วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

วิธีเจริญเมตตา

ให้คิดถึงตัวความรู้สึกสุข ที่เราพยายามหามาให้ตัวเองว่า "ขอเราจงมีความสุข"ๆๆๆ

แล้วเอาความคิดแบบเดียวกันนี้ คิดไปยังคนที่รักก่อนว่า "ขอเพื่อนรักเราจงมีความสุข"ๆๆๆ

เมื่อความรู้สึกส่งความสุข แก่เราและเพื่อน มันไม่ต่างกัน เราอยากสุขอย่างไร ก็คิดกะเพื่อนอย่างนั้น คิดกะเพื่อนอย่างไร คิดกะเราก็อย่างนั้น

ต่อไปจึงจะเริ่มคิดอย่างนี้ในคนที่ไม่รู้จัก

สุดท้ายจึงค่อยคิดกะคนที่แค้นมากๆ

คิดจนกระทั่ง ความรู้สึกส่งความสุขของเราไปคนื่น คนอื่นมายังเรา และคนอื่นไปคนอื่น มันไม่ต่างกัน ครับ

ถ้าจะเลือกให้ใครต้องตายก่อน ก็เลือกไม่ได้

แม้จะมีจิตเลือก ก็ด้วยจิตเสียสละ (อโลภะ) ไม่ใช่จิตเมตตา (อโทสะ)

อนึ่ง โลภะ กับ โทสะเกิดด้วยกัน แต่ขณะพัฒนา(ภาวนา)นั้น มันจะมุ่งเน้นไปทีละอย่างได้ ครับ.

ถามว่า: ต้องทำตามลำดับนี้ไหม?

ตอบว่า: ถ้ารู้จักความสุขดีพอ และไม่มีความแค้นกับใคร จะแผ่กะใครก็ได้, แต่ที่ท่านให้แผ่กับคนที่รักก่อน เพราะปกติแล้วเราจะปรารถนาดีกับคนเหล่านี้มาก่อนอยู่แล้ว ครับ.

ถามว่า: ต้องแผ่แค่ไหน จึงจะเลื่อนไปทำขั้นต่อไปได้?

ตอบว่า: แผ่จนกว่าจะไม่เกิดความลำเอียง ครับ ตนจงสุขเท่าไหร่ เพื่อนก็จงสุขเท่านั้น เพื่อนจงสุขเท่าไหร่ ตนก็จงสุขเท่านั้น. แต่ในอรรถกถา ท่านให้แผ่ให้ได้อัปปนาฌานก่อนทีละกลุ่มๆ เพราะในที่นั้นกล่าวถึงสมาธิที่เป็นจิตตวิสุทธิที่จะเป็นบาทฐานของทิฏฐิวิสุทธิ จึงกล่าวถึงขั้น อุปจาระและอัปปนาฌานไว้ เพื่อให้สำเร็จวิสุทธิถัดๆ ไปได้ ครับ.

คลิปสอนเริ่มทำกรรมฐาน สำหรับเนยยบุคคล


หลักการขั้นต้น ของการทำอานาปานัสสติ:
1 ความยาว-สั้นของลมหายใจ ที่ผ่านจุดกระทบ,
2. ฝึกให้ชำนาญต่อการับรู้ลมหายใจตั้งแต่เริ่มกระทบจนสุด ไม่ขาดช่วง (ปฏิสญฺจิกฺขติ)
3. ฝึกหายใจเบา
ในพระพุทธพจน์ หายใจเข้าออก รู้ 3 อย่างนี้, ซึ่งทั้ง 3 ข้อ ก็รู้แค่ลมหายใจ ที่กระทบอยู่ที่ปลายจมูก เท่านั้น, ไม่สนใจกระทั่งความรู้สึกที่ปลายจมูก ไม่สนใจแสง ไม่สนใจความรู้สึกสบายเบาสว่าง, สนใจแต่ลมหายใจตลอดเวลาเท่านั้น ครับ.

คลิปสอนเริ่มทำกรรมฐาน สำหรับเนยยบุคคล 
โดยพระกัมมัฏฐานาจริยะ ที่เรียนสืบๆ กันมา ในพม่า
ป.ล. กราบก่อนดูนะครับ อาจารย์ระดับนี้ ไม่ได้หากันได้ง่ายๆ


ป.ล. วัด pa-auk (พาเอ้า) ไม่ได้รู้เห็นใดๆ กับเพจนี้ เพจนี้กล่าวถึงวัดนี้ เพราะชื่นชมในความเคร่งครัด และซื่อตรงต่อพระไตรปิฎกของวัดนี้เท่านั้น.

วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559

อวิชชา 8 ข้อ อธิบายตามนัยยะของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร วิสุทธิ 7 ปฏิสัมภิทามรรค

อวิชชา 8 ข้อ คือ:

  1. ความไม่เข้าใจทุกข์ว่า ทุกข์ คือ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นของมีกิจควรอนุปัสสนาว่า "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" อันเรายังไม่ได้อนุปัสสนา.
  2. ความไม่เข้าใจทุกขสมุทัยว่า เหตุทุกข์คือตัณหาในอารมณ์ 6 เป็นของมีกิจควรละ ด้วยการอนุปัสสนา อันเรายังไม่ได้ละ.
  3. ความไม่เข้าใจทุกขนิโรธว่า ความดับทุกข์คือสอุปาทิเสสนิพพานธาตุในอารมณ์ 6 เป็นของมีกิจควรทำให้ประจักษ์กับใจ อันเรายังไม่ได้ประจักษ์.
  4. ความไม่เข้าใจทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาว่า "แนวทางดับทุกข์คือมรรค 8 ได้แก่ สัมมาทิฏฐิที่ทำกิจในอริยสัจจ์ 4 กำลังสะสมวิสุทธิ 5 ข้อหลังอยู่, สัมมาสังกัปปะ ที่เป็นจิตตวิสุทธิอยู่ (เพราะทำมรรค 6 ที่เหลือมาสมบูรณ์แล้ว จนจิตตวิสุทธิ์ เป็นฐานให้สัมมาทิฏฐิที่กำลังเกิดอยู่ได้), สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ที่เป็นสีลวิสุทธิมาก่อนแล้ว, สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ที่เป็นจิตตวิสุทธิมาก่อนแล้ว" เป็นของมีกิจควรทำให้เกิดขึ้นต่อเนื่องไม่ขาดสายจนมีกำลังละกิเลส (ภานากิจ) อันเรายังไม่ได้ภาวนา. 
  5. ความไม่เข้าใจอัทธาอดีตของปฏิจจสมุปบาทว่า ประกอบไปด้วยอวิชชา สังขาร แต่ละอย่างๆ มีลักษณะอย่างไร มีกิจอย่างไร.
  6. ความไม่เข้าใจอัทธาอนาคตของปฏิจจสมุปบาทว่า ประกอบไปด้วย ชาติ ชรามรณะ แต่ละอย่างๆ มีลักษณะอย่างไร มีกิจอย่างไร.
  7. ความไม่เข้าใจทั้งอัทธาอดีตและอัทธาอนาคตของปฏิจจสมุปบาทว่า มีผลและมีเหตุเป็นอัทธาปัจจุบัน คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ปัจจุบันนัทธาเหล่านี้ แต่ละอย่างๆ มีลักษณะอย่างไร มีกิจอย่างไร.
  8. ความไม่เข้าใจปฏิจจสมุปปาทธรรมว่า เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยให้ธรรมนี้จึงเกิดขึ้นได้ คือ ไม่เข้าใจว่า อวิชชาอย่างไรเป็นปัจจัยแก่สังขารอย่างไร อวิชชาอย่างไรและสังขารอย่างไร ที่เป็นอตีตัทธาอย่างไร จึงเป็นปัจจัยอย่างไร แก่ปัจจุบันนัทธาอย่างไร และอนาคตัทธาอย่างไร เป็นต้น. (คำว่า อย่างไร ในที่นี้ ไม่ได้พิมพ์เกิน มันต้องใช้คำอธิบายอย่างนี้จริงๆ).

มานะของพระโสดาบันเป็นอย่างไร? เรา กับ อัตตา ในคำว่า "นั่นเป็นเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา" ต่างกันตรงไหน?


มานะของพระโสดาบันเป็นอย่างไร? เรา กับ อัตตา ในคำว่า "นั่นเป็นเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา" ต่างกันตรงไหน?
คำว่า "นั่นเป็นเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา" ในอรรถกถาที่กล่าวถึงการปฏิบัติตั้งแต่ปุถุชนวิปัสสนา ไปจนถึงอรหัตตผล มักจะระบุว่า "นั่นเป็นเรา" = คิดด้วยมานะ "นั่นเป็นอัตตาของเรา"  = คิดด้วยทิฏฐิ.

(ที่แสดงแบบอื่นก็มี แต่น้อย และไม่ได้ใช้อธิบายในเรื่องวิปัสสนา)

ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า:

เรา (ในประโยคนั้น) คือ ขันธ์ มีอยู่จริง แต่มานะ ไปยกชูให้แตกต่างจากขันธ์อื่นๆ ราวกะว่า เป็นของเที่ยงกว่าขันธ์อื่นๆ ทั้งที่จริงๆแล้วก็ไม่เที่ยงเหมือนๆ กัน เกิดดับเหมือนๆ กัน เช่น พระโสดาบันคิดว่า "หลานของเราเป็นคนดี (กว่าของคนอื่น)" ท่านก็รู้ว่า ไม่มีอัตตาที่เป็นหลาน ท่านไม่ได้มีทิฏฐิคิดผิดว่า ขันธ์ที่เป็นหลายนั้นเที่ยง แต่ท่านยังเผลอสติคิดว่าขันธ์อันนั้นเที่ยง เพราะยังมีสัญญาวิปลาสว่าเที่ยง มีจิตตวิปลาสว่า เที่ยง อยู่.

ถ้าใครมาสอนพระโสดาบันว่า  "เด็กอายุ 20 เป็นคนแก่แล้ว" หรือ "อายุมากแล้ว" ท่านก็จะไม่ถกเถียง ไม่ดื้อดึงด้วยทิฏฐิเลย จะกล่าวสาธุการ เห็นดีเห็นงามด้วย,

แต่ถ้าคนที่มีสักกายะทิฏฐิ เวลามีคนไปพูดเช่นนี้ว่า "เด็กอายุ 20 เป็นคนแก่แล้ว" หรือ "อายุมากแล้ว" ก็จะรู้สึกแย้ง รู้สึกไม่เห็นด้วย รู้สึกขัดใจ (จะแสดงออกมาให้คนอื่นรู้หรือไม่ก็ตาม) เพราะขัดกับนิจจทิฏฐิวิปลาส สุขทิฏฐิวิปลาส สุภทิฏฐิวิปลาส อัตตทิฏฐิวิปลาส.

ส่วนอัตตา (ในประโยคนั้น) คือ ไม่ใช่ขันธ์ ไม่มีอยู่จริง เป็นอวิชชมานะ เป็นอัตถบัญญัติ เป็นสิ่งที่สักกายทิฏฐิคิดขึ้นมาเองให้รู้สึกราวกะว่ามีอยู่จริง ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่สักกายทิฏฐิไปเอาขันธ์นู้นมาผสมกับขันธ์นี้ แล้วก็คิดมั่วๆ ผิดความจริงจนเป็นอัตตาขึ้นมา เช่น ปุถุชนคิดว่า "เราเที่ยวเกิดวนไปเวียนมา" ไม่ได้รู้ว่า "เรา" ไม่มีอยู่จริง เป็นแค่ปัจจัยปัจจยุปบันอาศัยกันเกิดขึ้นเป็นวงล้อปฏิจจสมุปบาทเท่านั้นเอง.

แต่มานะที่เกิดตามหลังทิฏฐิ จะกลายเป็นอติมานะ ยกชูไม่ตรงกับสถานะที่เป็นจริง เช่น เราศีลแย่กว่าเขา ก็ไปคิดว่า เราศีลดีกว่าเขา เพราะไม่แยกแยะปฏิจจสมุปบาทว่า "ปุญญาภิสังขารกับอปุญญาภิสังขารให้ผลต่างกันอย่างไร" จึงคิดผิดว่า คนศีลแย่จะให้ผลดี (เลยสรุปไปเองตามอำเภอใจที่มีทิฏฐิมานะว่า คนศีลแย่คือคนศีลดี).

เรื่องนี้ ยากจริงๆ ผมค้นคว้ามา 10 กว่าปีแล้ว ก็ได้ข้อสรุปแค่นี้ ส่วนนึงเป็นเพราะภาษาไทยเก็บองค์ธรรมมาไม่หมดด้วย.


---------------บันทึกเบ็ดเตล็ด---------------------
#เขียนเอง
ปุถุชน มีอกุสลจิตตุปบาทเกิดได้ครบตามสมควร.
พระโสดาบัน สกทาคามี ไม่ทิฏฐิจิตตุปบาท และวิจิกิจฉาจิตตุปบาท.
พระอนาคามี ไม่มีโทสะจิตตุปบาท และกามราคจิตตุปบาท.
พระอรหันต์ ไม่มีอกุสลจิตตุปบาท.

ฉะนั้น มานะของปุถุชน จึงยกชูผิดได้ เพราะเกิดต่อจากทิฏฐิวิถีวาระที่มาก่อนๆ มานะวิถีวาระได้ เช่น "ผมของร่างกายที่เป็นเราในชาติหน้าจะต้องสวยแบบชาตินี้ด้วยบุญนั้นบุญนี้".
มานะของพระโสดาบัน สกทาคามี ยกชูไม่ผิด แต่ยังยกชูอาศัยกามได้ เช่น ผมเราสวย (กว่าผมที่ไม่สวยจริงๆ).
มานะของพระอนาคามี ยกชูไม่ผิด ไม่ยุ่งกับกาม เช่น กามไม่ดี เราไม่ยุ่ง เราหนีกามไปเกิดเป็นพรหมดีกว่า.

(อัฏฐสาลินี)
คำว่า มานะ หมายถึง ธรรมที่ให้ความสำคัญกะสัมปยุตตธรรมของตน.
ลักขณาทิจจตุกะของมานะ
มีการยกชูสัมปยุตธรรมขึ้นเป็นลักษณะ (อุนฺนติลกฺขโณ)
มีการยกย่องสัมปยุตธรรมเป็นรส (สมฺปคฺคหนรโส)
มีความปรารถนาดุจธงเป็นปัจจุปัฏฐาน (เกตุกมฺยตาปจฺจุปฏฺฐาโน)
มีโลภะ ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิเป็นปทัฏฐาน (ทิฏฐิวิปฺปยุตตฺตโลภปทฏฺฐาโน)
พึง ทราบว่า เหมือนคนบ้า.

มญฺญตีติ อภิมญฺญติ, อหํการํ กโรตีติ อตฺโถฯ เสยฺยาทิวเสน อุจฺจโต นมนํ อุณฺณติฯ สมฺปคฺคหรโสติ อุณฺณติวเสเนว อตฺตโน, สมฺปยุตฺตธมฺมานํ วา สมฺปคฺคณฺหนกิจฺโจ, น วีริยํ วิย ตํตํกิจฺจสาธเนนฯ อพฺภุสฺสหนวเสน หีนสฺส อตฺตานํ นีจํ กตฺวา คหณมฺปิ ปคฺคณฺหนวเสเนวาติ เวทิตพฺพํฯ เกตุ…เป.… ปจฺจุปฏฺฐาโนติ เอตฺถ เกตุ วุจฺจติ อจฺจุคฺคตธโช, อิธ ปน เกตุ วิยาติ เกตุ, อุฬารตมาทิภาโว, ตํ เกตุภาวสงฺขาตํ เกตุํ กมฺยตีติ เกตุกมฺยํ, ยสฺส ธมฺมสฺส วเสน ตํ เกตุกมฺยํ, โส เกตุกมฺยตาฯ ‘‘อห’’นฺติ ปวตฺตนโต มานสฺส ทิฏฺฐิสทิสี ปวตฺตตีติ ทิฏฺฐิมานา เอกจิตฺตุปฺปาเท น ปวตฺตนฺติ, ทฺเว เกสรสีหา วิย เอกคุหายํ, ตสฺมา มาโน ทิฏฺฐิวิปฺปยุตฺตจิตฺเต สพฺพทา อนุปฺปชฺชมาโนปิ ทิฏฺฐิสมฺปยุตฺตจิตฺเต นิยเมน อนุปฺปชฺชนโต ทิฏฺฐิวิปฺปยุตฺตโลภปทฏฺฐาโนฯ
อภิธมฺมาวตาร-ปุราณฎีกา,ฏีกา ข้อ 82

'มานะว่า "เป็นเรา" มีเหตุมาจากความคิดว่าขันธ์ทั้งหลายเที่ยงยั่งยืน, และมานะก็เป็นปฏิปักข์ต่อศรัทธาด้วย ข้าพเจ้าจึงกล่าวในปรมัตถทีปนีสังคหมหาฏีกาว่า "ด้วยอำนาจการเห็นว่าเที่ยง" เป็นต้น-อุนฺนติลกฺขโณ จ อหํ มาโน ขนฺเธสุ นิจฺจธุววิปลฺลาสมูลโก สทฺธาย จ ปฏิปกฺโขติ อาห ‘‘อนิจฺจทสฺสนวเสนา’’ติอาทิํฯ' (กมฺมฏฺฐานสงฺคหอนุทีปนา, แลดี สยาดอ)

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การพิจารณาเห็นกายในกาย ตามพระอรรถกถาจารย์ (ตรวจทานแล้ว 1 รอบ)

บาลี:

ในธรรมวินัยนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ หมั่นพิจารณากายในกายดำรงอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.

อรรถกถา:

               คำว่า ในธรรมวินัยนี้ คือ ในคำสอนนี้. 
               คำว่า ภิกฺขเว นั้น เป็นคำทักเรียกบุคคลที่รับฟังธรรม. 
               คำว่า ภิกษุนั้น เป็นคำแสดงถึงบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยข้อปฏิบัติ. เทวดาและมนุษย์แม้เหล่าอื่น ที่ปฏิบัติธรรมก็มีเหมือนกัน. แต่ที่ตรัสว่า ภิกษุ 1.เพราะปฏิบัติได้ดีที่สุด และ 2.เพราะทรงแสดงความเป็นภิกษุตามการปฏิบัติ (ไม่ใช่ตามการบวช). 
               เป็นความจริง ในบุคคลทั้งหลายผู้รับคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุเป็นผู้ทำได้ดีที่สุด เพราะเป็นประหนึ่งภาชนะรองรับคำสั่งสอนมีประการต่างๆ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ภิกษุ เพราะปฏิบัติได้ดีที่สุด. แต่เมื่อทรงถือเอาภิกษุแล้วคนทั้งหลายที่เหลือก็เป็นอันทรงถือเอาด้วย เหมือนอย่างในการเสด็จพระราชดำเนิน เป็นต้น เหล่าราชบริพารนอกนั้น ก็เป็นอันท่านรวมไว้ด้วยศัพท์ว่าราช. 
ผู้ใดปฏิบัติข้อปฏิบัตินี้ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าภิกษุ. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ภิกษุ เพราะทรงแสดงความเป็นภิกษุตามการปฏิบัติ. 
              ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจะเป็นเทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม ย่อมนับได้ว่า เป็นภิกษุทั้งนั้น. 

               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ (ในธรรมบท ขุททกนิกาย) ว่า

                         อลงฺกโตฺ เจปิ สมํ จเรยฺย

                         สนฺโต ทนฺโต นิยโต พฺรหฺมจารี

                         สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ

                         โส พฺราหฺมโณ โส สมโณ ส ภิกฺขุ

                                   หากว่า บุคคลมีธรรมประดับแล้ว เป็น
                         ผู้สงบแล้ว ฝึกแล้ว เป็นคนแน่ เป็นพรหมจารี
                         เลิกอาชญากรรมในสัตว์ทั้งปวง พึงประพฤติ
                         สม่ำเสมออยู่ไซร้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าพราหมณ์ ผู้นั้น
                         ก็ชื่อว่าสมณะ ผู้นั้นก็ชื่อว่าภิกษุ ดังนี้. 

อุทเทสกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนัย 1

อธิบาย "กาเย"



               คำว่า ในกาย (กาเย) คือ ในรูปกาย. 

อธิบายว่า


  1. รูปกายในที่นั้นท่านประสงค์เอาว่า กาย เพราะอรรถว่าเป็นที่รวมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ และธรรมทั้งหลายมีผมเป็นต้น เหมือนตัวของช้างตัวของรถเป็นต้น. 
  2. ที่ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นที่รวมฉันใด ที่ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นแหล่งที่มาของสิ่งที่น่ารังเกียจฉันนั้น.  
    • เป็นความจริงที่กายนั้นเป็นแหล่งที่มาของสิ่งน่ารังเกียจ คือน่าเกียจอย่างยิ่ง แม้เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่ากาย. 
      • คำว่า เป็นแหล่งที่มา คือเป็นถิ่นเกิด ใจความของคำในคำว่า เป็นแหล่งที่มานั้น มีดังนี้ ธรรมชาติทั้งหลายมาแต่กายนั้น เหตุนั้น กายนั้นจึงชื่อว่าเป็นแหล่งที่มา. อะไรมา? สิ่งอันน่าเกลียดทั้งหลายมีผมเป็นต้นย่อมมา. ชื่อว่า อายะ เพราะเป็นแหล่งมาแห่งสิ่งน่าเกลียดทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้. 

อธิบาย "กายานุปสฺสี"


  • คำว่า หมั่นพิจารณากาย หมายความว่า มีปกติหมั่นพิจารณาในกาย หรือ กำลังหมั่นพิจารณากายอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้จะตรัสว่า ในกายแล้ว บัณฑิตพึงทราบว่าทรงกระทำโดยไม่ปนกันระหว่างศัพท์ว่า กาย เป็นครั้งที่สองอีกครั้งว่า "หมั่นพิจารณากาย"  ก็เพื่อให้ง่ายต่อการแสดง การตั้งชื่อแยกสติปัฏฐานออกจากกัน และ การทำฆนวินิพโภคะ เป็นต้น. 
    1. การตั้งชื่อแยกสติปัฏฐานออกจากกัน อธิบายว่า ภิกษุไม่ได้หมั่นพิจารณาเวทนาในกาย  ไม่ได้หมั่นพิจารณาจิตในกาย และไม่ได้หมั่นพิจารณาธรรมในกายด้วย, แต่หมั่นพิจารณากายในกายต่างหาก, เพราะฉะนั้น การตั้งชื่อแยกสติปัฏฐานออกจากกันจึงถูกแสดงไว้ด้วยการแสดงอาการที่หมั่นพิจารณากายในวัตถุที่นับว่ากาย. 
    2. การทำฆนวินิพโภคะ อธิบายว่า การหมั่นพิจารณากายนั้น มิใช่หมั่นพิจารณาธรรมอย่างหนึ่ง ที่พ้นจากอวัยวะน้อยใหญ่ในกาย ทั้งมิใช่หมั่นพิจารณาเป็นหญิงหรือเป็นชาย ที่พ้นจากผมขนเป็นต้น. 
        • อธิบายว่า การหมั่นพิจารณากายนั้น หมายถึง กายที่นับว่าเป็นที่รวมของภูตรูปและอุปาทายรูป มีผมขนเป็นต้น มิใช่หมั่นพิจารณาธรรมอย่างหนึ่งที่พ้นจากภูตรูปและอุปาทายรูป 
          • ที่แท้หมั่นพิจารณากายเป็นที่รวมอวัยวะน้อยใหญ่ในกายแม้อันนั้น เหมือนหมั่นตรวจดูส่วนประกอบของรถฉะนั้น 
          • หมั่นพิจารณากายเป็นที่รวมของผมขนเป็นต้น เหมือนหมั่นตรวจดูส่วนน้อยใหญ่ของพระนคร 
          • หมั่นพิจารณากายเป็นที่รวมของภูตรูปและอุปาทายรูป เหมือนแยกใบและก้านของต้นกล้วย และเหมือนแบกำมือที่วางเปล่าฉะนั้น 
        • เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันทรงแสดงการทำฆนวินิพโภคะ ด้วยทรงแสดงวัตถุที่นับได้ว่ากาย โดยเป็นที่รวมโดยประการต่างๆ นั่นแล้ว.  
        • อธิบายอีกว่า กายหรือชายหญิง หรือธรรมไรๆ อื่นที่พ้นจากกายอันเป็นที่รวมดังกล่าวแล้ว หาปรากฏในกายนั้นไม่ แต่สัตว์ทั้งหลายก็ยึดมันผิดๆ โดยประการนั้นๆ ในกายที่สักว่า เป็นที่รวมแห่งธรรมดังกล่าวแล้ว อยู่นั่นเอง. เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
          "ยํ ปสฺสติ น ตํ ทิฎฺฐํ    ยํ ทิฎฺฐํ ตํ น ปสฺสติ
          อปสฺสํ พชฺฌเต มูฬฺโห    พชฺฌมาโน น มุจฺจติ
          บุคคลเห็นสิ่งใด สิ่งนั้นก็ไม่ได้เห็น
          สิ่งใดเห็นแล้วก็ไม่เห็นสิ่งนั้น เมื่อไม่เห็น
          ก็หลงติด เมื่อติดก็ไม่หลุดพ้น" ดังนี้.
          ท่านกล่าวคำนี้ ก็เพื่อแสดงการแยกออกจากก้อนเป็นต้น. 
      • ด้วยศัพท์ว่า เป็นต้น (ในคำว่า การตั้งชื่อแยกสติปัฏฐานออกจากกัน และ การทำฆนวินิพโภคะ เป็นต้น) คำนี้บัณฑิตพึงทราบความดังนี้. 
    3. ก็ภิกษุนี้หมั่นพิจารณากายในกายนี้เท่านั้น ท่านอธิบายว่า มิใช่หมั่นพิจารณาธรรมอย่างอื่น. คนทั้งหลายแลเห็นน้ำในพยับแดด แม้ที่ไม่มีน้ำฉันใด ภิกษุไม่ได้เป็นอย่างนั้น คือไม่ได้หมั่นพิจารณา "กายที่ไม่เที่ยง ที่เป็นทุกข์ ที่ไม่ใช่ตัวตน ที่ไม่สวยงาม" ว่า "เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนและสวยงาม". ที่แท้ หมั่นพิจารณากาย ท่านอธิบายว่า หมั่นพิจารณากายเป็นที่รวมของอาการ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตนและไม่สวยงามต่างหาก. 
    4. อีกอย่างหนึ่ง ก็กายอันนี้ใด ที่ท่านกล่าวไว้ข้างหน้าว่า มีลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นต้น มีกระดูกที่ป่นเป็นที่สุด ตามนัยพระบาลีเป็นต้นว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปป่าก็ดี ฯลฯ เธอมีสติหายใจเข้า ดังนี้ 
    5. และกายอันใดที่ท่านกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรค (ขุททกนิกาย) ว่า "ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ หมั่นพิจารณากายคือดิน กายคือน้ำ กายคือไฟ กายคือลม กายคือผม กายคือขน กายคือผิวหนัง กายคือหนัง กายคือเนื้อ กายคือเลือด กายคือเอ็น กายคือกระดูก กายคือเยื่อในกระดูก โดยความเป็นของไม่เที่ยง" ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบเนื้อความของกายนั้นทั้งหมด แม้อย่างนี้ว่า ภิกษุหมั่นพิจารณากายในกาย โดยหมั่นพิจารณาในกายอันนี้เท่านั้น. 
    6. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความอย่างนี้ว่า หมั่นพิจารณากาย ที่นับว่าเป็นที่รวมแห่งธรรมมีผมเป็นต้นในกาย โดยไม่หมั่นพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่พึงถือว่าเป็นเรา เป็นของเราในกาย แต่หมั่นพิจารณากายนั้นๆ เท่านั้นเป็นที่รวมแห่งธรรมต่างๆ มีผมขนเป็นต้น.
    7. อนึ่ง พึงทราบความอย่างนี้ว่า หมั่นพิจารณากายในกาย แม้โดยหมั่นพิจารณากายที่นับว่าเป็นที่รวมแห่งอาการมีลักษณะไม่เที่ยงเป็นต้น ทั้งหมดทีเดียว ซึ่งมีนัยที่มาในปฏิสัมภิทามรรค ตามลำดับบาลี เป็นต้นว่า หมั่นพิจารณาในกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่โดยเป็นของเที่ยงดังนี้. 
      • จริงอย่างนั้น ภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทา คือหมั่นพิจารณากายในกายรูปนี้ ย่อมหมั่นพิจารณากายอันนี้โดยเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่เห็นโดยเป็นของเที่ยง หมั่นพิจารณาโดยเป็นทุกข์ ไม่ใช่เห็นโดยเป็นสุข หมั่นพิจารณาโดยมิใช่ตัวตน ไม่ใช่เห็นเป็นตัวตน ด้วยอำนาจอนุปัสสนา (การหมั่นพิจารณา) ๗ ประการ มีหมั่นพิจารณาความไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมเบื่อหน่าย มิใช่ยินดี ย่อมคลายกำหนัด มิใช่กำหนัด ย่อมดับทุกข์ มิใช่ก่อทุกข์ ย่อมสละ มิใช่ยึดถือ.  ภิกษุนั้น เมื่อหมั่นพิจารณากายอันนี้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาความสำคัญว่าเที่ยงเสียได้. เมื่อหมั่นพิจารณาโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละทุกขสัญญาความสำคัญว่าเป็นสุขเสียได้. เมื่อหมั่นพิจารณาโดยความเป็นของไม่ใช่ตัวตน ย่อมละอัตตสัญญาความสำคัญว่าเป็นตัวตนเสียได้. เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละความยินดีเสียได้. เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละความกำหนัดเสียได้. เมื่อดับทุกข์ ย่อมละเหตุเกิดทุกข์เสียได้. เมื่อสละย่อมละความยึดถือเสียได้ ดังนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้. 
               คำว่า อยู่ คือ ใช้ชีวิตอยู่. 

อธิบาย "อาตาปี สมฺปชาโน สติมา"


  1. คำว่า มีเพียร มีอรรถว่า สภาพใดย่อมแผดเผากิเลสทั้งหลายในภพทั้ง ๓ เหตุนั้น สภาพนั้นชื่อว่าอาตาปะแผดเผากิเลส คำนี้เป็นชื่อของความเพียร. ความเพียรของผู้นั้นมีอยู่ เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า อาตาปีมีความเพียร. คำว่า มีสัมปชัญญะ คือ ผู้ประกอบด้วยความรู้ที่นับว่า สัมปชัญญะ. คำว่า มีสติ คือ ประกอบด้วยสติกำกับกาย. ก็ภิกษุรูปนี้กำหนดอารมณ์ด้วยสติ หมั่นพิจารณาด้วยปัญญา ธรรมดาว่าปัญญาหมั่นพิจารณาของผู้เว้นจากสติ ย่อมมีไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าสติแล จำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะฉะนั้น ในที่นี่จึงตรัสว่า ย่อมหมั่นพิจารณากายในกายอยู่ ดังนี้. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นอันทรงอธิบายด้วยประการฉะนี้. 
  2. อีกอย่างหนึ่ง ความท้อแท้ภายใน ย่อมทำอันตรายแก่ผู้ไม่มีความเพียร ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ ย่อมหลงลืมในการกำหนดอุบายในการงดเว้นสิ่งที่มิใช่อุบาย ผู้มีสติหลงลืมแล้ว ย่อมไม่สามารถในการกำหนดอุบายและในการสละสิ่งที่ไม่ใช่อุบาย ด้วยเหตุนั้น กัมมัฏฐานนั้นของภิกษุนั้นย่อมไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น กัมมัฏฐานนั้นย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพแห่งธรรมเหล่าใด เพื่อทรงแสดงธรรมเหล่านั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ. ทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และองค์แห่งสัมปโยคะ 

อธิบาย "วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา โทมนสฺสํ"

               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงองค์แห่งการละ จึงตรัสว่า นำออกเสีย ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก. 
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า นำออกเสีย หมายความว่า นำออกเสีย ด้วยการนำออกชั่วขณะหรือด้วยการนำออกด้วยการข่มไว้. 
               คำว่า ในโลก ก็คือในกายอันนั้นแหละ. 
               จริงอยู่ กายในที่นี้ทรงหมายถึงโลก เพราะอรรถว่าชำรุดทรุดโทรม. อภิชฌาและโทมนัส มิใช่พระโยคาวจรนั้นละได้ในอารมณ์เพียงกายเท่านั้น แม้ในเวทนาเป็นต้น ก็ละได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในวิภังค์ (สติปัฏฐานวิภังค์) ว่า 
               (โลกเป็นอย่างไร? โลกก็คือกายอันนั้นแหละ,) อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่าโลก. 

  1. คำว่า "อุปาทานขันธ์ 5 ก็ชื่อว่าโลก" นั้น ท่านกล่าวขยายความต่ออกมา เพราะธรรมเหล่านั้น(อุปาทานขันธ์ 4 เว้นกาย) นับได้ว่าเป็นโลก. แต่คำว่า "โลกเป็นอย่างไร โลกก็คือกายอันนั้นแหละ"  เท่านั้นที่หมายเอาในอุทเทสว่า "กาเย กายานุปัสสี"เป็นต้น นี้. พึงเห็นการเชื่อมความดังนี้ว่า "นำออกเสียซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลกนั้น" (ตสฺมิํ โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ วิเนยฺย). 
  2. และเพราะเหตุที่ในที่นี้ กามฉันท์รวมเข้ากับศัพท์ว่า อภิชฌา พยาบาทรวมเข้ากับศัพท์ว่าโทมนัส ฉะนั้น จึงควรทราบว่า ทรงอธิบายการละนิวรณ์ด้วยการทรงแสดงธรรมอันเป็นคู่ที่มีกำลังนับเนื่องในนิวรณ์. 
  3. แต่โดยพิเศษ ในที่นี้ ตรัสการละความยินดีที่มีมูลจากกายสมบัติ(รูปสวย แรงดี วัยรุ่น ไม่มีโรค เป็นต้น)ด้วยการกำจัดอภิชฌา ตรัสการละความยินร้ายที่มีมูลจากกายวิบัติ ด้วยการกำจัดโทมนัส. 
  4. ตรัสการละความยินดียิ่งในกาย ด้วยการกำจัดอภิชฌา ตรัสการละความไม่ยินดียิ่งในการเจริญกายานุปัสสนา ด้วยการกำจัดโทมนัส. 
  5. ตรัสละการเข้าหาภาวะงาม ภาวะสุข เป็นต้น ที่ไม่มีจริงในกาย ด้วยการกำจัดอภิชฌา และตรัสการละการหลีกออกจากภาวะที่ไม่งาม เป็นทุกข์เป็นต้น ที่มีอยู่จริงในกาย ด้วยการกำจัดโทมนัส. 
               ด้วยพระดำรัสนั้น เป็นอันทรงแสดงการทำให้เกิดความเพียรอย่างต่อเนื่อง และความเป็นผู้สามารถในการประกอบความเพียรของพระโยคาวจร. 
  • อธิบายว่า พระโยคาวจรที่ทำให้เกิดความเพียรอย่างต่อเนื่องนั้น จะเป็นผู้หลุดพ้นจากความยินดียินร้าย ครอบงำความไม่ยินดีและความยินดี และเว้นจากการเข้าหาภาวะ(งามเป็นต้น)ที่ไม่มีจริง และเว้นจากการหลีกออกจากภาวะ(ไม่งามเป็นต้น)ที่มีจริง. ก็พระโยคาวจรนั้นเป็นผู้หลุดพ้นจากความยินดียินร้าย เป็นผู้ครอบงำความไม่ยินดี และความยินดี ไม่เข้าหาภาวะ(งามฯลฯ)ที่ไม่มีจริง ไม่หลีกออกจากภาวะ(ไม่งามฯลฯ)ที่มีจริง จึงจะชื่อว่าเป็นผู้สามารถในการประกอบความเพียรด้วยประการอย่างนี้. 

อุทเทสกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนัย 2


  • อีกนัยหนึ่ง ตรัสกัมมัฏฐานด้วยการอนุปัสสนา ในคำว่า "กาเย กายานุปสฺสี-หมั่นพิจารณากายในกาย". 
  • ตรัสการบริหารกายของพระโยคาวจร ด้วยวิหารธรรม ด้วยคำว่า "วิหรติ-อยู่". 
ก็ในคำเป็นต้นว่า อาตาปี-มีความเพียร(สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ) พึงทราบว่า 

  • ตรัสความเพียรชอบด้วย "อาตาปะ-ความเพียรเครื่องเผากิเลส" 
  • ตรัสสัพพัตถกกัมมัฏฐาน หรือ อุบายเครื่องบริหารกัมมัฏฐานด้วย "สติสัมปชัญญะ", หรือตรัสสมถะที่ได้มาด้วยอำนาจกายานุปัสสนาด้วย "สติ", ตรัสวิปัสสนาด้วย "สัมปชัญญะ
  • ตรัสผลแห่งภาวนาด้วย "การกำจัดซึ่งอภิชฌาและโทมนัส" ฉะนี้.
จาก: http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10.0&i=273&p=1
(แก้ไขบางส่วน ให้ถูกต้อง และอ่านง่ายขึ้น)