วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2562

กุศลก็รู้อัตตาได้ ปัญญาก็รู้อัตตาได้

กุศลก็รู้อัตตาได้ ปัญญาก็รู้อัตตาได้

ตน เรา เขา (อัตตาบัญญัติ) เป็นอารมณ์แก่จิตในวิถีหลังๆ ตั้งแต่อัตถัคคหณวิถี นามัคคหณวิถี เป็นต้นไป เพราะเป็นบัญญัติ จิตรู้ขันธ์ที่เป็นปรมัตถ์ชำนาญในวีถีก่อนๆ แล้วจึงบัญญัติขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อการดำรงชีวิต.

ในขณะที่จิตคิดบัญญัติเท่านั้น บัญญัติจึงปรากฎเป็นอารมณ์ ขณะที่จิตไม่คิดบัญญัติ คือ รู้ปรมัตถ์อยู่ ก็ไม่มีบัญญัติอยู่ที่ไหนเลยทั้งในอดีตอนาคตและปัจจุบัน เพราะสังขตปรมัตถ์ต้องมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นจึงจะชื่อว่า มีอยู่จริงๆ จิตจะคิดหรือไม่คิดปรมัตถ์ก็ต้องเกิดขึ้นเมื่อปัจจัยถึงพร้อมแน่นอน ส่วนบัญญัตินั้น ไม่เกิดขึ้น ไม่มีปัจจัย ไม่เคยมีอยู่เลย เป็นได้เพียงอารมณ์ของจิต ในยามที่จิตคิดถึงมันเท่านั้น.

อัตตาบัญญัตตินั้นเป็นอารมณ์ให้จิตได้ทั้ง 3 ชาติ (เว้นวิบากชาติ) แม้พระพุทธเจ้าก็มีอัตตาเป็นอารมณ์ได้ เพียงแต่พระพุทธเจ้ามีจิตแค่ 1 ชาติที่รู้อัตตาบัญญัติ คือ กิริยาชาติเท่านั้น.

รู้อัตตาด้วยกุศลอย่างไร? 

ขณะที่ท่านอ่านข้อความนี้ ท่านก็กำลังรู้อัตตาด้วยกุสลญาณสัมปยุตอยู่. เราจักให้ทาน เราจะรักษาศีล เราจักทำสมถะ เราจักทำวิปัสสนา เราจักเข้าผลสมาบัติ เราจักดับขันธปรินิพพาน ล้วนรู้อัตตาบัญญัติทั้งสิ้น.
แต่การรู้อัตตาบัญญัตินี้ จะเป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็ต่อเมื่อมีองค์ 2 ของมิจฉาทิฏฐิ คือ

1. อารมณ์ผิดเพี้ยนไปจากหลักปัจจยาการ คือ ปัจจัยปัจจยุปบัน (ปฏิจจสมุปบาท/ปัฏฐาน)
2.มีตัณหาอุปาทานเข้าไปติดใจ สละไม่ได้. (ม.ม.สัมมาทิฏฐิสูตร)

ถ้าขาดองค์ข้อ 1 ไม่เป็นวิปลาส ไม่เป็นทิฏฐิ เป็นเพียงจิต 3 ชาติอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมที่คิดบัญญัติอย่างหนึ่งเท่านั้น. 

ถ้าขาดองค์ข้อ 2 อาจเป็นวิปลาสได้ ไม่เป็นทิฏฐิ เช่น พระโสดาบันคิดว่า รูปฌานเป็นสุข ลืมคิดโดยความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ อย่างนี้แสดงว่ามีโมหะหลงลืมปัจจัยปัจจยุปบัน แต่เป็นเพียงความจำ และความคิดที่ผิดเพี้ยน ไม่ใช่ทิฏฐปาทาน คือไม่ได้ตามยึดมั่นเป็นความเห็น ความปักใจ ไม่ได้ตามวิตกวิจารแล้วๆ เล่าๆ เพราะเมื่อคิดแล้วก็จะมีการตามอนุปัสสนาภายหลังว่า จริงๆ ฌานนั้นก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เช่นกัน. อีกประการ คือ พระโสดาบันมีใจเปิดกว้างด้วยสัมมาทิฏฐิเผื่อปัจจัยปัจจยุปบันอื่นๆ ที่เกินวิสัยของตนด้วยอัตตสัมมาปนิธิอยู่แล้ว ไม่ใช่ "นี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า" จึงไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ.

แต่ในพระอรหันต์ ไม่เป็นทิฏฐิ ไม่เป็นวิปลาสโดยประการทั้งปวง เพราะไม่ว่าอะไรๆ ก็ไม่ที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา สำหรับพระอรหันต์ทั้งปวง.

โลภเจตสิกจะรู้อัตตา แต่เป็นเพียงทิฏฐิคตวิปปยุต ไร้ทิฏฐิเจตสิก ได้อย่างไร?

เราจักดูซีรีส์เกาหลีละครช่อง 7 ให้สนุก, เราจักกินของชอบบ่อยๆ, เราจักนอนที่นอนนุ่มๆทุกวัน เป็นต้น จิตปรารภปรมัตถ์ตรงตามปัจจัยปัจจยุปบันไม่ผิดเพี้ยน สีที่จะเกิดในทีวีมีจริง, รสที่จะเกิดที่ลิ้นมีจริง, ปฐวีธาตุที่เกิดกระทบกายที่นอนอยู่มีจริง,  นามรูปปฏิจจสมุปบาทที่จิตไปอาศัยรู้แล้วคิดบัญญัติว่า "เป็นเรา/เป็นเขากำลังดูทีวี/กำลังลิ้มรส/กำลังนอน" นามรูปนี้ทั้งหมดก็มีอยู่จริง เกิดขึ้นจริงๆ แต่จิตเจตสิกแม้คิดถูกหลักปัจจัยอย่างนี้ก็ยังมีโลภะอุปาทานไปติดใจ เพลิดๆ แล้วๆ เล่าๆ. โลภะเหล่านี้ มีอัตตาบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่ไม่มีความเข้าใจผิดจึงไม่มีทิฏฐิคตสัมปยุต.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.