วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

อธิบายความต่างของนิพพาน และ บัญญัติ (ลึกซึ้งมาก)

ตามปฏิจจสมุปบาท โลกิยกุศล แม้ที่เป็นวิปัสสนา ที่สามารถปหานอนุสัยกิเลสได้เป็นขณิกะ ก็ยังเป็นปัจจัยแก่ขันธ์ในภพใหม่ได้.

แต่โลกุตตรกุศล เมื่อมีนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว จะไม่เป็นปัจจัยแก่ขันธ์ในภพใหม่เลย.

ส่วนนิพพานนั้น ไม่มีปัจจัย จึงไม่มีขันธ์ทั้งปวง ไม่เป็นสังขต, ทั้งยังทำให้ทั้งโลกุตตรกุศล และโลกุตตรวิบาก ไม่เป็นจัยจัยแก่ขันธ์ในภพใหม่ด้วย.

สิ่งเหล่านี้บัญญัติทำไม่ได้. 

เพราะแม้บัญญัติจะสามารถเป็นอารมณ์ของมหัคคตกุศล แต่มหัคคตกุศลก็ไม่ได้มีกำลังขึ้นเพราะบัญญัติ เนื่องจากบัญญัติไม่ใช่สภาพที่สามารถหมดกิเลส หมดขันธ์ได้. แต่ตัวมหัคคตกุศลเองนั่นแหละมีกำลังขึ้นเพราะภาวนา คือ การทำให้เกิดขึ้นต่อเนื่องของตนเอง ทำให้สามารถข่มกิเลสไว้ได้ ทำวิกขัมภนปหานได้. และแม้จะมีบัญญัติบางอย่างที่กามาวจรกุศลรู้ไม่ได้ เพราะจิตมีกำลังความาสามารถไม่พอจะไปรับรู้ก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะกำลังจิตฝ่ายเดียว บัญญัติไม่ได้มีสภาพหมดกิเลส หมดขันธ์ ที่จะเป็นราวกะไปช่วยห้ามว่า "ฉันเป็นสภาพที่ไม่มีวิญญาณัญจายตนะ แต่เธอยังไม่มีแม้แต่วิญญานัญจายตนะเกิดเลย ฉะนั้นเธอมารู้บัญญัติสำหรับอากิญจัญญายตนะอย่างฉันไม่ได้หรอก". ไม่เลยบัญญัติไม่มีสภาพเช่นนั้น แค่กามาวจรจิตไม่มีกำลังฝ่ายเดียวเท่านั้น จึงคิดบัญญัติที่เป็นอารมณ์ของมหัคคตะขึ้นมาไม่ได้ ก็เท่านั้นเอง บัญญัตินั้นก็ไม่สามารถเป็นอารมณ์ของจิตได้แล้ว เพราะจิตไม่มีกำลังพอจะคิดแต่งตั้งมันขึ้นมาได้. ฉะนั้น จิตบาป จิตบุญ จึงมีอารมณ์เป็นบัญญัติได้ทั้งสิ้น เพราะจิตเป็นผู้เอาปรมัตถ์ทั้งหลายมาคิดตั้งบัญญัติขึ้นเอง ตามเท่าที่จิตมีกำลัง ไม่ใช่โดยสภาพของบัญญัติ เพราะบัญญัติไม่มีสภาพ เป็นแค่สิ่งที่จิตคิดขึ้นเองตามกำลังของจิตจะสามารถคิดได้ก็เท่านั้น. 

กลับกันกับนิพพาน ที่ตนเองเป็นสภาพที่ละกิเลส ละขันธ์ทั้งปวงได้เป็นนิสสรณปหานอยู่แล้ว (บัญญัติไม่มีสภาพธรรมเลยจึงชื่อว่าปหานะกิเลสไม่ได้ แม้จะไม่มีกิเลสอยู่เลยก็ตาม แต่ตัวมันเองก็ไม่มีอยู่เลยเช่นกัน บัญญัติไม่มีลักษณะ ไม่มีสภาพ ไม่มีปัจจัย กิเลสจะหมดไม่หมด จิตก็ยังรู้บัญญัติได้อยู่ดี). จิตแม้จะต้องภาวนาให้มีกำลังไปรู้นิพพานได้ก็จริง, แต่นิพพานก็ต้องมีสภาพตายตัวอยู่เองแล้วว่า "ฉันเป็นสภาพหมดกิเลส หมดขันธ์แน่นอน จิตจะมีกำลังหรือไม่มีกำลัง จะคิดถึงฉันหรือไม่คิดถึงก็ตาม ฉันก็จะหมดกิเลสหมดขันธ์ ของฉันอย่างนี้แหละ". ฉะนั้น ทั้งจิตเจตสิกเองก็เป็นสภาพ และ นิพพานเองก็เป็นสภาพ. ทั้งคู่เป็นปรมัตถ์ จึงแสดงไว้โดยอภิธรรมนัย อยุ่ในสังคณีมาติกา. ต่างโดยสิ้นเชิงกับบัญญัติ ไม่มีสภาพ จิตรู้ปรมัตถ์แล้วก็ประมวลเป็นบัญญัติแค่นั้น ไม่มีสภาพของตนเองที่แน่นอน ตายตัว จึงไม่ได้ทรงแสดงไว้ในอภิธรรมนัยของสังคณีมาติกา มีเพียงในสุตตันตนัยเท่านั้น**.

**อรรถกถาแสดงไว้แล้วว่าธรรมะศัพท์มีอรรถถึงธรรมที่มีลักษณะ, และอภิศัพท์ก็สื่อถึงเป็นสิ่งที่โดยที่สุดแล้วมีอยู่โดยสภาวะของตน (ธรรมที่มีมีภาวะของตน)
"อตฺถานํ สูจนโต, สุวุตฺตโต สวนโตถ สูทนโต;
สุตฺตาณา สุตฺตสภาคโต จ สุตฺตนฺติ อกฺขาต"นฺติฯ
อภิธมฺมสฺส วจนตฺโถ วุตฺโตเยวฯ อปโร นโย~
ยํ เอตฺถ วุฑฺฒิมนฺโต, สลกฺขณา ปูชิตา ปริจฺฉินฺนา;
วุตฺตาธิกา จ ธมฺมา, อภิธมฺโม เตน อกฺขาโตฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.

ยุคนี้เบาแล้ว

ยุคนี้เบาแล้ว ย้อนไปก่อนจะมีพระพุทธเจ้า  ดูประวัติศาสตร์โลกก็ได้โหดร้ายขนาดไหน, เดี๋ยวพอหมดยุคของพระพุทธเจ้านะ  โคตรหนักแน่นอน 😊  ไม่งั้นจะ...