วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

โครงสร้างพระไตรปิฎกมหายานเป็นอย่างไร

cr. www.crs.mahidol.ac.th/thai/mahayana27.htm

โครงสร้างพระไตรปิฎกมหายานเป็นอย่างไร

          เพื่อ ตอบปัญหานี้ขออนุญาตนำเสนองานเขียนของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ในเรื่อง ความรู้เรื่องพระไตรปิฏก ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์ ดังนี้

พระสูตรลัทธิมหายาน
          ๑. หมวดอวตังสกะ
          หมวดนี้มีพระสูตรใหม่สูตรหนึ่งเป็นหัวใจคือ พุทธาวตังสกมหาไวปุลยสูตร ๘๐ ผูก และมีสูตรปกิณณะย่อยๆ อีกหลายสูตร
          ๒. หมวดไวปุลยะ
          มีพระสูตรใหญ่ชื่อมหารัตนกูฏสูตร ๑๒๐ ผูก เป็นหัวใจ นอกนั้นก็มีมหาสังคีติสูตร ๑๐ ผูก, มหายานโพธิสัตว์ปิฎกสูตร ๒๐ ผูก, ตถาคตอจินไตยรหัศยมหายานสูตร ๓๐ ผูก, สุวรรณประภาสสูตร ๑๐ ผูก, กรุณาปุณฑริกสูตร ๑๑ ผูก, มหายานมหาสังคีติกษิติครรภทศจักรสูตร ๑๐ ผูก, มหาไวปุลยมหาสังคีติโพธิสัตวพุทธานุสสติสมาธิสูตร ๑๐ ผูก, จันทร ประทีปสมาธิสูตร ๑๑ ผูก, ลังกาวตารสูตร ๗ ผูก, สันธินิรโมจนสูตร ๕ ผูก, วิเศษจินดาพรหมปุจฉาสูตร ๔ ผูก, อักโษภยพุทธเกษตรสูตร ๒ ผูก, ไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาสปูรวประณิธานสูตร ๒ ผูก, มโยปมสมาธิสูตร ๓ ผูก, ศรีมาลาเทวีสิงหนาทสูตร ๑ ผูก, อมิตายุรธยานสูตร ๑ ผูก, มหาสุขาวดีวยูหสูตร ๒ ผูก, อจินไตยประภาสโพธิสัตวนิทเทสูตร ๑ ผูก, ศูรางคมสมาธิสูตร ๓ ผูก, วิมลกีรตินิทเทศสูตร ๓ ผูก, และอื่นๆ อีกมากสูตรนัก ฯลฯ อนึ่งคัมภีร์ฝ่ายลัทธิมนตรยานก็จัดสงเคราะห์ลงในหมวดไวปุลยะนี้ มีพระสูตรสำคัญ เช่น มหาไวโรจนสูตร ๗ ผูก, เอกอักขระพุทธอุษฯราชาสูตร ๖ ผูก, มหามณีวิปุลยะวิมาน วิศวศุภประดิษฐานคุหยปรมรหัสยะกัลปราชธารณีสูตร ๓ ผูก, สุสิทธิกรสูตร ๓ ผูก, วัชร เสขรสูตร ๗ ผูก, โยคมหาตันตระราชาสูตร ๕ ผูก, มหามรีจิโพธิสัตวสูตร ๗ ผูก, วัชรเสข ระประโยคโหมตันตระ ๑ ผูก, มหาสุวรรณมยุรีราชาธารณีสูตร ๒ ผูก ฯลฯ
          ๓. หมวดปรัชญา
          มีพระสูตรใหญ่ ชื่อมหาปรัชญาปารมิตาสูตร ๖๐๐ ผูก เป็นหัวใจ และมีสูตรปกิณณะ เช่น ราชไมตรีโลกปาลปารมิตาสูตร ๒ ผูก วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ๑ ผูก เป็นอาทิ ฯลฯ
          ๔. หมวดสัทธรรมปุณฑริก
          มีพระสูตรใหญ่ ชื่อสัทธรรมปุณฑริกสูตร ๘ ผูก เป็นหัวใจ และมีสูตรปกิณณะ เช่น อนิวรรตธรรมจักรสูตร ๔ ผูก, วัชรสมาธิสูตร ๒ ผูก, มหาธรรมเภรีสูตร ๒ ผูก, สมันตภัทรโพธิสัตวจริยธรรมธยานสูตร ๑ ผูก เป็นอาทิ ฯลฯ
          ๕. หมวดปรินิรวาณ
          มีพระสูตรใหญ่ ชื่อมหาปรินิรวาณสูตร ๔๐ ผูก เป็นหัวใจ มีสูตรปกิณณะ เช่น มหากรุณาสูตร ๕ ผูก, มหามายาสูตร ๒ ผูก, มหาเมฆสูตร ๔ ผูก, อันตรภาวสูตร ๒ ผูก เป็น อาทิ ฯลฯพระวินัยลัทธิมหายาน
          ลัทธิมหายานมิได้มีภิกขุปาฏิโมกข์เป็นเอกเทศ คงปฏิบัติวินัยบัญญัติตามพระปาฏิโมกข์ของฝ่ายสาวกยาน แต่มีแปลกจากฝ่ายสาวกยานคือ โพธิสัตวสิกขา เพราะลัทธิมหายานสอนให้มุ่งพุทธิภูมิ บุคคลจึงต้องประพฤติโพธิจริยา มีศีลโพธิสัตวเป็นที่อาศัย วินัยโพธิสัตวนี้สาธารณทั่วไปแม้แก่ฆราวาสชนด้วย มีโพธิสัตวกุศลศีลสูตร ๙ ผูก, พุทธ ปิฏกสูตร ๔ ผูก, พรหมชาลสูตร (ต่างฉบับกับบาลี) ๒ ผูก, โพธิสัตวศีลมูลสูตร ๑ ผูก และอื่นๆ อีก พึงสังเกตว่าเรียกคัมภีร์เหล่านี้ว่า “สูตร” มิได้จัดเป็นปิฎกหนึ่งต่างหาก อรรถกถาพระสูตรของคันถรจนาจารย์อินเดีย
          มี ๓๓ ปกรณ์ เช่น มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ ๑๐๐ ผูก แก้คัมภีร์มหาปรัชญาปารมีตาสูตร, ทศภูมิวิภาษาศาสตร์ ๑๕ ผูก, สัทธรรมปุณฑริกสูตรอุปเทศ ๒ ผูกเป็นอาทิ อรรถกถาพระสูตรของคันถรจนาจารย์จีน
          มี ๓๘ ปกรณ์ เช่น อรรถกถาพุทธาวตังสกมหาไพบูลยสูตร ๖๐ ผูก และปกรณ์ ประเภทเดียวกันอีก ๕ คัมภีร์ นอกนั้นมีอรรถกถาลังกาวตารสูตร ๘ ผูก, อรรถกถาวิมล กีรตินิทเทศสูตร ๑๐ ผูก, อรรถกถาสุวรรณประภาสสูตร ๖ ผูก, อรรถกถาสัทธรรม ปุณฑริกสูตร ๒๐ ผูก, อรรถกถามหาปรินิรวาณสูตร ๓๓ ผูก เป็นอาทิ

ปกรณ์วิเศษของคันถรจนาจารย์อินเดีย
          มี ๑๐๔ ปกรณ์ เช่น โยคาจารภูมิศาสตร์ ๑๐๐ ผูก, ปกรณารยวาจาศาสตร์การิกา ๒๐ ผูก, มหายานอภิธรรมสังยุกตสังคีคิศาสตร์ ๑๖ ผูก, มหายานสัมปริครหศาสตร์ ๓ ผูก, มัธยานตวิภังคศาสตร์ ๒ ผูก เหตุวิทยาศาสตร์ ๑ ผูก, มหายสนศรัทโธตปาทศาสตร์ ๒ ผูก, มาธยมิกศาสตร์ ๒ ผูก, ศตศาสตร์ ๒ ผูก, มหายานวตารศาสตร์ ๒ ผูก, มหายาน โพธิสัตวศึกษาสังคีติศาสตร์ ๑๑ ผูก, มหายานสูตราลังการ ๑๕ ผูก, ชาตกมาลา ๑๐ ผูก, มหาปุรุษศาสตร์ ๒ ผูก, สังยุกตอวทาน ๒ ผูก ทวาทศทวารศาสตร์ ๑ ผูก นอกนั้นก็เป็นปกรณ์สั้นๆ เช่น วิฃญาณมาตราตรีทศศาสตร์, วีศติกวิชญานมาตราศาสตร์, อลัมพนปริกษ ศาสตร์, อุปายหฤทัยศาสตร์, หัตถธารศาตร์, วิชญานประวัตรศาสตร์, วิชญานนิทเทศ ศาสตร์, มหายานปัญจสกันธศาสตร์เป็นอาทิ
ปกรณ์วิเศษของคันถรจนาจารย์จีน
          มี ๑๔ ปกรณ์เป็นคัมภีร์ประเภทฎีกาแก้ปกรณ์วิเศษรจนา โดยคันถรจนาจารย์ อินเดียมี ๑๑ ปกรณ์ รจนาโดยคันถรจนาจารย์จีนมี ๑๘ ปกรณ์ คัมภีร์ปกิณกคดีที่อธิบายหลักธรรมบ้างที่เป็นประวัติบ้าง ของคันถรจนาจารย์อินเดียรวบรวมไว้ก็ดี รจนาขึ้นใหม่ก็ดี มีทั้งของฝ่ายพาหิรลัทธิด้วย รวม ๕๐ ปกรณ์ อาทิเช่นพุทธจริต ๕ ผูก, ลลิตวิสตระ ๒๐ ผูก, นาคเสนภิกษุสูตร (มิลินทปัญหา) ๓ ผูก, อโศกอวทาน ๕ ผูก, สุวรรณสัปตติศาสตร์ของลัทธิสางขยะ ๓ ผูก, และไวเศษิกปทารถศาสตร์ของลัทธิไวเศษิก ๓ ผูก เป็นต้น ส่วนปกรณ์ปกิณณคดีประเภทต่างๆ ของนิกายมหายานในประเทศจีน มีนิกายเทียนไท้, นิกาย เฮี่ยงซิ้ว, นิกายเซ็น, นิกายสุขาวดี, นิกายวินัยกับนิกายอื่นๆ อีก รวมทั้งประเภทประวัติ ศาสตร์ และจดหมายเหตุที่รจนารวบรวมไว้ โดยคันถรจนาจารย์จีนมีประมาณ ๑๘๖ ปกรณ์ ปกรณ์เหล่านี้มีทั้งชนิดยาวหลายสิบผูก และชนิดสั้นเพียงไม่กี่หน้ากระดาษ
          ความสำเร็จแห่งพระไตรปิฎกจีนดังพรรณนามา เกิดจากความวิรยะ อุตสาหะ ของท่านธรรมทูตทั้งหลายผู้ภักดีศาสนา ซึ่งมีทั้งที่เป็นชาวอินเดีย, ชาวอาเซียกลาง และชาวจีน ได้แปลถ่ายจากภาษาสันสกฤตออกเป็นภาษาจีนซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายดายเลย อักษรศาสตร์สันสกฤตและอักษรศาตร์จีน มีความยากลึกซึ้งขนาดไหนและมีลีลาแตกต่างกันในเชิงไวยากรณ์ขนาดไหน ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ศึกษาอักษรศาสตร์ทั้ง ๒ ชาตินั้นแล้ว ยิ่งใน การแปลนี้เป็นการถ่ายทอดปรมัตถธรรมของพระศาสนาอันมีอรรถรสสุขุมล้ำลึกหนักหนาก็ ยิ่งทวีความยากเย็นขึ้นอีกหลายเท่าทวีคูณ แต่บรรดาท่านธรรมฑูตเหล่านั้นก็พยายามบาก บั่นผลิตผลงานของท่านขึ้นสำเร็จจนได้ ควรแก่การเคารพสรรเสริญของปัจฉิมาชนตาชน อย่างยวดยิ่ง เราพอจะแบ่งระยะกาลแปลคัมภีร์อย่างกว้างๆ ได้ ๔ สมัย คือ
          ๑. สมัยวงศ์ฮั่นยุคหลังถึงต้นวงศ์ถัง (พ.ศ. ๖๑๐- ๑๒๗๓) ในระยะเวลา ๖๖๓ ปี นี้ มีธรรมทูตทำงานแปลรวม ๑๗๖ ท่าน ผลิตคัมภีร์ ๙๖๘ คัมภีร์ ๔,๕๐๗ ผูก
          ๒. สมัยกลางวงศ์ถัง ถึงวงศ์ถังตอนปลาย (พ.ศ. ๑๒๗๓ - ๑๓๓๒) มีธรรมทูต ทำงานแปล ๘ ท่าน
          ๓. สมัยปลายวงศ์ถัง ถึงต้นวงศ์ซ้อง (พ.ศ. ๑๓๓๒ - ๑๕๘๐) มีธรรมทูตทำงาน แปล ๖ ท่าน
          ๔. สมัยวงศ์ซ้อง ถึงวงศ์หงวน (พ.ศ. ๑๕๘๐ - ๑๘๒๘) มีธรรมทูตทำงานแปล ๔ ท่าน
          ในจำนวนธรรมทูต ๔ สมัย ๑๙๔ ท่านนี้ ผู้มีเกียรติคุณเด่นมีรายนามต่อไปนี้ อันสิทเกา, ธรรมกาละ, ธรรมนันทิ, อภยะ, ธรรมรักษ์ศิริมิตร, สังฆเทวะ, กุมารชีพ, ปุณยาตระ, พุทธยศ, พุทธชีวะ, พุทธภัทร, สังฆภัทร, คุณภัทร, โพธิรุจิ, ปรมัตถะ, กาลยศ, ธรรมมิตร, พุทธคุปตะ, สังฆปาละ, ฟาเหียน, เฮี่ยงจัง, เทพหาร, ศึกษานันทะ, อี้จิง, วัชรโพธิ, สุภกรสิงหะ, อโมฆวัชระ, ปรัชญา, ธรรมเทวะ, สันติเทวะ, ทานปาละ เป็นต้น ในบรรดาท่านเหล่านี้ มีพิเศษอยู่ ๕ ท่านที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “นักแปลคัมภีร์อันยิ่งใหญ่” คือ
          ๑. พระกุมารชีพ เลือดอินเดียผสมคุจะ มาประเทศจีนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๙ แปลคัมภีร์ ๗๔ ปกรณ์ ๓๘๔ ผูก
          ๒. พระปรมัตถะ ชาวอินเดียแคว้นอุชเชนี มาประเทศจีนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐ แปลคัมภีร์ ๖๔ ปกรณ์ ๒๗๘ ผูก
          ๓. พระสมณะเฮี่ยงจัง ชาวมณฑลโฮนาน จาริกไปอินเดียศึกษา พระธรรมวินัยเมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๒ กลับประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. ๑๑๘๘ แปลคัมภีร์ ๗๔ ปกรณ์ ๑๓๓๐ ผูก (หรือ ๑๓๒๕ หรือ ๑๓๓๕ ผูกไม่แน่)
          ๔. พระสมณะอี้จิง ชาวเมืองฟันยาง จาริกไปอินเดียศึกษาพระธรรมวินัย เมื่อ พ.ศ. ๑๒๑๔ กลับประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. ๑๒๓๗ แปลคัมภีร์ ๕๖ ปกรณ์ ๒๓๐ ผูก
          ๕. พระอโมฆวัชระ เชื้อสายอินเดียเหนือ แปลคัมภีร์เมื่อ พ.ศ. ๑๒๘๙ - ๑๓๑๔ จำนวน ๗๗ ปกรณ์ ๑๐๑ ผูก
          งานถ่ายทอดพระธรรมวินัยดังพรรณนานี้ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหา กษัตริย์จึงสามารถดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานขึ้นคณะหนึ่ง มีการแบ่งหน้าที่เป็นแผนกหรือตำแหน่งดังนี้
          ๑. ประธานในการแปล ต้องเป็นผู้รอบรู้ในภาษาสันสกฤตหรือภาษาอินเดียภาค ต่างๆ รวมทั้งภาษาเอเซียกลางด้วย เป็นผู้ควบคุมพระคัมภีร์ที่แปลโดยตรง
          ๒. ล่ามในการแปล ได้แก่ผู้รู้ภาษาสันสกฤตหรือภาษาของท่านธรรมทูต และภาษาจีนดี ฟังคำอธิบายในข้อความในคัมภีร์สันสกฤตจากผู้เป็นประธานแล้ว ก็แปลเป็นภาษาจีน โดยมุขปาฐะ สำหรับล่ามนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เสมอไป ถ้าประธานมีความรู้ในภาษาจีน
          ๓. ผู้บันทึก ได้แก่ผู้คอยจดคำแปลของล่ามลงเป็นอักษรจีน ถ้าประธานแตกฉานใน อักษรศาสตร์จีนดีก็ไม่ต้อง เพราะเขียนเองได้
          ๔. ผู้สอบต้นฉบับ ได้แก่ผู้ตรวจสอบ ผู้ทานดูข้อความแปลที่จดไว้จะตรงกับต้นฉบับหรือไม่
          ๕. ผู้ตกแต่งทางอักษรศาสตร์ ได้แก่ผู้มีหน้าที่ตกแต่งภาษาจีนซึ่งแปลจดไว้แล้วให้ สละสลวยถูกต้องตามลีลาไวยากรณ์ของจีน ฟังไม่เคอะเขินหรือกระด้างหู ทั้งนี้เพราะล่ามก็ ดีผู้บันทึกก็ดี จำต้องรักษาถ้อยคำให้ตรงกับต้นฉบับ ซึ่งในบางกรณีลีลาโวหารอาจกระด้าง หรือไม่หมดจดก็ได้
          ๖. ผู้สอบอรรถรส ได้แก่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบฉบับแปลจีนนั้นให้มีอรรถรสตรงกันกับต้นฉบับโดยสมบูรณ์ทุกประการ
          ๗. ผู้ทำหน้าที่ธรรมาภิคีติ ได้แก่การสวดสรรเสริญสดุดีคุณพระรัตนตรัย ก่อนที่จะเริ่มงานแปลทุกวาระ หรือสวดสาธยายข้อความ ในพระคัมภีร์ที่แปลนั้น พูดง่ายๆ ก็คือเจ้าหน้าที่พิธีการนั่นเอง
          ๘. ผู้ตรวจปรู๊ฟ เมื่อเขาแปลและจดกันเป็นที่เรียบร้อยหมดจดทุกอย่างแล้ว ก็ปรู๊ฟกันอีกทีหนึ่งเพื่อให้ถูกต้องกันผิดพลาด หากจะมีอะไรหลงหูหลงตาบ้าง
          ๙. เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชการ ซึ่งจะต้องเป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่คอยดูแลให้มีจตุปัจจัยสมบูรณ์ และคอยอุปการะถวายความสะดวกแก่คณะกรรมการ ตลอดจนเป็นผู้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบถึงผลงาน บางครั้งเมื่อคัมภีร์ปกรณ์หนึ่งๆ แปลจบลง ก็นำถวายขอพระราชนิพนธ์บทนำ
          เมื่อพิจารณาการดำเนินงานอย่างนี้แล้ว ก็ทำให้มั่นใจว่าพระไตรปิฎกจีนพากย์นี้มีข้อแปลผิดพลาดได้น้อย แต่ถึงกระนั้น เนื่องด้วยในสมัยต้นๆ แห่งการแปลคัมภีร์ ท่านผู้แปลที่เป็นประธานเป็นชาวต่างชาติจะต้องมาเรียนรู้ภาษาจีน ฉะนั้นจึงมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องลีลาโวหารทางอักษรศาสตร์จีน มิได้ผิดพลาดกับอรรถรส ที่น่าประหลาดอยู่ คือ ท่านกุมารชีพเป็นคนต่างชาติแท้ๆ สามารถแปลได้อย่างวิจิตรจนจัดสำนวนของท่านอู่ ในอันดับวรรณคดีชั้นสูงของจีน ส่วนท่านสมณะเฮี่ยงจัง และท่านสมณะอี้จิงนั้นมิพักต้องกล่าวถึงละ เพราะท่านเป็นชาวจีนและยังแตกฉานในภาษาสันสกฤตอย่างเอกอุ ยิ่งท่านเฮี่ยงจังด้วยแล้ว ท่านสามารถรจนาปกรณ์วิเศษได้ในภาษานั้นๆ จึงหาข้อบกพร่องใดๆ ในคัมภีร์ที่ท่านทั้งสองแปลไว้มิพานพบเลย โดยสรุปแล้วก็นับได้ว่าพระไตรปิฎกจีนพากย์นี้ งดงามทั้งเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.