วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สติปัฏฐานทำอย่างไร-04: สติปัฏฐาน คือ อากาสานัญจายตนสมาบัติ วิญญาณัญจายตนสมาบัติ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ฯลฯ

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ ๒๓
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
หน้าที่ ๕๑๓ ข้อที่ ๓๗
-----------------------------------------------
๖. อานันทสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์
[๒๔๑,๓๗]    สมัยหนึ่ง    ท่านพระอานนท์อยู่    ณ    โฆสิตาราม    เขตกรุงโกสัมพี    ณที่นั้นแล    ท่านพระอานนท์เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า    “ผู้มีอายุทั้งหลาย    ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว    ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวดังนี้ว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย    น่าอัศจรรย์จริง    ไม่เคยปรากฏ    พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น    เป็นพระอรหันต์    ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ    ได้ตรัสรู้วิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ(๑)    เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย    เพื่อก้าวล่วงโสกะ(ความเศร้าโศก)    และปริเทวะ(ความร่ำไร)    เพื่อดับทุกข์(ความทุกข์กาย)    โทมนัส(ความทุกข์ใจ)    เพื่อบรรลุญายธรรม(๒)    เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
คือ    จักษุ    (ตา)    ชื่อว่าจักเป็นจักษุนั้นนั่นเอง    คือ    รูปเหล่านั้นก็จักไม่รับรู้อายตนะนั้น    และอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้รูปเหล่านั้น
โสตะ    (หู)    ชื่อว่าจักเป็นโสตะนั้นนั่นเอง    คือ    เสียงเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้นและอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้เสียงเหล่านั้น
ฆานะ    (จมูก)    ชื่อว่าจักเป็นฆานะนั้นนั่นเอง    คือ    กลิ่นเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้นและอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้กลิ่นเหล่านั้น
ชิวหา    (ลิ้น)    ชื่อว่าจักเป็นชิวหานั้นนั่นเอง    คือ    รสเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้นและอายตนะนั้นก็จักไม่รับรสเหล่านั้น
กาย    ชื่อว่าจักเป็นกายนั้นนั่นเอง    คือ    โผฏฐัพพะเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้นและอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้โผฏฐัพพะเหล่านั้น”
เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว    ท่านพระอุทายี(๓)ได้ถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า    “ท่านอานนท์    คนผู้มีสัญญาเท่านั้น    หรือว่าคนไม่มีสัญญา    ไม่รับรู้อายตนะนั้น”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า    “ผู้มีอายุ    คนมีสัญญานั้นก็ไม่รับรู้อายตนะได้    หรือคนไม่มีสัญญาก็ไม่รับรู้อายตนะนั้นได้”
ท่านพระอุทายีถามว่า    “ผู้มีอายุ    คนผู้มีสัญญาอย่างไร    จึงไม่รับรู้อายตนะนั้น”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า    “ผู้มีอายุ    ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า    ‘อากาศหาที่สุดมิได้’    อยู่    เพราะล่วงรูปสัญญา    ดับปฏิฆสัญญาไม่กำหนดนานัตตสัญญา    ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้แล    ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น
ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง    บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน    โดยกำหนดว่า    ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’    อยู่    ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้แล    ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น
ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง    บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า    ‘ไม่มีอะไร’    อยู่    ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้แล    ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น
ผู้มีอายุ    ครั้งหนึ่ง    ผมพักอยู่    ณ    อัญชนมิคทายวัน    เมืองสาเกต    ครั้งนั้นแลภิกษุณีชื่อชฏิลภาคิกาเข้าไปหาผมจนถึงที่อยู่    ไหว้แล้วยืนอยู่    ณ    ที่สมควร    ครั้นแล้วได้กล่าวกับผมดังนี้ว่า    ‘ท่านอานนท์ผู้เจริญ    สมาธิใดอันกิเลสน้อมไปไม่ได้(๔)    นำไปไม่ได้(๕)    ไม่มีการข่มห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง    ชื่อว่าตั้งมั่นแล้วเพราะหลุดพ้น    ชื่อว่ายินดีเพราะตั้งมั่น    ชื่อว่าไม่สะดุ้งเพราะยินดี    สมาธินี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า    มีอะไรเป็นผล’    เมื่อชฏิลภาคิกาภิกษุณีกล่าวอย่างนี้แล้ว    ผมได้กล่าวกับภิกษุณีนั้นว่า    ‘น้องหญิง    สมาธิใดอันกิเลสน้อมไปไม่ได้    นำไปไม่ได้    ไม่มีการข่มห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง    ชื่อว่าตั้งมั่นแล้วเพราะหลุดพ้น    ชื่อว่ายินดีเพราะตั้งมั่น    ชื่อว่าไม่สะดุ้งเพราะยินดี    สมาธินี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า    มีอรหัตเป็นผล’    ผู้มีอายุ    ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้    ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น”
อานันทสูตรที่ ๖ จบ


   ..............................
๑ วิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ  มีความหมายดังนี้  คำว่า  ที่คับแคบ  มีความหมาย  ๒  นัย  คือ  นัยที่  ๑   หมายถึงที่คับแคบสำหรับปุถุชนผู้ครองเรือน  ได้แก่  กามคุณ  ๕  นัยที่  ๒  หมายถึงที่คับแคบสำหรับผู้  บำเพ็ญฌาน  ได้แก่  นิวรณ์  ๕  เป็นต้น  คำว่า  วิธีบรรลุช่องว่าง  หมายถึงภาวะที่ปลอดจากกิเลสต่าง ๆ   ได้แก่  รูปฌาน  ๔  อรูปฌาน  ๔  สัญญาเวทยิตนิโรธ  ๑  และอรหัตตมรรค  แต่ละภาวะก็ปลอดจากกิเลสต่างกัน   เช่น  ปฐมฌานปลอดจากนิวรณ์  ๕  จตุตถฌานปลอดจากสุขและทุกข์  ดู  ที.ม.  ๑๐/๒๘๘/๑๘๓,  ที.ม.อ.   ๒/๒๘๘/๒๕๕,  องฺ.นวก.ฏีกา  ๓/๓๗/๓๖๙  ประกอบ
๒ ญายธรรม  หมายถึงอริยมัคคธรรม  (สํ.ม.  ๑๙/๒๔/๑๕,  สํ.ม.อ.  ๓/๒๑-๓๐/๑๙๕)
๓ พระอุทายี  ในที่นี้คือพระกาฬุทายีเถระ  (องฺ.นวก.อ.  ๓/๓๗/๓๑๑)
๔ น้อมไปไม่ได้  ในที่นี้หมายถึงไม่น้อมไปตามอำนาจราคะ  (องฺ.นวก.อ.  ๓/๓๗/๓๑๑)
๕ นำไปไม่ได้  ในที่นี้หมายถึงไม่ถูกชักนำไปตามอำนาจโทสะ  (องฺ.นวก.อ.  ๓/๓๗/๓๑๑)        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.