วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ผู้ปฏิบัติธรรมตามปริยัติ ปฏิบัติกันอย่างไร?


  1. ในกรณีที่มีอาจารย์กรรมฐานที่มีคุณสมบัติ คือ ทั้งบรรลุธรรม ได้ฌาน ได้อภิญญา ได้วิปัสสนาญาณ ได้มรรคผล และทั้งทรงจำพระไตรปิฎกอย่างคล่องปากขึ้นใจ มุขปาฐะสืบๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่น อาจารย์กรรมฐานของวัด @pa-auk เป็นต้น นั้น:
    1. ท่องจำกรรมฐานอย่างย่อจากปากพระอาจารย์ผู้มีคุณสมบัติพร้อมนั้น ท่องจำวนไปวนมาซ้ำๆ พร้อมทั้งนำความหมายออกมาจากบทบริกรรมให้ได้
      1. ทุกๆ ตัวอักษร (อกฺขรํ ได้ สงฺกาสนา)
      2. ทุกๆ คำ (ปทํ ได้ ปกาสนา)
      3. ทุกๆ ประโยค (พฺยญฺชนํ ได้ วิวรณา)
      4. วิเคราะห์ทุกๆ สภาวะ (นิรุตฺติ ได้ วิภชฺชนา)
      5. อธิบายบทบริกรรมทุกๆ บทให้ได้ (นิทฺเทโส ได้ อุตฺตานีกมฺมํ)
      6. อธิบายคำอธิบายนั้นได้ด้วย (อากาโร ได้ ปญฺญตฺติ)
    2. นำสิ่งที่ท่องจำนี้ไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง 
    3. ถ้าติดขัดตรงไหน หรือ ยังไม่บรรลุ ให้ค่อยๆ ไปรับกรรมฐานเพิ่มให้ละเอียดขึ้นๆ 
  2. ถ้าจะศึกษาเอง ไม่กลัวว่าจะตายก่อนบรรลุ และไม่สามารถหาอาจารย์ที่มีคุณสมบัติข้างต้นได้เลย:
    1. พระอรรถกถาจารย์ให้เริ่มที่ท่องจำขุททกปาฐะบาลีและแปล ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ในปฐมสังคายนาล้วนพากันไปฟังคำอธิบายธรรมะจากพระสารีบุตรกันทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงต้องท่องจำมาติกาปฏิสัมภิทามรรคและมาติกาสุตมยญาณ มหาสติปัฏฐานสูตร  อภิธัมมมาติกา เนตติปกรณ์สังคหะ-อุทเทส-นิทเทส ในกรณีพระภิกษุ เพิ่มปาติโมกขอุทเทส และการท่องจำตามหลักสูตรนิสสยมุจจกะเข้าไปด้วย.
    2. ท่องจำทั้งหมดนั่นด้วยความเคารพดุจที่ทำกับพระอาจารย์ผู้มีคุณสมบัติพร้อมนั้น ท่องจำวนไปวนมาซ้ำๆ พร้อมทั้งนำความหมายออกมาจากบทบริกรรมให้ได้
      1. ทุกๆ ตัวอักษร (อกฺขรํ ได้ สงฺกาสนา)
      2. ทุกๆ คำ (ปทํ ได้ ปกาสนา)
      3. ทุกๆ ประโยค (พฺยญฺชนํ ได้ วิวรณา)
      4. วิเคราะห์ทุกๆ สภาวะ (นิรุตฺติ ได้ วิภชฺชนา)
      5. อธิบายบทบริกรรมทุกๆ บทให้ได้ (นิทฺเทโส ได้ อุตฺตานีกมฺมํ)
      6. อธิบายคำอธิบายนั้นได้ด้วย (อากาโร ได้ ปญฺญตฺติ)
    3. นำสิ่งที่ท่องจำนี้ไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง 
    4. ถ้าติดขัดตรงไหน หรือ ยังไม่บรรลุ ให้ค่อยๆ ไปดูส่วนของนิทเทสหรืออรรถกถาของเรื่องนั้นๆ เพิ่ม.
ในภิกษุนั้น จะมีอาจารย์กรรมฐานที่มีคุณสมบัติพร้อมหรือไม่มีก็ตาม จะต้องทำตามหลักสูตรภิกขุนิสสยมุจจกะให้แตกฉาน ไม่เช่นนั้นมีอาบัติทุกคืนเมื่ออยู่ปราศจากอุปัชฌาย์ผู้มีคุณสมบัติภิกขุปริสูปัฏฐาปกะ. นี้สำหรับวิปัสสนาธุระ ตามจักขุปาลัตเถรวัตถุกล่าวไว้ คือ มีพรรษา 5 พ้นนิสสัยจากอาจารย์แล้ว พระจักขุปาละก็เลือกไปทำวิปัสสนาต่อ โดยมีคุณสมบัติของนิสสยมุจจกะติดตัวไป.

ส่วนคันถธุระนั้น ตาม วินย.อ. นั้น เหมาะสำหรับพระอรหันต์ หรืออย่างน้อยที่สุดแม้กัลยาณปุถุชนผู้ที่ทำองค์ของนิสสยมุจจกะครบแล้ว ก็มาทำคันถธุระในหลักสูตรภิกขุปริสูปัฏฐาปกะและภิกขุโนวาทกะต่อ.

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ความทุกข์ใจเกิดตอนไหนบ้าง?

ความโกรธ ความกลัว ความแค้น ความเสียใจ ความเศร้าโศก ความอิจฉา ความหวงแหนของ ความตระหนี่ ความรำคาญใจ ความกังวล
ทั้งหมดล้วนเกิดพร้อมกับความรู้สึกทุกข์ใจ ไม่สบายใจ ลำบากใจทั้งสิ้น
เพราะเหตุนั้น เวลาเช่นนั้น จึงไม่มีใครยิ้มได้ด้วยใจจริง

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ข้อผิดพลาดในอานาปานสติ 2 ข้อ ที่ผู้เริ่มต้นฝึกดูลมหายใจและอาจารย์ผู้สอนจำเป็นต้องรู้

คนที่อ่านพระไตรปิฎกมาเอง ไม่ได้ท่องจำพระบาลีอานาปานสติ หลายคนทำแค่ 2 ข้อแรก คือ พยายามดูแต่ลมสั้นยาว แต่ลืม 2 ข้อนี้ ทั้งๆ ที่ในพระไตรปิฎกบาลี บอกให้ทำทั้ง 4 ข้อไปพร้อมๆ กันคือ:

1. ต้องฝึกดูลมหายใจที่เบาลงๆ ให้ได้ไม่ขาดๆ หายๆ ด้วย,
2. และก็ต้องฝึกรู้ได้ตลอดห้ามให้ลมหายใจหาย ครับ. (คำว่า ฝึก หรือ สิกขานี้ หมายความว่า ยังทำไม่สำเร็จ แต่พยายามทำต่อเนื่องสุดๆ เพื่อให้มีโอกาสสำเร็จในอนาคตอันใกล้มากที่สุดเท่าที่ปัจจัยถึงพร้อม)

ทั้ง 2 ข้อนี้ต้องทำคู่ไปกับอีก 2 ข้อ คือ 1. สังเกตลมหายใจตลอดเวลาทั้งเข้าและออกที่ปลายจมูกหรือเหนือปาก (ไม่ตามลมไปอกหรือที่อื่น) 2. จะลมยาวหรือลมที่ค่อยๆ เบาและสั้นลง ก็ไม่พลาดสักวินาที ทุกอิริยาบถใหญ่ย่อย ไม่ใช่แค่นั่งนะครับ.

ไม่ใช่แค่ดูลมแล้วจะหายใจแรงได้ อย่างนี้ก็สมาธิกระเจิง เพราะไปฝึกการหายใจ ไม่ให้หายใจโดยธรรมชาติ เหนื่อยแย่เลย หรือดูลมแล้วเห็นแบบขาดๆ หายๆ อย่างนี้ก็ยังไม่มีสมาธิ หรือเพิ่งทำสมาธิไม่นานแล้วลมหายใจหายไป ก็คิดไปเองว่าเป็นจตุตถฌาน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะฌานของผู้ยังไม่ได้ฝึกวสีต้องเข้าตามลำดับฌาน จู่ๆ คนทำเพิ่งทำสมาธิจะข้ามไปจตุตถฌานเลยเป็นไปไม่ได้.

วิธีแก้ ทั้งปวง คือ ฝึก 2 ข้อที่ว่าแต่แรกนั้น ไปพร้อมๆ กับการดูลมหายใจเข้าออก สาเหตุนี้เองในพระบาลีอานาปานัสสติหมวดแรกจึงแยกเป็น 2 ศัพท์คือ ปชานาติ (รู้ชัดลมกายใจ) กับ  สิกขติ (ฝึกฝนความรู้ให้ชัดในลมเข้าออกและลมที่เบายิ่งขึ้นด้วย).

ฉะนั้นต่อไปนี้เวลาสอนหรือฝึกอานาปานสติผู้มาใหม่ อย่าลืมเน้น 2 ข้อนี้คู่ไปกับการให้ดูลมหายใจสั้นยาวด้วยนะครับ เพราะมันจะต้องทำไปพร้อมๆ กัน:

1. ต้องฝึกดูลมหายใจที่เบาลงๆ ให้ได้ไม่ขาดๆ หายๆ ด้วย,
2. และก็ต้องรู้ได้ตลอดห้ามให้ลมหายใจหาย ครับ.

นี่เป็นความผิดพลาดที่พบในระบบเรียนแบบอ่านเขียน แต่ไม่พบในระบบมุขปาฐะ คือ การท่องจำอานาปานัสสติบาลีทั้ง 4 จนชำนาญไปพร้อมกับการทำกรรมฐานครับ.