วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ทำไมจงกรมสมัยนี้ เดินช้าๆ, และประวัติศาสตร์ศาสนาพุทธไทยในยุคมืด.

ถาม: ทำไมจงกรมสมัยนี้ เดินช้าๆ?
ตอบ: มันเป็นจงกรมแบบพม่าผสมไทย ครับ.
จริงๆ แล้วที่พม่าสายเคร่งๆ เช่น pa-auk จะเป็นแบบพระป่าโบราณ ที่ทำตามพระไตรปิฎก อรรถกถา อย่างเคร่งครัด คือ เดินปกตินี่แหละ เพื่อพิจารณากรรมฐาน, พระป่าสมัยนี้บางสายที่ผมเคยไปอยู่ด้วยมา ก็ยังเดินจงกรมความเร็วปกติอยู่ครับ.
ที่นี้ ช่วงที่บาลีน้อยบูมเมื่อร้อยกว่าปี, พระป่าก็ทิ้งบาลีใหญ่ กับอภิธรรม และแนวที่สืบๆกันมาแต่โบราณ ไปเอาบาลีน้อย กับหลักสูตรทางโลก (มหามกุฎ มหาจุฬา).
สายบาลีน้อย ธรรมะยุคใหม่ ที่เพิ่งเริ่มเมื่อร้อยกว่าปีนี้แหละ ที่เป็นต้นกำเนิด "อะไรที่มันช้าๆ" เช่น การสวดยานคาง และรวมถึงรูปแบบต่างๆ ที่ฆราวาสจะทำตามได้ง่ายๆ คือ ทำช้าๆ เพื่อให้ฆราวาสทำตามได้. โดยไม่รู้ว่า มันจะเป็นแบบอย่างที่แย่มากๆ ให้กับพระรุ่นหลัง, กลายเป็นว่า พระสมัยนี้ ทำแบบนั้นหมดเลย. ระบบการศึกษาแบบโบราณล่มหมด พระรุ่นหลังเลยได้แต่อ้างว่า ทำนั่นไม่ได้ ทำนู่นไม่ได้ (แล้วทำไมบางวัดเขาทำกันได้ ไม่ต้องอ้างอะไร?).
ผลคือ ข้อปฏิบัติที่สืบมาแบบพระป่าโบราณมันขาดช่วงหายไป เหลือมาไม่ครบ. ทั้งหลักสูตรพ้นนิสสัย หลักสูตรบาลี หลักสูตรอภิธรรม, ทุกอย่างเหลือมาแบบกระท่อนกระแท่น หลวงปู่มั่น เหลือแค่สังคหะแปลไทยเล่มเดียวติดตัว (อาจจะมีเล่มอื่น แต่ไม่เหลือมาถึงลูกศิษย์เลย). หลวงปู่ฝั้น ได้อภิธรรมมาติกามา (ซึ่งอธิบายไม่ผิดองค์ธรรม แต่บางอย่างก็ไม่ตรงตำราเดิม ซึ่งบ่งบอกว่า สอนปฏิบัติได้ แต่ปริยัติไม่แน่น เป็นการบั่นทอนอายุของศาสนา เพราะ พระอรรถกถาจารย์ ท่านกล่าวไว้ว่า "ปริยัติ คือ อายุของศาสนา").
แต่ที่นี้มีพระยุคบาลีน้อยสมัยประมาณ 50-60 ปีก่อน ( ราวๆ ปี 2500 หรือ ก่อนนั้นเล็กน้อย) ที่อยากบรรลุมากๆ แต่ไม่เลื่อมใสพระป่า (เพราะพระป่าสมัยนั้น ซึ่งก็คือสายหลวงปู่มั่น ก็เจอกระแสเทคโนโลยี การเรียนยุคใหม่ และบาลีน้อย รุมเร้าอยู่เหมือนกัน ประกอบกับปริยัติไม่แน่น จึงไม่สามารถทำให้พระด้วยกันที่เป็นสายปริยัติบางรูป เกิดความเลื่อมใสได้).
พระกลุ่มนี้ ก็คือสายที่ไปเอาพระมาจากพม่า เช่น สมเด็จอาจ อาสภะ เป็นต้น ได้สายหนอขึ้นมา โดยเอามาจากสายของมหาสีสยาดอ (สายสุธรรมนิกาย ซึ่งมีปัญหาทางด้านพระวินัย จนเกิดการแยกตัวออกมาเป็นนิกายชเวจิน จากพระที่ทรงพระไตรปิฎก ปฏิบัติวินัยและกรรมฐานเคร่งครัด ในคริสตศตวรรษที่ 19, และพระที่ทรงพระไตรปิฎก และปฏิบัติพระวินัย ฌาน วิปัสสนา อย่างเคร่งครัด ก็ไม่ยอมรับพระมหาสีสยาดอ ต้นตำหรับสายหนอด้วย). นอกจากนี้ก็ยังมีฆราวาสด้วย เช่น อ.แนบ เป็นต้น.
ปัญหา คือ ได้มาแต่การปฏิบัติ กับ อภิธรรม. บาลีใหญ่ไม่ได้มาด้วย ที่สำคัญ คือ เนตติปกรณ์ซึ่งเป็นคู่มืออ่านพระไตรปิฎกที่สำคัญที่สุดอีกเล่มก็ไม่เรียนมาด้วย ดังนั้น ปริยัติที่ไม่แน่น ก็เลยยังไม่แน่นเหมือนเดิม เพราะภาษาไทยแปล ไม่ใช่ตันติภาษา รักษาสภาวะที่พระไตรปิฎก อรรถกถาพยายามจะสื่อไว้ได้ไม่หมด ต้องมาเดาความกันอีกที. (เพิ่งมาบูมทีหลังช่วงปี 2520 ที่ลำปาง วัดท่ามะโอ แล้วค่อยแผ่ออกมาจากที่นั่น ลูกศิษย์วัดท่ามะโอแผ่ไปวัดชนะสงคราม วัดจากแดง วัดมหาธาตุ วัดหาดใหญ่สิตาราม).
ทีนี้เพราะสายหนอนี่แหละ ไม่ศรัทธาวัดป่า จึงไม่รู้เหตุผลของการจงกรมซึ่งจะต้องรู้วิธีอ่านพระไตรปิฎก อรรถกถา ที่ถูกต้อง สืบๆกันมาในสายพระป่าโบราณ หรือ สายพม่า ที่เป็นสายปริยัติและปฏิบัติโดยตรง (แต่สายที่สมเด็จอาจเอาเข้ามา เป็นแค่สายอภิธรรม ซึ่งใช้คำสอนสำหนับวิปัสสนายานิก ที่เป็นอุคฆฏิตัญญู หรือ วิปปจิตัญญูขึ้นไป ไม่ใช่สำหรับเนยยะ สายนี้จะไม่เน้นการทรงพระไตรปิฎก การทำฌานการ ทำวิปัสสนาอย่างครบถ้วนทุกกระบวนการตามตำรา จึงไม่สมบูรณ์พอจะรักษาพระศาสนา).
เมื่อไม่รู้ก็เลยหาวิธีการจงกรมต่างๆ นาๆ ออกมาสอน โดยไม่ได้ให้เหตุผลที่ถูกต้อง, กลายเป็นจงกรมเพื่อสมาธิ, จงกรมแล้วก็เป็นวิปัสสนาเลย อะไรไปนู่น ออกป่าออกพงไปไกลสุดลูกหูลูกตา.
ทีนี้ ไม่รู้เรื่องจงกรม ไม่รู้เรื่องวิปัสสนาตามตำราอย่างถ่องแท้... มันก็มารวมกับการสอนฆราวาส ทั้งที่ตนเองไม่ได้รู้เรื่องวิปัสสนาจริงๆ ... ‪#‎จงกรมสมัยใหม่ก็เลยช้าครับ‬.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.