วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

สํ.นิ. อุปายสูตร แปลอธิบายใหม่

มัชฌิมปัณณาสก์
อุปายวรรคที่ ๑
๑. อุปายสูตร (ตัวหน้าบรรทัดบนถูกขยายเป็นตัวหนาบรรทัดล่าง, ตัวเอียงก็นัยนี้, ในวงเล็บ คือ เอาสูตรนี้มาสัมพันธ์กันเอง)
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นความหลุดพ้นและไม่หลุดพ้น
[๑๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า...
[อุทเทส-หัวข้อ]
ดูกรภิกษุทั้งหลาย 1. ความเข้าถึงเป็นความไม่หลุดพ้น 2.ความไม่เข้าถึงเป็นความหลุดพ้น.
[นิทเทส-ขยายหัวข้อ]
1.ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อวิญญาณที่เข้าถึงรูปตั้งอยู่ มีรูปเป็นอารมณ์ตั้งอยู่ มีรูปเป็นที่ตั้ง ตั้งอยู่ มีความยินดี(ความกำหนัด)เป็นที่เข้าไปซ่องเสพตั้งอยู่ ก็พึงตั้งอยู่ได้ พึงถึง(การมา การไป จุติ อุปบัติ และ)ความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ ฯลฯ เมื่อวิญญาณที่เข้าถึงสังขารตั้งอยู่ มีสังขารเป็นอารมณ์ตั้งอยู่ มีสังขารเป็นที่ตั้งตั้งอยู่ มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพตั้งอยู่ ก็พึงตั้งอยู่ได้ พึงถึง(การมา การไป จุติ อุปบัติ และ)ความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้.
(อนุสนธิเชื่อมระหว่างข้อ 1 กับ 2 เพื่อขึ้นข้อ 2 ในย่อหน้าถัดไป)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เราจักบัญญัติการมา การไป จุติ อุปบัติหรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร(ที่แสดงว่าเป็นอารมณ์ไว้ในย่อหน้าก่อน)” ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ (เพราะ “เมื่อวิญญาณที่เข้าถึงรูปตั้งอยู่ มีรูปเป็นอารมณ์ตั้งอยู่ มีรูปเป็นที่ตั้ง ตั้งอยู่ มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพตั้งอยู่ ก็พึงตั้งอยู่ได้ พึงถึง(การมา การไป จุติ อุปบัติ และ)ความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ ฯลฯ”). 
2.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัด(ความยินดี)ในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี (เพราะ ‘เมื่อวิญญาณที่มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ[รูปเป็นต้นที่เป็นอารมณ์]ตั้งอยู่ วิญญาณนั้นก็พึงตั้งอยู่ได้’). วิญญาณอันไม่มีที่ตั้ง ไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น ภิกษุนั้น ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

การชอบพูดไม่ตรงตามตำราดั้งเดิม ทำให้ศาสนาเสื่อม

สมัยพระเจ้าอโศกมีศาสนาพุทธเถรวาทนิกาย 18 นิกาย ที่พยายามตีความคำบาลีเอาเองตามใจเจ้าลัทธิ. นั่นทำให้มรรคผลเสื่อมจากนิกายเหล่านั้นทั้งหมด และตำราในนิกายเหล่านั้น ก็สูญหายไปตามกาลเวลา. คงเหลือแต่เถรวาทดั้งเดิมที่รักษากันมาในมหาวิหารนี่แหละครับ. #ขลังนะ


สมัยนี้ก็มีคนส่วนมากที่พยายามลบหลู่ดูหมิ่นความขลังของวิธีการรักษาศาสนาแบบโบราณสองพันปีเกินครึ่งนี้อยู่เหมือนกัน พยายามบิดเบือนบาลี คิดเองเดาเอง, มรรคผลก็จะหมดไปจากคนเหล่านั้น ตำราใดๆ เขาก็จะรักษาไม่ได้เลยเช่นกันกับ 18 นิกายนั่นแหละครับ.

อ่าน อรรถกถาอันตรธาน 3:
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14.0&i=234&p=2

ประสบการณ์ 10 ปีที่อินเตอร์เน็ตสอนผมมา‬, ผู้ปริยัติ vs ผู้ปฏิบัติ ที่มีวิปปฏิสาร.

‪#‎ผู้ปฏิบัติ‬ บางท่านเกิด "วิปปฏิสาร (กุกฺกุจฺจ)" 
เมื่อมีคนกล่าวทำนองว่า "ท่านไม่ได้ปริยัติเล่าเรียน", 

และ ‪#‎ผู้ปริยัติ‬ บางท่านเกิด "วิปปฏิสาร" 
เมื่อมีคนกล่าวทำนองว่า "ท่านไม่ได้ปฏิบัติฝึกฝน".

วิปปฏิสารนี้เกิดร่วมกับโทสะที่ชอบประทุษร้ายสิ่งที่ตนรับรู้,
จะนำมาซึ่งปิสุณาวาจา และผรุสวาจา 
นำมาซึ่งอกุศลกรรมบถจำนวนมาก.

บางคนวิปปฏิสารกำเริบ เสียดสีให้เจ็บแสบ,
บางคนวิปปฏิสารกำเริบ ยุยงให้คนในกลุ่มแตกแยกบ้าง.

น้อยคนที่จะย้อนมาดูตัวเองว่า "จริงอย่างที่เขาว่าไหม?" 
น้อยคนที่พยายามแก้ไขตัวเองเมื่อพลาด.

----------------------------------

ในบรรดาคนที่เกิดวิปปฏิสาร มี 2 แบบ คือ 
พวกที่พยายามเจริญวิปปฏิสาร กับ พวกที่พยายามกำจัดวิปปฏิสาร. 

พวกที่เจริญวิปปฏิสาร จะพยายามยืนยันสิ่งที่ตนสนับสนุนว่าถูก สิ่งอื่นผิด. 
ส่วนผู้ที่พยา่ยามกำจัดวิปปฏิสาร จะพยายามหาความเป็นจริงจากสภาวะปัจจัยปัจจยุปบัน ครับ.

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

สาวกทำได้แต่วิปัสสนาที่เป็นสุตมยปัญญาเท่านั้น, ไม่สามารถทำวิปัสสนาที่เป็นจินตามยปัญญาได้

ข้อความจากอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ญาณวิภังค์ ติกนิทเทสว่า: 
ก็จินตามยปัญญานั้น ย่อมไม่เกิดแก่บุคคลพวกใดพวกหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้นแก่พระมหาสัตว์ทั้งหลาย ผู้รู้ยิ่งเท่านั้น. สัจจานุโลมิกญาณแม้ในที่นี้ ก็ย่อมเกิดแก่พระโพธิสัตว์ทั้งสอง (ทฺวินฺนํเยว โพธิสตฺตานํ) เท่านั้น.
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=35.0&i=795&p=2

อนึ่ง บทความนี้ กำลังพูดจึงจินตามยปัญญาข้อที่ 2 ของจินตามยปัญญาในเนตติปกรณ์ ที่แสดงไว้ 2 อย่าง คือ:
1. จินตามยปัญญา ที่เกิดหลังจากที่ได้สุตมยปัญญาจากการฟังพระพุทธเจ้าเป็นต้นแล้ว.
2. จินตามยปัญญา ที่เกิดเองล้วนๆ ไม่ได้ฟังใครเลย.

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

สงสัย ดีหรือไม่ดี?

อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้โดยปกตูปนิสสยปัจจัย ครับ.
ความสงสัยมีอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว มันคอยทำให้เราไม่แน่ใจ ตัดสินใจไม่ได้ ตัดสินใจผิด คิดผิด ทำอกุศลต่างๆ นาๆแทางกายวาจาใจ, เพียงแต่จะมีบัณฑิตให้เราได้สอบถาม ทบทวน ทำความเข้าใจ แล้วกำจัดความสงสัยเหล่านั้นหรือเปล่า เท่านั้นเอง.
ฉะนั้นคามสงสัยนั้นไม่ดีแน่นอน ครับ, แต่การสอบถาม เล่าเรียน เพื่อแก้ความสงสัย ขจัดความสงสัยนั้น เป็นกุศล เป็นปัญญา เป็นสิ่งที่ดี ครับ.

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

วิปัสสนาเหมือนการไปรบ สมถะเหมือนค่ายพักรบ

จากพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฉบับ มหามกุฏ

ก็พระโพธิสัตว์นั้นมีสมาธิบ้าง ตรุณวิปัสสนาบ้าง เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นตั้งวิปัสสนาประทับนั่งนานเกินไป พระวรกายย่อมลำบาก ย่อมร้อนดุจไฟในภายใน พระเสโททั้งหลายย่อมไหลออกจากพระกัจฉะ ไออุ่นจากพระเศียรเป็นดุจเกลียวตั้งขึ้น พระหฤทัยย่อมเดือดร้อน กระสับกระส่าย เป็นจิตฟุ้งซ่าน.

แต่พระโพธิสัตว์นั้นทรงเข้าสมาบัติแล้ว บริกรรมสมาบัตินั้น ทำให้อ่อนทรงเบาพระหฤทัย ทรงตั้งวิปัสสนาอีก ก็เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นประทับนั่งนานนัก พระวรกายก็เป็นอย่างนั้น. ก็พระโพธิสัตว์นั้นทรงเข้าสมาบัติแล้ว ทรงกระทำอย่างนั้น เพราะสมาบัติมีอุปการะมากแก่วิปัสสนา. 

เปรียบเหมือน ธรรมดาโล่มีอุปการะมากแก่ทหาร ทหารนั้นอาศัยโล่นั้นเข้าสงคราม ครั้นเมื่ออาวุธทั้งหลายที่ใช้การรบรวมทั้งเหล่าช้าง เหล่าม้าและเหล่าทหารในสงครามนั้น หมดไป คงมีแต่ความเป็นผู้ใคร่จะบริโภคเป็นต้นเท่านั้น กลับแล้วเข้าไปยังค่ายพักแล้ว จับอาวุธทั้งหลายบ้าง ทดลองบ้าง บริโภคบ้าง ดื่มน้ำบ้าง ผูกสอดเกราะบ้าง ทำกิจนั้นๆ แล้วเข้าสงครามอีก หรือทำการรบในสงครามนั้น เกิดปวดอุจจาระเป็นต้นเข้าไปค่ายพัก ด้วยกิจอันควรทำบางอย่างอีก ครั้นทำธุระเสร็จในค่ายพักนั้นแล้วก็เข้าสงครามอีก. 
สมาบัติมีอุปการะมากแก่วิปัสสนา เหมือนค่ายพักมีอุปการะมากแก่ทหารฉะนั้น. 

อนึ่ง วิปัสสนามีอุปการะแก่สมาบัติมากกว่าค่ายพักของทหารที่ประสงค์จะระงับสงคราม. 

จริงอยู่ พระโพธิสัตว์ทรงอาศัยสมาบัติ เจริญวิปัสสนาแม้ก็จริง แต่วิปัสสนามีกำลังย่อมรักษาแม้สมาบัติ กระทำสมาบัติให้เกิดกำลัง. ก็ชนทั้งหลายย่อมทำเรือในทางบกบ้าง สินค้าในเรือบ้างให้เป็นภาระของเกวียน แต่ถึงน้ำแล้วย่อมทำเกวียนบ้าง สินค้าในเกวียนบ้าง โคเทียมเกวียนบ้างให้เป็นภาระของเรือ เรือตัดกระแสทางขวางแล่นไปสู่ท่าโดยสวัสดีฉันใด วิปัสสนาอาศัยสมาบัติย่อมเป็นไปแม้โดยแท้ แต่วิปัสสนามีกำลังย่อมรักษาแม้สมาบัติ ย่อมทำสมาบัติให้เกิดกำลังฉันนั้นเหมือนกัน. ก็สมาบัติเปรียบเหมือนเกวียนถึงบก วิปัสสนาเปรียบเหมือนเรือถึงน้ำ. กาลเวลาในการอาศัยสมาบัติแล้วตั้งวิปัสสนาของพระโพธิสัตว์ ท่านแสดงแล้วด้วยประมาณเท่านี้ด้วยประการดังนี้.


วิธีดูจิต

แปลเผด็จอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร อุทเทสของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานว่า: 

อธิบายจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอุทเทสก่อน. ผู้ปฏิบัติต้อง...
  1. ตามเห็นอารมณ์ อธิบดี สหชาต ภูมิ กรรม วิบาก กิริยา เป็นต้นด้วย, และต้อง 
  2. ตามเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นด้วย, และ 
  3. ต้องตามเห็นตามที่แสดงไว้ในนิทเทสของมหาสติปัฏฐานสูตร มีความเป็นสราคะธรรม (จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ) เป็นต้น ด้วย.
บาลี:
จิตฺตํ ตาว อารมฺมณาธิปติสหชาตภูมิกมฺมวิปากกิริยาทินานตฺตเภทานํ อนิจฺจาทิอนุปสฺสนานํ นิทฺเทสวาเร อาคตสราคาทิเภทานญฺจ วเสน อนุปสฺสิตพฺพํฯ

ป.ล. แปลตามฏีกาของพระธัมมปาลาจารย์ ผู้เรียบเรียงอรรถกถาขุททกนิกายหลายคัมภีร์.

คนที่พูดไม่ถูกหูเรา ไม่จำเป็นต้องพูดด้วย อกุศล เสมอไป

คนที่พูดไม่ถูกหูเรา ไม่จำเป็นต้องพูดด้วย อกุศล เสมอไป ครับ. เหมือนพ่อแม่, เหมือนสหธรรมิก, หรือ พระบางรูป. ท่านก็ไม่ได้มีจิตคิดร้ายต่อเด็กน้อยอย่างเรา. แต่บางเรื่องท่านก็ต้องพูดทั้งที่รู้ว่าไม่ถูกหูเรา เพราะปรารถนาดีกันเราเอง. และคนบางคนก็อาจถูกเลี้ยงดูมาในสภาวะแวดล้อมที่ใช้คำพูดแบบนั้นเป็นคำธรรมดา ไม่ใช่คำด่าก็เป็นได้ครับ.

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558

ชื่อญาณที่วิสุทธิมรรคเอามาจากปฏิสัมภิทามรรคตั้งจากผลปรากฎของภาวนา, ไม่ใช่ชื่อที่แสดงข้อปฏิบัติ.

ชื่อญาณที่วิสุทธิมรรคเอามาจากปฏิสัมภิทามรรคตั้งจากผลปรากฎของภาวนา, ไม่ใช่ชื่อที่แสดงข้อปฏิบัติ.

ซึ่งผู้ที่เข้าใจผิดบางท่าน ก็จะเอาชื่อญาณมาแปล แล้วก็จะเอาไปปฏิบัติเลย เช่น:-

ข้อความในอุทเทส (ส่วนสารบัญหัวข้อสำหรับท่องจำ) มีอยู่ว่า:

ปจฺจุปฺปนฺนานํ ธมฺมานํ วิปริณามานุปสฺสเน ปฺา อุทยพฺพยานุปสฺสเน าณํฯ
สภาพที่เข้าใจ(ชัดเจนโดยนัยยะต่างๆ)ในการตามเห็นความแปรปรวนของปัจจุบันธรรม, เรียกว่า อุททยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณตามเห็นความเกิดความดับ)

คนที่ไม่รอบคอบ ก็จะคิดว่า "ก็ตามดูขันธ์ทุกอิริยาบถไง ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ได้ญาณนี้". ซึ่งไม่ปรากฎในนิทเทส (ส่วนอธิบายขยายความ) ของญาณนี้เลย. นั่นก็เพราะชื่อของญาณนี้ และคำจำกัดความที่ยกมาข้างต้นจากอุทเทส กำลังสื่อถึงจุดสุดยอดที่จะได้เมื่อปฏิบัติตามข้อความในนิทเทสที่ยังไม่ได้ยกมาแสดงในอุทเทสที่ยกมานี้ ไม่ใช่ชื่อที่แสดงข้อปฏิบัติ. แต่คนอ่าน ก็ตีความไปก่อนเองแล้วว่า แค่อุทเทสนี่แหละข้อปฏิบัติ เพราะอ่านข้อความในส่วนขยาย คือ นิทเทสแล้วไม่เข้าใจนั่นเอง.

บางคนตีความย้อนยอกตำราไปอีกว่า ก็ดูอิริยาบถ ดู กาย ดูจิตไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เห็นอวิชชาตัณหา กรรม อาหาร เป็นต้น ที่เป็นเหตุของอุปาทะขณะของรูป เป็นต้น เองแหละ. กลายเป็นเอาเหตุไปเป็นผล เอาผลไปเป็นเหตุ. กลายเป็นเหมือนเรือที่จะวิ่งเข้าฝั่งโน้นดีๆ ตามคำสอนในตำรา ก็พลิกกลับมาเข้าฝั่งนี้ อยู่ในวัฏฏะต่อไปอีกเหมือนเดิม.

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

มิจฉาทิฏฐิ เทียบกับ ปัญญา

องค์ของมิจฉาทิฏฐิมี 2 ข้อ คือ
  1. วตฺถุโน จ คหิตาการวิปรีตตา, ความผิดเพี้ยนแห่งปัจจยาการของวัตถุที่โลภะยึดไว้, หรือ ความผิดเพี้ยนแห่งอาการของโลภะที่เข้าไปยึดวัตถุไว้.
  2. ยถา จ ตํ คณฺหาติ ตถาภาเวน ตสฺสุปฏฺฐานํ, โลภะยึด(วัตถุผิดๆ)ไว้แบบไหน, มิจฉาทิฏฐิก็เข้าไปตั้งมั่นด้วยอาการอย่างผิดๆ แบบนั้น (ในวัตถุนั้นที่ปรากฎชัดแบบผิดๆกับทิฏฐิเองไว้ ว่า "ที่เราเข้าใจเท่านั้นเป็นจริง, นอกจากนี้ไม่ใช่ ไม่จริง ไม่ถูก").
จาก คำขยายของฏีกาที่ว่า "ที่เราเข้าใจเท่านั้นเป็นจริง, นอกจากนี้ไม่ใช่" ก็ไปสอดคล้องกับอรรถะของปัญญาที่ว่า "ปชานนา ปญฺญา (การเข้าใจความจริงต่างๆ คือ ปัญญา)" เพราะมิจฉาทิฏฐิ เข้าใจสิ่งที่ผิดไว้อย่างเดียว แล้วร่วมมือกับโลภะยึดเอาไว้, ส่วนปัญญานั้น เข้าใจสิ่งที่ถูกต้องทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ 6 เท่าที่สามารถ ตามความเป็นจริงซึ่งมีหลายอย่างต่างๆ กันไป.

---------------------------------------------------------
อนึ่ง, จริงๆ แล้ว ฏีกา โยคมิจฉาทิฏฐิเข้ามาในข้อแรกเลย ทำให้บางคนอาจจะงงว่าผมแปลขัดกับฏีกาหรือเปล่า, ซึ่งอันที่จริงไม่ได้ขัดกัน. 
แต่ที่ผมโยคเอาโลภะ เพราะ...
  1. เพราะทิฏฐิเจตสิกไม่ได้มีสภาพยึดติด (คหิต แปลตรงกับ อุปาทาน ซึ่งองค์ธรรม ได้แก่ โลภะ ไม่ใช่ ทิฏฐิ), ถ้าโยคเอาทิฏฐิเจตสิกเข้ามา ก็จะผิดลักขณาทิจจตุกะของทิฏฐิเอง และเกิดความสับสนระหว่างทิฏฐิ โลภะ และจิตด้วย. 
  2. อีกอย่างคือเพราะพระโสดาบันแม้ไม่มีทิฏฐิ แต่ก็ยังมีวิปลาสอยู่ ถ้าโยคเอาทิฏฐิเจตสิกเข้ามาในข้อแรกนี้เลย พระโสดาบันก็จะกลายเป็นผู้มีทิฏฐิเจตสิกด้วย. 
  3. และอีกอย่าง คือ เพราะองค์กรรมบถข้ออื่น เช่น ปาณาติบาต เป็นต้น จะไม่มีตัวองค์ธรรมอยู่ในองค์แรกเลย แต่จะแสดงอารมณ์ของปาณาติบาตก่อน เพราะถ้ามี องค์ข้อที่เหลือก็หมดประโยชน์ทันที. 
  4. และอย่างสุดท้าย คือ เพราะในอรรถกถาไม่ได้โยคไว้ให้ตรงๆ. 

ด้วยเหตุผล 4 ข้อนี้ จึงไม่เห็นมิจฉาทิฏฐิในคำแปลข้อแรกที่ผมแปล. แต่ทั้งผมและฏีกา ไม่ได้ขัดกัน เพราะจะโยคเจาะจงมิจฉาทิฏฐิในข้อแรกเลย หรือ จะโยคโลภะมาก่อน, แต่เมื่อรวมองค์ทั้ง 2 ข้อแล้ว ก็ได้เป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ดี ครับ. 
แต่ฏีกาโยคมิจฉาทิฏฐิมา ก็เพื่อให้ครบรูปประโยคที่ควรจะเป็น ไม่ให้นักศึกษาโยคเองผิดพลาด, เป็นการบอกว่า "ความผิดเพี้ยนของวัตถุนี้ ต้องถือเอาด้วยมิจฉาทิฏฐิเท่านั้นนะ จึงจะเป็นวัตถุของมิจฉาทิฏฐิ ถ้าถือเอาด้วย โลภะ หรือ ด้วยจิตเฉยๆ ยังไม่แน่ว่าจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ". 
ส่วนผมไม่ได้โยค เพื่อที่จะรักษารูปบาลีในอรรถกถาไว้ และเพื่อที่จะแสดงว่า "จิตตวิปลาสไม่จำเป็นต้องมีทิฏฐิวิปลาสเกิดร่วมเสมอไป" เพราะโลภะก็ยึดผิดจากปัจจยาการโดยปราศจากทิฏฐิได้ (จิตตวิปลาส, สัญญาวิปลาส ของพระเสกขบุคคล), และเพราะจิตก็รับรู้ผิดจากที่บัญญัติกันได้ เช่น ฏีกาบอกว่าอนุสัยเป็นอวิชชมาน เพราะมุ่งหมายเอาอนุสัยในขณะที่กุศลปหานอยู่, ส่วนอรรถกถาบอกว่า อนุสัยเป็นสังขต เพราะมุ่งหมายเอาอนุสัยที่กำลังปริยุฏฐิตะอยู่ เป็นต้น. อีกประการหนึ่ง ที่ไม่โยคมิจฉาทิฏฐิมาให้เลย ก็เพื่อให้ไม่เข้าใจผิด (อย่างที่มักจะเข้าใจกัน) ว่า "การรับรู้ข้อมูลมาผิด จะต้องเป็นมิจฉาทิฏฐิเสมอไป", แต่แท้ที่จริงแล้ว แม้จะรับรู้ข้อมูลมาผิดจากหลักปัจจยาการ แต่ไม่ได้ตัดสินใจว่า "ที่เราเข้าใจนี้แหละที่เป็นจริง, ไม่มีทางเป็นอื่นจากนี้ (เอวเมตํ, น อิโต อญฺญถา)" ก็ยังไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ. หรือแม้ตัดสินใจว่า "ที่เราเข้าใจนี้แหละที่เป็นจริง, ไม่มีทางเป็นอื่นจากนี้ (เอวเมตํ, น อิโต อญฺญถา)" แต่สิ่งที่เข้าใจนั้นคล้อยตามปฏิจจสมุปบาท, และสิ่งที่เราปฏิเสธนั้น ก็ผิดจากปฏิจจสมุปบาทจริงๆ อย่างนี้ก็เป็นสัมมาทิฏฐิได้เช่นกัน ไม่จำเป็นว่าวัตถุผิดแล้วจะต้องเป็นมิจฉาทิฏฐิเสมอไป ครับ. ต้องดูตามความเป็นจริงโดยสภาวะ (ตามลักขณาทิจจตุกะ) และ โดยปัจจยาการ (ปัจจัยปัจจยุปบัน) จึงจะสรุปได้ว่า อะไรเป็นสังขต และอะไรไม่ใช่. นี่แหละที่เรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะระดับญาตปริญญา (สัมมาทิฏฐิที่เห็นอย่างชำนาญตามความเป็นจริงโดยปัจจัตตลักษณะ) ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เห็นความเกิดดับ (เพราะปัจจัยเกิด สังขตก็เกิด, ปัจจัยหมด สังขตก็หมด) ที่จะต้องใช้ในตีรณปริญญาต่อไปในวิสุทธิขั้นที่สูงกว่า. 

(ปาถิกวคฺคฏีกา: คหิตาการวิปรีตตาติ มิจฺฉาทิฏฺฐิยา คหิตาการวิปรีตภาโวฯ วตฺถุโนติ ตสฺส อยถาภูตสภาวมาหฯ ตถาภาเวนาติ คหิตากาเรเนว วิปรีตากาเรเนวฯ ตสฺสทิฏฺฐิคติกสฺส, ตสฺส วา วตฺถุโน อุปฏฺฐานํ, "เอวเมตํ น อิโต อญฺญถา"ติฯ, นิทานวคฺคฏีกา: วตฺถุโนติ คหิตวตฺถุโนฯ คหิตาการวิปรีตตาติมิจฺฉาทิฏฺฐิยา คหิตาการสฺส วิปรีตตาฯ ตถาภาเวนาติ อตฺตโน คหิตากาเรเนว ตสฺสาทิฏฺฐิยา, คหิตสฺส วา วตฺถุโน อุปฏฺฐานํ "เอวเมตํ, น อิโต อญฺญถา"ติฯ )

โครงสร้าง อนุราธสูตร

ตอนต้นของสูตร แสดงเหตุปรารภให้พระพุทธเจ้าตรัสตัวสูตรแท้ๆ ที่แสดงกับพระอนุราธะ ครับ. 

ซึ่งตอนต้นนั้น อรรถกถาบอกไว้ประมาณว่า ทั้งอัญญเดียรถีย์ และ พระอนุราธะ ล้วนไม่ได้รู้จริงทั้งคู่ พระอนุราธะพูดเพื่อให้ตรงกันข้ามกับเดียรถีย์, เดียรถีย์เองก็แค่พูดเพื่อเอาชนะ.

ฉะนั้น พระพุทธเจ้า ทรงอาศัยเหตุที่พระอนุราธะกำลังสนใจในเรื่อง "พระตถาคตจะเกิดอีกไหม?" นี่เองมาแสดงวิปัสสนา ให้พระอนุราธะบรรลุธรรม.

พอแสดงธรรม จึงแสดงการเพิกสัตว์บุคคล ให้เห็นว่าไม่มีสัตว์บุคคลอยู่ตรงไหนเลย (เพราะการเกิดชาติใหม่ เว้นศาสนาพุทธแล้ว ศาสนาอื่น ถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลไปเกิด, การเกิดของคนนอกศาสนานั้น ไม่ใช่เพียงแต่ธาตุขันธ์ที่ถึงพร้อมด้วยปัจจัยและธาตุขันธ์ที่หมดปัจจัยอย่างที่อธิบายในปัจจยปริคคหญาณขึ้นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทในศาสนาพุทธ) ทรงทำลายสักกายะทิฏฐิ 20 แสดงให้เหลือเพียงขันธ์ 5 ก่อน, ต่อมาก็ยกขันธ์ 5 เพียวๆ ที่ไม่มีความเข้าใจว่ามี ว่าเป็น สัตว์บุคคลอยู่แล้ว ที่กำลังเป็นอารมณ์ของพระอนุราธะนั่นแหละ สู่ไตรลักษณ์ ครับ.

อนึ่ง สูตรนี้ฉบับสยามรัฐแปลผิดไปจากบาลี. ฉบับมหาจุฬา(ลิงก์)แปลตรงบาลี ครับ. แต่โดยอรรถะ ก็ความหมายเดียวกัน ครับ. คือ ในพระไตรปิฎก ถ้าพวกนอกศาสนามีการพูดถึงการเกิดการตายข้ามภพชาติ เขาก็พูดมาจากสักกายทิฏฐิสหคตจิตกัน ครับ.

เป็นอันจบสูตรนี้, รายละเอียดอ่าน อรรถกถาที่ลิงก์นี้:
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=208

วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

อธิบายความต่างของนิพพาน และ บัญญัติ (ลึกซึ้งมาก)

ตามปฏิจจสมุปบาท โลกิยกุศล แม้ที่เป็นวิปัสสนา ที่สามารถปหานอนุสัยกิเลสได้เป็นขณิกะ ก็ยังเป็นปัจจัยแก่ขันธ์ในภพใหม่ได้.

แต่โลกุตตรกุศล เมื่อมีนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว จะไม่เป็นปัจจัยแก่ขันธ์ในภพใหม่เลย.

ส่วนนิพพานนั้น ไม่มีปัจจัย จึงไม่มีขันธ์ทั้งปวง ไม่เป็นสังขต, ทั้งยังทำให้ทั้งโลกุตตรกุศล และโลกุตตรวิบาก ไม่เป็นจัยจัยแก่ขันธ์ในภพใหม่ด้วย.

สิ่งเหล่านี้บัญญัติทำไม่ได้. 

เพราะแม้บัญญัติจะสามารถเป็นอารมณ์ของมหัคคตกุศล แต่มหัคคตกุศลก็ไม่ได้มีกำลังขึ้นเพราะบัญญัติ เนื่องจากบัญญัติไม่ใช่สภาพที่สามารถหมดกิเลส หมดขันธ์ได้. แต่ตัวมหัคคตกุศลเองนั่นแหละมีกำลังขึ้นเพราะภาวนา คือ การทำให้เกิดขึ้นต่อเนื่องของตนเอง ทำให้สามารถข่มกิเลสไว้ได้ ทำวิกขัมภนปหานได้. และแม้จะมีบัญญัติบางอย่างที่กามาวจรกุศลรู้ไม่ได้ เพราะจิตมีกำลังความาสามารถไม่พอจะไปรับรู้ก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะกำลังจิตฝ่ายเดียว บัญญัติไม่ได้มีสภาพหมดกิเลส หมดขันธ์ ที่จะเป็นราวกะไปช่วยห้ามว่า "ฉันเป็นสภาพที่ไม่มีวิญญาณัญจายตนะ แต่เธอยังไม่มีแม้แต่วิญญานัญจายตนะเกิดเลย ฉะนั้นเธอมารู้บัญญัติสำหรับอากิญจัญญายตนะอย่างฉันไม่ได้หรอก". ไม่เลยบัญญัติไม่มีสภาพเช่นนั้น แค่กามาวจรจิตไม่มีกำลังฝ่ายเดียวเท่านั้น จึงคิดบัญญัติที่เป็นอารมณ์ของมหัคคตะขึ้นมาไม่ได้ ก็เท่านั้นเอง บัญญัตินั้นก็ไม่สามารถเป็นอารมณ์ของจิตได้แล้ว เพราะจิตไม่มีกำลังพอจะคิดแต่งตั้งมันขึ้นมาได้. ฉะนั้น จิตบาป จิตบุญ จึงมีอารมณ์เป็นบัญญัติได้ทั้งสิ้น เพราะจิตเป็นผู้เอาปรมัตถ์ทั้งหลายมาคิดตั้งบัญญัติขึ้นเอง ตามเท่าที่จิตมีกำลัง ไม่ใช่โดยสภาพของบัญญัติ เพราะบัญญัติไม่มีสภาพ เป็นแค่สิ่งที่จิตคิดขึ้นเองตามกำลังของจิตจะสามารถคิดได้ก็เท่านั้น. 

กลับกันกับนิพพาน ที่ตนเองเป็นสภาพที่ละกิเลส ละขันธ์ทั้งปวงได้เป็นนิสสรณปหานอยู่แล้ว (บัญญัติไม่มีสภาพธรรมเลยจึงชื่อว่าปหานะกิเลสไม่ได้ แม้จะไม่มีกิเลสอยู่เลยก็ตาม แต่ตัวมันเองก็ไม่มีอยู่เลยเช่นกัน บัญญัติไม่มีลักษณะ ไม่มีสภาพ ไม่มีปัจจัย กิเลสจะหมดไม่หมด จิตก็ยังรู้บัญญัติได้อยู่ดี). จิตแม้จะต้องภาวนาให้มีกำลังไปรู้นิพพานได้ก็จริง, แต่นิพพานก็ต้องมีสภาพตายตัวอยู่เองแล้วว่า "ฉันเป็นสภาพหมดกิเลส หมดขันธ์แน่นอน จิตจะมีกำลังหรือไม่มีกำลัง จะคิดถึงฉันหรือไม่คิดถึงก็ตาม ฉันก็จะหมดกิเลสหมดขันธ์ ของฉันอย่างนี้แหละ". ฉะนั้น ทั้งจิตเจตสิกเองก็เป็นสภาพ และ นิพพานเองก็เป็นสภาพ. ทั้งคู่เป็นปรมัตถ์ จึงแสดงไว้โดยอภิธรรมนัย อยุ่ในสังคณีมาติกา. ต่างโดยสิ้นเชิงกับบัญญัติ ไม่มีสภาพ จิตรู้ปรมัตถ์แล้วก็ประมวลเป็นบัญญัติแค่นั้น ไม่มีสภาพของตนเองที่แน่นอน ตายตัว จึงไม่ได้ทรงแสดงไว้ในอภิธรรมนัยของสังคณีมาติกา มีเพียงในสุตตันตนัยเท่านั้น**.

**อรรถกถาแสดงไว้แล้วว่าธรรมะศัพท์มีอรรถถึงธรรมที่มีลักษณะ, และอภิศัพท์ก็สื่อถึงเป็นสิ่งที่โดยที่สุดแล้วมีอยู่โดยสภาวะของตน (ธรรมที่มีมีภาวะของตน)
"อตฺถานํ สูจนโต, สุวุตฺตโต สวนโตถ สูทนโต;
สุตฺตาณา สุตฺตสภาคโต จ สุตฺตนฺติ อกฺขาต"นฺติฯ
อภิธมฺมสฺส วจนตฺโถ วุตฺโตเยวฯ อปโร นโย~
ยํ เอตฺถ วุฑฺฒิมนฺโต, สลกฺขณา ปูชิตา ปริจฺฉินฺนา;
วุตฺตาธิกา จ ธมฺมา, อภิธมฺโม เตน อกฺขาโตฯ

วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

ที่ถูก คือ "จิตอาศัยปรมัตถ์แล้วรู้บัญญัติ" ไม่ใช่ "บัญญัติอาศัยปรมัตถ์" ซึ่งเป็นข้อความที่แปลผิดสอนผิด

 ที่ถูก คือ "จิตอาศัยปรมัตถ์แล้วรู้บัญญัติ" ไม่ใช่ "บัญญัติอาศัยปรมัตถ์" ซึ่งเป็นข้อความที่แปลผิดสอนผิดนะครับ.
จิตเจตสิกอาศัยนิพผันรูปปรมัตถ์กับอาการรูปปรมัตถ์เป็นอารัมมณปัจจัยแล้วรู้บัญญัติ, ไม่ใช่บัญญัติเข้าไปอาศัยปรมัตถ์ใดๆ. สังขตธรรมเท่านั้น ที่มีปัจจัยให้ตนเองซึ่งเป็นปัจจยุปบันเข้าไปอาศัย.  ส่วนนิพพาน กับ บัญญัติ ไม่ใช่สังขตธรรม ไม่ได้อาศัยอะไรทั้งนั้นครับ เป็นได้แต่เพียงปัจจัยเท่านั้น. ไม่เป็นปัจจยุปบัน ไม่ได้ไปอาศัยสิ่งใดๆ เกิดขึ้น หรือ มีขึ้นนะครับ.