วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การพิจารณาเห็นกายในกาย ตามพระอรรถกถาจารย์ (ตรวจทานแล้ว 1 รอบ)

บาลี:

ในธรรมวินัยนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ หมั่นพิจารณากายในกายดำรงอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.

อรรถกถา:

               คำว่า ในธรรมวินัยนี้ คือ ในคำสอนนี้. 
               คำว่า ภิกฺขเว นั้น เป็นคำทักเรียกบุคคลที่รับฟังธรรม. 
               คำว่า ภิกษุนั้น เป็นคำแสดงถึงบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยข้อปฏิบัติ. เทวดาและมนุษย์แม้เหล่าอื่น ที่ปฏิบัติธรรมก็มีเหมือนกัน. แต่ที่ตรัสว่า ภิกษุ 1.เพราะปฏิบัติได้ดีที่สุด และ 2.เพราะทรงแสดงความเป็นภิกษุตามการปฏิบัติ (ไม่ใช่ตามการบวช). 
               เป็นความจริง ในบุคคลทั้งหลายผู้รับคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุเป็นผู้ทำได้ดีที่สุด เพราะเป็นประหนึ่งภาชนะรองรับคำสั่งสอนมีประการต่างๆ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ภิกษุ เพราะปฏิบัติได้ดีที่สุด. แต่เมื่อทรงถือเอาภิกษุแล้วคนทั้งหลายที่เหลือก็เป็นอันทรงถือเอาด้วย เหมือนอย่างในการเสด็จพระราชดำเนิน เป็นต้น เหล่าราชบริพารนอกนั้น ก็เป็นอันท่านรวมไว้ด้วยศัพท์ว่าราช. 
ผู้ใดปฏิบัติข้อปฏิบัตินี้ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าภิกษุ. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ภิกษุ เพราะทรงแสดงความเป็นภิกษุตามการปฏิบัติ. 
              ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจะเป็นเทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม ย่อมนับได้ว่า เป็นภิกษุทั้งนั้น. 

               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ (ในธรรมบท ขุททกนิกาย) ว่า

                         อลงฺกโตฺ เจปิ สมํ จเรยฺย

                         สนฺโต ทนฺโต นิยโต พฺรหฺมจารี

                         สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ

                         โส พฺราหฺมโณ โส สมโณ ส ภิกฺขุ

                                   หากว่า บุคคลมีธรรมประดับแล้ว เป็น
                         ผู้สงบแล้ว ฝึกแล้ว เป็นคนแน่ เป็นพรหมจารี
                         เลิกอาชญากรรมในสัตว์ทั้งปวง พึงประพฤติ
                         สม่ำเสมออยู่ไซร้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าพราหมณ์ ผู้นั้น
                         ก็ชื่อว่าสมณะ ผู้นั้นก็ชื่อว่าภิกษุ ดังนี้. 

อุทเทสกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนัย 1

อธิบาย "กาเย"



               คำว่า ในกาย (กาเย) คือ ในรูปกาย. 

อธิบายว่า


  1. รูปกายในที่นั้นท่านประสงค์เอาว่า กาย เพราะอรรถว่าเป็นที่รวมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ และธรรมทั้งหลายมีผมเป็นต้น เหมือนตัวของช้างตัวของรถเป็นต้น. 
  2. ที่ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นที่รวมฉันใด ที่ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นแหล่งที่มาของสิ่งที่น่ารังเกียจฉันนั้น.  
    • เป็นความจริงที่กายนั้นเป็นแหล่งที่มาของสิ่งน่ารังเกียจ คือน่าเกียจอย่างยิ่ง แม้เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่ากาย. 
      • คำว่า เป็นแหล่งที่มา คือเป็นถิ่นเกิด ใจความของคำในคำว่า เป็นแหล่งที่มานั้น มีดังนี้ ธรรมชาติทั้งหลายมาแต่กายนั้น เหตุนั้น กายนั้นจึงชื่อว่าเป็นแหล่งที่มา. อะไรมา? สิ่งอันน่าเกลียดทั้งหลายมีผมเป็นต้นย่อมมา. ชื่อว่า อายะ เพราะเป็นแหล่งมาแห่งสิ่งน่าเกลียดทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้. 

อธิบาย "กายานุปสฺสี"


  • คำว่า หมั่นพิจารณากาย หมายความว่า มีปกติหมั่นพิจารณาในกาย หรือ กำลังหมั่นพิจารณากายอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้จะตรัสว่า ในกายแล้ว บัณฑิตพึงทราบว่าทรงกระทำโดยไม่ปนกันระหว่างศัพท์ว่า กาย เป็นครั้งที่สองอีกครั้งว่า "หมั่นพิจารณากาย"  ก็เพื่อให้ง่ายต่อการแสดง การตั้งชื่อแยกสติปัฏฐานออกจากกัน และ การทำฆนวินิพโภคะ เป็นต้น. 
    1. การตั้งชื่อแยกสติปัฏฐานออกจากกัน อธิบายว่า ภิกษุไม่ได้หมั่นพิจารณาเวทนาในกาย  ไม่ได้หมั่นพิจารณาจิตในกาย และไม่ได้หมั่นพิจารณาธรรมในกายด้วย, แต่หมั่นพิจารณากายในกายต่างหาก, เพราะฉะนั้น การตั้งชื่อแยกสติปัฏฐานออกจากกันจึงถูกแสดงไว้ด้วยการแสดงอาการที่หมั่นพิจารณากายในวัตถุที่นับว่ากาย. 
    2. การทำฆนวินิพโภคะ อธิบายว่า การหมั่นพิจารณากายนั้น มิใช่หมั่นพิจารณาธรรมอย่างหนึ่ง ที่พ้นจากอวัยวะน้อยใหญ่ในกาย ทั้งมิใช่หมั่นพิจารณาเป็นหญิงหรือเป็นชาย ที่พ้นจากผมขนเป็นต้น. 
        • อธิบายว่า การหมั่นพิจารณากายนั้น หมายถึง กายที่นับว่าเป็นที่รวมของภูตรูปและอุปาทายรูป มีผมขนเป็นต้น มิใช่หมั่นพิจารณาธรรมอย่างหนึ่งที่พ้นจากภูตรูปและอุปาทายรูป 
          • ที่แท้หมั่นพิจารณากายเป็นที่รวมอวัยวะน้อยใหญ่ในกายแม้อันนั้น เหมือนหมั่นตรวจดูส่วนประกอบของรถฉะนั้น 
          • หมั่นพิจารณากายเป็นที่รวมของผมขนเป็นต้น เหมือนหมั่นตรวจดูส่วนน้อยใหญ่ของพระนคร 
          • หมั่นพิจารณากายเป็นที่รวมของภูตรูปและอุปาทายรูป เหมือนแยกใบและก้านของต้นกล้วย และเหมือนแบกำมือที่วางเปล่าฉะนั้น 
        • เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันทรงแสดงการทำฆนวินิพโภคะ ด้วยทรงแสดงวัตถุที่นับได้ว่ากาย โดยเป็นที่รวมโดยประการต่างๆ นั่นแล้ว.  
        • อธิบายอีกว่า กายหรือชายหญิง หรือธรรมไรๆ อื่นที่พ้นจากกายอันเป็นที่รวมดังกล่าวแล้ว หาปรากฏในกายนั้นไม่ แต่สัตว์ทั้งหลายก็ยึดมันผิดๆ โดยประการนั้นๆ ในกายที่สักว่า เป็นที่รวมแห่งธรรมดังกล่าวแล้ว อยู่นั่นเอง. เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
          "ยํ ปสฺสติ น ตํ ทิฎฺฐํ    ยํ ทิฎฺฐํ ตํ น ปสฺสติ
          อปสฺสํ พชฺฌเต มูฬฺโห    พชฺฌมาโน น มุจฺจติ
          บุคคลเห็นสิ่งใด สิ่งนั้นก็ไม่ได้เห็น
          สิ่งใดเห็นแล้วก็ไม่เห็นสิ่งนั้น เมื่อไม่เห็น
          ก็หลงติด เมื่อติดก็ไม่หลุดพ้น" ดังนี้.
          ท่านกล่าวคำนี้ ก็เพื่อแสดงการแยกออกจากก้อนเป็นต้น. 
      • ด้วยศัพท์ว่า เป็นต้น (ในคำว่า การตั้งชื่อแยกสติปัฏฐานออกจากกัน และ การทำฆนวินิพโภคะ เป็นต้น) คำนี้บัณฑิตพึงทราบความดังนี้. 
    3. ก็ภิกษุนี้หมั่นพิจารณากายในกายนี้เท่านั้น ท่านอธิบายว่า มิใช่หมั่นพิจารณาธรรมอย่างอื่น. คนทั้งหลายแลเห็นน้ำในพยับแดด แม้ที่ไม่มีน้ำฉันใด ภิกษุไม่ได้เป็นอย่างนั้น คือไม่ได้หมั่นพิจารณา "กายที่ไม่เที่ยง ที่เป็นทุกข์ ที่ไม่ใช่ตัวตน ที่ไม่สวยงาม" ว่า "เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนและสวยงาม". ที่แท้ หมั่นพิจารณากาย ท่านอธิบายว่า หมั่นพิจารณากายเป็นที่รวมของอาการ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตนและไม่สวยงามต่างหาก. 
    4. อีกอย่างหนึ่ง ก็กายอันนี้ใด ที่ท่านกล่าวไว้ข้างหน้าว่า มีลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นต้น มีกระดูกที่ป่นเป็นที่สุด ตามนัยพระบาลีเป็นต้นว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปป่าก็ดี ฯลฯ เธอมีสติหายใจเข้า ดังนี้ 
    5. และกายอันใดที่ท่านกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรค (ขุททกนิกาย) ว่า "ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ หมั่นพิจารณากายคือดิน กายคือน้ำ กายคือไฟ กายคือลม กายคือผม กายคือขน กายคือผิวหนัง กายคือหนัง กายคือเนื้อ กายคือเลือด กายคือเอ็น กายคือกระดูก กายคือเยื่อในกระดูก โดยความเป็นของไม่เที่ยง" ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบเนื้อความของกายนั้นทั้งหมด แม้อย่างนี้ว่า ภิกษุหมั่นพิจารณากายในกาย โดยหมั่นพิจารณาในกายอันนี้เท่านั้น. 
    6. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความอย่างนี้ว่า หมั่นพิจารณากาย ที่นับว่าเป็นที่รวมแห่งธรรมมีผมเป็นต้นในกาย โดยไม่หมั่นพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่พึงถือว่าเป็นเรา เป็นของเราในกาย แต่หมั่นพิจารณากายนั้นๆ เท่านั้นเป็นที่รวมแห่งธรรมต่างๆ มีผมขนเป็นต้น.
    7. อนึ่ง พึงทราบความอย่างนี้ว่า หมั่นพิจารณากายในกาย แม้โดยหมั่นพิจารณากายที่นับว่าเป็นที่รวมแห่งอาการมีลักษณะไม่เที่ยงเป็นต้น ทั้งหมดทีเดียว ซึ่งมีนัยที่มาในปฏิสัมภิทามรรค ตามลำดับบาลี เป็นต้นว่า หมั่นพิจารณาในกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่โดยเป็นของเที่ยงดังนี้. 
      • จริงอย่างนั้น ภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทา คือหมั่นพิจารณากายในกายรูปนี้ ย่อมหมั่นพิจารณากายอันนี้โดยเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่เห็นโดยเป็นของเที่ยง หมั่นพิจารณาโดยเป็นทุกข์ ไม่ใช่เห็นโดยเป็นสุข หมั่นพิจารณาโดยมิใช่ตัวตน ไม่ใช่เห็นเป็นตัวตน ด้วยอำนาจอนุปัสสนา (การหมั่นพิจารณา) ๗ ประการ มีหมั่นพิจารณาความไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมเบื่อหน่าย มิใช่ยินดี ย่อมคลายกำหนัด มิใช่กำหนัด ย่อมดับทุกข์ มิใช่ก่อทุกข์ ย่อมสละ มิใช่ยึดถือ.  ภิกษุนั้น เมื่อหมั่นพิจารณากายอันนี้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาความสำคัญว่าเที่ยงเสียได้. เมื่อหมั่นพิจารณาโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละทุกขสัญญาความสำคัญว่าเป็นสุขเสียได้. เมื่อหมั่นพิจารณาโดยความเป็นของไม่ใช่ตัวตน ย่อมละอัตตสัญญาความสำคัญว่าเป็นตัวตนเสียได้. เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละความยินดีเสียได้. เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละความกำหนัดเสียได้. เมื่อดับทุกข์ ย่อมละเหตุเกิดทุกข์เสียได้. เมื่อสละย่อมละความยึดถือเสียได้ ดังนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้. 
               คำว่า อยู่ คือ ใช้ชีวิตอยู่. 

อธิบาย "อาตาปี สมฺปชาโน สติมา"


  1. คำว่า มีเพียร มีอรรถว่า สภาพใดย่อมแผดเผากิเลสทั้งหลายในภพทั้ง ๓ เหตุนั้น สภาพนั้นชื่อว่าอาตาปะแผดเผากิเลส คำนี้เป็นชื่อของความเพียร. ความเพียรของผู้นั้นมีอยู่ เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า อาตาปีมีความเพียร. คำว่า มีสัมปชัญญะ คือ ผู้ประกอบด้วยความรู้ที่นับว่า สัมปชัญญะ. คำว่า มีสติ คือ ประกอบด้วยสติกำกับกาย. ก็ภิกษุรูปนี้กำหนดอารมณ์ด้วยสติ หมั่นพิจารณาด้วยปัญญา ธรรมดาว่าปัญญาหมั่นพิจารณาของผู้เว้นจากสติ ย่อมมีไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าสติแล จำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะฉะนั้น ในที่นี่จึงตรัสว่า ย่อมหมั่นพิจารณากายในกายอยู่ ดังนี้. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นอันทรงอธิบายด้วยประการฉะนี้. 
  2. อีกอย่างหนึ่ง ความท้อแท้ภายใน ย่อมทำอันตรายแก่ผู้ไม่มีความเพียร ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ ย่อมหลงลืมในการกำหนดอุบายในการงดเว้นสิ่งที่มิใช่อุบาย ผู้มีสติหลงลืมแล้ว ย่อมไม่สามารถในการกำหนดอุบายและในการสละสิ่งที่ไม่ใช่อุบาย ด้วยเหตุนั้น กัมมัฏฐานนั้นของภิกษุนั้นย่อมไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น กัมมัฏฐานนั้นย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพแห่งธรรมเหล่าใด เพื่อทรงแสดงธรรมเหล่านั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ. ทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และองค์แห่งสัมปโยคะ 

อธิบาย "วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา โทมนสฺสํ"

               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงองค์แห่งการละ จึงตรัสว่า นำออกเสีย ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก. 
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า นำออกเสีย หมายความว่า นำออกเสีย ด้วยการนำออกชั่วขณะหรือด้วยการนำออกด้วยการข่มไว้. 
               คำว่า ในโลก ก็คือในกายอันนั้นแหละ. 
               จริงอยู่ กายในที่นี้ทรงหมายถึงโลก เพราะอรรถว่าชำรุดทรุดโทรม. อภิชฌาและโทมนัส มิใช่พระโยคาวจรนั้นละได้ในอารมณ์เพียงกายเท่านั้น แม้ในเวทนาเป็นต้น ก็ละได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในวิภังค์ (สติปัฏฐานวิภังค์) ว่า 
               (โลกเป็นอย่างไร? โลกก็คือกายอันนั้นแหละ,) อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่าโลก. 

  1. คำว่า "อุปาทานขันธ์ 5 ก็ชื่อว่าโลก" นั้น ท่านกล่าวขยายความต่ออกมา เพราะธรรมเหล่านั้น(อุปาทานขันธ์ 4 เว้นกาย) นับได้ว่าเป็นโลก. แต่คำว่า "โลกเป็นอย่างไร โลกก็คือกายอันนั้นแหละ"  เท่านั้นที่หมายเอาในอุทเทสว่า "กาเย กายานุปัสสี"เป็นต้น นี้. พึงเห็นการเชื่อมความดังนี้ว่า "นำออกเสียซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลกนั้น" (ตสฺมิํ โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ วิเนยฺย). 
  2. และเพราะเหตุที่ในที่นี้ กามฉันท์รวมเข้ากับศัพท์ว่า อภิชฌา พยาบาทรวมเข้ากับศัพท์ว่าโทมนัส ฉะนั้น จึงควรทราบว่า ทรงอธิบายการละนิวรณ์ด้วยการทรงแสดงธรรมอันเป็นคู่ที่มีกำลังนับเนื่องในนิวรณ์. 
  3. แต่โดยพิเศษ ในที่นี้ ตรัสการละความยินดีที่มีมูลจากกายสมบัติ(รูปสวย แรงดี วัยรุ่น ไม่มีโรค เป็นต้น)ด้วยการกำจัดอภิชฌา ตรัสการละความยินร้ายที่มีมูลจากกายวิบัติ ด้วยการกำจัดโทมนัส. 
  4. ตรัสการละความยินดียิ่งในกาย ด้วยการกำจัดอภิชฌา ตรัสการละความไม่ยินดียิ่งในการเจริญกายานุปัสสนา ด้วยการกำจัดโทมนัส. 
  5. ตรัสละการเข้าหาภาวะงาม ภาวะสุข เป็นต้น ที่ไม่มีจริงในกาย ด้วยการกำจัดอภิชฌา และตรัสการละการหลีกออกจากภาวะที่ไม่งาม เป็นทุกข์เป็นต้น ที่มีอยู่จริงในกาย ด้วยการกำจัดโทมนัส. 
               ด้วยพระดำรัสนั้น เป็นอันทรงแสดงการทำให้เกิดความเพียรอย่างต่อเนื่อง และความเป็นผู้สามารถในการประกอบความเพียรของพระโยคาวจร. 
  • อธิบายว่า พระโยคาวจรที่ทำให้เกิดความเพียรอย่างต่อเนื่องนั้น จะเป็นผู้หลุดพ้นจากความยินดียินร้าย ครอบงำความไม่ยินดีและความยินดี และเว้นจากการเข้าหาภาวะ(งามเป็นต้น)ที่ไม่มีจริง และเว้นจากการหลีกออกจากภาวะ(ไม่งามเป็นต้น)ที่มีจริง. ก็พระโยคาวจรนั้นเป็นผู้หลุดพ้นจากความยินดียินร้าย เป็นผู้ครอบงำความไม่ยินดี และความยินดี ไม่เข้าหาภาวะ(งามฯลฯ)ที่ไม่มีจริง ไม่หลีกออกจากภาวะ(ไม่งามฯลฯ)ที่มีจริง จึงจะชื่อว่าเป็นผู้สามารถในการประกอบความเพียรด้วยประการอย่างนี้. 

อุทเทสกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนัย 2


  • อีกนัยหนึ่ง ตรัสกัมมัฏฐานด้วยการอนุปัสสนา ในคำว่า "กาเย กายานุปสฺสี-หมั่นพิจารณากายในกาย". 
  • ตรัสการบริหารกายของพระโยคาวจร ด้วยวิหารธรรม ด้วยคำว่า "วิหรติ-อยู่". 
ก็ในคำเป็นต้นว่า อาตาปี-มีความเพียร(สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ) พึงทราบว่า 

  • ตรัสความเพียรชอบด้วย "อาตาปะ-ความเพียรเครื่องเผากิเลส" 
  • ตรัสสัพพัตถกกัมมัฏฐาน หรือ อุบายเครื่องบริหารกัมมัฏฐานด้วย "สติสัมปชัญญะ", หรือตรัสสมถะที่ได้มาด้วยอำนาจกายานุปัสสนาด้วย "สติ", ตรัสวิปัสสนาด้วย "สัมปชัญญะ
  • ตรัสผลแห่งภาวนาด้วย "การกำจัดซึ่งอภิชฌาและโทมนัส" ฉะนี้.
จาก: http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10.0&i=273&p=1
(แก้ไขบางส่วน ให้ถูกต้อง และอ่านง่ายขึ้น)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.

การทำบุญบาปเหมือนสะสม exp เลเวลในเกม แต่เกมชีวิตมันมีลดเลเวลได้

 การทำบุญบาปเหมือนสะสม exp เลเวลในเกม แต่เกมชีวิตมันมีลดเลเวลได้ ถ้าไม่ทำครบขั้นตอนแบบพระพุทธเจ้าบอกสูตรไว้ คือ ดีแล้วกลับมาชั่วทีหลัง ชั่วแ...