วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558

อยากทำบุญ เป็นบาปก็ได้ เป็นบุญก็ได้.

โลภะ คือ ความติดใจ. 

ฉันทะ คือ ความอยากทำ.

โลภะเป็นบาปเท่านั้น, ส่วนฉันทะเป็นบุญ เป็นบาป หรือ เป็นกลางก็ได้.

ฉะนั้น ความอยากทำบุญ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นโลภะเสมอไป ครับ.

-----------อธิบายอีกแบบ--------------

ความอยากกามคุณ ๕
=ฉันทราคะ

ความอยากทำบุญ
=ฉันทกุสละ

ความอยาก (บุญ,ปาป,กลางๆ)
=ฉันทะ

ความติดใจ(เหมือนยางเหนียว,ปาปเท่านั้น)
=ราคะ

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แปลเผด็จบทพิจารณาอาหาร (ปฏิสังขาโย)

#ไม่ใช่เพื่อ...
1 สนุก อร่อย เพลิน 
(กินแล้วก็ชอบถามกันว่าอร่อยไม่อร่อย)
2 มีแรงเล่นสนุก
(กินแล้วก็เล่นกับหมากับแมวไม่ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม)
3 ประดับ
(ก่อนจะกินถ่ายรูปลงเฟซบ้าง เอาไปพูดอวดบ้าง)
4 ตกแต่ง
(อาหารเสริม กลูต้า เป็นต้น ให้ผิวปลั่งใสปิ๊ง)
#แต่เพื่อ...
1 มีชีวิตรอดไปวันๆ
(ไว้ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ บรรลุมรรคผลนิพพาน)
2 ทำกิจวัตรได้
(ใช้ชีวิตทำข้อวัตรที่เกื้อกูลต่ออธิสิกกขาได้ ไม่เป็นง่อย)
3 ไม่ป่วย
(ไม่ปวดท้อง ไม่ขาดสารอาหารตายไปก่อน)
4 ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ
(หิวก็คิดธรรมะไม่รู้เรื่อง อิ่มไปก็หลับ ทำอย่างไรจะพอดี?)

โครงสร้าง: ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร

สุดโต่ง คือ การปฏิบัติที่ไม่ใช่เพื่อพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง ยึดปฏิบัติติดใจในทุกข์บ้าง ปฏิบัติติดใจในสุขบ้าง (อุเบกขาก็นับเข้ากับสุขในที่นี้ด้วย).
ส่วนตรงกลาง คือ ปฏิบัติบุญให้เหมาะต่อการเห็นความจริง คือ อริยสัจ 4 เพื่อพ้นทุกข์ทั้งปวง.

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=10037&Z=10104

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ยุง มด กับการรักษาศีล ปฏิบัติธรรม

ถ้ามีมดบนทางจงกรมที่ต้องกวาด, หรือมียุงมากัด. เราสามารถเป่าออก สลัดออก ปัดออก จับออกได้ ครับ. ไม่มีเจตนาทำร้าย ต่อให้มดตายด้วยความพยายามเอาออกนั้น ก็ไม่ผิดครับ เพราะเจตนาบาปไม่มี อาจเป็นเจตนาบุญรักษาสัปปายะในการเจริญกุศลเสียด้วยซ้ำ และถ้าทำด้วยความเบามือ เพราะเมตตากรุณากลัวมดเจ็บมดตาย ก็เป็นบุญที่ประกอบด้วยพรหมวิหารด้วย เพราะจริงๆ แล้ว ถ้ามดอยู่บนตัวเรา อาจจะเผลอเอามือไปโดนจนตายตอนทำกิจการงานอยู่ก็เป็นได้ (เคยคันโดยไม่รู้ว่ายุงกัด แล้วเกาโดนยุงตายแบบไม่รู้ตัวไหม?).

แต่ถ้าคุณเป็นพระโพธิสัตว์ และคิดว่ามดตัวนั้นจะมีสำนึกในบุญคุณของคุณ จะสละชีวิตเอามดตัวนั้นมาเป็นสาวก (ถ้าคิดว่ามดจะมีสำนึก) ด้วยการปล่อยให้มันกัด อันนี้ก็ลองดูเองนะครับ อันหลังนี่ ก็เป็นบุญเหมือนกัน แต่มันจะได้ผลหรือเปล่า จะเป็นบารมีหรือไม่ อันนี้ต้องลองใช้ปัญญาพิจารณาเอาเอง ครับ.

ส่วนการเลือกใช้ไม้กวาดนั้น ก็ต้องพยายามเลี่ยงไม้กวาดแข็งเช่นทางมะพร้าว เพราะถึงยังไง มดก็ไม่เดินตอนฝนตกใหม่ๆ ครับ. ที่ต้องใช้ไม่กวาดทางมะพร้าว เพราะใบไม้เปียกฝน ดินก็หนักน้ำ ใช้ไม่กวาดดอกหญ้ากวาดไม่ไป. 

แต่ถ้าใบไม้ยังเปียกอยู่ มดเริ่มออกเดินตรงที่แห้งสลับเปียกอยู่แล้ว ก็ให้กวาดเลี่ยงๆ เอาครับ อาจใช้ไม้กวาดขนอ่อนกวาดเฉพาะมดก่อน (เพราะมดตัวเบา) พอมดรู้ว่าถูกกวน หนีไปหมดแล้ว ค่อยเอาทางมะพร้าวกวาดอีกที ครับ.

ถ้าถามว่า ไม่เอาขนอ่อนได้ไหม? ตอบว่า สมัยนี้ ไม้กวาดขนอ่อนหาไม่ยาก ครับ. ครั้งแรกไม่มีอาจจะพออ้าง เอาทางมะพร้าวกวาดได้ ครับ. แต่ครั้งต่อๆไป เมื่อมีโอกาสซื้อขนอ่อนมากวาด แต่ไม่ซื้อ, การไม่ซื้อ จะมารบกวนจิตใจขณะปฏิบัติแล้วครับว่า "เราช่วยมดได้ โดยที่ไม่เสียสัปปายะ แต่เราไม่ช่วย".

วิธีเห็นตามความเป็นจริง (สั้นๆ)

แยกปรมัตถ์จากบัญญัติ และแยกปรมัตถ์ที่ต่างกันออกจากกันได้ จากนั้น เห็นปัจจัยและปัจจยุปบันถูกต้องตรงตามที่มันเป็นไปได้ เพื่อทำให้เห็นไตรลักษณ์ได้ชัดเจน ครับ.

วิเคราะห์ เค็ม (อย่างย่อ แต่ครบกระบวน)

อาศัยสหชาตปัจจัย เกลือจึงเค็ม. รสเค็มสัมผัสกับลิ้นไม่ได้ และลิ้นก็สัมผัสกับรสเค็มไม่ได้ ถ้าไม่อาศัยปฐวี อาโป เตโช วาโย คันธะ สัทธะ โอชา ที่เป็นสหชาตปัจจัย.

จะไปบังคับบัญชาให้เกลือไม่เค็มก็ไม่ได้ เพราะมันเค็มโดยปรมัตถ์ เมื่อกระทบกับกรรมชรูปคือชิวหาปสาทะแล้ว กรรมมีกำลังมาพอจะยังให้ชิวหาวิญญาณเกิดรับรู้รสเค็ม ชิวหาวิญญาณก็จะต้องเกิดมารู้รสเค็มนั้นแน่นอน แม้ใจจะไม่อยากให้เกิดก็ตาม ก็ไม่มีอัตตาใดๆ ไปสามารถห้ามกรรมเก่าได้, แต่อุปนิสสยปัจจัยสามารถเป็นปัจจัยให้ไม่รับรู้รถเค็มได้บ้าง ด้วยปโยคะสมบัติบ้าง ด้วยกรรมอื่นเบียดบังบ้าง เป็นต้น ที่ทำให้กรรมเก่าไม่มีโอกาสให้ผล เช่น ด้วยการหลับ, ทำฌาน เป็นต้น ซึ่งก็ไม่จีรัง เกิดขึ้นด้วยปัจจัยจำนวนมาก เป็นอนัตตา.

ความเค็ม ความเผ็ด เป็นความต่างที่เป็นปรมัตถ์ ก็จริง, จิตที่เข้าไปรับรู้เค็มแต่ละอย่างๆ ก็รับรู้ปรมัตถ์จริงๆ. #แต่ จิตที่รู้ความต่างระหว่างความเค็มกับความเผ็ด, หรือ ความเค็มกับความเค็ม เป็นต้น นั้น, เป็นจิตที่กำลังรู้ #อุปนิธานบัญญัติ อยู่ เพราะมีการเปรียบเทียบความต่างแห่งปรมัตถ์ ซึ่งความต่างนี้ ไม่ใช่ปรมัตถ์ เป็นเพียงสิ่งที่จิตอาศัยการจำปรมัตถ์ได้ แล้วคิดขึ้นมาเท่านั้นเอง.

เมื่อจิตรับรู้ปรมัตถ์และบัญญัติสลับกันอยู่เช่นนี้ แล้วคิดจะกล่าว แสดง บอกให้ผู้อื่นรู้, จิตก็จะคิด #สัททบัญญัติ ขึ้น (ซึ่งไม่ใช่อัตถบัญญัติ). จิตเหล่านั้นเกือบทั้งหมด ก็จะยังวจีวิญญัติ หรือ กายวิญญัติจิตตชรูป ให้เกิดในกายวิญญัติกลาป วจีวิญญัติกลาป ตามสมควร แล้วเปล่งวาจาออกมา เป็นสัททรูป ในสัททกลาป.

จากข้อความข้างต้น จะเห็นได้นะครับว่า ไม่มีสัตว์บุคคลใดๆ ไปรู้รถเค็ม, มีเพียงปัจจัยจำนวนมหาศาล กับ ปัจจยุปบันจำนวนมหาศาล. เกิดดับนับไม่ถ้วนรอบ ทำกิจแต่ละอย่างๆ ของตนเท่านั้น. ความเค็ม การรับรู้รสเค็ม การบัญญัติรสเค็ม เป็นไปโดยอาการดังกล่าวมาทั้งหมดนี้แล.

วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คนบางจำพวก มีปกติมองโลกเลวร้ายเกินไปบ้าง มองโลกดีงามเกินไปบ้าง มีความเห็นสุดโต่ง ไม่ได้มองตามความเป็นจริง.

คนบางจำพวก มีปกติมองโลกเลวร้ายเกินไปบ้าง มองโลกดีงามเกินไปบ้าง มีความเห็นสุดโต่ง ไม่ได้มองตามความเป็นจริง.
 การทำประโยชน์ ไม่ได้ให้ผลแต่ที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ก็เป็นความจริง, การทำโทษ ไม่ได้ให้ผลแต่โทษเท่านั้น ก็เป็นความจริงเช่นกัน, แต่เป็นสิ่งที่ชนบางจำพวกปิดหูปิดตาไม่ยอมรับรู้ และไม่อาจรู้ได้ ถ้ายังมีความคิดสุดโต่งอยู่ดังที่เคยเป็นมาตลอดสังสารจักร.

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คู่ชีวิต (แปลจับใจความปฐมสมชีวิตสูตร)


คู่ชีวิตที่จะอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขจะต้องไม่ทำผิดสัญญาต่อกัน (เช่น สัญญาว่า จะไม่มีเซ็กส์กับคนอื่นนอกจากกันและกัน ก็ต้องไม่มีเลย) และ:
1. มีพฤติกรรมมีข้อปฏิบัติ แนวๆ เดียวกัน
2. มีแนวคิด แนวๆ เดียวกัน
3. มีความเสียสละพอๆ กัน
4. มีความรู้พอๆ กัน

จาก ปฐมสมชีวิตสูตร

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=1642&Z=1669

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ทำไมคนไม่ชอบธรรมะทั้งที่ชีวิตคือธรรมะ‬

(อันนี้เอาแนว ปฏิสัมภิทา 4 มาเป็นบทตั้งขยาย)
-เพราะเหตุผลที่ตรงกับข้อเท็จจริง นั่นแหละ ธรรมะ.
นั่นข้อแรกที่ทำให้ธรรมะฟังยาก, เพราะเหตุของผลมีมากมาย และผลของเหตุก็มีมากมาย, ฉะนั้น การประมวลเหตุและผลมากมายเหล่านั้นให้สอดคล้องกันตามความเป็นจริง จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ใช้เวลานาน.
-ข้อต่อมา คือ เพราะแต่ละคนใช้ภาษาต่างกัน, ทำให้การสื่อเหตุผล (ซึ่งก็คือแสดงธรรมนั่นแหละ) ออกมาเข้าใจได้ยากง่ายต่างกัน ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจเรียนรู้ซึ่งกันและกัน. โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาบาลี หรือ ภาษาต่างชาติ.
นี่ข้อสองที่ทำให้ธรรมะฟังยาก. ซึ่งแก้ได้ด้วยการถามเยอะๆ ฟังมากๆ คิดตามบ่อยๆ.
-ข้อสุดท้าย คือ ปฏิภาณไหวพริบของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน การใช้เวลาทำความเข้าใจเหตุผลและภาษาเหล่านั้น จึงมากน้อยต่างกัน. ยิ่งเหตุผลซับซ้อน ก็ยิ่งต้องใช้เวลามากขึ้นไปเรื่อยๆ และต้องใช้กำลังปัญญามากขึ้นเรื่อยๆ.
นี่คือข้อสุดท้าย, ก็ต้องอาศัยบุญเก่าและการฝึกฝนเป็นประจำ เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะการใช้เหตุผลให้ตรงตามความเป็นจริง.
เหตุผลเหล่านี้ ทำให้เราเลือกจะปฏิเสธธรรมะ เพราะฟังไม่เข้าใจเหตุผล และฟังไม่เข้าใจภาษา เสียเวลาหาความสุขในแบบชาวโลก.
แล้วพอมีความทุกข์ในแบบชาวโลกตามมา (ซึ่งมีมาเยอะกว่าสุขแน่ๆ), ตอนนั้นแหละถึงจะรู้สึกว่า "จำเป็นต้องพึ่งธรรมะ".

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

[(ทุกข์>ทุกขอริยสัจจ์>ทุกขเวทนา)=ปรมัตถ์] ≠ (อัตถบัญญัติ=ทุกขลักษณะ) (อธิบายใหม่อีกครั้ง)

ทุกข์ คือ ขันธ์ 5 ทั้งหมด ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ.
ทุกขอริยสัจ คือ โลกิยขันธ์ 5 ทั้งหมด.
ทุกขลักษณะ คือ ลักษณะบีบคั้นตั้งอยู่ไม่ได้ของโลกิยขันธ์ 5 ที่จิตประมวลขึ้นจากความเป็นไปของขันธ์ 5 ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ.
ทุกขเวทนา คือ ส่วนหนึ่งของโลกิยขันธ์ 5 (เป็นหนึ่งในสังขารขันธ์).
โลกิยขันธ์ 5 คือ ขันธ์ 5 ที่ตัณหายังไปติดใจได้อยู่ทั้งหมด.
โลกุตตรขันธ์ 5 คือ ขันธ์ 5 ที่ตัณหารู้ไม่ถึง รับไม่ได้.

-โลกิยทุกข์ ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างเดียวกัน
-โลกิยทุกข์ ทุกขอริยสัจ ทุกขเวทนา เป็นปรมัตถ์ ต้องทำปริญญา 3
-ทุกขลักษณะ เป็นอัตถบัญญัติ ต้องทำญาตปริญญาอย่างเดียว ไม่ต้องทำตีรณปหานปริญญา. แต่เวลาทำตีรณปหานปริญญาในทุกข์ ก็ต้องใช้ทุกขลักษณะนี่แหละกำหนดทุกข์ คือ จะเกิดการเบื่อหน่ายทุกข์ ก็ต้องอาศัยทุกขลักษณะ.
-โลกุตตรขันธ์ ไม่ต้องทำตีรณปหานปริญญา ทำญาตปริญญาอย่างเดียว เพราะตัณหาไม่รู้จัก ไม่สามารถยึดติดให้มีภพชาติต่อๆ ไปได้.

ในพระไตรปิฎก จะมีใช้หลากหลายมากกว่านี้อีก ให้สังเกตบริบทเอา หรือ ถ้าชอบความรวดเร็ว ก็ลัดไปอ่านอรรถกถาก็ได้ ถ้าตรงนั้นท่านไม่เคยอธิบายไปแล้ว ก็จะมีบอกไว้ ครับ, แต่ถ้าไม่บอกไว้ แสดงว่าท่านอธิบายไว้ในที่อื่นแล้ว ก็ต้องหาเอา.

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ศีลเป็นบุญเท่านั้น แต่มีกิเลสก่อนและหลังได้ จึงสมาทานศีลได้เลยไม่ต้องกลัวบาป.

จิตที่รักษาศีล ไม่เคยเป็นกิเลส เป็นบุญเท่านั้น, แต่จิตก่อนจะรักษา และหลังรักษา อาจเป็นกิเลสได้.

ตัวอย่าง: เช่นอยากให้คนชม(กิเลส) เลยตั้งใจถือศีล(บุญ) หลังจากนั้นพยายามรักษาศีล แต่ใจก็อยากทานข้าว คิดถึงแต่โรงอาหาร(กิเลส) เป็นต้น.

ฉะนั้น สมาทานศีลกันไปเถอะครับ อย่ากลัวบุญกันเลย.

วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

อศาสนิก แปลว่า ผู้ไม่เอาคำสอน

อศาสนิก แปลว่า ผู้ไม่เอาคำสอน.

ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีใครสั่งใครสอน,
แต่หมายความว่า ถึงมีคนสอน และเขาก็เผลอเอามาใช้มากมาย แต่เขาไม่มีกตัญญูรู้บุญคุณว่ามีคนสอน. เขาไม่เคยมองเห็นความเชื่อที่ตนเองเคยมีเหล่านั้น, และก็ยังคงมีอยู่.

พระสารีบุตรเอง แม้จะเคยบอกว่า ท่านเองไม่จำเป็นต้องเชื่อพระพุทธเจ้า, แต่ท่านก็สรรเสริญความเชื่อที่เป็นบุญไว้มากมายในตำราของท่าน เพราะท่านมีความกตัญญูต่อกุศลศรัทธาที่ทำให้ท่านมีปัญญาขึ้นมาได้.

ต่างจากพวกอศาสนิกส่วนมาก ที่แสดงตัวเป็นพวกอเหตุกวาทะ (รู้เองลอยๆ ทุกอย่าง) นึกอยากจะยอมรับก็ยอมรับ นึกอยากจะปฏิเสธก็ปฏิเสธ เนรคุณผู้ให้ความรู้ ไม่มีจรรยาบรรณ ไม่มีวินัยใดๆ.
ที่โพสต์มานี้ ก็เพื่อให้ระวังตัว อยู่ให้ห่างอศาสนิก ซึ่งเป็นคนคนเนรคุณ อกตัญญู อกตเวทีให้มาก ครับ. คนพวกนี้ ฆ่าได้ฆ่า, ลักได้ลัก, ชู้ได้ชู้, โกหกด่าว่าได้ก็ทำ, สุราก็อาจจะร่ำเป็นนิจ เพราะเขาไม่เคยเห็นโลงศพ แม้โลงจะตั้งอยู่ข้างหน้าแล้วก็ตาม. พวกที่สนทนากับคนพวกนี้ ก็อาจจะเป็นเหยื่อรายต่อไป ครับ.

เพราะการไม่ยึดติดเป็นบาป ให้โทษก็มี, ฉะนั้นเด็กทารกจึงไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์

ยึดติด = โลภะ (โทษมากกว่าคุณ)
ไม่ยึดติดเพราะหลง = โมหะ (โทษมากกว่าคุณ)
ไม่ยึดติดเพราะเข้าใจ = ปัญญา (คุณมากกว่าโทษ)
ไม่ยึดติดเพราะโกรธ = โทสะ (โทษมากกว่าคุณ)

จะเห็นว่า ไม่ยึดติดแบบเด็กๆ ส่วนมากเป็นโมหะ, ให้ผลเป็นทุกข์ เพราะจับไฟบ้าง, ล้มบ้าง, โดนแกล้งบ้าง, ทุกข์ปางตายบ้าง,ถึงตายบ้าง.

ส่วนคนมีปัญญา พอจะเป็นผู้ใหญ่ จะมองเห็นสังขารตามความเป็นจริงว่า สังขารทั้งปวงล้วนมีปัจจัยและปัจจยุปบันมากมาย, คนที่รู้จักกรอบเหล่านั้นดี ก็คาดการณ์อนาคต และเลือกทางเลือกที่ดี เหมาะควรแก่ผลดีๆ ได้มากเท่าที่ความรู้ตัวเองมี. กรอบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ หรือเทพเจ้าตนใดสร้างขึ้น. ไม่ได้เกิดขึ้นจากศาสนาใดๆ. เป็นเพียงธรรมชาติตามสภาพของสังขารธรรมเท่านั้น.

ฉะนั้น พวกคิดแต่จะไม่ยึดติด ไม่เลือกว่าจะเป็นจิตแบบใด บาปก็ไม่รู้บุญก็ไม่รู้ ก็จะเป็นเด็กต่อไป. ส่วนคนที่รู้จักกรอบของสังขาร ไม่ยึดติดเพราะเข้าใจกรอบปัจจัยปัจจยุปบันของสังขารเป็นอย่างดี เขาก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ ครับ.

ยุคนี้เบาแล้ว

ยุคนี้เบาแล้ว ย้อนไปก่อนจะมีพระพุทธเจ้า  ดูประวัติศาสตร์โลกก็ได้โหดร้ายขนาดไหน, เดี๋ยวพอหมดยุคของพระพุทธเจ้านะ  โคตรหนักแน่นอน 😊  ไม่งั้นจะ...