วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2563

ปัญญา,ญาณ, สัมมาทิฏฐิ เหมือนกันในธัมมสังคณี, ต่างกันในปฏิสัมภิทามรรค เป็นต้น อยู่ที่บริบท

ผมมีข้อจะถามว่า
ปัญญา กับ สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างเดียวกันหรือเปล่า
หากคนละอย่าง มีความแตกต่างอย่างไร
ตอบสั้นๆ: ปัญญา, ญาณ, สัมมาทิฏฐิ เหมือนกันในที่แสดงองค์ธรรม เช่น ใน อภิ.ธัมมสังคณี, แต่ต่างกันในพระสูตรที่แสดงลำดับการพัฒนา เช่น ในมาติกา ขุ.ปฏิสัมภิทามรรคบาลี. ขึ้นอยู่กับบริบท เพราะในระบบมุขปาฐะ เรื่องเดียวกัน ถ้าองค์ธรรมเดียวกันแต่ปัจจัยต่างกัน จะใช้ศัพท์แยกกัน เพื่อป้องกันผู้เรียนสับสน.
ตอบแบบอธิบาย: คำถามนี้ เป็นคำถามประเภทที่เคยสร้างความร้าวฉานในคณะสงฆ์ไทยมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งๆ ที่เป็นคำถามไม่ยากนักสำหรับผู้ที่เรียนมาแบบท่องจำในระบบมุขปาฐะ, ฉะนั้น ขออนุญาตตอบละเอียด เพื่อให้เกิดความสามัคคี เห็นอกเห็นใจกันของหมู่คณะพุทธบริษัท 4.
คำถามๆ เกี่ยวกับศัพท์บาลี ฉะนั้นก็ต้องดูว่า ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีใช้ 2 คำนี้อย่างไร?
ก่อนอื่นควรทราบว่า ในพระไตรปิฎกนั้น ถ้าในสูตรใดมีสิ่งที่มีองค์ธรรมเหมือนกัน แต่ความเป็นปัจจัยขององค์ธรรมต่างกันมาก ท่านจะใช้ศัพท์ให้ต่างกัน.
เช่น วิญญาณ และ จิต ใน อภิ.ธัมมสังคณี จะมีลักษณะรู้อารมณ์เหมือนกัน, แต่ก็เพราะในที่นั้นกำลังแสดงโดยใช้คำซ้ำอธิบายกันและกัน เหมือนพจนานุกรม (เนตฺติ. ลักขณหาระ, เววจนะหาระ, กัมมนยะ 2) จิต และ วิญญาณ จึงมีองค์ธรรมเท่ากันในที่นั้น. ส่วนใน วิ.อนัตตลักขณสูตร แม้แสดงทั้ง วิญญาณ และ จิต ไว้เช่นกัน แต่องค์ธรรมต่างกัน เพราะบริบทแสดงวิญญาณและจิต โดยใช้คำต่างกันด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน (เนตฺติ จตุพยูหหาระ, บัญญัติหาระ) โดยแสดงวิญญาณ ในภูมิ 3 โดยอารัมมณปัจจัย แล้วแสดงจิตของอริยสาวก(พระปัญจวัคคี)เป็นอารัมมณปัจจยุปบัน เป็นต้น.
จะเห็นได้ว่า ศัพท์ที่มีองค์ธรรมเดียวกัน อาจมีความหมายต่างกันไปในแต่ละสูตรก็ได้.
เช่นเดียวกัน แม้ใน อภิ.ธัมมสังคณี จะแสดง ปัญญา กับ สัมมาทิฏฐิ โดยใช้คำซ้ำอธิบายกันและกัน,  แต่ในพระสูตรที่แสดงลำดับขั้นของปัญญา ศัพท์ในธัมมสังคณีนั้น ถ้าปรากฎใช้ในสูตรเดียวกัน จะใช้ในความหมายต่างกัน องค์ธรรมต่างกัน เว้นแต่แสดงเป็นเววจนะ, วิเสสนะ (คำอธิบายซึ่งกันและกัน;คำไวพจน์).
เช่น ใน ที.ม.มหาสติปัฏฐานสูตร ท่านแสดง ญา ธาตุ และ ธาตุที่เกี่ยวกับการเห็นประจักษ์ไว้ดังนี้ (ทั้งหมดเข้ากับ นิทฺธารณของ กาเย เป็นต้น) ปชานาติ (ปญฺญา) นิสีทติ (วิหรติ)> อนุปสฺสีญาณํ > คจฺฉนฺโต ฐิโต นิสฺสินฺโน สยาโน วิหรติ ปชานาติ > อนุปสฺสี >  ญาณํ  > สตฺตฐาเนสุ สมฺปชานการี โหติ วิหรติ > อนุปสฺสี >  ญาณํ >  ปจฺจเวกฺขติ > (วนลูปเดิมไปทุกบรรพะ ปสฺเสยฺย, อุปสงฺหรติ, ปชานาติ, อนุปสฺสี, ญาณํ) > สมฺมาทิฏฺฐิ > ทุกฺเข ญาณํ ฯลฯ > อนุปสฺสี > ญาณํ > อญฺญา.
หรือในสูตรเดียวกันนี้ นามรูปํ ในสัจจะบรรพะ หมุนด้วยปฏิจจสมุปบาทนัย > กาเย > กายสฺมึ > เวทนาสุ > เวทนาสุ > จิตฺเต > จิตฺตสฺมึ > ธมฺเมสุ > ธมฺเมสุ ทั้งหมดนี้องค์ธรรมไม่เท่ากันเช่นกัน
ลักษณะเดียวกันนี้ยังใช้กับที่ๆแสดง ทสฺสนภูมิ ภาวนาภูมิ, เสกฺข อเสกฺข, ปญฺญา ญาณ สมฺมาทิฏฺฐิ ทสฺสน เป็นต้น เช่น ในมาติกา ขุ.ปฏิสัมภิทามรรคบาลี อีกด้วย.
อีกตัวอย่างในมาติกา ขุ.ปฏิสัมภิทามรรคบาลี:
  • ข้อความนี้ ปัญญาจะชำนาญหรือไม่ชำนาญก็ได้ แต่ญาณต้องชำนาญแล้ว (ญาตฏฺเฐน ญาณํ; สุฏฺฐุ ชานนํ; อภิญฺญาตํ): "'พวกนี้ควรถูกทำญาตปริญญา' เมื่อฟังจำและเข้าใจแง่มุมต่างๆ อย่างนี้เป็นปัญญาที่ชำนาญจากการฟัง (สุตมยญาณ)ฯ" 
อีกตัวอย่างในพระสูตรทั่วไป:
  • สมฺมาทิฏฺฐิ คู่กับ มิจฉาทิฏฺฐิ พระโสดาบันละมิจฉาทิฏฐิได้สิ้น จึงสำเร็จทัสสนภูมิ เข้าสู่ขั้นภาวนาภูมิ. แต่ยังมีอวิชชา ที่ไม่เกิดกับทิฏฐิได้อยู่.
  • วิชฺชา คู่กับ อวิชฺชา พระอรหันต์ละอวิชชาได้หมดสิ้น ถึงที่สุดแห่งภาวนาภูมิ ไม่ต้องทำภาวนากิจเพื่อละกิเลสอีกต่อไป.
  • ปญฺญา(ปชานน) จะชำนาญหรือไม่ชำนาญก็ได้ แต่ญาณต้องชำนาญแล้ว และปุถุชนฝึกปัญญาให้เป็นสัมมาทิฏฐิญาณ ในทัสสนภูมิ, พระโสดาบัน(ทิฏฐิสัมปันโน) ฝึกสัมมาทิฏฐิญาณให้เป็นภาวนามยญาณ ในภาวนาภูมิ. ทั้งหมดเป็นปัญญา แต่ความสมบูรณ์ของปัญญา (level) ถูกแจกออกด้วยศัพท์ว่า ญาณ, สัมมาทิฏฐิ, ทิฏฐิสัมปันโน, ทัสสนภูมิ, ภาวนาภูมิ.
เรื่องนี้เป็นข้อผิดพลาด แบบปลาตายน้ำตื้น เส้นผมบังภูเขา แม้แต่ปธ. 9 แปลก็ตายกันมาแทบทุกราย ทั้งๆ ที่ไม่ยาก ครับ.
ถ้าจับหลักตัวที่อธิบายในบทความนี้ได้ จะเข้าใจพยัญชนะบท 6 อรรถบท 6 (บท 12) ในเนตติปกรณ์, สนธิ อนุสนธิ ปุพพาปรสนธิ (ความเชื่อมโยง ระหว่าง บท 12 นั้น). อรรถกถาจะอธิบายหรือไม่ก็ตาม ก็สามารถแทงตลอดพระสูตรได้เอง, และจะเข้าใจข้อความยาก ที่อรรถกถาอธิบายด้วยว่า ท่านใช้ปาฐะใด บริบทใด มาอธิบายพระพุทธพจน์ตรงนั้น จะไม่สงสัยในอรรถกถาเลย.
ที่สำคัญ คือ จะเห็นเลยว่า "ที่คนไทย ดูบาลีก็แล้ว อรรถกถาก็แล้ว ก็ยังเอาพระสูตรมาใช้ปฏิบัติไม่ได้" นั้น เป็นเพราะไม่ท่องจำและท่องจำไม่เป็นไปตามหลักเนตติปกรณ์ ครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.