วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561

เหตุผลที่พลววิปัสสนาสมาธิไม่เรียกว่าอัปปนาในอรรถกถา เพราะไม่ได้นิพพานเป็นปฏิภาคนิมิต และไม่ได้ข่มอนุสัยกิเลส

เหตุผลที่พลววิปัสสนาสมาธิไม่เรียกว่าอัปปนาในอรรถกถา เพราะไม่มีปฏิภาคนิมิตในการเข้าฌาน และไม่มีกิเลสในปัจจุบันให้ข่ม ครับ.

วิปัสสนูปกิเลสก็ปริยุฏฐานในชื่อ "นิวรณ์" ตอนเริ่มทำโลกิยฌานก่อนอุปจารสมาธิเช่นเดียวกับผู้ได้ตรุณวิปัสสนานั่นแหละ และเป็นแรงผลักดันให้ฤาษีบรรลุโลกิยฌานเสียด้วยซ้ำ. เพียงแต่เมื่อฤาษีสามารถข่มปริยุฏฐานอุปกิเลสได้ ปฏิภาคนิมติของอัปปนาฌานก็ปรากฎ จึงได้ชื่อว่าอุปจาระของอัปปนา เพราะข่มได้ทั้งปริยุฏฐาน ปฏิภาคนิมิตก็ได้เช่นกัน ขาดแค่ชวนะยังข่มภวังค์และจิตอื่นไม่ได้เท่านั้นเอง. ส่วนอนิมิตสมาธิของสมถะชื่อว่าอนิมิตก็จริงแต่ก็มีนิมิตเป็นอารมณ์ (ปรมัตถ์บ้าง บัญญัติบ้าง) แค่ไม่สามารถเป็นปฏิภาคนิมิตได้เฉยๆ เลยเป็นแค่เข้าใกล้อัปปนาด้วยการวิกขัมภนปริยุตฐานกิเลสได้ แต่ไม่ได้อัปปนา.

แต่อนิมิตของโลกุตรฌาน คือ ต้องไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับขันธ์เป็นอารมณ์เลย. ซึ่งในขณะทำวิปัสสนาต้องมีอารมณ์คือขันธ์และไตรลักษณ์, ดังนั้น นิพพานจึงไม่เคยปรากฎเป็นปฏิภาคนิมิตให้กับวิปัสสนาจิตเลย. ตรงนี้ต่างจากสมถะชัดเจน.

ฉะนั้น จะไปเรียกวิปัสสนาจิตนอกโลกุตรวิถีว่า เป็น อุปจาระ (ใกล้อัปปนา คือ ใกล้แนบแน่น) ไม่ได้ เพราะอารมณ์คือนิพพานก็ไม่ปรากฎให้เห็น อนุสัยกิเลสก็ไม่ได้ข่มให้ดู ก็หมายความว่า ไม่มีอะไรใกล้อัปปนาเลยสักอย่าง. ซึ่งตามที่อธิบายมาข้างต้นถ้าเป็นอุปจาระใกล้อัปปนาของโลกิยฌาน จะต้องเห็นทั้งปฏิภาคนิมิต และต้องข่มปริยุฏฐานกิเลสได้ด้วย. โดยนัยนี้ พลววิปัสสนาสมาธิ จึงไม่เป็นอุปจาระ เพราะไม่ได้ปฏิภาคนิมิตคือนิพพาน, และไม่ได้ข่มอนุสัยกิเลส.

ส่วนการข่มปริยุฏฐานกิเลสของพลววิปัสสนานั้น ก็ไม่ได้ทำให้ได้นิพพานมาเป็นปฏิภาคนิมิต และไม่ได้ข่มอนุสัยกิเลสด้วย. แสดงว่า ไม่ใช่การข่มที่ทำให้เข้าใกล้มรรคผลนิพพานเลยสักอย่างเดียว, สมาธิระดับพลววิปัสสนา จึงได้ชื่อแค่พลววิปัสสนาสมาธิ แต่ไม่ชื่อว่า อุปจารสมาธิ ครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.