1. วิปัสสนาคืออะไร? ปฏิบัติอย่างไรเรียกว่าวิปัสสนา?
-การเห็นขันธ์ทั้งหมดโดยแง่มุมปัจจัยปุจจยุปบันต่างๆ คือโดยปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปปันนะ และโดยลักษณะ ทั้งโดยอัทธา สันนติ และขณะว่า แต่ละอย่างๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ชื่อว่าวิปัสสนาปัญญา, ปัญญานั้นแหละที่มีความชำนาญดี จนสามารถเห็นอย่างนั้นนั่นแหละ ในวิปัสสนาจารจิตวิถีวาระสุดท้ายที่เข้าไปเห็นขันธ์อย่างนั้นได้ ไม่เหลือขันธ์ใดที่ยังไม่ได้เข้าไปเห็นอย่างนั้นอีกเลย เรียกว่า วิปัสสนาญาณ.
-การมีสีลวิสุทธิแล้ว มีจิตตวิสุทธิแล้ว #เข้าถึงภาวะแห่งทิฏฐิจริตบุคคล มีทิฏฐิวิสุทธิแล้ว มีกังขาวิตรณวิสุทธิแล้ว มีสัมมสนญาณแล้ว มีมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิแล้ว, ทำปัญญาที่กล่าวมาข้างบนนั้นให้เกิดต่อเนื่องไม่ขาดสาย ชื่อว่า วิปัสสนาปัญญา. เมื่อใดโทษเริ่มปรากฎแก่ผู้ปฏิบัติภังคานุปัสสนาวิปัสสนาอยู่อย่างนั้น เมื่อนั้นชื่อว่า ปัญญานั้นชำนาญในขั้นวิปัสสนาญาณ เพียงพอสำหรับทำอาทีนวญาณต่อไป.
(ปฏิสมฺภิทามรรค, เนตฺติ, วิสุทฺธิมคฺค)
2. ทำสมาธิต่างจากทำสมถะ, ต่างจากทำวิปัสสนาอย่างไร ?
สมถะหนีอารมณ์ เพราะเห็นอนิจจังทุกขังแล้วเบื่อหน่าย แต่ไม่แทงตลอดปัจจัยปัจจยุปบันจนเห็นอนัตตา เพราะไม่ได้เอาอนิจจัง ทุกขังมาภาวนา, วิปัสสนาเอาอนิจจังทุกขังมาภาวนา โดยแทงตลอดปัจจัยปัจจยุปบันเห็นอนิจจังทุกขัง จนเห็นอนัตตาปรากฎชัดขึ้นมาด้วย. อย่างไรก็ตาม จิตตวิสุทธิสมถะภาวนา จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเนยยบุคคล และวิปปจิตัญญูตัณหาจริต เพราะพลววิปัสสนาญาณมีปฏิปักข์ คือ อนุสัยกิเลส, ฉะนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ข่มปริยุฏฐานกิเลสด้วยจิตตวิสุทธิสมถะภาวนามาให้ชำนาญก่อน ปัญญาจะไม่ไวและมีกำลังพอจะเกิดต่อเนื่องโดยไม่มีปริยุฏฐานขั้น และวิปัสสนาที่เกิดไม่ต่อเนื่องมีปริยุฏฐานขั้นนี้เอง ไม่เป็นภาวนาจึงไม่สามารถพัฒนาเป็นญาณได้ (แต่ในทิฏฐิจริตบุคคล หรือ ตัณหาจริตบุคคลที่ได้ฌานแล้ว จะเหลือเพียงอุปักกิเลสที่จะเกิดแทรกภังคานุปัสสนาญาณ และพลววิปัสสนาญาณจะเสื่อม กิเลสตัวนี้ละเอียดว่า ปริยุฏฐานปกติ).
3. ทำฌานนั่งทางในเห็นอดีต เห็นอนาคต เห็นเลข หวยเรียกว่าทำวิปัสสนาใช่ไหม?
คำถามนี้หมิ่นเหม่ครับ. คนไม่เคยทำฌานอย่างถูกวิธีตามวิสุทธิมรรค และไม่ได้ทรงจำกายคตาสติสูตรบาลี มหาสติปัฏฐานสูตรบาลี ด้วยวิธีของเนตติปกรณ์และปฏิสัมภิทามรรค จะคิดไปเองว่า "คนทำฌานนั่งทางในเห็นอดีต เห็นอนาคต เห็นเลข".
ระวังจะเป็นการดูหมิ่นพระบาลีนะครับ. ท่านดูตอนท้ายของกายคตาสติสูตรหรือยัง? ท่านรู้ความเชื่อมโยงของกายคตาสติสูตรและมหาสติสูตรบาลีครบถ้วนตามหลักเนตติปกรณ์หรือไม่? ท่านเข้าใจมติกาเนตติปกรณ์และปฏิสัมภิทามรรคญาณกถา ดีเพียงไร?
ท่องจำบาลีให้ดี เพ่งทุกอักขระให้ดี สูตรเดียว แม้จำได้ทุกตัวอักษรแล้วแล้ว แต่ก็ยังต้องฝึกท่องทวนซ้ำๆ เพ่งด้วยเนตติปกรณ์อีกเป็นปีๆ กว่าจะเข้าใจได้จริงๆ แบบที่ผู้ทรงพระไตรปิฎก จูฬสุมนะและมหานาคะ ท่านทำกันในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร. ฉะนั้น ผู้ที่อ่านแต่ฉบับแปล ท่องแต่ฉบับแปล จะไม่มีทางเข้าใจพระสูตรได้อย่างลึกซึ้ง เพราะฉบับแปลซับซ้อนกว่ามาก และตกหล่นเยอะมาก จึงเป็นผู้มีปกติดูหมิ่นพระสูตรที่ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก ท่านทรงจำไว้ตามที่พระพุทธเจ้าสั่งให้จำไว้ #ดูหมิ่นพระสูตรแล้วๆเล่าๆโดยไม่รู้ตัว. ไม่ทำฌานอย่าสอนเรื่องฌาน อย่าตำหนิเรื่องฌาน, ไม่ทรงจำบาลีพระสูตรอย่างชำ่ชองแทงตลอดทุกอักขระ อย่าสอนพระสูตรครับ เพราะเมื่ออุปาทานเข้าไปยึดแล้ว ต่อให้ผมอ้างพระสูตรมาอีก 100 สูตร ท่านก็อาจไม่สละคืนทิฏฐิแล้วในตอนนั้น.
4. สติปัฏฐานต่างจากวิปัสสนาอย่างไร ? ปฏิบัติเหมือนกันหรือไม่ ? ผู้ปฏิบัติจะมีฤทธิ์ไหม ?
สติปัฏฐานมีความหมาย 3 อย่าง แต่เมื่อมาคู่กับวิปัสสนา หมายถึง สติที่ตั้งมั่นในอารมณ์. สติปัฏฐานเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา. วิปัสสนาเป็นวิปัสสนาเท่านั้น.
ในกายคตาสติสูตรอรรถกถา และวิสุทธิมรรคกายคตาสติกถา แสดงไว้ว่า กาย 11 บรรพะ เป็นได้ทั้งสมถะและได้ทั้งวิปัสสนา ขึ้นอยู่กับวิธีการกำหนด. ทั้ง 14 บรรพะท่านแสดงไว้ในกายคตาสติสูตรบาลีซึ่งแสดงเบื้องต้นด้วยอุปจาระ ท่ามกลางสูตรด้วยอัปปนาและอุปมา ที่สุดของสูตรด้วยอานิสงส์ ซึ่งรวมถึงการมีฤทธิ์ด้วย (อาศัยนิมิตของ 14 กอง มาทำกสิณต่ออีกทีหนึ่ง อรรถกถาของกายคตาสติสูตรและวิสุทธิมรรค กายคตาสติกถากล่าวไว้).
5. นิพพานเป็นเมืองใช่ไหม? ใครไปถึงแล้วไม่แก่ ไม่ตาย จริงไหม ? ทำอย่างไรจึงไปถึงนิพพานได้ ?
ไม่ใช่. ไม่ใช่. ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.