วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ถึงแม้จะมีทิฐิ ขอให้ทำสมาธิไปก่อน เพราะวิปัสสนาอาศัยอุปจาระ-อัปปนาสมาธิ เป็นจิตตวิสุทธิ

จะมีเทคนิคหรือไม่มีเทคนิคทำสมาธิ ตราบเท่าที่ยังมีทิฐิเจตสิกเกิด ทำอะไรก็เป็นศิลพตปรามาสได้หมดครับ.

กระทั่งที่ผมพิมพ์ หรือที่ทุกคนกำลังอ่านอยู่นี้ ก็เป็นศิลพตปรามาสได้ว่า "การพิมพ์อย่างนี้เท่านั้นจริงการพิมพ์อย่างอื่นเปล่า", "การอ่านอย่างนี้เท่านั้นดี การอ่านอย่างอื่นเปล่า".

เพราะว่าไม่ได้เห็นนามรูปนั้นๆตามข้อเท็จจริงของเขาว่า "จริงหรือเท็จอย่างไร ตามปัจจัยปัจจุบันจริงๆที่เขาอาศัยเกิดขึ้น".

เมื่อไม่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างนั้น จะมีเทคนิคทำสมาธิ หรือไม่มีเทคนิคทำสมาธิ ก็ยังมีศิลพตปรามาสทั้งนั้น.

ฉะนั้น อะไรที่จะทำให้เข้าสมาธิได้ง่าย จะให้เกิดฉันทะวิริยะจิตตวีมังสาได้ง่าย ก็ทำไปก่อนเลยครับ เพราะขณะได้อัปปนาฌานนั้น ไม่มีทิฐิเกิดเลย แล้วก็ได้จิตตวิสุทธิมา ก็มั่นใจได้ว่าทำวิปัสสนาแล้วจะเป็นวิปัสสนาแน่ๆ.

เมื่อทำสมาธิแล้ว สิ่งที่จะต้องแก้ไขคือการทำวิปัสสนาให้สมบูรณ์ต่างหาก อันนี้แหละถึงจะละทิฐิได้. บางคนทำวิปัสสนา ไม่เคยเห็นความเกิดดับอย่างรวดเร็ว แสนโกฏิขณะในลัดนิ้วมือ จริงๆเลย. ไม่เคยประจักษ์วิถีจิตจริงๆ ไม่เคยประจักษ์วิถีรูปจริงๆ ที่เป็นของจริงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่เรียนแล้วก็คิดเดาเอาในห้องเรียน แต่เห็นด้วยสมาธิที่เป็นจิตตวิสุทธิจริงๆ ตามที่วิสุทธิมรรค ทิฏฐิวิสุทธินิทเทส กล่าวไว้ว่า จิตตวิสุทธิ ได้แก่อุปจารฌานและอัปปนาฌาน.

บางคนเห็นเกิดดับจริงๆแล้วก็จริง แต่ก็มีนิวรณ์เกิดขั้นวิปัสสนา อันนี้ก็ไม่เป็นพลววิปัสสนาอีก เมื่อไม่เป็นพลววิปัสสนา ก็เรียกว่าวิปัสสนาภาวนาได้ไม่เต็มปากนัก เพราะปหานปริญญาเริ่มที่นี่.

จะเห็นได้ว่า ทิฏฐุปาทานทำให้เกิดศิลพตปรามาส ไม่ใช่เทคนิคทำให้เกิดทิฏฐิ เพราะเทคนิคเหล่านี้พระอริยะท่านก็ใช้กัน ในพระไตรปิฎกก็มี ในอรรถกถาก็มี. แต่พระอริยะ ไม่มีทิฐิเจตสิกเลย ฉะนั้นพระอริยะท่านใช้เทคนิคในการนั่งสมาธิ ก็ไม่มีสีลพตปรามาสอยู่ดีครับ.

กราบเรียนด้วยความเคารพรักและปรารถนาดีอย่างยิ่ง 😊

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ระลึกนามรูปย้อนชาติ เห็นกรรมก่อนตาย ข้ามสงสัยในกาล 3

ตามหลักอภิธรรม และตามที่ผู้ทำฌานและวิปัสสนาได้เห็น ท่านระบุว่า  

การที่จะเห็นกรรมได้ชัดเจน จะต้องระลึกชาติไปจนถึงในขณะจิตแรกที่เกิดในครรภ์พร้อมกับแยกนามรูปไปด้วย เพราะขณะเกิดในครรภ์นั้นเป็นผลของกรรมๆ เดียวชัดเจน แล้วระลึกถึงกรรมต้นเหตุของมันโดยย้อนไปที่วาระจิตสุดท้ายก่อนจะตาย จะเป็นสิ่งที่จิตรู้ก่อนตาย และเห็นกรรมที่ทำให้จิตรู้สิ่งนั้น กรรมที่ปรากฎก่อนตายในชาติก่อนๆนี้แหละ ถ้าเป็นกรรมดี จิตก่อนตายก็จะรู้สิ่งที่ดี และไปเกิดในภพภูมิที่ดีแน่นอน แต่ถ้าเป็นกรรมชั่ว ก็จะไปเกิดในภพภูมิที่เลวร้ายแน่นอน.

ส่วนผลของกรรมหลังจากขณะปฏิสนธิในครรภ์  จะกำหนดให้ชัดได้ยากมากๆ เพราะจะมีทั้งผลของกรรมดีและผลของกรรมชั่วเกิดพร้อมกันเยอะแยะไปหมด เช่นขณะที่ตารู้สีที่สวยๆด้วยผลของกรรมดี ขาอาจจะเน่าด้วยผลของกรรมชั่วอยู่ก็ได้ เป็นต้น มีผลของกรรมดีและชั่วเกิดพร้อมๆกันอย่างนี้เต็มไปหมด. ผู้ที่ไม่มีปัญญา ก็จะไม่สามารถแยกข้อเท็จจริงได้ว่าอันไหนเป็นผลของกรรมดี หรือ อันไหนเป็นผลของกรรมชั่ว จึงเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องของกรรมได้ง่ายนะครับ. ท่านจึงแนะนำให้ระลึกนามรูปกลับไปดูขณะปฏิสนธิในครรภ์ และวาระจิตก่อนตาย เพื่อให้เห็นชัดเจนว่าไม่ว่ายังไงกรรมดีก็ให้ผลดี กรรมชั่วก็ให้ผลชั่วแน่นอน. แล้วพอกำหนดนามรูปลงปฏิจจสมุปบาทไตรลักษณ์ก็จะปรากฏอย่างชัดเจน. ด้วยเหตุอย่างนี้ ก็จะหมดความสงสัยในกาล 3 (กังขาวิตรณวิสุทธิ) ครับ.

นอกจากนี้ยังเป็นเหตุผลด้วยว่า ทำไมท่านจึงกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า อภิธรรมเป็นวิปัสสนา และเป็นเหตุผลว่า ทำไมอภิธรรมจึงต้องแสดงปฏิสนธิขณะกับมรณาสันนวิถีไว้ด้วย. นอกจากนี้ ยังเป็นเหตุผลอีกว่า ทำไมท่านจึงแสดง บุพเพนิวาสานุสติญาณ กับจุตูปปาตญาณ ก่อนอาสวักขยญาณ ไว้ในพระไตรปิฎกหลายที่มากๆ. อีกทั้งในปฏิสัมภิทามรรคมาติกา ยังใช้ ปจฺจย ศัพท์  ทั้งในปัจจัยปริคคหญาณ และปุพเพนิวาสานุสสติญาณ อีกด้วย.

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ถาม: ถ้ามีสมาธิย่อมมีสติถ้ามีสติย่อมมีสมาธิ ใช่ไหม?

ถาม: ถ้ามีสมาธิย่อมมีสติ
ถ้ามีสติย่อมมีสมาธิ ใช่ไหม?

ตอบ:

-สติขณะให้ทาน มีขณิกสมาธิ ซึ่งตามวิสุทธิมรรคแสดงไว้จะยังไม่ใช่จิตตวิสุทธิ(สมาธิ) โดยตรง แต่เอามาทำจาคานุสสติ เพื่อให้ได้จิตตวิสุทธิได้.

-สติขณะรักษาศีลก็เช่นเดียว แต่ศีลเป็นสิกขา คือฝึกฝนพัฒนาให้ต่อเนื่องได้ (ทานต้องมีของจะให้ ซึ่งทำไม่ได้ตลอดเวลา).

-สติขณะทำสมถะ มีอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ที่วิสุทธิมรรค กล่าวว่า เป็น จิตตวิสุทธิโดยตรง, ฉะนั้น เอามาเป็นฐานในการทำวิปัสสนาต่อได้เลย. และพอเป็นเรื่องที่ทำในใจล้วนๆ ฉะนั้นจึงเป็นภาวนาได้เพราะทำต่อเนื่องได้ไม่ขาดสาย เช่นเดียวกับวิปัสสนา.

-สติขณะทำวิปัสสนา มีพลววิปัสสนาสมาธิ สมาธินี้ไม่ใช่จิตตวิสุทธิ แต่เป็นปหานปริญญา คือ วิสุทธิ 3,4,5 ซึ่งเป็นผลของ ทาน + ศีล + สมถะ + ปริญญา 2.

-สติขณะฟังธรรมะ มีสมาธิ และปัญญาที่คล้อยตามสิ่งที่เรียนนั้นๆ (ญาตฏฺเฐน ญาณํ ปชานนฏฺเฐน ปญฺญา) เช่น เรียนทาน ก็เป็นทาน, เรียนศีล ก็เป็นศีล, ถ้าภาวนาไปด้วยก็เป็นภาวนา, ถ้าฝึกไปด้วย ก็เป็นสิกขา เป็นต้น. ปรารภได้แค่ไหน ก็เป็นแค่นั้น ในคนเริ่มฟัง  เริ่มท่อง ไม่มีอัธยาศัย อาจจะไม่เป็นปัญญาเลยก็ได้ เพราะปรารภใจความไม่ได้เลย เป็นต้น.

ฉะนั้น ต้องดูว่า พระพุทธพจน์ในที่นั้นๆ มีบริบทอย่างไรครับ. 

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ทำไมควรสวดมนต์ท่องจำไวๆ ไม่ยืดยาด

สวดมนต์ทำไมต้องสวดเร็วๆเพื่อ?!

จริงๆ สวดไวก็ดีครับ สวดช้าก็ดีครับ ถ้ามีกำลังใจจะสวดทุกวันก็สวดเถิดครับ 😊💓🧡

แต่คนสวดไว จะสวดได้ทุกวันแน่นอน เพราะไม่เสียเวลาเยอะ ไม่ต้องรอเกษียณก็สวดได้ทุกวัน ได้เอามาใช้ในชีวิตประจำวันทุกวัน. บางคนกลัวเสียเวลา ก็เลยไม่สวดเลย เขารู้สึกว่าเสียเวลาใช้เวลาเยอะ. 

ทั้งๆที่จริงๆถ้าสวดบ่อยๆ แค่ 5 นาทีจบ. แต่เขาไปเจอคนที่สวดช้าเขาเลยรู้สึกว่ามันใช้เวลาเป็นชั่วโมง ก็เลยขี้เกียจ มีข้ออ้างที่จะไม่สวด.

ถ้าสวดช้า ในวัยทำงาน ก็อาจจะไปเบียดบังเวลานั่งสมาธิทำให้ไม่ได้นั่งสมาธิ เบียดบังเวลาฟังธรรมทำให้ไม่ได้ฟังธรรม และคนสวดไวๆ ก็จะมีเวลาสำหรับฟังธรรม ทำความเข้าใจบทที่สวดให้ลึกขึ้น ชัดขึ้น. เมื่อเข้าใจดีขึ้นก็จะนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้มากขึ้นได้ดีขึ้นครับ. 

ก็จะเห็นข้อบกพร่องที่ไม่ตรงตามบทที่สวดในพฤติกรรมของตัวเองในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น. ก็จะเป็นการสวดด้วยความเข้าใจ.

บางทีไม่ต้องฟังคำอธิบายเลย แต่เพราะมีเวลาสวดเพิ่มขึ้นเพราะสวดไว ก็เลยทำให้สามารถเข้าใจบทที่สวดไปก่อนได้ จากบทที่สวดเพิ่มเข้าไปในเวลาที่เหลือนั่นแหละ.

ยิ่งสวดเพิ่มก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้น เอามาใช้ได้มากขึ้นครับ. แต่คนสวดไวๆก็สามารถที่จะเพิ่มบทสวดได้เยอะ. ทบทวนตัวเองได้มาก 😊💓🧡

ผมใช้วิธีสวดไวๆเอาครับ แต่สวดบ่อยๆ บ่อยวันละหลายๆ รอบบางทีเดินไปทำงานก็สวด เดินไปกินข้าวก็สวด.

อย่างนี้นอกจากจะไม่รบกวนเวลานั่งกรรมฐานครับ แล้วก็ยังสวดได้หลายบท ทำความเข้าใจได้หลายบท  ทบทวนได้หลายบท.

พวกมงคลสูตร เมตตาสูตร ช่วย support กรรมฐานได้ดีมากครับ สวดบทพวกนี้ทุกวันกรรมฐานเจริญดี เพราะสูตรพวกนี้เป็นวิธีการเตรียมตัวก่อนจะนั่งกรรมฐาน ท่านเลยเอาไว้ในขุททกปาฐะ.

ตัณหาไม่เคยพอเพียง แสวงหาไปมาก็ทำบาป

ตัณหาไม่เคยพอเพียง, 
คนที่ไม่ได้ลำบากเท่าคนคุ้ยขยะ... ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองลำบากอยู่ดี... ยังรู้สึกว่าต้องการมากกว่านี้.... มากกว่าที่มีอยู่..... ท่านเรียกว่า "อุปาทาน" (ความติดใจแล้วๆเล่าๆ) ทำให้ต้องแสวงหามาเสพซ้ำๆซากๆ มากขึ้นเรื่อยๆมากขึ้นเรื่อยๆเหมือนยาเสพติด

หาไปหามาก็เริ่มบ่นด่า โกหกหลอกลวง #ยุแยงตะแคงรั่ว ปั้นน้ำเป็นตัว ฆ่า ลัก ชู้ ปด ยุ ด่า เล่น #อยากได้ของคนอื่น ผูกอาฆาตพยาบาทคนอื่น และคิดผิดจากเหตุผลข้อเท็จจริงเพี้ยนไปหมด

บาปเป็นอันมากก็จะมาจากตัณหา อุปาทาน ดังที่กล่าวมานี้

ดู #มหานิทานสูตร

https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=10&siri=2

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

มงคลข้อใช้สังคหวัตถุสงเคราะห์บุตรภรรยา

มงคล 38 คือ สิ่งที่ทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองที่สุด 38 อย่าง  จะยกมา 1 พระคาถาว่า ❤️💓👏🎉
1.การดูแลมารดาบิดา
2. การสงเคราะห์บุตรภรรยาด้วยสังคหวัตถุ (ให้ของดีๆ,ใช้คำพูดไพเราะอ่อนหวาน,ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์สาระ, อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขไม่ทิ้งกัน)
3. การทำกิจการงานไม่ให้คั่งค้าง ไม่ให้พอกหางหมู ว่งแผนดีๆ

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=32

การทำบุญบาปเหมือนสะสม exp เลเวลในเกม แต่เกมชีวิตมันมีลดเลเวลได้

 การทำบุญบาปเหมือนสะสม exp เลเวลในเกม แต่เกมชีวิตมันมีลดเลเวลได้ ถ้าไม่ทำครบขั้นตอนแบบพระพุทธเจ้าบอกสูตรไว้ คือ ดีแล้วกลับมาชั่วทีหลัง ชั่วแ...