วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สติปัฏฐานทำอย่างไร-02: สมาทานศีลและเข้าฌานก็เป็นสติปัฏฐานด้วย

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ ๒๐
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
หน้าที่ ๒๙๗ ข้อที่ ๗๕
-----------------------------------------------
๔. นิคัณฐสูตร
ว่าด้วยนิครนถนาฏบุตร
[๕๑๔,๗๕]  สมัยหนึ่ง  ท่านพระอานนท์อยู่ที่กูฏาคารศาลา  ป่ามหาวัน  เขตกรุงเวสาลี  สมัยนั้น  เจ้าอภัยลิจฉวีและเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวีพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่  ไหว้แล้วนั่ง  ณ  ที่สมควร  เจ้าอภัยลิจฉวีผู้นั่ง  ณ  ที่สมควร  ได้เรียนถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  นิครนถนาฏบุตรเป็นสัพพัญญู(ผู้รู้ทุกสิ่ง)  มองเห็นทุกอย่างปฏิญญาญาณทัสสนะโดยไม่เหลือว่า  ‘เมื่อเราเดิน  ยืน  หลับ  และตื่น  ญาณทัสสนะ(๑)ก็ปรากฏเป็นนิตย์’  เขาบัญญัติว่ากรรมเก่าสิ้นสุดเพราะตบะ(การบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก)  บัญญัติการกำจัดเหตุได้เพราะไม่ทำกรรมใหม่  ด้วยเหตุนี้  เพราะกรรมสิ้นไปทุกข์จึงสิ้นไป  เพราะทุกข์สิ้นไป  เวทนาจึงสิ้นไป  เพราะเวทนาสิ้นไป  ทุกข์ทั้งสิ้นจึงจักเป็นอันสลายไป  การล่วงพ้นทุกข์ทั้งสิ้นย่อมมีได้ด้วยความบริสุทธิ์ที่ทำให้กิเลสสิ้นไปซึ่งประจักษ์ชัดด้วยตนเองนี้  ด้วยประการฉะนี้  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไร”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า  “ท่านอภัย  ความบริสุทธิ์ที่ทำให้กิเลสสิ้นไป  ๓  ประการนี้อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น  เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ  ตรัสไว้ชอบแล้ว  เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย  เพื่อล่วงพ้นความโศก  ความร่ำไร  เพื่อความสิ้นทุกข์และโทมนัส  เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้  เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
ความบริสุทธิ์  ๓  ประการ  อะไรบ้าง  คือ
๑.  ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีศีล  สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์    เพียบพร้อมด้วยอาจาระ (มารยาท)และโคจร(การเที่ยวไป)    มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย    สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย    แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล    สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์    เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร    มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย    สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย  เธอไม่ทำกรรมใหม่  และรับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า  “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง  ทำให้กิเลสสิ้น  ไป  ไม่ประกอบด้วยกาล  ควรเรียกให้มาดู  ควรน้อมเข้ามาในตน  อัน  วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
๒.  ภิกษุนั้นเพียบพร้อมด้วยศีล  สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขเกิดจากวิเวกอยู่, เพราะวิตกและวิจารสงบระงับ บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง ผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่, เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะ สรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’, เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาอยู่  เธอไม่ทำกรรมใหม่  และ  รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า  “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้  ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง  ทำให้กิเลสสิ้นไป  ไม่ประกอบด้วยกาล  ควรเรียกให้มาดู  ควรน้อมเข้ามาในตน  อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
๓.  ภิกษุนั้นเพียบพร้อมด้วยศีลอย่างนี้  เพียบพร้อมด้วยสมาธิอย่างนี้  ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติที่ไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป  ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน  เธอไม่ทำกรรมใหม่และรับผล  กรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า  “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะ  พึงเห็นชัดด้วยตนเอง  ทำให้กิเลสสิ้นไป  ไม่ประกอบด้วยกาล  ควรเรียก  ให้มาดู  ควรน้อมเข้ามาในตน  อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
ความบริสุทธิ์ที่ทำให้กิเลสสิ้นไป  ๓  ประการนี้แลอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น  เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ  ได้ตรัสไว้ชอบแล้วเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย  เพื่อล่วงพ้นความโศก  ความร่ำไร  เพื่อความสิ้นทุกข์และโทมนัส  เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้  เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว  เจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวีได้กล่าวกับเจ้าอภัยดังนี้ว่า  “อภัยเพื่อนรัก  ทำไมท่านจึงไม่ชื่นชมคำที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ดีโดยความเป็นคำสุภาษิตเล่า”
เจ้าอภัยตอบว่า  “บัณฑิตกุมารเพื่อนรัก  ไฉนเราจักไม่ชื่นชมคำที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ดีโดยความเป็นคำสุภาษิตเล่า  ความคิดของผู้ที่ไม่ชื่นชมคำที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ดีโดยความเป็นคำสุภาษิต  พึงเสื่อมแน่นอน”
นิคัณฐสูตรที่ ๔ จบ
..............................
(๑) ญาณทัสสนะ  ในที่นี้หมายถึงพระสัพพัญญุตญาณ  (องฺ.ติก.อ.  ๒/๗๕/๒๒๖)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รับตอบปัญหาธรรมะ ตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา
ท่านสอบถาม/แสดงความคิดเห็น/บอกข้อบกพร่องของบทความได้ที่ facebook: ตอบปัญหาธรรมะลึกซึ้ง หรือ ช่องตอบกลับข้างล่างนี้.