วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563

กลาปะ

กลาปในทิฏฐิวสุทธิ เป็นสมูหบัญญัติ อยู่ สังคหะ ป.6 ป.8, กลาปในกลาปสัมมสนะ เป็นปรมัตถ์ อยู่ใน สังคหะ ป.7

การแยกกลาปออกเป็นปรมัตถ์แต่ละอย่าง อยู่ในทิฏฐิวิสุทธินิทเทส ซึ่งไล่ทำมาจากจตุธาตุววัตถานกถา เพื่อให้การแยกปัจจัยในกังขาวิตรณวิสุทธิ ไม่ผิดพลาด, ส่วนกลาปสัมมสนะ เป็นขั้นตอนต่อจากกังขาวิตรณวสุทธิ ที่พิจารณาโดยไม่แยกแยะในรายละเอียด แต่เป็นปรมัตถ์รวม ซึ่งไม่ใช่สมูหบัญญัติแบบกลาปะในทิฏฐิวิสุทธิ.

วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ปีติไม่ค่อยเกิด ก็ต้องน้อมใจบ่อยๆ

ปีติจะเกิด แรกๆ ต้องน้อมใจไปด้วย ฝืนยิ้มไปด้วยตอนอ่านตอนพิมพ์ ดู อรรถกถาปีตีสัมโพชฌงค์ ในโพชฌงค์บรรพ มหาสติปัฏฐานสูตร 😊
ทำตัวอย่างไร ได้ผลอย่างนั้น ทำตัวมีปีติบ่อยๆ 20 ปีผ่านไป ปีติก็เกิดง่าย ครับ ถ้าขี้เกียจฝึกบ่อยๆ ก็ไม่มีทางเกิดง่ายเลย 🧘

วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

วิธีเริ่มต้นท่องจำด้วยตัวเองที่บ้าน สำหรับฆราวาส

เริ่มต้นท่องง่ายที่สุดคือ ไปท่องกับอาจารย์กรรมฐาน ที่เป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฎกบาลีสืบๆกันมา. ถ้ายังหาไม่ได้จริงๆ ก็เลือกสูตรฉบับแปลมาสักฉบับนึง แล้วก็ท่องเช้ากลางวันเย็น (พระปฐมสังคายนาจารย์แนะนำให้เริ่มจาก ขุททกปาฐะ 9 บท). 

ทำในใจไว้เสมอว่า กำลังท่องจำบทกรรมฐานที่จะต้องนำมาประพฤติปฏิบัติ. ท่องไวๆ อย่ายานคางยืดยาดเสียเวลา.

เมื่อเริ่มจำได้ จะต้องฝึก วิธีเข้าใจทีละอักขระ บท พยัญชนะ นิรุต นิทเทส อาการ ตามหลักเนตติปกรณ์เพื่อให้ได้อัตถบท 6 ออกมา แล้วเอามาทำนัยะ 2 นัย 3  เพื่อให้ได้ สภาวะออกมา. 

ถ้าอย่างนี้ ขณะที่สวดก็จะแทงตลอดสภาวะไปด้วย โอกาสเข้าใจคลาดเคลื่อนก็จะน้อย เป็นการศึกษาพระไตรปิฎกที่ตรงตามตำรา แล้วก็จะเอามาปฏิบัติได้ง่ายขึ้นมากๆ.  แม้จะสวดเร็วแต่ก็เข้าใจไปด้วยในขณะที่สวดได้ (ต้องสวดทุกวันๆละหลายรอบ สวดทั้งวันทั้งคืน แต่ไม่สวดดัง สวดในใจ ไม่งั้นปากจะร้อนในได้).

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ความกตัญญู กตเวที เป็นมงคลชีวิตอย่างหนึ่ง

ความกตัญญู กตเวที เป็นมงคลชีวิตอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่ทำให้ความดีงามของจิตใจการฝึกฝนพัฒนาจิตได้มีโอกาสเจริญรุ่งเรืองเติบโตก้าวหน้า.

การยิงแอดโฆษณา การปั่นยอดวิว YouTube ที่เป็นประโยชน์ 6 ก็มี ที่ไม่เป็นประโยชน์ 6 ก็มี

อยู่ที่คุณภาพของเนื้อหา (อัตถะ ธัมมะ นิรุต ปฏิภาน) ครับ ว่าจะ #ช่วยให้เกิดประโยชน์6 กะผู้เสพข้อมูลแค่ไหน 💕🧘 เนื้อหาบางอย่างมีประโยชน์เฉพาะตัวเองแต่ไม่มีประโยชน์กับคนอื่น บางอย่างมีประโยชน์เฉพาะกับคนอื่นไม่มีประโยชน์กับตนเอง เนื้อหาบางอย่างไร้สาระโดยสิ้นเชิง นั่งดูก็เสียเวลา อนาคตก็เอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย ยิ่งคนฟังไม่ฉลาดยิ่งสร้างความเสียหายหนักเข้าไปอีก พากันด่า พากันประทุษร้ายซึ่งกันและกัน พากันทำใจให้เสียหาย ไม่มีใครได้ประโยชน์เลย เพราะเห็นแก่ตัว เป็นต้น เนื้อหาบางอย่างมีประโยชน์เฉพาะในชาตินี้ เนื้อหาบางอย่างมีประโยชน์เฉพาะในอนาคต เนื้อหาบางอย่างสามารถทำให้ถึงพระนิพพานที่ไม่เกิดไม่ดับได้ด้วย.
ฉะนั้นการเผยแพร่โฆษณา จะดีไม่ดีไม่ได้อยู่กับการยิงแอ๊ด แต่อยู่ที่ว่าคนฟังจะได้ประโยชน์จาก content ๆมากแค่ไหน ได้ครบเลยไหม? อยู่ได้แค่บางอย่างแล้วเสียอย่างอื่นไปหมดเลย? บางทีเราก็ยอมเสียน้อย เพื่อที่จะเสียมากในอนาคต. อันนี้ต้องระวังไว้ให้ดีนะครับ การยิงแอดหลายๆอย่างที่เคยเห็นมันจะเป็นในทำนองนี้ 😊

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

คำพูดออกมาจากทัศนคติ สัมมาวาจาออกมาจากสัมมาทิฏฐิ

ข้อปฏิบัติที่เหมาะสม ออกมาจากคำพูดที่เหมาะสม คำพูดที่เหมาะสม ออกมาจากการฝึกคิดด้วยทัศนคติที่เหมาะสม.

มรรคมีองค์ 8  มีสัมมาวาจาเป็นต้น มันออกมาจากสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ ถ้าไม่ฝึกคิดให้เหมาะสม พฤติกรรมคำพูดมันก็ไม่เหมาะสม การทรงจำพระธรรมคำสอน ช่วยได้มากในการที่จะพัฒนาตนเอง

เพราะเหตุนั้นบัณฑิตในสมัยโบราณ จึงสนับสนุนการท่องจำ การสวดสาธยายพระธรรมคำสอนทุกวัน เพื่อให้เราสามารถนำหลักธรรมคำสอนไปฝึกขัดเกลาทัศนคติ ความคิด คำพูด และการกระทำ ทุกๆวัน ให้เหมาะสมตามหลักสัปปุริสธรรม 7

ขอให้สรรพสัตว์จงมีสุข ผู้ฝึกตนทุกวันย่อมประสบสุขเป็นอันมาก และย่อมมอบความสุขให้คนอื่นๆได้ในทุกๆวัน

https://youtu.be/0fmo1SxG1rs

https://www.facebook.com/Johjai/videos/640397456371169/

วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ถึงแม้จะมีทิฐิ ขอให้ทำสมาธิไปก่อน เพราะวิปัสสนาอาศัยอุปจาระ-อัปปนาสมาธิ เป็นจิตตวิสุทธิ

จะมีเทคนิคหรือไม่มีเทคนิคทำสมาธิ ตราบเท่าที่ยังมีทิฐิเจตสิกเกิด ทำอะไรก็เป็นศิลพตปรามาสได้หมดครับ.

กระทั่งที่ผมพิมพ์ หรือที่ทุกคนกำลังอ่านอยู่นี้ ก็เป็นศิลพตปรามาสได้ว่า "การพิมพ์อย่างนี้เท่านั้นจริงการพิมพ์อย่างอื่นเปล่า", "การอ่านอย่างนี้เท่านั้นดี การอ่านอย่างอื่นเปล่า".

เพราะว่าไม่ได้เห็นนามรูปนั้นๆตามข้อเท็จจริงของเขาว่า "จริงหรือเท็จอย่างไร ตามปัจจัยปัจจุบันจริงๆที่เขาอาศัยเกิดขึ้น".

เมื่อไม่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างนั้น จะมีเทคนิคทำสมาธิ หรือไม่มีเทคนิคทำสมาธิ ก็ยังมีศิลพตปรามาสทั้งนั้น.

ฉะนั้น อะไรที่จะทำให้เข้าสมาธิได้ง่าย จะให้เกิดฉันทะวิริยะจิตตวีมังสาได้ง่าย ก็ทำไปก่อนเลยครับ เพราะขณะได้อัปปนาฌานนั้น ไม่มีทิฐิเกิดเลย แล้วก็ได้จิตตวิสุทธิมา ก็มั่นใจได้ว่าทำวิปัสสนาแล้วจะเป็นวิปัสสนาแน่ๆ.

เมื่อทำสมาธิแล้ว สิ่งที่จะต้องแก้ไขคือการทำวิปัสสนาให้สมบูรณ์ต่างหาก อันนี้แหละถึงจะละทิฐิได้. บางคนทำวิปัสสนา ไม่เคยเห็นความเกิดดับอย่างรวดเร็ว แสนโกฏิขณะในลัดนิ้วมือ จริงๆเลย. ไม่เคยประจักษ์วิถีจิตจริงๆ ไม่เคยประจักษ์วิถีรูปจริงๆ ที่เป็นของจริงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่เรียนแล้วก็คิดเดาเอาในห้องเรียน แต่เห็นด้วยสมาธิที่เป็นจิตตวิสุทธิจริงๆ ตามที่วิสุทธิมรรค ทิฏฐิวิสุทธินิทเทส กล่าวไว้ว่า จิตตวิสุทธิ ได้แก่อุปจารฌานและอัปปนาฌาน.

บางคนเห็นเกิดดับจริงๆแล้วก็จริง แต่ก็มีนิวรณ์เกิดขั้นวิปัสสนา อันนี้ก็ไม่เป็นพลววิปัสสนาอีก เมื่อไม่เป็นพลววิปัสสนา ก็เรียกว่าวิปัสสนาภาวนาได้ไม่เต็มปากนัก เพราะปหานปริญญาเริ่มที่นี่.

จะเห็นได้ว่า ทิฏฐุปาทานทำให้เกิดศิลพตปรามาส ไม่ใช่เทคนิคทำให้เกิดทิฏฐิ เพราะเทคนิคเหล่านี้พระอริยะท่านก็ใช้กัน ในพระไตรปิฎกก็มี ในอรรถกถาก็มี. แต่พระอริยะ ไม่มีทิฐิเจตสิกเลย ฉะนั้นพระอริยะท่านใช้เทคนิคในการนั่งสมาธิ ก็ไม่มีสีลพตปรามาสอยู่ดีครับ.

กราบเรียนด้วยความเคารพรักและปรารถนาดีอย่างยิ่ง 😊

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ระลึกนามรูปย้อนชาติ เห็นกรรมก่อนตาย ข้ามสงสัยในกาล 3

ตามหลักอภิธรรม และตามที่ผู้ทำฌานและวิปัสสนาได้เห็น ท่านระบุว่า  

การที่จะเห็นกรรมได้ชัดเจน จะต้องระลึกชาติไปจนถึงในขณะจิตแรกที่เกิดในครรภ์พร้อมกับแยกนามรูปไปด้วย เพราะขณะเกิดในครรภ์นั้นเป็นผลของกรรมๆ เดียวชัดเจน แล้วระลึกถึงกรรมต้นเหตุของมันโดยย้อนไปที่วาระจิตสุดท้ายก่อนจะตาย จะเป็นสิ่งที่จิตรู้ก่อนตาย และเห็นกรรมที่ทำให้จิตรู้สิ่งนั้น กรรมที่ปรากฎก่อนตายในชาติก่อนๆนี้แหละ ถ้าเป็นกรรมดี จิตก่อนตายก็จะรู้สิ่งที่ดี และไปเกิดในภพภูมิที่ดีแน่นอน แต่ถ้าเป็นกรรมชั่ว ก็จะไปเกิดในภพภูมิที่เลวร้ายแน่นอน.

ส่วนผลของกรรมหลังจากขณะปฏิสนธิในครรภ์  จะกำหนดให้ชัดได้ยากมากๆ เพราะจะมีทั้งผลของกรรมดีและผลของกรรมชั่วเกิดพร้อมกันเยอะแยะไปหมด เช่นขณะที่ตารู้สีที่สวยๆด้วยผลของกรรมดี ขาอาจจะเน่าด้วยผลของกรรมชั่วอยู่ก็ได้ เป็นต้น มีผลของกรรมดีและชั่วเกิดพร้อมๆกันอย่างนี้เต็มไปหมด. ผู้ที่ไม่มีปัญญา ก็จะไม่สามารถแยกข้อเท็จจริงได้ว่าอันไหนเป็นผลของกรรมดี หรือ อันไหนเป็นผลของกรรมชั่ว จึงเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องของกรรมได้ง่ายนะครับ. ท่านจึงแนะนำให้ระลึกนามรูปกลับไปดูขณะปฏิสนธิในครรภ์ และวาระจิตก่อนตาย เพื่อให้เห็นชัดเจนว่าไม่ว่ายังไงกรรมดีก็ให้ผลดี กรรมชั่วก็ให้ผลชั่วแน่นอน. แล้วพอกำหนดนามรูปลงปฏิจจสมุปบาทไตรลักษณ์ก็จะปรากฏอย่างชัดเจน. ด้วยเหตุอย่างนี้ ก็จะหมดความสงสัยในกาล 3 (กังขาวิตรณวิสุทธิ) ครับ.

นอกจากนี้ยังเป็นเหตุผลด้วยว่า ทำไมท่านจึงกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า อภิธรรมเป็นวิปัสสนา และเป็นเหตุผลว่า ทำไมอภิธรรมจึงต้องแสดงปฏิสนธิขณะกับมรณาสันนวิถีไว้ด้วย. นอกจากนี้ ยังเป็นเหตุผลอีกว่า ทำไมท่านจึงแสดง บุพเพนิวาสานุสติญาณ กับจุตูปปาตญาณ ก่อนอาสวักขยญาณ ไว้ในพระไตรปิฎกหลายที่มากๆ. อีกทั้งในปฏิสัมภิทามรรคมาติกา ยังใช้ ปจฺจย ศัพท์  ทั้งในปัจจัยปริคคหญาณ และปุพเพนิวาสานุสสติญาณ อีกด้วย.

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ถาม: ถ้ามีสมาธิย่อมมีสติถ้ามีสติย่อมมีสมาธิ ใช่ไหม?

ถาม: ถ้ามีสมาธิย่อมมีสติ
ถ้ามีสติย่อมมีสมาธิ ใช่ไหม?

ตอบ:

-สติขณะให้ทาน มีขณิกสมาธิ ซึ่งตามวิสุทธิมรรคแสดงไว้จะยังไม่ใช่จิตตวิสุทธิ(สมาธิ) โดยตรง แต่เอามาทำจาคานุสสติ เพื่อให้ได้จิตตวิสุทธิได้.

-สติขณะรักษาศีลก็เช่นเดียว แต่ศีลเป็นสิกขา คือฝึกฝนพัฒนาให้ต่อเนื่องได้ (ทานต้องมีของจะให้ ซึ่งทำไม่ได้ตลอดเวลา).

-สติขณะทำสมถะ มีอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ที่วิสุทธิมรรค กล่าวว่า เป็น จิตตวิสุทธิโดยตรง, ฉะนั้น เอามาเป็นฐานในการทำวิปัสสนาต่อได้เลย. และพอเป็นเรื่องที่ทำในใจล้วนๆ ฉะนั้นจึงเป็นภาวนาได้เพราะทำต่อเนื่องได้ไม่ขาดสาย เช่นเดียวกับวิปัสสนา.

-สติขณะทำวิปัสสนา มีพลววิปัสสนาสมาธิ สมาธินี้ไม่ใช่จิตตวิสุทธิ แต่เป็นปหานปริญญา คือ วิสุทธิ 3,4,5 ซึ่งเป็นผลของ ทาน + ศีล + สมถะ + ปริญญา 2.

-สติขณะฟังธรรมะ มีสมาธิ และปัญญาที่คล้อยตามสิ่งที่เรียนนั้นๆ (ญาตฏฺเฐน ญาณํ ปชานนฏฺเฐน ปญฺญา) เช่น เรียนทาน ก็เป็นทาน, เรียนศีล ก็เป็นศีล, ถ้าภาวนาไปด้วยก็เป็นภาวนา, ถ้าฝึกไปด้วย ก็เป็นสิกขา เป็นต้น. ปรารภได้แค่ไหน ก็เป็นแค่นั้น ในคนเริ่มฟัง  เริ่มท่อง ไม่มีอัธยาศัย อาจจะไม่เป็นปัญญาเลยก็ได้ เพราะปรารภใจความไม่ได้เลย เป็นต้น.

ฉะนั้น ต้องดูว่า พระพุทธพจน์ในที่นั้นๆ มีบริบทอย่างไรครับ. 

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ทำไมควรสวดมนต์ท่องจำไวๆ ไม่ยืดยาด

สวดมนต์ทำไมต้องสวดเร็วๆเพื่อ?!

จริงๆ สวดไวก็ดีครับ สวดช้าก็ดีครับ ถ้ามีกำลังใจจะสวดทุกวันก็สวดเถิดครับ 😊💓🧡

แต่คนสวดไว จะสวดได้ทุกวันแน่นอน เพราะไม่เสียเวลาเยอะ ไม่ต้องรอเกษียณก็สวดได้ทุกวัน ได้เอามาใช้ในชีวิตประจำวันทุกวัน. บางคนกลัวเสียเวลา ก็เลยไม่สวดเลย เขารู้สึกว่าเสียเวลาใช้เวลาเยอะ. 

ทั้งๆที่จริงๆถ้าสวดบ่อยๆ แค่ 5 นาทีจบ. แต่เขาไปเจอคนที่สวดช้าเขาเลยรู้สึกว่ามันใช้เวลาเป็นชั่วโมง ก็เลยขี้เกียจ มีข้ออ้างที่จะไม่สวด.

ถ้าสวดช้า ในวัยทำงาน ก็อาจจะไปเบียดบังเวลานั่งสมาธิทำให้ไม่ได้นั่งสมาธิ เบียดบังเวลาฟังธรรมทำให้ไม่ได้ฟังธรรม และคนสวดไวๆ ก็จะมีเวลาสำหรับฟังธรรม ทำความเข้าใจบทที่สวดให้ลึกขึ้น ชัดขึ้น. เมื่อเข้าใจดีขึ้นก็จะนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้มากขึ้นได้ดีขึ้นครับ. 

ก็จะเห็นข้อบกพร่องที่ไม่ตรงตามบทที่สวดในพฤติกรรมของตัวเองในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น. ก็จะเป็นการสวดด้วยความเข้าใจ.

บางทีไม่ต้องฟังคำอธิบายเลย แต่เพราะมีเวลาสวดเพิ่มขึ้นเพราะสวดไว ก็เลยทำให้สามารถเข้าใจบทที่สวดไปก่อนได้ จากบทที่สวดเพิ่มเข้าไปในเวลาที่เหลือนั่นแหละ.

ยิ่งสวดเพิ่มก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้น เอามาใช้ได้มากขึ้นครับ. แต่คนสวดไวๆก็สามารถที่จะเพิ่มบทสวดได้เยอะ. ทบทวนตัวเองได้มาก 😊💓🧡

ผมใช้วิธีสวดไวๆเอาครับ แต่สวดบ่อยๆ บ่อยวันละหลายๆ รอบบางทีเดินไปทำงานก็สวด เดินไปกินข้าวก็สวด.

อย่างนี้นอกจากจะไม่รบกวนเวลานั่งกรรมฐานครับ แล้วก็ยังสวดได้หลายบท ทำความเข้าใจได้หลายบท  ทบทวนได้หลายบท.

พวกมงคลสูตร เมตตาสูตร ช่วย support กรรมฐานได้ดีมากครับ สวดบทพวกนี้ทุกวันกรรมฐานเจริญดี เพราะสูตรพวกนี้เป็นวิธีการเตรียมตัวก่อนจะนั่งกรรมฐาน ท่านเลยเอาไว้ในขุททกปาฐะ.

ตัณหาไม่เคยพอเพียง แสวงหาไปมาก็ทำบาป

ตัณหาไม่เคยพอเพียง, 
คนที่ไม่ได้ลำบากเท่าคนคุ้ยขยะ... ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองลำบากอยู่ดี... ยังรู้สึกว่าต้องการมากกว่านี้.... มากกว่าที่มีอยู่..... ท่านเรียกว่า "อุปาทาน" (ความติดใจแล้วๆเล่าๆ) ทำให้ต้องแสวงหามาเสพซ้ำๆซากๆ มากขึ้นเรื่อยๆมากขึ้นเรื่อยๆเหมือนยาเสพติด

หาไปหามาก็เริ่มบ่นด่า โกหกหลอกลวง #ยุแยงตะแคงรั่ว ปั้นน้ำเป็นตัว ฆ่า ลัก ชู้ ปด ยุ ด่า เล่น #อยากได้ของคนอื่น ผูกอาฆาตพยาบาทคนอื่น และคิดผิดจากเหตุผลข้อเท็จจริงเพี้ยนไปหมด

บาปเป็นอันมากก็จะมาจากตัณหา อุปาทาน ดังที่กล่าวมานี้

ดู #มหานิทานสูตร

https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=10&siri=2

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

มงคลข้อใช้สังคหวัตถุสงเคราะห์บุตรภรรยา

มงคล 38 คือ สิ่งที่ทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองที่สุด 38 อย่าง  จะยกมา 1 พระคาถาว่า ❤️💓👏🎉
1.การดูแลมารดาบิดา
2. การสงเคราะห์บุตรภรรยาด้วยสังคหวัตถุ (ให้ของดีๆ,ใช้คำพูดไพเราะอ่อนหวาน,ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์สาระ, อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขไม่ทิ้งกัน)
3. การทำกิจการงานไม่ให้คั่งค้าง ไม่ให้พอกหางหมู ว่งแผนดีๆ

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=32

วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ตัวอย่างการตอบเรื่องสีกระทบตาแบบอภิญญา ให้นักวิทยาศาสตร์ไม่รังเกียจ รักสามัคคีกับชาวพุทธ

ถามว่า:
1. สีที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเห็นเป็นสีนั้นจริง ๆ หรือไม่
2. ถ้าการเห็นสีขึ้นอยู่กับเซลล์รับแสงสีในตาคน แล้วสีจริงของวัตถุเมื่อไม่ได้วัดจากสายตาคนมีหรือไม่ ถ้ามีเป็นสีอะไร แล้วจะพิสูจน์ได้ไหมว่าเป็นสีนั้นจริง

ตอบว่า:

1. ทุกๆ อย่างมีสีที่ต่างกันจริงๆ ในตัว ครับ, ไม่เช่นนั้นโฟตอนจะไม่สามารถหักเหต่างกันได้เลย.

2.1 การเห็นสีได้ อยู่ที่เซลล์ก็จริง, แต่สีจริงๆ อยู่ที่ปรมาณู (อนุภาค) ของสิ่งของนั้นๆ สีที่กระทบเซลล์ตาไม่ได้อยู่ที่เซลล์ตา (แต่เซลล์ตาก็มีสีของตัวเองมากมายเช่นกัน). โฟตอนแสงไปกระทบวัตถุแล้วหักเห มากระทบกับตา.

2.2 สีของวัตถุนั้นจริงๆ ทำให้โฟตอนในแสงเปลี่ยนสี แล้ววิ่งมากระทบตา เพราะฉะนั้น จุดนี้ขึ้นอยู่ที่ว่า 1. โฟตอนนั้นมีสีดั้งเดิมมายังไง (มาขาว ก็ใกล้เคียงของสีเดิม, มาเหลือง เขียว ฯลฯ ก็สีเพี้ยน) 2. สภาพของจักขุปสาท (เซลล์ตา) ว่าดีพอไหม?

2.3 การพิสูจน์ คิดว่าสามารถทำได้ในทางวิทยาศาสตร์ ด้วยคุณสมบัติทางเคมี และหลักฟิสิกส์, แต่ในทางอภิธรรม เราใช้วิธีฝึกจิตให้มีสมาธิแก่กล้า (หลายเดือน หลายปี ไม่ขาดช่วง) จนเกิดแสงแห่งปัญญาสว่างเจิดจ้า (ปฏิภาคนิมิตของฌานทั้ง 8) แล้วฝึกอภิญญา แล้วมองสีนั้นด้วยอภิญญาจิต ด้วยวิธีนี้ ก็จะสามารถเห็นสีจริงนั้นได้ โดยไม่ต้องผ่านโฟตอนและเซลล์ตา (ดูผ่านมโนทวารแทน). แต่ดูมาแล้วก็จะอธิบายยากอีกแหละ เพราะมีตัวแปรหลายอย่าง.

อันนี้เป็นวิธีฝึกแสงแห่งปัญญา ครับ เขาจะนั่งกันครั้งละ 2+ ชั่วโมง วันละ 12-14 ชั่วโมง ต่อเนื่องหลายเดือน หลายปี. พวกจบ MIT ก็มี, แต่พระอาจารย์ในคลิป จบมหาลัยแค่ด้านคอมพิวเตอร์ ไม่ทราบสาขา ครับ ได้ 4 ภาษา พม่า อังกฤษ ไทย บาลี.

https://youtu.be/H4WPP_WGGU4?t=3936

วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ปิยรูป สาตรูป

สูตรนี้ ให้สัมพันธ์บทหน้าบทหลังให้ดี ใช้หาระพาเข้าไปวิจัยบท แล้วใช้สีหวิกกีฬิตนัยกับติปุกขลนัยบรรทุกอรรถะออกมา เพื่อให้สรุปได้ว่ามหาสติปัฏฐานสูตรเป้นสูตรประเภทใด. ทำให้ได้ทุกบท จะกระจ่างเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ.

ปิยรูป สาตรูป ให้นับเป็นปัจจุบันผล 30 กับ ปัจจุบันเหตุ 30 ด้วยนันทิยาวัฏฏนัย.

ปัจจุบันผล คือ ปิยรูปสาตรูป30 คือ วิบาก 32 และธรรมที่เนื่องกับวิบากนั้นทางทวาร 6 รวมรูป เสียง เป็นต้นด้วย.

#เป็นผลที่ห้ามไม่ได้.

ปัจจุบันเหตุ 30 อุปาทานและสัมปยุตธรรมร่วมทำงาน กล่าวคือ สัญญาจำปิยรูปสาตรูป เพื่อให้สัญเจตนาจัดแจงหามาให้ตัณหาเสพ แล้ววิตก วิจาร ก็พา 4 อย่างที่เหลือ เข้าไปเสพอีกแล้วๆเล่าๆ กลายเป็นอกุศลเป็นอเนก) ครับ.

#เป็นเหตุที่ฝึกฝน ละคลายได้.

อวิชชา (อญฺญาณํ) ปกปิดญาณํให้ไม่อาจปชานาติ สิกฺขติ ปจฺจเวกฺขติ ปสฺสติ อุปสงฺหรติ คือ ไม่ให้ปัญญารู้ชำนาญในแง่มุมที่แท้จริงโดยสภาวะที่เป็นปัจจัยปัจจยุปบันบ้าง (วิปัสสนาบรรพะ) โดยสภาวะที่ข่มนิวรณ์ได้บ้าง (อานาปานัสสติ กายคตาสติ นวสีวถิกาสมถะและอุปจาระของทั้ง 21 บรรพะ). สตฺตานุปัสสี จึงกลายเป็นมิจฺฉาทิฏฐิมรรค มิจฺฉาสติมรรค มีปลายทางมากมายในวัฏฏะ.

ต่อเมื่อพระโยคีรักษาสติในสติปัฏฐานด้วยอานาปานัสสติสูตร กายคตาสติสูตร แล้วนำสมถะที่ได้นี้มาปชานาติเป็นต้นในสัจจะ 4 ตามมหาสติปัฏฐานสูตร อันเป็นวิปัสสนา ตัณหาในกรัชกาย ก็หลุดออก ดับ สละ ปล่อย พ้น หมดความติดใจ. กายานุปัสสีเป็นต้น ก็กลายเป็นสัมมาทิฏฐิ. สัมมาทิฏฐิ คือ "ปสฺสี" ที่ชำนาญจนไม่ต้อง "อนุ" เรียกว่า ทิฏฐิ ในฐานะของ ธมฺมจกฺขุ เรียกว่า ทุกฺเข ญาณํ เป็นต้น ในฐานะของปญฺญา (อนุปสฺสี ปชานาติ ปจฺจเวกฺขติ อุปสงฺหรติ ญาณํ) ที่กลายเป็นความชำนาญในขณะจิตเดียว (อยเมว อริโย อฏฺฐงฺคิโก มัคคอัปปนาจิตตุปบาโท). มีปลายทางเดียว คือ นิโรธ นิพพาน ออกจากวัฏฏะ.

ถามว่าหลุดออกเป็นต้นอย่างไร?

ตอบว่า เมื่อวิปัสสนาจารจิตตุปบาท แยกสภาวะแทงตลอดด้วยปัญญา ก็ถอนอารมณ์ด้วยนามกายคือจิต จึงถอนความเห็นว่ามีสิ่งอื่นจากขันธบรรพะ ด้วยบทว่า กาเย (นิทธารณะ แบบ เอกวจนะ), กายสฺมึ, ฯลฯ ธมฺเมสุ, สมุทยธมฺมานุปสฺสี, รูปสฺส สมุทโย เป็นต้น เมื่อถอนฆนะ 4 ได้สิ้น สังขตลักษณะย่อมปรากฎ ญาณก็เห็น (อนุปสฺสี) ทุกขสัจ คือ อุปาทานขันธ์ (ขันธบรรพะ) ตามเป็นจริงได้ เพราะไม่มีอวิชชาว่า "นี้ก้อนสัตว์ ทำกิจหากินได้ตามใจ รู้อารมณ์ได้ตามใจ ล่องลอยไปเกิดไปตายตามใจนึก ดับสูญได้ตามใจนึก" เป็นต้น เหลืออยู่. เมื่อญาณทำกิจแทงตลอดได้ในทุกแง่มุม ย่อมเห็นปัจจัยปัจจยุปบัน ทั้งที่เป็นอตีตเหตุ 2 ปัจจุบันผล 5 ปัจจุบันเหตุ 3 อนาคตผล 2 (ปฏิจจสมุปบาทแบบข้ามภพชาติ ไม่ได้กล่าวในมหาสติปัฏฐานสูตร เพราะเป็นพลววิปัสสนา จึงมีเฉพาะปัจจุบันอัทธา โดยเฉพาะปัจจุบันขณะ คือ สติสัมปยุตตจิตตุปบาทที่เพิ่งดับไป ที่ต้องนำมาทำภังคญาณ, อย่างไรก็ตาม ทรงตรัสปฏิจจสมุปบาทข้ามภพชาติ ไว้ด้วยอำนาจอภิญญาคือบุพเพนิวาสานุสติญาณในกายคตาสติสูตร ที่เป็นสมถะ; อนึ่ง ที่ต้องแยกสูตรกัน เพราะมีความยาวมาก ด้วยอำนาจเป็นสีหวิกกีฬิตนัย พุทธาสยะ).

การประจักษ์อุปาทานขันธ์ในปฏิจจสมุปบาท (อาการ 50) คือ ปิยรูปสาตรูป ที่เป็นปัจจุบันผล อนาคตเหตุ ที่กำลังปรากฎอยู่ทางทวาร 6 นี้เอง ทำให้ละตัณหาในที่นี้ พังทลายในที่นี้.
เมื่อนั้นปชานาติเป็นต้น คือ อนุปัสสี ก็กลายเป็นสัมมาทิฏฐิในมัคคจิตตุปบาท และความประจักษ์ไตรลักษณ์ทางทวาร 6 ในระดับมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ ก็ทำให้ ญา ธาตุ ทิส ธาตุ อิกฺข ธาตุ ทั้งหมดในสูตรนี้ พัฒนาไปได้ถึง "อัญญา" ในที่สุด.

สูตรนี้ ให้สัมพันธ์บทหน้าบทหลังให้ดี จะเข้าใจไม่ยาก เพราะเป็นพุทธาสยะ เป็นสีหวิกกีฬิตนัย เมื่อเชื่อมกับกายคตาสติสูตร อานาปานัสสติสูตรแล้ว ก็จะไม่มีบทไหนน่าสงสัยเหลือเลย แม้ความเห็นของพระมหาสิวะและมหาอรรถกถา ก็กลับกลายเป็นเรื่องเดียวกัน ที่ขยายกันด้วยสีหวิกกีฬิตนัย และติปุกขลนัยไปเสีย พระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถา ก็จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างไม่มีที่น่าสงสัย #จริงๆ ด้วยประการอย่างนี้.

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ตัวอย่างการเทียบมหาสติปัฏฐานสูตร กับสูตรอื่นๆ 1

จำได้เคยกล่าวไว้ว่ามหาสติปัฏฐานสูตรเป็นสีหวิกกีฬิตนัย (แสดงลำดับแต่ต้นจนจบเหมือนราชสีห์คำรามได้สมบูรณ์แบบ) เป็นพุทธาสยะ ในที่นี้จะแสดงตัวอย่าง การนำมหาสติปัฏฐานสูตรไปเทียบเคียงกับสูตรต่างๆ

อรรถกถาด้านล่าง เป็นอุปมาที่เทียบกับลำดับของ ปุน จ ปรํ มหาสติปัฏฐานสูตรได้เลยครับ เยี่ยมจริงๆ 

จะเห็นว่า ตอนแรกกล่าวถึงสมาธิก่อน เทียบกับอานาปานาบรรพะที่ 1 ซึ่งขยายด้วย 14 บรรพะในกายคตาสติสูตร และตามด้วยอานาปานัสสติสูตร ถ้าไม่บรรลุก็มามหาสติปัฏฐานสูตร ต่อ.

อิริยาบถบรรพะสัมปชัญญะบรรพะ ที่ 2 ในที่นี้กล่าวอิริยาบถนั่งอย่างเดียว ด้วยอำนาจพลววิปัสสนาที่ไม่มีแม้แต่ทานศีลสมถะเกิดแทรกเลย บรรลุในบัลลังก์เดียวนั่นแหละ. 

แต่ผู้มีอินทรีย์อ่อน เมื่อไม่ฝึกอินทรีย์ 5 ทั้งฝ่ายจิตตวิสุทธิและทิฏฐิวิสุทธิเป็นต้น ในอิริยาบถทั้ง 4 ฐานะ 7 ย่อมไม่อาจยังพลววิปัสสนาให้ดำรงอยู่ได้จนถึงมรรค.

ปฏิกูลบรรพะที่ 3 แสดงไว้ด้วยอำนาจ โกฏฐาส 42 เพราะในขุททกปาฐะ ท่านแสดงอาการ 32 ก่อน แล้วตามด้วยอาการ 42 เพื่อแสดงถึงการนำอาการ 32 นั่นแหละ มาแยกธาตุ 4 ออก เพื่อนำไปพิจารณาปฏิจจสมุปบาทในสามเณรปัญหาปาฐะถัดไป.

เพราะเหตุนั้นเอง จึงแสดง ธาตุมนสิการบรรพะที่ 4 เป็นบรรพะถัดจากปฏิกูลบรรพะ ที่ 3.

เมื่อจะกำหนดรูปกรรมฐานที่แยกธาตุแล้วในบรรพะก่อน ด้วยอำนาจอาทีนวานุปัสสนา จึงแสดงนวสีวถิกบรรพะ ปิดท้าย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน. และกำหนด เวทนา จิต ธรรม ที่เกิดขึ้นในขณะกำหนดรูปกรรมฐาน จึงแสดง เวทนา จิต ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานต่อไป. ในวิสุทธิมรรค ทิฏฐิวิสุทธินิทเทส จึงแสดงการกำหนดสภาพธรรมปัจจุบันที่ชัดทางใดทางหนึ่ง เวทนา จิต ผัสสะ (ธรรมานุปัสสนา).

ทั้งหมด เป็นขยานุปัสสนา ด้วยบทว่า สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา เป็นต้น และบทนั้นถูกขยายตั้งแต่ขันธบรรพะ เป็นต้นไป.
---------อ.มหารุกขสูตรที่ 5-----------
ในพระสูตรนี้ วัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ เหมือนต้นไม้ใหญ่.
               พระโยคาวจรเหมือนบุรุษผู้ต้องการโค่นต้นไม้. ญาณคือความรู้เหมือนจอบ สมาธิเหมือนกระบุง ญาณเหมือนขวานสำหรับตัดต้นไม้
               ปัญญาของพระโยคีผู้เรียนกัมมัฏฐานในสำนักอาจารย์แล้ว มนสิการอยู่ เหมือนเวลาที่ต้นไม้ถูกตัดที่ราก.
               เวลามนสิการมหาภูตรูป ๔ โดยย่อ เหมือนเวลาที่ตัดเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย. เวลามนสิการโดยพิสดาร ในโกฏฐาส ๔๒ เหมือนการผ่า.
               การกำหนดนามรูปด้วยอำนาจแห่งธรรมเหล่านี้ คืออุปาทายรูปและวิญญาณอันมีรูปขันธ์เป็นอารมณ์ เหมือนเวลาเกรียก. การแสวงหาปัจจัยของนามรูปนั่นแหละ เหมือนการถอนรากไม้. การบรรลุผลอันเลิศ (อรหัตผล) ของพระโยคีผู้เจริญวิปัสสนาโดยลำดับ ได้สัปปายะอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว
               เมื่อกัมมัฏฐานปรากฏแจ่มแจ้งอยู่ นั่งขัดสมาธิท่าเดียวกระทำสมณธรรมอยู่ เหมือนเวลาที่ผึ่งลม ตากแดดแล้วเอาไฟเผา. เวลาที่พระโยคีไม่ปรินิพพานในวันที่ตนบรรลุพระอรหัตนั่นเอง แต่ดำรงอยู่ตราบเท่าอายุ เปรียบเหมือนมนสิการ.

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=206&p=1&h=%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3#hl

วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ทำไมตรัสตัณหาเท่านั้นว่าเป็นสมุทยสัจ?

แต่ว่า ทำไมตรัสตัณหาเท่านั้นเล่าว่าเป็นสมุทยสัจ?

(วิสุทฺธิ.มหาฏี. สมุทยนิทฺเทสกถาวณฺณนา) เพราะว่าเป็นเหตุที่แตกต่าง (แห่งทุกข์นานัปปการ). อธิบายว่า เมื่ออวิชชาปิดบังโทษในภพทั้งหลายอยู่ และเมื่อทิฏฐุปาทานเป็นต้นอาศัยในที่นั้นๆอยู่ (อวิชชาและทิฏฐุปาทานเป็นต้น) ย่อมยังตัณหาให้เจริญ. แม้โทสะทั้งหลายเป็นต้นก็เป็นเหตุแห่งกรรม (สังขาร,กัมมภพ) เช่นกัน. อย่างไรก็ตาม เมื่อตัณหาปรารถนาความวิจิตรแห่งภวะ-โยนิ-คติ-วิญญาณฐิติ-สัตตาวาส-สัตตนิกาย-ตระกูล-โภคะ-อิสสริยะนั้นๆอยู่ ตัณหาเลยเข้าถึงความเป็นอุปนิสัยให้กรรมมีความวิจิตร และยังเข้าถึงความเป็นสหายของกรรมด้วย ตัณหาจึงกำหนดความวิจิตรของภพเป็นต้น, เพราะเหตุ(ที่ตัณหาวิจิตรจึงทำให้ภพวิจิตร)นั้น แม้เมื่อเหตุแห่งทุกข์แม้อื่นๆ ที่ทรงตรัสไว้ทั้งในสุตตันตนัย อันได้แก่ อวิชชา-อุปาทาน-กรรม เป็นต้น และอภิธรรมนัย อันได้แก่ กิเลสและอกุสลมูลที่เหลือเป็นต้น จะมีอยู่ก็ตาม, พระองค์ก็ทรงตรัสตัณหานั่นแหละไว้ว่าเป็น "สมุทยสัจ (ความจริงที่เป็นเหตุเกิดทุกข์)" เพราะความที่ตัณหาเป็นเหตุให้ทุกข์มีความแตกต่างกัน.

https://5000y.men/?th.r.153.204.0.0.ตณฺหาว|สมุทยสจฺจํ|วุตฺตา#hl
กสฺมา ปเนตฺถ ตณฺหาว สมุทยสจฺจํ วุตฺตาติ? วิเสสเหตุภาวโตฯ อวิชฺชา หิ ภเวสุ อาทีนวํ ปฏิจฺฉาเทนฺตี ทิฏฺฐิอาทิอุปาทานญฺจ ตตฺถ ตตฺถ อภินิวิสมานํ ตณฺหํ อภิวฑฺเฒติ, โทสาทโยปิ กมฺมสฺส การณํ โหนฺติ, ตณฺหา ปน ตํตํภวโยนิคติวิญฺญาณฏฺฐิติสตฺตาอาวาสสตฺตนิกายกุลโภคิสฺสริยาทิวิจิตฺตตํ อภิปตฺเถนฺตี กมฺมวิจิตฺตตาย อุปนิสฺสยตํ กมฺมสฺส จ สหายภาวํ อุปคจฺฉนฺตี ภวาทิวิจิตฺตตํ นิยเมติ, ตสฺมา ทุกฺขสฺส วิเสสเหตุภาวโต อญฺเญสุปิ อวิชฺชาอุปาทานกมฺมาทีสุ สุตฺเต อภิธมฺเม จ อวเสสกิเลสากุสลมูลาทีสุ วุตฺเตสุ ทุกฺขเหตูสุ วิชฺชมาเนสุ ตณฺหาว ‘‘สมุทยสจฺจ’’นฺติ วุตฺตาติ เวทิตพฺพํฯ

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563

สติปัฏฐานมี 2 แบบ คือ แบบสมถะ (กายคตาสติสูตร) กับแบบวิปัสสนา (มหาสติปัฏฐานสูตร).

สติปัฏฐานมี 2 แบบ คือ แบบสมถะ (กายคตาสติสูตร) กับแบบวิปัสสนา (มหาสติปัฏฐานสูตร).

สติปัฏฐานแบบสมถะ คือ เอากายานุปัสสนามาทำอุปจาระและอัปปนาฌาน 8 ให้ได้วสีในอิริยาบถ 4 ฐานะ 7.

สติปัฏฐานแบบวิปัสสนา คือ หลังได้ฌานนิวรณ์สงบแล้ว เอากายเวทนาจิตธรรม ที่ได้ฌานและทำวิปัสสนาทั้งหมด มาทำภังคญาณจนต่อเนื่องเข้าขั้นภาวนาอีกที ครับ.

วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2563

เลขในภาษาบาลี บางที่เลขจริง บางที่เลขปัดเศษ บางที่นับจากคนละยุคโลก

ถาม: อยากรู้ว่าการนับตัวเลขบาลี จะเหมือนกับการแปลบาลีรึเปล่าครับ เช่น8พันปี เห็นหลายที่ตัวเลขเหมือนจะเกินจริง เช่นอายุมนุษย์​เป็นหมื่นปี หรือจำนวนคนในเมืองหลายโกฏิ​ ถ้าเอาตัวเลขจำนวนเยอะๆมารวมกัน ไม่รู้ว่าจะนับแบบไหน เห็นบาลีจะอ่านไม่เหมือนภาษาไทย

วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2563

คนแรกที่สอนละวางอัตตวาทุปาทานในปฏิจจสมุปบาททั้งปวงได้ คือ พระพุทธเจ้าเท่านั้น.

ม.ม. จูฬสีหนาทสูตร (บางส่วน)
[๑๔๓] ภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ ประการนี้ อุปาทาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ 
๑. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม) 
๒. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ) 
๓. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและวัตร) 
๔. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา) 
....ฯลฯ... มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติ ความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่รู้ ฐานะ ๑ ประการนี้ตามความเป็นจริง เหตุนั้น พวกเขาจึงปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้ อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสใดในศาสดา ความเลื่อมใสใดในธรรม ความ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ใดในศีลทั้งหลาย ความเป็นที่รักเป็นที่พอใจใดในหมู่สหธรรมิก ข้อนั้น ทั้งหมดเราไม่กล่าวว่า ดำเนินไปชอบในธรรมวินัยเห็นปานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะข้อนั้นเป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ผิดแล้ว ประกาศไว้ไม่ ถูกต้อง ไม่เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ประกาศไว้ 

[๑๔๔] ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิญญาวาทะ ว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง จึงบัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน๑- ความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน และความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ความเลื่อมใสใดในศาสดา ความเลื่อมใสใด ในธรรม ความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ใดในศีลทั้งหลาย ความเป็นที่รักเป็นที่พอใจใด ในหมู่สหธรรมิก ข้อนั้นทั้งหมดเรากล่าวว่า ดำเนินไปชอบในธรรมวินัยเห็นปานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะข้อนั้นเป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ถูกต้องแล้ว ประกาศไว้ถูกต้องแล้ว เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว

    

วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2563

ทำไมศาสนาพุทธถือว่าการฆ่าผู้มีคุณบาปกว่าฆ่าสัตว์ทั่วไป

คนด้วยกัน ถ้าคนๆ นั้น มีประโยชน์กับเราหลายด้าน เราจะตัดความสัมพันธ์ได้ยากกว่า ตัดคนที่ไร้ประโยชน์กับเรา แม้ฉันใด, การฆ่าสิ่งที่มีคุณประโยชน์มากก็ฉันนั้นเหมือนกัน. ผู้ฆ่าต้องใช้ #เจตนา แรงกล้ามากในการทำ เจตนานี้จึงให้ผลนำเกิดรุนแรงกว่า ครับ.

วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2563

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563

ข้ามขั้นตอนก็ไม่ดี ยึดติดในขั้นตอนก็ไม่ได้

"ขั้นสุดท้าย" ของการปริยัติ และปฏิบัติ คือ จะต้องระวังไม่ให้มีตัณหาเข้าไปยึดติดใจ ในทิฐิความเชื่อ และข้อปฏิบัติต่างๆ.

ที่เรียกว่า "ขั้นสุดท้าย" เพราะท่านแนะนำไว้ว่า ถ้าจิตยังไม่มีกำลังสงบกิเลสจริงๆ ให้ตั้งใจปฏิบัติไปก่อน, เมื่อกิเลสนิวรณ์สงบระงับได้ดี เพราะจิตมีกำลัง ก็ค่อยมาทำขั้นตอนสุดท้ายนี้.

นักปฏิบัติจะต้องปฏิบัติตามลำดับให้ถูกต้องก็จริง เพราะข้ามลำดับแม้เพียงเล็กน้อย อาจหมายถึงกิเลสที่หลุดรอด ขวางกั้นนิพพาน.

แต่การปฏิบัติตามลำดับนั้น ต้องไม่ให้มีตัณหาเข้าไปยึดติดการปฏิบัติ คำสอน เป็นต้นด้วย.

บางคนเป็นอุจเฉททิฏฐิ ข้ามขั้นตอน จึงไม่บรรลุก็มี, บางคนเป็นสัสตทิฏฐิ ยึดติดในขั้นตอน จึงไม่บรรลุก็มี. ตัณหา ทิฏฐิ มานะเป็นเครื่องเนิ่นช้า ให้ระวังให้ดี.

ฉะนั้นเมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนได้ครบแล้ว ก็ควรปล่อยวางสละคืนข้อปฏิบัติ. แต่ต้องไม่ลืมขั้นตอนเหล่านั้นเวลาแนะนำชนรุ่นหลัง, เพราะขั้นตอนต่างๆ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้า และพระสาวกวางแบบแผนไว้เพื่อรักษาพระศาสนาให้ครบ 5000 ปี.

วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2563

คุณสมบัติคนไม่ได้ฌานแล้วบรรลุธรรม คือ อาจารย์ดี อกุศลบางเบา

ถาม: ผมเคยได้ยินมาว่า การบรรลุไม่เกี่ยวข้องกับการได้ณาน คนที่บรรลุไม่ได้ณานก็มี และคนที่ได้ณานไม่บรรลุก็มีเช่นพวกฤาษี จริงหรือป่าวครับ

ตอบ: ความจริงครึ่งเดียวครับ, แต่อีกครึ่งหนึ่งไม่ใช่ความจริง

ถาม: คืออะไรครับ จริงครึ่ง ไม่จริงครึ่ง

ตอบ: คนที่บรรลุโดยไม่ได้ฌาน (คนมีจิตตวิสุทธิง่าย) มีจริง ใน 2 กรณี คือ

1. ได้อาจารย์ที่สั่งสมบารมีร่วมกันมา (เช่นพระพุทธเจ้า) สอนกรรมฐานวิธีลัดที่สอนร่วมกันมาหลายชาติให้จนบรรลุ (ติปุกขลนัย),
2. เป็นคนที่ไม่ค่อยมีอกุศลเกิดเลยตั้งแต่เกิด ซึ่งมักเกิดจากพรหมโลก (สีหวิกกีฬิตนัย).

แต่คนที่อกุศลเกิดบ่อย วิปัสสนาจะถูกอกุศลไปกั้นทำให้ภาวนาไม่เป็นภาวนา มรรคผลไม่ยอมเกิด ครับ, ฉะนั้น กรณีนี้ ควรฝึกฌาน ครับ.  อย่างน้อย ถ้าทำวิปัสสนาเกิน 7 ปี แล้วไม่บรรลุ ก็ควรถอยมาทำฌานก่อน ครับ.

ฉะนั้น ที่บอกว่า ไม่ต้องทำฌานก็ได้ จึงเป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว, ว่าตามหลักเนตติปกรณ์ เทสนาหาระ และสีหวิกกีฬิตนัย ครับ.

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563

ผมหงอก ออกบวช เจริญเนกขัมมะ : วัฒนธรรม ผู้มีปัญญา

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อัตตวรรคที่ ๑๒
๑๒. อัตตวรรควรรณนา               
๑. เรื่องโพธิราชกุมาร [๑๒๗]   (บางส่วน)
               พึงรักษาตนไว้ให้ดีในวัยทั้ง ๓               
               พระศาสดา ครั้นทรงแสดงบุพกรรมนี้ของโพธิราชกุมารนั้น แล้วตรัสว่า
               “ราชกุมาร ก็ในกาลนั้น ถ้าพระองค์กับพระชายา จักถึงความไม่ประมาท แม้ในวัย ๑ บุตรหรือธิดา พึงเกิดขึ้นแม้ในวัย ๑ ก็ถ้าบรรดาพระองค์ทั้ง ๒ แม้คนหนึ่งจักได้เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว บุตรหรือธิดาจักอาศัยผู้ไม่ประมาทนั้นเกิดขึ้น ราชกุมาร ก็บุคคล เมื่อสําคัญตนว่า เป็นที่รัก จึงไม่ประมาท รักษาตนแม้ในวัยทั้ง ๓ เมื่อไม่อาจ (รักษา) ได้อย่างนั้น พึงรักษาให้ได้แม้ในวัย ๑”
               แล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า
                         [๑๕๗]               “ถ้าบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ควรรักษาตนนั้น
                         ไว้ให้ดี บัณฑิตควรประคับประคองตนไว้ให้ได้อย่างน้อย
                         ยามใดยามหนึ่งใน ๓ ยาม”

               บรรดาคําเหล่านั้น ในคํานี้ว่า ยาม (ยามํ) พระศาสดาทรงแสดงวัยทั้ง ๓ วัยใดวัยหนึ่งให้ชื่อว่ายาม เพราะความที่พระองค์ทรงเป็นใหญ่ในธรรมและเพราะความพระองค์ทรงฉลาดในเทศนาวิธี เพราะเหตุนั้น ในพระคาถานี้ บัณฑิตพึงทราบความอย่างนี้ว่า
               “ถ้าบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รัก พึงรักษาตนนั้น ให้เป็นอันรักษาดีแล้ว คือพึงรักษาตนนั้น โดยประการที่ตนเป็นอันรักษาดีแล้ว บรรดาชนผู้รักษาตนเหล่านั้น ถ้าผู้เป็นคฤหัสถ์คิดว่า ‘จักรักษาตน’ เข้าไปยังห้องที่เขาปิดไว้เรียบร้อย เป็นผู้มีอารักขาสมบูรณ์ อยู่บนพื้นปราสาทชั้นบนก็ดี ผู้เป็นบรรพชิตอยู่ในถ้ำอันปิดเรียบร้อย มีประตูและหน้าต่างอันปิดแล้วก็ดี ยังไม่ชื่อว่ารักษาตนเลย
               แต่ผู้เป็นคฤหัสถ์ ทําบุญทั้งหลายมีทานศีลเป็นต้นตามกําลังอยู่ หรือผู้เป็นบรรพชิต ถึงความขวนขวายในวัตร ปฏิบัติ ปริยัติ และการทําไว้ในใจอยู่ ชื่อว่าย่อมรักษาตน บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อไม่อาจ (ทํา) อย่างนั้นได้ใน ๓ วัย (ต้อง) ประคับประคองตนไว้แม้ในวัยใดวัยหนึ่งก็ได้เหมือนกัน ก็ถ้าผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่อาจทํากุศลได้ในปฐมวัย เพราะความเป็นผู้หมกมุ่นอยู่ในการเล่น ในมัชฌิมวัยพึงเป็นผู้ไม่ประมาททําเพ็ญกุศล ถ้าในมัชฌิมวัยยังต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา ไม่อาจบําเพ็ญกุศลได้ ในปัจฉิมวัยพึงบําเพ็ญกุศลให้ได้ ด้วยอาการแม้อย่างนี้ ตนเป็นอันเขาประคับประคองแล้วทีเดียว แต่เมื่อเขาไม่ทําอย่างนั้น ตนย่อมชื่อว่าไม่เป็นที่รัก ผู้นั้น (เท่ากับ) ทำตนนั้นให้มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้าทีเดียว
               ก็ถ้าว่า บรรพชิต ในปฐมวัย ทําการสาธยายอยู่ ทรงจำ บอก ทําวัตรปฏิบัติตอบอยู่ ชื่อว่าถึงความประมาท ในมัชฌิมวัยพึงเป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญสมณธรรม อนึ่ง ถ้ายังสอบถามอรรถกถาและวินิจฉัยและเหตุแห่งปริยัติอันตนเรียนแล้วในปฐมวัยอยู่ ชื่อว่าถึงความประมาทในมัชฌิมวัย ในปัจฉิมวัยพึงเป็นผู้ไม่ประมาทบําเพ็ญสมณธรรม ด้วยอาการแม้อย่างนี้ ตนย่อมเป็นอันบรรพชิตนั้นประคับประคองแล้วทีเดียว แต่เมื่อไม่ทําอย่างนั้น ตนย่อมชื่อว่าไม่เป็นที่รัก บรรพชิตนั้น (เท่ากับ) ทำตนนั้นให้เดือดร้อน ด้วยการตามเดือดร้อนในภายหลังแท้”
               ในเวลาจบเทศนา โพธิราชกุมารดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว พระธรรมเทศนาได้สาเร็จประโยชน์ แม้แก่บริษัทที่ประชุมกันแล้วดังนี้แล

อรรถกถา ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

               อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค
               มฆเทวชาดก ว่าด้วยเทวทูต
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=9&p=1&h=ผมหงอก#hl

               วันหนึ่ง ตรัสเรียกช่างกัลบกมาว่า ดูก่อนช่างกัลบกผู้สหาย ท่านเห็นผมหงอกบนศีรษะของเราในกาลใด
               พระราชาตรัสว่า สหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถอนผมหงอกนั้นของเรา เอามาวางในฝ่ามือ.
               แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น พระราชาได้ทรงเห็นผมหงอกแล้ว ก็ทรงสำคัญประหนึ่งว่า
               ดูก่อนมฆเทวะผู้เขลา เจ้าไม่อาจละกิเลสเหล่านี้ จนตราบเท่าผมหงอกเกิดขึ้น.
               เมื่อพระเจ้ามฆเทวะนั้นทรงรำพึงถึง ผมหงอกที่ปรากฏแล้ว
               ดูก่อนพ่อ ผมหงอกปรากฏบนศีรษะของพ่อแล้ว พ่อเป็นคนแก่แล้ว
               พระราชาทรงถือผมหงอก ตรัสพระคาถานี้แก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า
               บทว่า อิเม ชาตา วโยหรา ความว่า พ่อทั้งหลาย จงดูผมหงอกเหล่านี้เกิดแล้ว ชื่อว่าเป็นเหตุนำเอาวัยไป
               เพราะนำเอาวัยทั้ง ๓ ไป โดยภาวะปรากฏผมหงอก.
               จริงอยู่ เมื่อผมหงอกทั้งหลายปรากฏบนศีรษะ บุคคลย่อมเป็นเหมือนยืนอยู่ในสำนักของพญามัจจุราช
               เพราะฉะนั้น ผมหงอกทั้งหลายท่านจึงเรียกว่า ทูตของเทวะ คือมัจจุ ที่ชื่อว่า เทวทูต เพราะเป็นทูตเหมือนเทวะ ดังนี้ก็มี
               ท่านจักตายในวันชื่อโน้น ฉันใด เมื่อผมหงอกทั้งหลายปรากฏแล้วบนศีรษะ
               เพราะฉะนั้น ผมหงอกทั้งหลาย ท่านจึงกล่าวว่า เป็นทูตเหมือนเทพ
               โดยปริยายนี้ ผมหงอกทั้งหลาย ท่านจึงเรียกว่าเทวทูต

 
               อรรถกถา สุสีมชาดก
               ว่าด้วย พระเจ้าสุสีมะออกผนวช
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1079&p=1&h=ผมหงอก#hl

               ประทับยืน ประทับนั่ง และทรงบรรทมแต่ลำพังพระองค์เดียว แต่พระราชาพระองค์นี้เป็นคนหนุ่ม ส่วนเราเป็นคนแก่ ผมหงอกปรากฏบนศีรษะของเรา
               พระราชาตรัสว่า ข้าแต่นางผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ขอเธอจงถอนผมหงอกเส้นนั้นมาวางไว้บนมือของฉัน.
               ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ผมหงอกของหม่อมฉันเอง ไม่ใช่ของพระองค์
               ผมหงอกงอกขึ้นบนศีรษะ บนกระหม่อมของหม่อมฉันเอง
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มเมว สีสํ ความว่า พระราชินีทรงแสดงว่า ผมหงอกงอกขึ้นบนศีรษะของหม่อมฉันเอง.

อรรถกถา ๒๘ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

               อรรถกถา เนมิราชชาดก
               ว่าด้วย พระเจ้าเนมิราชทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=525&p=1&h=ผมหงอก#hl

               มีพระราชดำรัสกะเจ้าพนักงานภูษามาลาว่า เมื่อใดเจ้าเห็นผมหงอกในศีรษะเรา เจ้าจงบอกข้าเมื่อนั้น.
               ผมหงอกที่งอกบนศีรษะของพ่อนี้ นำความหนุ่มไปเสีย เป็นเทวทูตปรากฏแล้ว คราวนี้จึงเป็นคราวที่พ่อจะบวช.
               ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ก็อภิเษกพระราชโอรสในราชสมบัติ แล้วพระราชทานพระโอวาทว่า แม้ตัวเธอเห็นผมหงอกอย่างนี้แล้ว ก็พึงบวช.

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

               อรรถกถา เนมิราชชาดก
               ว่าด้วย พระเจ้าเนมิราชทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=525&p=3&h=ผมหงอก#hl

               ผมหงอกที่งอกขึ้นบนเศียรของพ่อเหล่านี้ เกิดแล้วก็นำความหนุ่มไปเสีย เป็นเทวทูตปรากฏแล้ว สมัยนี้จึงเป็นคราวที่พ่อจะบวช.

            

วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563

พระปัจเจกไม่ได้เป็นใบ้ พระอนาคามีพรหมยุคพระพุทธเจ้ากัสสปะเช่นกัน แต่ท่านพูดอริยสัจแล้วคนฟังไม่บรรลุเท่านั้นเอง คำของท่านเลยไม่เป็นอริยสัจ

อนึ่ง คนที่สามารถเริ่มบัญญัติอริยสัจให้คนอื่นบรรลุได้ มีเฉพาะพระพุทธเจ้าเป็นคนแรกของยุคเท่านั้น.

แต่อยากให้มองมุมนี้ด้วยว่า เป็นไปไม่ได้ที่พระอนาคามีอริยะ จะกล่าว "อริยสัจ" ไม่ได้เลย, เช่นเดียวกับพระปัจเจกอริยะ เพราะท่านเหล่านี้ไม่ได้เป็นใบ้. #แต่ที่ท่านไม่อาจทำให้คนอื่นบรรลุได้ เพราะท่าน #ไม่มีความสามารถบัญญัติ คำที่ทำให้คนอื่นบรรลุได้ (ขุ.ปฏิ.อ.) เนื่องจากการจะรู้คำที่เหมาะสมแก่คนอื่นจะต้องสะสมบารมีร่วมกันมายาวนานมาก และเมื่อคนพวกนั้นไม่ได้สั่งสมบารมีมาเพื่อบรรลุกับท่านเขาก็จะไม่บรรลุเมื่อฟังธรรมจากปากพระปัจเจกอริยะ เป็นต้น (ขุ.อปทาน).

กล่าวง่ายๆ คือ พูดเหตุผลได้ รู้ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค แต่พูดแล้วคนฟังไม่บรรลุ ก็ไม่เป็นอริยสัจนั่นเอง.


ที่มาของคำว่า อริยสัจ ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เกี่ยวข้องกับลักขณสูตร อย่างไร? (#วิธีสวดธรรมจักรอย่างเข้าใจ1)

เรื่องมหาปุริสลักษณะ ในลักขณสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ โดยนำมาจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์นี้ ในอรรถกถาทั้งหลายอธิบายว่า "พระอนาคามีพรหมยุคพระพุทธเจ้ากัสสปะ ลงมาบอกมาหาปุริสลักษณะกับฤๅษีไว้ เพื่อให้ทราบเวลาพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น" ตอนที่บอกอย่างนี้นั้นไม่มีใครบรรลุ.   ถามว่า ฤๅษีที่ฟังคือใคร? ตอบว่า ฤๅษีคือ ชนชาวอริยะที่ออกบวชเข้าป่าแล้วทำฌานตามคำสอนของพระพรหม ในอรรถกถาหลายแห่งกล่าวว่า เมื่อแก่ตัวคนสมัยนั้นจะออกบวชฤๅษีกัน แล้วทำฌาน เพื่อที่จะได้ไปอยู่กับพระพรหม บนพรหมโลก ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับผู้ทำฌานเท่านั้น จึงจะไปเกิดได้.
ทีนี้ฤๅษีชาวอริยะนี้ ก็เลยเรียกตัวเองว่า พราหมณ์ แปลว่า "ลูกพระพรหม (เพราะเกิดจากคำสั่งสอนจากพระโอษฐ์ของอนาคามีพรหม)".  เราจะเจอคำนี้ได้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาหลายแห่ง หรือแม้แต่นักเรียนบาลีเอง ก็จะต้องเคยเรียนคำว่า พราหมณ์ มาจากโคตรตัทธิต แปลว่า เหล่ากอแห่งพระพรหม.
พวกปัญจวัคคีย์พราหมณ์ จึงรู้กันว่า อริยสัจ นั้นแปลว่า วาจาสัตย์ที่ฤาษีชาวอริยะได้เรียนจากพระพรหม. เพียงแต่เขาไม่รู้ว่า วาจาสัตย์นั้น เอามาใช้อย่างไรจึงจะบรรลุ และเนื่องจากฤาษีที่รับตำรามาจากอนาคามีพรหมก็ไม่ได้บรรลุมรคผล,  พอปุถุชนบอกต่อๆกันมาเป็นหลายพันปี (นักประวัติศาสตร์โลกกล่าวว่า ตำราพราหมณ์มีอายุไม่ต่ำกว่า 5000 ปี) ตำราพราหมณ์ก็ยิ่งเลอะเลือนถึงขั้นมีคาถาอาคม (อาถัพพนเวท).
เพราะเหตุนี้แหละ  พระปัญจวัคคีย์จึงรู้จักคำว่าอริยสัจทันที โดยที่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรไม่ต้องอธิบายความไว้เลย. เพราะพระปัญจวัคคีย์คือพราหมณ์ที่ออกบวชมาก่อน ก็เพื่อติดตามดูแลพระโพธิสัตว์ให้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า แน่นอนว่าในระหว่างนั้นท่านก็ต้องทำฌานของพวกฤาษี รวมถึงได้รับการอบรมสั่งสอนศีลสมาธิจากพระโพธิสัตว์ด้วย ซึ่งก็คือทำมรรคมีองค์ 7 (เว้นสัมมาทิฏฐิ) มาก่อนนั่นเอง.
ส่วนพวกเรานั้น ส่วนใหญ่ไม่อาจเข้าใจคำว่าอริยสัจทันทีแบบพระปัญจวัคคีย์นั้นได้. จริงๆก็มีวิธีจะเข้าใจ คือ พวกเราก็ต้องท่องจำ พระสูตรและอรรถกถาหลายแห่ง กว่าจะเข้าใจเรื่องทั้งหมดนี้ได้. ซึ่งวัฒนธรรมนี้เริ่มสาบสูญไปจากไทยเมื่อร้อยปีที่แล้ว ในยุคที่ไทยมีสงครามต่อเนื่องยาวนาน. ทั้งๆที่จริงๆพระวินัยบังคับให้ต้องท่องจำเพิ่มขึ้นตามวัยด้วย แต่เพราะสงคราม วัฒนธรรมนี้เลยเลื่อนหายไป. เราในฐานะพุทธบริษัทจึงต้องร่วมมือกันฟื้นฟูขึ้นมาใหม่.
และนี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่า ทำไมเราฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้วไม่บรรลุทันที เพราะแค่ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เราก็เอาบาลีมาหมุนนัยตามเนตติปกรณ์ไม่เป็นแล้ว, อย่างนี้เราจะไปมีกำลังใจที่ไหนในการจะท่องจำพระไตรปิฎกและอรรถกถากันเล่า? ฉะนั้น ถ้าคนเรียนอภิธรรมควรจะต้องทำสมถะให้เห็นสภาวะได้ฉันใด, คนเรียนบาลีก็ควรจะต้องท่องจำแล้วแยกแยะพระสูตร ที่เทสนาไว้เป็นบาลี ออกเป็นบท 12 แล้วเข้าวิจัยด้วยหาระ 16  ใช้นยะ 5 นำอรรถะออกมาจากพระสูตรให้ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.
การทำสมถะตามตำรา การทรงจำพระบาลีตามหลักเนตติปกรณ์,  ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยขาดแคลนและต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน. และสิ่งนี้ไม่ใช่แค่หน้าที่ของมหาเปรียญ, แต่พุทธบริษัทสามารถร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้คนละมือได้  ด้วยการท่องจำพระสูตรทั้งบาลีและแปลด้วยอย่างเข้าใจ แล้วอัดเผยแพร่สรรเสริญคุณค่าของการสวดมนต์ด้วยความเข้าใจและนำมาใช้ได้จริง #ตามหลักเนตติปกรณ์. เมื่อเราพากันทำอย่างนี้ จิตของพุทธบริษัทก็จะน้อมไปในการเข้าใจพระบาลีและนำมาใช้, ไม่ใช่เพียงแต่สวดโดยที่ไม่รู้ความหมาย. เมื่อทำอย่างนี้ ปริยัติศาสนาก็จะตั้งมั่น, แล้วต่อไปปฏิสัมภิทามรรคจะเป็นตำราที่อ่านง่ายและคนนิยมเรียนมาก อภิธรรมก็เช่นกัน เพราะพอรู้หลักเนตติปกรณ์แล้ว ตำราเหล่านี้เรียนง่ายๆ ใช้ปฏิบัติได้ครบวงจร แล้วยังเอาไปทำความเข้าใจพระสูตรได้อย่างละเอียดมากๆ อีกด้วย.
อนึ่ง คนที่สามารถเริ่มบัญญัติอริยสัจให้คนอื่นบรรลุได้ มีเฉพาะพระพุทธเจ้าเป็นคนแรกของยุคเท่านั้น.
แต่อยากให้มองมุมนี้ด้วยว่า เป็นไปไม่ได้ที่พระอนาคามีอริยะ จะกล่าว "อริยสัจ" ไม่ได้เลย, เช่นเดียวกับพระปัจเจกอริยะ เพราะท่านเหล่านี้ไม่ได้เป็นใบ้. #แต่ที่ท่านไม่อาจทำให้คนอื่นบรรลุได้ เพราะท่าน #ไม่มีความสามารถบัญญัติ คำที่ทำให้คนอื่นบรรลุได้ (ขุ.ปฏิ.อ.) เนื่องจากการจะรู้คำที่เหมาะสมแก่คนอื่นจะต้องสะสมบารมีร่วมกันมายาวนานมาก และเมื่อคนพวกนั้นไม่ได้สั่งสมบารมีมาเพื่อบรรลุกับท่านเขาก็จะไม่บรรลุเมื่อฟังธรรมจากปากพระปัจเจกอริยะ เป็นต้น (ขุ.อปทาน).
กล่าวง่ายๆ คือ พูดเหตุผลได้ รู้ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค แต่พูดแล้วคนฟังไม่บรรลุ ก็ไม่เป็นอริยสัจนั่นเอง.
สรุป1 อริยสัจ คือ #คำของฤๅษี ใน #แคว้นของชาวอริยะ (อารยัน) ที่ได้ฟังมหาปุริสลักษณะ #เป็นต้น จากปากของพระพรหม. ฤๅษีจึงเรียกตัวเองว่า พราหมณ์. เหตุที่ในอรรถกถากล่าวถึงแต่มหาปุริสลักษณะ แต่ผมใช้คำว่าเป็นต้น เพราะเรื่องวงจรโลกพังโลกเกิดใหม่ ที่กล่าวไว้ในพระสูตรว่า สังวัฏฏกัปป์วิวัฏฏกัปป์ เป็นต้น ก็มาในพระเวทเช่นกัน ครับ. นั่นแสดงว่า พระพรหมไม่ได้บอกแค่มหาปุริสลักษณะ, เพียงแต่ว่า ฤๅษีไม่มีความสามารถจะเข้าใจได้ทั้งหมด และพระอนาคามีต่างยุค ก็ไม่มีความสามารถจะแสดงอริยสัจให้คนอื่นบรรลุได้ ซึ่งน่าจะมาจากหลายสาเหตุ.
สรุป2 การทำสมถะตามตำรา การทรงจำพระบาลีตามหลักเนตติปกรณ์,  ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยขาดแคลนและต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน.


วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2563

ถาม: ไม่อยากบวชให้พ่อแม่ทำอย่างไร? ตอบ: อยู่ที่ว่าเราใจกว้างแค่ไหน

ถาม: #ไม่อยากบวชให้พ่อแม่ทำอย่างไร?
ตอบ: อยู่ที่ว่าเราใจกว้างแค่ไหนครับ. 
1. #ถ้าเราใจแคบหน่อย พัฒนาตัวเอง ให้มีความสุขในหลายๆแบบไม่ได้ มีมุมมองจำกัดอยู่แต่ความสุขในแบบที่ตัวเองคิดว่าดี, เราก็ใช้วิธีอยู่ห่างๆท่าน อย่าไปรบกวนท่านมาก อย่าไปให้ท่านเห็นหน้า. อาจจะไปทำงานต่างบ้านต่างเมืองก็ได้.
แค่นี้ท่านก็ไม่กล้าว่าอะไรแล้ว ท่านก็กลัวจะไม่ได้เจอคุณ ท่านก็จะไม่กล้าจ้ำจี้จ้ำไชมาก.
แล้วก็ไม่ต้องไปแคร์ท่านมาก เพราะถ้าแคร์มากคุณก็จะเสียใจ ในเมื่อเราใจไม่กว้างพอ จะรักษาความสุขส่วนตัวไว้ ก็ต้องไม่แคร์คนอื่นมาก เดี๋ยวจะเสียความสุขส่วนตัว. ต่อให้เป็นพ่อแม่ก็ตาม. ถ้าคุณทำให้มันเป็นความสุขได้ด้วยการคิดอย่างนี้ คุณก็จะไม่ข้องใจใดๆทั้งสิ้นที่จะทำ. ส่วนชาติหน้าจะมีหรือไม่มีหรือไม่ ก็รอดูตอนตายแล้วกัน.
2. #ถ้าเราใจกว้างหน่อย. ถ้าเราอยากให้คนอื่นมีความสุขมากๆ ในแบบที่เขาต้องการ โดยเฉพาะถ้าสิ่งนั้นมันยังมีข้อดีอยู่บ้าง (ถ้าเขาอยากให้เราเล่นยา กินเหล้า อันนี้ไม่ต้องไปแคร์ไปสนเลย เพราะเขาพาเราลงนรก).  เราก็จะหาวิธีทำใจให้ตัวเองมีความสุขด้วย แรกๆก็จะยาก พ่อทำเป็นก็จะง่าย, จะมีความสุข ในการที่ได้ให้ความสุขแก่พ่อแม่ ในแบบที่ท่านต้องการ.
ถ้าเราไม่สามารถทำใจให้กว้างได้ขนาดนั้นจริงๆ เป็นคนมีมุมมองแคบ เราก็แค่หนีไปไกลๆไปทำงานไกลไกล ท่านก็เห็นใจแล้ว.
แล้วเราก็อยู่ห่างๆท่าน อย่าไปรบกวนท่านมาก อย่าไปให้ท่านเห็นหน้า.
แค่นี้ท่านก็ไม่กล้าว่าอะไรแล้ว ท่านก็กลัวจะไม่ได้เจอคุณ ท่านก็จะไม่กล้าจ้ำจี้จ้ำไชมาก.

วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2563

แสงสี เกิดได้ทั้งทำสมถะและวิปัสสนา ขณะที่พระพุทธเจ้าบรรลุก็มีแสงสีสว่างไสวไปทั่วเช่นกัน

นิมิตนี่ ถ้านั่งถึง 4 ชมขึ้นไป ต่อกันหลายๆบัลลังก์ และนั่งถูกวิธี ก็ต้องได้อยู่แล้วเป็นธรรมชาตินะครับ ต่อให้ไม่ได้สนใจจะดู แต่ถ้านั่งถึงมันก็ได้อัตโนมัติ เพราะมันเริ่มมาจากสีในกุสลจิตตรูปที่ดี เพราะจิตเป็นกุศลต่อเนื่อง มันก็เห็นแสงสีนี้เอง. ต่อให้ทำวิปัสสนาก็เห็น แต่เราไม่ได้สนใจมันในขั้นวิปัสสนาเท่านั้น. แสงสีนี้เกิดทั้งในสมถะและวิปัสสนา เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส #แม้ในขณะที่พระพุทธเจ้าบรรลุ ก็มีแสงสีนี้เกิดขึ้น อ่านได้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร #บาลี ครับ. มันเป็นสีในกลาป ที่มีกำลังเพราะเป็นจิตตชรูปที่ได้กุศลที่มีกำลังมากเป็นปัจจัย.

แต่สำหรับคนทำรูปฌานนั้น ปกติแล้ว ถ้าจะทำให้ได้ฌานต้องอาศัยนิมิต #ซึ่งนิมิตพัฒนามาจากแสงสีนั้นอีกทีนึง เพราะนิมิตเป็นอย่างเดียวที่ไม่ใช่กามคุณ และไม่เนื่องด้วยกามคุณ ที่ปุถุชน ที่ไม่เคยได้ฌานพอจะรู้ได้. ปรมัตถ์และบัญญัตินอกนั้น ก็เนื่องด้วยกามคุณหมดเลย.

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2563

อายุพระศาสนา 5,000 ปี มาในปฐมสังคายนาตรงๆ

ถาม: อยากทราบที่มา ที่ชาวพุทธเมืองไทยเราบอกว่า ศาสนาพุทธเราจะอยู่ 5 พันปีนั้นเป็นพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสไว้ที่ใหนครับ หรือว่าเป็นคำของใครครับ

ตอบ: อายุ 1,000 ปี มาในพระวินัยปิฎกตรงๆ ครับ, แต่พระอุบาลี เอตทัคคะด้านพระวินัย (อดีตช่างตัดผมของเจ้าชายสิทธัตถะ) อธิบายไว้ในปฐมสังคายนามีใจความว่า สัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าจะอันตรธานใน 1,000 ปีนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสหมายเอาเฉพาะพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาก่อน, แต่ยังมีพระอริยะอื่นๆ อยู่จนถึง 5,000 ปี.

ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับคำอธิบายของพระอานนท์ พระพุทธอนุชา เอตทัคคะด้านพหูสูตร ที่อธิบายไว้ในครั้งปฐมสังคายนา โดยหลายนัยยะ ในทีฆนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ที่เชื่อมโยงไม่ขัดแย้งกัน กับ 5,000 ปีที่พระอุบาลีอธิบายไว้ .

ถ้าหลักฐาน เกิน 5 ที่สอดคล้องกันอย่างนี้ ก็มั่นใจได้เลยว่า เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้า และพระสาวกในครั้งพุทธกาล ได้ให้การรับรองยืนยัน เพราะคัมภีร์ที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้ทรงจำมาด้วยพระเถระสายเดียว ยากที่จะอธิบายให้ตรงกัน เนื่องจากทรงจำแบ่งออกเป็น 5 สาย สายละนิกาย คือ วินัย อุบาลี, ทีฆนิกาย อานนท์, มัชฌิมนิกาย ลูกศิษย์พระสารีบุตร, สังยุตตนิกาย  พระมหากัสสปะ, อังคุตตรนิกาย พระอนุรุทธะ.

ก็หมายความว่าพระเถระเหล่านี้ ได้รับรองมติมีไว้เรียบร้อย เพราะปรากฏ 5,000 ปีในคำอธิบายของท่านเหล่านี้ เกือบทุกท่าน ทั้งๆ ที่แยกกันทรงจำ กลับสอดคล้องกัน ไม่ขัดแย้งกัน ครับ.

รายละเอียด และอ้างอิงต่างๆ  ดูในลิงก์นี้ครับ 

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2563

ปัญญา,ญาณ, สัมมาทิฏฐิ เหมือนกันในธัมมสังคณี, ต่างกันในปฏิสัมภิทามรรค เป็นต้น อยู่ที่บริบท

ผมมีข้อจะถามว่า
ปัญญา กับ สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างเดียวกันหรือเปล่า
หากคนละอย่าง มีความแตกต่างอย่างไร
ตอบสั้นๆ: ปัญญา, ญาณ, สัมมาทิฏฐิ เหมือนกันในที่แสดงองค์ธรรม เช่น ใน อภิ.ธัมมสังคณี, แต่ต่างกันในพระสูตรที่แสดงลำดับการพัฒนา เช่น ในมาติกา ขุ.ปฏิสัมภิทามรรคบาลี. ขึ้นอยู่กับบริบท เพราะในระบบมุขปาฐะ เรื่องเดียวกัน ถ้าองค์ธรรมเดียวกันแต่ปัจจัยต่างกัน จะใช้ศัพท์แยกกัน เพื่อป้องกันผู้เรียนสับสน.
ตอบแบบอธิบาย: คำถามนี้ เป็นคำถามประเภทที่เคยสร้างความร้าวฉานในคณะสงฆ์ไทยมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งๆ ที่เป็นคำถามไม่ยากนักสำหรับผู้ที่เรียนมาแบบท่องจำในระบบมุขปาฐะ, ฉะนั้น ขออนุญาตตอบละเอียด เพื่อให้เกิดความสามัคคี เห็นอกเห็นใจกันของหมู่คณะพุทธบริษัท 4.
คำถามๆ เกี่ยวกับศัพท์บาลี ฉะนั้นก็ต้องดูว่า ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีใช้ 2 คำนี้อย่างไร?
ก่อนอื่นควรทราบว่า ในพระไตรปิฎกนั้น ถ้าในสูตรใดมีสิ่งที่มีองค์ธรรมเหมือนกัน แต่ความเป็นปัจจัยขององค์ธรรมต่างกันมาก ท่านจะใช้ศัพท์ให้ต่างกัน.
เช่น วิญญาณ และ จิต ใน อภิ.ธัมมสังคณี จะมีลักษณะรู้อารมณ์เหมือนกัน, แต่ก็เพราะในที่นั้นกำลังแสดงโดยใช้คำซ้ำอธิบายกันและกัน เหมือนพจนานุกรม (เนตฺติ. ลักขณหาระ, เววจนะหาระ, กัมมนยะ 2) จิต และ วิญญาณ จึงมีองค์ธรรมเท่ากันในที่นั้น. ส่วนใน วิ.อนัตตลักขณสูตร แม้แสดงทั้ง วิญญาณ และ จิต ไว้เช่นกัน แต่องค์ธรรมต่างกัน เพราะบริบทแสดงวิญญาณและจิต โดยใช้คำต่างกันด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน (เนตฺติ จตุพยูหหาระ, บัญญัติหาระ) โดยแสดงวิญญาณ ในภูมิ 3 โดยอารัมมณปัจจัย แล้วแสดงจิตของอริยสาวก(พระปัญจวัคคี)เป็นอารัมมณปัจจยุปบัน เป็นต้น.
จะเห็นได้ว่า ศัพท์ที่มีองค์ธรรมเดียวกัน อาจมีความหมายต่างกันไปในแต่ละสูตรก็ได้.
เช่นเดียวกัน แม้ใน อภิ.ธัมมสังคณี จะแสดง ปัญญา กับ สัมมาทิฏฐิ โดยใช้คำซ้ำอธิบายกันและกัน,  แต่ในพระสูตรที่แสดงลำดับขั้นของปัญญา ศัพท์ในธัมมสังคณีนั้น ถ้าปรากฎใช้ในสูตรเดียวกัน จะใช้ในความหมายต่างกัน องค์ธรรมต่างกัน เว้นแต่แสดงเป็นเววจนะ, วิเสสนะ (คำอธิบายซึ่งกันและกัน;คำไวพจน์).
เช่น ใน ที.ม.มหาสติปัฏฐานสูตร ท่านแสดง ญา ธาตุ และ ธาตุที่เกี่ยวกับการเห็นประจักษ์ไว้ดังนี้ (ทั้งหมดเข้ากับ นิทฺธารณของ กาเย เป็นต้น) ปชานาติ (ปญฺญา) นิสีทติ (วิหรติ)> อนุปสฺสีญาณํ > คจฺฉนฺโต ฐิโต นิสฺสินฺโน สยาโน วิหรติ ปชานาติ > อนุปสฺสี >  ญาณํ  > สตฺตฐาเนสุ สมฺปชานการี โหติ วิหรติ > อนุปสฺสี >  ญาณํ >  ปจฺจเวกฺขติ > (วนลูปเดิมไปทุกบรรพะ ปสฺเสยฺย, อุปสงฺหรติ, ปชานาติ, อนุปสฺสี, ญาณํ) > สมฺมาทิฏฺฐิ > ทุกฺเข ญาณํ ฯลฯ > อนุปสฺสี > ญาณํ > อญฺญา.
หรือในสูตรเดียวกันนี้ นามรูปํ ในสัจจะบรรพะ หมุนด้วยปฏิจจสมุปบาทนัย > กาเย > กายสฺมึ > เวทนาสุ > เวทนาสุ > จิตฺเต > จิตฺตสฺมึ > ธมฺเมสุ > ธมฺเมสุ ทั้งหมดนี้องค์ธรรมไม่เท่ากันเช่นกัน
ลักษณะเดียวกันนี้ยังใช้กับที่ๆแสดง ทสฺสนภูมิ ภาวนาภูมิ, เสกฺข อเสกฺข, ปญฺญา ญาณ สมฺมาทิฏฺฐิ ทสฺสน เป็นต้น เช่น ในมาติกา ขุ.ปฏิสัมภิทามรรคบาลี อีกด้วย.
อีกตัวอย่างในมาติกา ขุ.ปฏิสัมภิทามรรคบาลี:
  • ข้อความนี้ ปัญญาจะชำนาญหรือไม่ชำนาญก็ได้ แต่ญาณต้องชำนาญแล้ว (ญาตฏฺเฐน ญาณํ; สุฏฺฐุ ชานนํ; อภิญฺญาตํ): "'พวกนี้ควรถูกทำญาตปริญญา' เมื่อฟังจำและเข้าใจแง่มุมต่างๆ อย่างนี้เป็นปัญญาที่ชำนาญจากการฟัง (สุตมยญาณ)ฯ" 
อีกตัวอย่างในพระสูตรทั่วไป:
  • สมฺมาทิฏฺฐิ คู่กับ มิจฉาทิฏฺฐิ พระโสดาบันละมิจฉาทิฏฐิได้สิ้น จึงสำเร็จทัสสนภูมิ เข้าสู่ขั้นภาวนาภูมิ. แต่ยังมีอวิชชา ที่ไม่เกิดกับทิฏฐิได้อยู่.
  • วิชฺชา คู่กับ อวิชฺชา พระอรหันต์ละอวิชชาได้หมดสิ้น ถึงที่สุดแห่งภาวนาภูมิ ไม่ต้องทำภาวนากิจเพื่อละกิเลสอีกต่อไป.
  • ปญฺญา(ปชานน) จะชำนาญหรือไม่ชำนาญก็ได้ แต่ญาณต้องชำนาญแล้ว และปุถุชนฝึกปัญญาให้เป็นสัมมาทิฏฐิญาณ ในทัสสนภูมิ, พระโสดาบัน(ทิฏฐิสัมปันโน) ฝึกสัมมาทิฏฐิญาณให้เป็นภาวนามยญาณ ในภาวนาภูมิ. ทั้งหมดเป็นปัญญา แต่ความสมบูรณ์ของปัญญา (level) ถูกแจกออกด้วยศัพท์ว่า ญาณ, สัมมาทิฏฐิ, ทิฏฐิสัมปันโน, ทัสสนภูมิ, ภาวนาภูมิ.
เรื่องนี้เป็นข้อผิดพลาด แบบปลาตายน้ำตื้น เส้นผมบังภูเขา แม้แต่ปธ. 9 แปลก็ตายกันมาแทบทุกราย ทั้งๆ ที่ไม่ยาก ครับ.
ถ้าจับหลักตัวที่อธิบายในบทความนี้ได้ จะเข้าใจพยัญชนะบท 6 อรรถบท 6 (บท 12) ในเนตติปกรณ์, สนธิ อนุสนธิ ปุพพาปรสนธิ (ความเชื่อมโยง ระหว่าง บท 12 นั้น). อรรถกถาจะอธิบายหรือไม่ก็ตาม ก็สามารถแทงตลอดพระสูตรได้เอง, และจะเข้าใจข้อความยาก ที่อรรถกถาอธิบายด้วยว่า ท่านใช้ปาฐะใด บริบทใด มาอธิบายพระพุทธพจน์ตรงนั้น จะไม่สงสัยในอรรถกถาเลย.
ที่สำคัญ คือ จะเห็นเลยว่า "ที่คนไทย ดูบาลีก็แล้ว อรรถกถาก็แล้ว ก็ยังเอาพระสูตรมาใช้ปฏิบัติไม่ได้" นั้น เป็นเพราะไม่ท่องจำและท่องจำไม่เป็นไปตามหลักเนตติปกรณ์ ครับ.

วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2563

อินทรีย์กุศล ทำให้สำเร็จอรหัตผล ได้อย่างไร?

ขอคำอธิบาย: พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้าว่า เหตุใดบุคคลถึงสำเร็จอรหัตผล
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า เพราะอินทรีย์กุศล คือ ศรัทธา ศีล สมาธิ ภาวนา ปัญญา

อินทรีย์ คือ อะไร?

อินทรีย์ คือ การรับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ.  อินทรีย์มีทั้งกุศล อกุศล อัพยากตะ, แต่สำหรับในเรื่องภาวนา จะนับเอาเฉพาะอินทรีย์ที่เป็นกุศลเท่านั้น โดยเฉพาะศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา.
อินทรีย์ เปรียบเหมือนผู้มีอำนาจทำงานเฉพาะด้านนั้นๆ ถ้าผู้มีอำนาจรับผิดชอบทำหน้าที่ของตนในงานที่ทำร่วมกันอย่างสมัครสมานสามัคคีทำงานกันอย่างเต็มที่จนพัฒนาถึงที่สุดแล้ว งานก็ย่อมออกมาสมบูรณ์.

  1. สัทธินทรีย์ รับผิดชอบหน้าที่เชื่อมั่น โดยมีอำนาจทำงาน คือ เชื่อมั่นอารมณ์ของกุศลเท่านั้น.
  2. วิริยินทรีย์ มีอำนาจทำงาน คือ ทำกุศลเท่านั้นที่เกิดพร้อมกันนั้นให้พากเพียรทำกิจของตนอย่างต่อเนื่อง.
  3. สตินทรีย์ มีอำนาจทำงาน คือ ไม่ลืมอารมณ์ของกุศลเท่านั้น.
  4. สมาธินทรีย์ มีอำนาจทำงาน คือ มีอารมณ์เพียงอารมณ์เดียวและเป็นอารมณ์ของกุศลเท่านั้น.
  5. ปัญญินทรีย์ มีอำนาจทำงาน คือ แทงตลอดอารมณ์ของกุศลเท่านั้นในแง่มุมต่างๆ ตรงตามปฏิจจสมุปบาทและปฏิจจสมุปปันนะ (เหตุผล).

อรหัตผล คือ อะไร?

อรหัตผล คือ วิบากของอรหัตตมรรคกุศล.

กุศล คือ อะไร?

กุศล คือ สิ่งที่ละ ทำลาย จนปราศจากโรคและสิ่งที่มีโทษ (คือ กิเลสที่ทำให้จิตเป็นอกุศล) กุศลจึงให้ผลเป็นสุขวิบาก. อินทรีย์ที่เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี แต่อินทรีย์ที่ภาวนาให้บรรลุฌาน มรรค ผล (รวมถึงให้บรรลุอรหัตตผลที่ถามมาด้วย) หมายถึง อินทรีย์ที่เป็นกุศลเท่านั้น.

โรคและโทษ (คือ กิเลสที่ทำให้จิตเป็นอกุศล) คืออะไร?

โรคและโทษ คือ สิ่งที่ทำแล้วประโยชน์ 6 ขัดแย้งกัน เกิดผลเสียหาย คือ เสียประโยชน์ 6 ได้แก่ ...
  1. ให้ผลเสีย คือ ทุกขวิบาก ในโลกนี้.
  2. ให้ผลเสีย คือ ทุกขวิบาก ในโลกหน้า.
  3. ไม่ทำให้นิพพาน ยังได้รับทุกขวิบากในวัฏฏะต่อไปไม่สิ้นสุด.
  4. เสียประโยชน์ตนเอง  คือ ตนเองได้ทุกขวิบาก.
  5. เสียประโยชน์คนอื่น คือ คนอื่นได้ทุกขวิบาก.
  6. เสียประโยชน์ส่วนรวม คือ ทั้งตนเองและคนอื่นได้ทุกขวิบาก.

การบริหารอินทรีย์ให้สมดุล

ในขณะที่ทำฌาน หรือ วิปัสสนา ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องสมดุลอินทรีย์ฝั่งตื่นตัว คือ วิริยะและปัญญา ให้มีกำลังเหมาะสมกับ อินทรีย์ฝั่งนิ่งสงบ คือ ศรัทธาและสมาธิ.

ตัวอย่างเช่น ถ้าทำวิปัสสนาอยู่แต่จะหลับ ก็ต้องนึกถึงอารมณ์ที่ทำให้เกิดวิริยะหรือปัญญา เช่น เรื่องความเพียรของพระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น, หรือทำวิปัสสนาแล้วเพียรมากจนฟุ้งซ่านอกุศลเกิด ก็ต้องพักมานึกถึงอารมณ์ของศรัทธาและสมาธิ เช่น ทำสมถะมีพุทธานุสสติ เป็นต้น.

ผลของการปรับอินทรีย์ได้สมดุล

จะทำให้ภาวนาพัฒนาคืบหน้าได้ไว เพราะโลกิยฌานก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ล้วนเป็นความสมบูรณ์แบบของจิตเจตสิก ฉะนั้น ถ้ายังมีอินทรีย์เจตสิกใดที่บกพร่อง คือ ไม่สมบูรณ์เท่ากับอินทรีย์อื่นๆ จิตเจตสิกนั้นก็ไม่อาจเข้าถึงอัปปนาได้ เพราะบกพร่อง ไม่สมบูรณ์แบบพอ.

----------------------------------

จริงๆ แล้วเรื่องปรับสมดุลอินทรีย์ เป็นเรื่องสำคัญมากของคำถามนี้ แต่ผมเองยังมีประสบการณ์ในการปฏิบัติภาวนาไม่มากพอจะตอบ เรื่องนี้มีรายละเอียดเยอะมาก จึงแนะนำให้ฟัง ผู้ที่มีประสบการณ์ปรับอินทรีย์ เช่น ท่าน พ.อ. สมทบ, หรือ พ.อ.กรรมฐานของ พะอ็อกตอยะ เป็นต้น ครับ.

รายละเอียดดูอรรถกถา โพชฌังคบรรพะ

พระอาจารย์สมทบ ปรกฺกโม สมถะกรรมฐาน ปรับอินทรีย์
https://archive.org/details/12FEB2020/21+Feb+2020+สมถกัมมฐาน+9+การปรับสมดุลของอินทรีย์+และโพชฌงค์.MP3

สิ่งที่เหลือท้ายสุดของปริยัติศาสนา คือ การท่องจำอย่างเข้าใจ ไม่ใช่เล่มหนังสือ

สิ่งสุดท้ายที่จะเหลืออยู่ของปริยัติศาสนาคือการท่องจำ ไม่ใช่เล่มหนังสือ เพราะเล่มหนังสือเข้าใจอักขระเองไม่ได้ แต่คนที่ท่องจำไว้ หากไม่ละความเพียรอย่างฉลาด ก็จะเข้าใจสิ่งที่ท่องไว้ได้ในไม่ช้า.  คนที่จำไม่ได้ก็เข้าใจอะไรไม่ได้เช่นกัน ดังบาลีว่า โสตาวธาเน ปัญญา สุตมเย ญาณํ #แปลว่า:  ฟังแล้ว ก็จำได้ พอเข้าใจแง่มุมต่างๆ [เมื่อชำนาญดี] ก็เป็นสุตมยญาณ.

นอกจากนี้ในพระวินัย ยังมีอาบัติทุกๆ คืนเมื่อไม่ท่องจำในพรรษาที่กำหนดอีกด้วย.

www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=02&i=406

วิธีเริ่มเจริญธรรมคุณ บทว่า สฺวากฺขาโต

คนที่ท่องจำจนชำนาญและมีความเข้าใจแทงตลอด จะได้รับคุณสมบัติ ในบทธรรมคุณข้อแรก ตามคำอธิบายบทที่สวดกันอยู่ทุกวันว่า สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เมื่อท่านสวดไปท่านจะเกิดปิติอย่างมาก หากท่านมีความชำนาญในพระธรรมคำสอนในระดับที่กล่าวไว้ในบทนี้จริงๆ
---------------
  ๑. อธิบายบท สวากฺขาโต
ก็แหละในบท สวากฺขาโต นี้ แม้ปริยัติธรรมก็ถึงอันสงเคราะห์เอาด้วยในบทอื่น ๆ นอกนี้สงเคราะห์เอาเฉพาะโลกุตตรธรรม
ปริยัติธรรมเป็นสวากขาตธรรม

ในธรรม ๒ ประเภทนั้น ปริยัติธรรมประการแรก ชื่อว่า อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เพราะมีความงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด และเพราะประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
ความงาม ๓ ของปริยัติธรรม

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระพุทธพจน์อันใดแม้เพียงพระคาถาอันเดียว พระพุทธพจน์นั้น ชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้นด้วยบาทต้น ชื่อว่ามีความงามในท่ามกลางด้วยบาทที่ ๒ และที่ ๓ ชื่อว่ามีความงามในที่สุดด้วยบาทหลัง เพราะธรรมมีความงามรอบตัว
(หน้าที่ 356)

พระสูตรมีอนุสนธิอันเดียว มีความงามในเบื้องต้นด้วยคำนิทาน มีความงามในที่สุดด้วยคำนิคมน์ มีความงามในท่ามกลางด้วยคำที่เหลือ
พระสูตรทีมีอนุสนธิมากหลาย มีความงามในเบื้องต้นด้วยอนุสนธิแรก มีความงามในที่สุดด้วยอนุสนธิหลัง มีความงามในท่ามกลางด้วยอนุสนธิที่เหลือ
อีกประการหนึ่ง พระสูตรที่มีอนุสนธิมากหลายนั้น ชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้น เพราะมีทั้งคำนิทาน มีทั้งคำอุบัติเหตุ ชื่อว่ามีความงามในท่ามกลาง เพราะมีเนื้อความไม่วิปริตผิดเพี้ยนไป และเพราะประกอบด้วยเหตุและอุทาหรณ์โดยสมควรแก่เวไนยนิกรทั้งหลาย และชื่อว่ามีความงามในที่สุด เพราะคำนิคมน์อันให้เกิดความได้ศรัทธาแก่ผู้ฟังทั้งหลาย
ศาสนธรรมแม้ทั้งสิ้น มีความงามในเบื้องต้นด้วยศีลอันเป็นเหตุของตน มีความงามในท่ามกลางด้วยสมถะ วิปัสสนา มรรค และผลทั้งหลาย มีความงามในที่สุดด้วยนิพพาน
อีกประการหนึ่ง ศาสนธรรมทั้งสิ้น มีความงามในเบื้องต้นด้วยศีลและสมาธิ มีความงามในท่ามกลางด้วยวิปัสสนาและมรรค ๔ มีความงามในที่สุดด้วยผล ๔ และนิพพาน
อีกประการหนึ่ง ศาสนธรรมทั้งสิ้น ชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้นเพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ดี ชื่อว่ามีความงามในท่ามกลางเพราะพระธรรมเป็นธรรมดี ชื่อว่ามีความงามในที่สุดเพราะพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี
อีกประการหนึ่ง ศาสนธรรมทั้งสิ้น ชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้น ด้วยอภิสัมโพธิที่สาธุชนฟังศาสนธรรมนั้นแล้วปฏิบัติเพื่อประโยชน์ด้วยประการนั้นจะพึงบรรลุได้ ชื่อว่ามีความงามในท่ามกลางด้วยปัจเจกโพธิ ชื่อว่ามีความงามในที่สุดด้วยสาวกโพธิ
ก็แหละ ศาสนธรรมนั้น ขณะฟังย่อมนำความงามมาแม้ด้วยการฟังนั่นเทียว โดยการข่มเสียซึ่งนิวรณ์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้น ขณะปฏิบัติก็นำความงามมาแม้ด้วยข้อปฏิบัติ โดยนำมาซึ่งความสุขอันเกิดแต่สมถะและวิปัสสนา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีความงามในท่ามกลางและขณะปฏิบัติแล้ว ด้วยประการนั้น เมื่อผลแห่งปฏิบัติสำเร็จแล้ว ย่อมนำความงามมาแม้ด้วยผลแห่งการปฏิบัติ โดยนำมาซึ่งความเป็นผู้คงเส้นคงวา เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่ามีความงามในที่สุด
(หน้าที่ 357)

พระธรรม ชื่อว่าอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว เพราะมีความงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้
อธิบาย พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะ

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคนั้น เมื่อทรงแสดงธรรม ย่อมทรงประกาศคือทรงแสดงซึ่งศาสนพรหมจรรย์และมรรคพรหมจรรย์อันใด โดยนัยต่าง ๆ พรหมจรรย์อันนั้น ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะด้วยอรรถสมบัติตามสมควร ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะด้วยพยัญชนสมบัติตามสมควร
ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะเพราะประกอบด้วยอรรถบท คือ สงฺกาสน แสดงความโดยย่อ ๑ ปกาสน แสดงความเบื้องต้น ๑ วิวรณ การไขความ ๑ วิภชน การจำแนกความ ๑ อุตฺตานีกรณ การทำความให้ตื้น ๑ ปญฺญตฺติ การแต่งความ ๑ ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะถึงพร้อมด้วย อักขระ ตัวหนังสือ ๑ บท คำประกอบวิภัติ ๑ พยัญชนะ คำที่เป็นพากย์ ๑ อาการ คำแบ่งพากย์ออกไป ๑ นิรุตติ วิเคราะห์ศัพท์ ๑ นิทเทส อธิบายให้พิศดาร ๑
ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ ด้วยความเป็นธรรมลึกซึ้งแห่งเนื้อความและความเป็นธรรมลึกซึ้งแห่งการแทงตลอด ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ ด้วยความเป็นธรรมลึกซึ้งโดยธรรม และความเป็นธรรมลึกซึ้งโดยเทศนา
ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ โดยเป็นวิสัยแห่งอัตถปฏิสัมภิทาและปฏิภาณปฏิสัมภิทา ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ โดยเป็นวิสัยแห่งธัมมปฏิสัมภิทาและนิรุตติปฏิสัมภิทา
ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ เพราะว่าทำให้คนชั้นปัญญาชนเลื่อมใส โดยเป็นสิ่งอันบัณฑิตพึงรู้แจ้งได้ ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะว่าทำให้ชั้นโลก ๆ เลื่อมใส โดยเป็นสิ่งที่น่าเชื่อ
ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ โดยมีอธิบายอันลึกซึ้ง ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ โดยมีบทตื้น
(หน้าที่ 358)

อธิบาย บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

ชื่อว่า บริบูรณ์สิ้นเชิง โดยเป็นธรรมมีความบริบูรณ์อย่างสิ้นเชิง เพราะไม่มีสิ่งที่จะพึงนำเข้าไปเพิ่มเติม ชื่อว่า บริสุทธิ์ โดยเป็นธรรมที่ปราศจากโทษ เพราะไม่มีสิ่งที่จะพึงนำออก
อรรถาธิบายอีกนัยหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง พรหมจรรย์ ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถะ เพราะให้คนฉลาดในอธิคม คือ นิพพาน ด้วยการปฏิบัติ ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะให้ฉลาดในอาคมปริยัติด้วยการเล่าเรียน ชื่อว่าบริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะประกอบด้วยธรรมขันธ์ ๕ กองมีศีลขันธ์เป็นต้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะไม่มีอุปกิเลส เพราะเป็นไปเพื่อสลัดออก และเพราะไม่มุ่งโลกามิส
ปริยัติธรรมชื่อว่าเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว เพราะประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้
ปริยัติธรรมเป็นสวากขาตธรรมอีกนัยหนึ่ง

อีกนัยหนึ่ง ปริยัติธรรม ชื่อว่าอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยดีแล้ว เพราะไม่มีข้อความอันวิปลาสคลาดเคลื่อน เพราะฉะนั้น ปริยัติธรรมนั้น จึงชื่อว่าอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว
เป็นความจริงเช่นนั้น ข้อความของธรรมของอัญญเดียรถีย์ทั้งหลาย ยังถึงความวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะว่าธรรมทั้งหลายที่เขากล่าวว่าเป็นอันตรายก็ไม่เป็นอันตรายจริง ธรรมทั้งหลายที่เขากล่าวว่าเป็นเครื่องนำออก ก็ไม่เป็นเครื่องนำออกจริง ด้วยเหตุนั้นอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้มีธรรมอันกล่าวไว้ไม่ดีโดยแท้
ข้อความของธรรมของพระผู้มีพระภาค มิได้ถึงความวิปลาสคลาดเคลื่อนเหมือนอย่างนั้น เพราะว่าธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอันตรายิกธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องนำออก เช่นนี้แล้ว ก็มิได้เกินเลยจากความเป็นอย่างนั้นไปได้
ปริยัติธรรม ประการแรก เป็นสวากขาตธรรม ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้
https://th.m.wikisource.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84_%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%99_%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%97_%E0%B9%97_%E0%B8%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%AA#อธิบายบท%20สวากฺขาโต

วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

นั่งสมาธิเองที่บ้านอย่างไรไม่ให้บ้า

อย่ายึดติดกับความคิดตัวเอง หรือยึดติดกับอาจารย์ของตัวเอง อย่ายึดติดกับสิ่งที่เคยปฏิบัติตามๆกันมาไม่ว่าจะทำมานานเท่าไหร่แล้วก็ตาม เปิดใจรับฟังคนอื่น #พยายามคิดปรับปรุงพัฒนาการนั่งสมาธิ ให้ใกล้เคียงกับพระไตรปิฎกมากขึ้นๆ ตลอดเวลา

แต่จริงๆพระอาจารย์ที่มีความชำนาญช่วยได้มากนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านปฏิบัติมานาน และสามารถทรงจำพระไตรปิฎกได้อย่างเข้าใจ

ถ้านั่งสมาธิ แล้วพัฒนาสม่ำเสมอแบบนี้ไม่บ้าแน่นอนครับ

แยกจิตเจตสิกได้อย่างไร ในเมื่อเกิดแยกกันไม่ได้

เรื่องนี้ คนนั่งสมาธิได้เปรียบมากๆ สามารถแยกแยะจิตเจตสิกออกได้ละเอียดกว่าคนไม่เคยนั่งสมาธิได้ง่ายๆเลย
จิตเจตสิกไม่แยกกันเกิดก็จริง แต่ปัญญาสามารถแทงตลอดหั่นแยกจิตเจตสิก ตามลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละอย่างได้ (เกิดด้วยกันเหมือนเดิม แต่ปัญญาเข้าใจแต่ละอย่างๆ แยกกันได้)
เรื่องนี้สามารถดูจาก คาถาในจตุธาตุววัตถานกถา วิสุทธิมรรคได้ครับ

สมาธิเสีย ถ้ามั่วสนใจอาการคันยุบยิบ ไม่กลับไปที่ลมหายใจ (อารมณ์กรรมฐาน)

ปกติมันก็คันอยู่แล้วครับ แต่ตอนที่ยังไม่ได้ทำสมาธิ จิตก็ไปรู้อย่างอื่นนอกจากคัน
แต่อย่าลืมว่าเรากำลังทำสมาธิครับ และอารมณ์กรรมฐานของเราไม่ใช่อาการคัน ถ้าเราไม่รีบกลับมาที่อารมณ์กรรมฐาน #นั่นคือกรรมฐานเสื่อมแล้วนะครับ ฉะนั้นอย่าสนใจอาการคันให้กลับมาที่อารมณ์กรรมฐานครับ แต่ถ้าระวังไม่ได้ก็ค่อยๆขยับไปเกาเบาๆ แล้วรีบกลับมาที่อารมณ์กรรมฐานเหมือนเดิมครับ

วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ฉลาดในประโยชน์สุข 6 จะประสบอะไรก็สบายใจ

ถ้าได้สร้างประโยชน์ 6 ไว้เป็นปกติ จนกลายเป็นนิสัยแล้ว...

จะมีคนเห็นสนใจ หรือ ไร้ค่าไม่มีความหมายสำหรับใครๆก็ตาม... จะ appear หรือ  disappear จากชาวโลกก็ตาม... 

ท่านผู้สร้างประโยชน์นั้น ก็มีความสุขไม่มีประมาณในหัวใจของท่านเองอยู่แล้ว โดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งภายนอกมาสร้างความสุข

#ประโยชน์6 คือ
1.ประโยชน์ชาตินี้ 
2.ประโยชน์ชาติอื่น 
3.ประโยชน์คือความดับทุกข์ทั้งปวงชัวร์ๆ 
4.ประโยชน์ตนเอง 
5.ประโยชน์คนรอบข้าง 
6.ประโยชน์สังคมส่วนรวมทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ตัวอย่างแปล ลักขณาทิจตุกะของสติ และวิธีแปลไม่ให้พลาด

แปลจากลักขณาทิจตุกกะของสติ:

สติที่ให้ประโยชน์สุขทั้ง 6 อย่าง จะไม่ลืมระลึกอารมณ์ที่จดจำไว้อย่างแม่นยำว่า "อารมณ์นี้เป็นอารมณ์ทำให้เกิดประโยชน์สุข 6 อย่าง" เป็นต้น.

-------------------------------------
เป็นต้น = "นี้เป็นอารมณ์ให้พลาดประโยชน์สุข 6 อย่าง", "นี้ไม่ทำให้เกิดประโยชน์สุข 6 อย่างด้วย ไม่ทำให้พลาดประโยชน์สุข 6 อย่างด้วย".
ประโยชน์สุข 6 อย่าง คือ ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า ประโยชน์คือนิพพาน ประโยชน์ตนเอง ประโยชน์คนรอบข้าง ประโยชน์ส่วนรวม.
---------------------------
ดึงปัจจยธรรมมาแปลด้วยครับ, การแปลบาลี ให้แปลแบบสภาค ฆฏนา บางคำมาก่อน บางคำมาหลัง ต้องโยคมาให้ครบตามบริบท อย่างในที่นี้ลักขณาทิจตตุกกะของสติ มาในหมวดกุสลอยู่แล้ว บริบทก็กล่าวถึงกุศล ฉะนั้นเวลาแปลต้องไปโยคลักขณาทิจตุกกะของกุศล และลักขณาทิจตุกกะของสภาวธรรมอื่นๆ ที่ระบุไว้ในลักขณาทิจตุกกะ มาแปลด้วย (ในที่นี้ คือ ถิรสัญญาเจตสิก เป็นต้น), ไม่เช่นนั้น เท่ากับแปลไม่ครบ อรรถะตกหาย ก็จะขัดกับเนตติปกรณ์ทันที. นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมพระไตรปิฎกแปลฉบับปัจจุบันจึงอ่านยากมากๆ เพราะดึงปัจจยธรรมมาไม่ครบตามที่บริบทบาลีระบุไว้, และพระพุทธเจ้าจึงไม่ให้ท่องจำพระไตรปิฎกด้วยภาษาอื่น (ก็คือ ห้ามท่องจำรักษาด้วยฉบับแปลนั่นเอง)  ก็เพราะพอไปภาษาอื่นแล้ว ทำให้เวลาโยคสภาวะปัจจัยปัจจยุปบันแล้วมันมาได้ไม่ครบ เนื่องด้วยกฎของภาษาทุกภาษาที่ล้วนมีข้อแตกต่างกันอย่างมาก (เพราะลำดับบท 6 จะเป็นหาระจะพาผู้ท่องจำไปเข้าใจพยัญชนบท 6 จนได้อัตถบท 6 เมื่อได้แล้วก็เอาอัตถบท 6 มาทำกรรมนัย 2 พอเทียบองค์ธรรมได้ทิสใครทิสมัน เหล่ากอใครเหล่ากอมันแล้ว ก็จะสามารถใช้อัตถนัย 3 นำอรรถะออกมาจากพระสูตรได้) ครับ.

ผมใช้วิธีแปลแบบนี้ร่วมกับการท่องจำซ้ำๆ ในการทำความเข้าใจปฏิสัมภิทามรรค เป็นต้น. มันได้ผลยอดเยี่มมากๆ ครับ.

วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

หลักสูตรบาลีควรให้ท่องจำพระสูตรบาลีที่เป็นกรรมฐานควบคู่ไปด้วย

หลักสูตรบาลีสมัยนี้ มีการให้ท่องจำพระสูตรบาลีที่เป็นกรรมฐานควบคู่ไปด้วยหรือไม่?

สมัยก่อนหลักสูตรบาลียุคผมไม่มีเลย น่าสังเวชมาก เพราะทำให้หัวใจผมห่างกรรมฐานตั้งแต่ต้น และกลายเป็นว่า ผมเรียนบาลีนานกว่าที่ควรจะเป็น. อย่างหลักการโยคในมหาสติปัฏฐานสูตร ผมก็ไปได้จากพะอ็อคตอยะซึ่งสอนกรรมฐาน, อาจารย์บาลีไม่มีใครสอนผมเลย กลับกันคือ อาจารย์บาลีกลับแสดงท่าทีงุนงงว่า ผมไปโยคอย่างนั้นได้ยังไง ทั้งที่จริงๆ โครงสร้างสูตรบอกไว้หมดทุกอย่าง, อรรถกถาก็บอกชัดเจน, แต่นักบาลีไม่เคยท่องจำพระสูตรให้ถูกหลักบาลีใหญ่ ก็เลยพากันงุนงงวิธีโยค เป็นต้น.

ตัวอย่างบ่งชี้ว่า ระบบการสอนบาลีปัจจุบันยังขาดความสมบูรณ์ครบวงจรอยู่ครับ และการสนทนาปรับความเข้าใจก็ลำบาก เพราะนักบาลีไม่ชอบท่องจำพระสูตรกรรมฐานบาลีมาตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อจิตไม่ผูกพันธ์ ก็เลยไม่ใส่ใจในรายละเอียด สักแต่ว่าแปลๆ ให้ผ่านๆ ไป.

แต่ทั้งนี้การอุทิศตัวสอนไม่ว่าจะสมบูรณ์หรือตามมีตามเกิด ก็ยังน่าสรรเสริญครับ. แต่ถ้าสอนไปด้วย ผูกไวยากรณ์เข้ากับกรรมฐานไปด้วย จะดีมากๆ.

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ตอบคำถามของผู้ไม่ทรงจำพระสูตรบาลี ไม่เคยทำฌาน แต่ดูหมิ่นผู้ได้ฌานที่ทรงจำพระบาลี

1. วิปัสสนาคืออะไร? ปฏิบัติอย่างไรเรียกว่าวิปัสสนา?
-การเห็นขันธ์ทั้งหมดโดยแง่มุมปัจจัยปุจจยุปบันต่างๆ คือโดยปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปปันนะ และโดยลักษณะ ทั้งโดยอัทธา สันนติ และขณะว่า แต่ละอย่างๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ชื่อว่าวิปัสสนาปัญญา, ปัญญานั้นแหละที่มีความชำนาญดี จนสามารถเห็นอย่างนั้นนั่นแหละ ในวิปัสสนาจารจิตวิถีวาระสุดท้ายที่เข้าไปเห็นขันธ์อย่างนั้นได้ ไม่เหลือขันธ์ใดที่ยังไม่ได้เข้าไปเห็นอย่างนั้นอีกเลย เรียกว่า วิปัสสนาญาณ.
-การมีสีลวิสุทธิแล้ว มีจิตตวิสุทธิแล้ว #เข้าถึงภาวะแห่งทิฏฐิจริตบุคคล มีทิฏฐิวิสุทธิแล้ว มีกังขาวิตรณวิสุทธิแล้ว มีสัมมสนญาณแล้ว มีมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิแล้ว, ทำปัญญาที่กล่าวมาข้างบนนั้นให้เกิดต่อเนื่องไม่ขาดสาย ชื่อว่า วิปัสสนาปัญญา. เมื่อใดโทษเริ่มปรากฎแก่ผู้ปฏิบัติภังคานุปัสสนาวิปัสสนาอยู่อย่างนั้น เมื่อนั้นชื่อว่า ปัญญานั้นชำนาญในขั้นวิปัสสนาญาณ เพียงพอสำหรับทำอาทีนวญาณต่อไป.
(ปฏิสมฺภิทามรรค, เนตฺติ, วิสุทฺธิมคฺค)
2. ทำสมาธิต่างจากทำสมถะ, ต่างจากทำวิปัสสนาอย่างไร ?
สมถะหนีอารมณ์ เพราะเห็นอนิจจังทุกขังแล้วเบื่อหน่าย แต่ไม่แทงตลอดปัจจัยปัจจยุปบันจนเห็นอนัตตา เพราะไม่ได้เอาอนิจจัง ทุกขังมาภาวนา, วิปัสสนาเอาอนิจจังทุกขังมาภาวนา โดยแทงตลอดปัจจัยปัจจยุปบันเห็นอนิจจังทุกขัง จนเห็นอนัตตาปรากฎชัดขึ้นมาด้วย. อย่างไรก็ตาม จิตตวิสุทธิสมถะภาวนา จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเนยยบุคคล และวิปปจิตัญญูตัณหาจริต เพราะพลววิปัสสนาญาณมีปฏิปักข์ คือ อนุสัยกิเลส, ฉะนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ข่มปริยุฏฐานกิเลสด้วยจิตตวิสุทธิสมถะภาวนามาให้ชำนาญก่อน ปัญญาจะไม่ไวและมีกำลังพอจะเกิดต่อเนื่องโดยไม่มีปริยุฏฐานขั้น และวิปัสสนาที่เกิดไม่ต่อเนื่องมีปริยุฏฐานขั้นนี้เอง ไม่เป็นภาวนาจึงไม่สามารถพัฒนาเป็นญาณได้ (แต่ในทิฏฐิจริตบุคคล หรือ ตัณหาจริตบุคคลที่ได้ฌานแล้ว จะเหลือเพียงอุปักกิเลสที่จะเกิดแทรกภังคานุปัสสนาญาณ และพลววิปัสสนาญาณจะเสื่อม กิเลสตัวนี้ละเอียดว่า ปริยุฏฐานปกติ).
3. ทำฌานนั่งทางในเห็นอดีต เห็นอนาคต เห็นเลข หวยเรียกว่าทำวิปัสสนาใช่ไหม?
คำถามนี้หมิ่นเหม่ครับ. คนไม่เคยทำฌานอย่างถูกวิธีตามวิสุทธิมรรค และไม่ได้ทรงจำกายคตาสติสูตรบาลี มหาสติปัฏฐานสูตรบาลี ด้วยวิธีของเนตติปกรณ์และปฏิสัมภิทามรรค จะคิดไปเองว่า "คนทำฌานนั่งทางในเห็นอดีต เห็นอนาคต เห็นเลข".
ระวังจะเป็นการดูหมิ่นพระบาลีนะครับ. ท่านดูตอนท้ายของกายคตาสติสูตรหรือยัง? ท่านรู้ความเชื่อมโยงของกายคตาสติสูตรและมหาสติสูตรบาลีครบถ้วนตามหลักเนตติปกรณ์หรือไม่?  ท่านเข้าใจมติกาเนตติปกรณ์และปฏิสัมภิทามรรคญาณกถา ดีเพียงไร?
ท่องจำบาลีให้ดี เพ่งทุกอักขระให้ดี สูตรเดียว แม้จำได้ทุกตัวอักษรแล้วแล้ว แต่ก็ยังต้องฝึกท่องทวนซ้ำๆ เพ่งด้วยเนตติปกรณ์อีกเป็นปีๆ กว่าจะเข้าใจได้จริงๆ แบบที่ผู้ทรงพระไตรปิฎก จูฬสุมนะและมหานาคะ ท่านทำกันในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร. ฉะนั้น ผู้ที่อ่านแต่ฉบับแปล ท่องแต่ฉบับแปล จะไม่มีทางเข้าใจพระสูตรได้อย่างลึกซึ้ง เพราะฉบับแปลซับซ้อนกว่ามาก และตกหล่นเยอะมาก จึงเป็นผู้มีปกติดูหมิ่นพระสูตรที่ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก ท่านทรงจำไว้ตามที่พระพุทธเจ้าสั่งให้จำไว้ #ดูหมิ่นพระสูตรแล้วๆเล่าๆโดยไม่รู้ตัว. ไม่ทำฌานอย่าสอนเรื่องฌาน อย่าตำหนิเรื่องฌาน, ไม่ทรงจำบาลีพระสูตรอย่างชำ่ชองแทงตลอดทุกอักขระ อย่าสอนพระสูตรครับ เพราะเมื่ออุปาทานเข้าไปยึดแล้ว ต่อให้ผมอ้างพระสูตรมาอีก 100 สูตร ท่านก็อาจไม่สละคืนทิฏฐิแล้วในตอนนั้น.
4. สติปัฏฐานต่างจากวิปัสสนาอย่างไร ? ปฏิบัติเหมือนกันหรือไม่ ? ผู้ปฏิบัติจะมีฤทธิ์ไหม ?
สติปัฏฐานมีความหมาย 3 อย่าง แต่เมื่อมาคู่กับวิปัสสนา หมายถึง สติที่ตั้งมั่นในอารมณ์. สติปัฏฐานเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา. วิปัสสนาเป็นวิปัสสนาเท่านั้น.
ในกายคตาสติสูตรอรรถกถา และวิสุทธิมรรคกายคตาสติกถา แสดงไว้ว่า กาย 11 บรรพะ เป็นได้ทั้งสมถะและได้ทั้งวิปัสสนา ขึ้นอยู่กับวิธีการกำหนด. ทั้ง 14 บรรพะท่านแสดงไว้ในกายคตาสติสูตรบาลีซึ่งแสดงเบื้องต้นด้วยอุปจาระ ท่ามกลางสูตรด้วยอัปปนาและอุปมา ที่สุดของสูตรด้วยอานิสงส์ ซึ่งรวมถึงการมีฤทธิ์ด้วย (อาศัยนิมิตของ 14 กอง มาทำกสิณต่ออีกทีหนึ่ง อรรถกถาของกายคตาสติสูตรและวิสุทธิมรรค กายคตาสติกถากล่าวไว้).
5. นิพพานเป็นเมืองใช่ไหม? ใครไปถึงแล้วไม่แก่ ไม่ตาย จริงไหม ? ทำอย่างไรจึงไปถึงนิพพานได้ ?
ไม่ใช่. ไม่ใช่. ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า.