่ควรจะเอามาใช้ขยายในวิภังค์ตรงๆ ทีเดียว. ในวิภังค์ที่กำลังยกมาแปลนี้ โดยบริบทแล้วควรจะหมายถึง ฌานและมรรคปัญญา  (ถ้าเอาแบบวิสุทธิมรรคมหาฏีกาก็ต้องรวมทั้งอุปจาระด้วย ซึ่งผู้แปลมองว่า ซ้ำซ้อนกับสัจจานุโลมิกปัญญาข้างต้นจึงไม่เอามารวมไว้)

    ควรดูปัญญา 3 อย่างนี้ใน เทสนาหารปฏินิทเทส ในเนตติปกรณ์ประกอบด้วย เพื่อความเข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไป ครับ.

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น

    รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
    ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.

    ยุคนี้เบาแล้ว

    ยุคนี้เบาแล้ว ย้อนไปก่อนจะมีพระพุทธเจ้า  ดูประวัติศาสตร์โลกก็ได้โหดร้ายขนาดไหน, เดี๋ยวพอหมดยุคของพระพุทธเจ้านะ  โคตรหนักแน่นอน 😊  ไม่งั้นจะ...