วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ข้อผิดพลาดในอานาปานสติ 2 ข้อ ที่ผู้เริ่มต้นฝึกดูลมหายใจและอาจารย์ผู้สอนจำเป็นต้องรู้

คนที่อ่านพระไตรปิฎกมาเอง ไม่ได้ท่องจำพระบาลีอานาปานสติ หลายคนทำแค่ 2 ข้อแรก คือ พยายามดูแต่ลมสั้นยาว แต่ลืม 2 ข้อนี้ ทั้งๆ ที่ในพระไตรปิฎกบาลี บอกให้ทำทั้ง 4 ข้อไปพร้อมๆ กันคือ:

1. ต้องฝึกดูลมหายใจที่เบาลงๆ ให้ได้ไม่ขาดๆ หายๆ ด้วย,
2. และก็ต้องฝึกรู้ได้ตลอดห้ามให้ลมหายใจหาย ครับ. (คำว่า ฝึก หรือ สิกขานี้ หมายความว่า ยังทำไม่สำเร็จ แต่พยายามทำต่อเนื่องสุดๆ เพื่อให้มีโอกาสสำเร็จในอนาคตอันใกล้มากที่สุดเท่าที่ปัจจัยถึงพร้อม)

ทั้ง 2 ข้อนี้ต้องทำคู่ไปกับอีก 2 ข้อ คือ 1. สังเกตลมหายใจตลอดเวลาทั้งเข้าและออกที่ปลายจมูกหรือเหนือปาก (ไม่ตามลมไปอกหรือที่อื่น) 2. จะลมยาวหรือลมที่ค่อยๆ เบาและสั้นลง ก็ไม่พลาดสักวินาที ทุกอิริยาบถใหญ่ย่อย ไม่ใช่แค่นั่งนะครับ.

ไม่ใช่แค่ดูลมแล้วจะหายใจแรงได้ อย่างนี้ก็สมาธิกระเจิง เพราะไปฝึกการหายใจ ไม่ให้หายใจโดยธรรมชาติ เหนื่อยแย่เลย หรือดูลมแล้วเห็นแบบขาดๆ หายๆ อย่างนี้ก็ยังไม่มีสมาธิ หรือเพิ่งทำสมาธิไม่นานแล้วลมหายใจหายไป ก็คิดไปเองว่าเป็นจตุตถฌาน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะฌานของผู้ยังไม่ได้ฝึกวสีต้องเข้าตามลำดับฌาน จู่ๆ คนทำเพิ่งทำสมาธิจะข้ามไปจตุตถฌานเลยเป็นไปไม่ได้.

วิธีแก้ ทั้งปวง คือ ฝึก 2 ข้อที่ว่าแต่แรกนั้น ไปพร้อมๆ กับการดูลมหายใจเข้าออก สาเหตุนี้เองในพระบาลีอานาปานัสสติหมวดแรกจึงแยกเป็น 2 ศัพท์คือ ปชานาติ (รู้ชัดลมกายใจ) กับ  สิกขติ (ฝึกฝนความรู้ให้ชัดในลมเข้าออกและลมที่เบายิ่งขึ้นด้วย).

ฉะนั้นต่อไปนี้เวลาสอนหรือฝึกอานาปานสติผู้มาใหม่ อย่าลืมเน้น 2 ข้อนี้คู่ไปกับการให้ดูลมหายใจสั้นยาวด้วยนะครับ เพราะมันจะต้องทำไปพร้อมๆ กัน:

1. ต้องฝึกดูลมหายใจที่เบาลงๆ ให้ได้ไม่ขาดๆ หายๆ ด้วย,
2. และก็ต้องรู้ได้ตลอดห้ามให้ลมหายใจหาย ครับ.

นี่เป็นความผิดพลาดที่พบในระบบเรียนแบบอ่านเขียน แต่ไม่พบในระบบมุขปาฐะ คือ การท่องจำอานาปานัสสติบาลีทั้ง 4 จนชำนาญไปพร้อมกับการทำกรรมฐานครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.