วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การบังคับเป็นอกุศลก็ได้ เป็นทานก็ได้ เป็นสมถะ วิปัสสนา หรือสติปัฏฐานก็ได้ (1)

"บังคับ" ตัวคำเป็นบัญญัติ, ไม่มีองค์ธรรมเฉพาะ. ไม่มีระบุไว้ในลักขณาทิจจตุกะของปรมัตถธรรมใดๆ เลย.

การบังคับเป็นอกุศลก็ได้ เป็นทานก็ได้ เป็นสมถะ วิปัสสนา หรือสติปัฏฐานก็ได้.

คนที่ยังละสักกายทิฏฐิไม่ได้ ด้วยตทังคปหานหรือสมุจเฉทปหาน ต่อให้เลี่ยงคำว่าบังคับไปใช้คำอื่น ก็ยังมีสักกายทิฏฐิล้อมหน้าล้อมหลังอยู่ดี เพราะไม่ได้พูดด้วยปัญญาประจักษ์แบบญาตปริญญา.

จะไปใช้คำว่า "เจตนา" ใช้คำว่า "ปัจจัย ปัจจยุปบัน" หรือใช้คำว่า "เป็นไปตามปัจจัย" หรือใช้คำตรงๆ ว่า "ไม่มีใครบังคับ" ก็ตาม ก็ล้วนแต่พูดตามคนอื่น ไม่ใช่ปัญญาประจักษ์นามรูปพร้อมทั้งปัจจัยจริงๆ ตามที่มันเป็น.

ส่วนผู้ที่สามารถละสักกายทิฏฐิได้ จะไม่มัวติดพยัญชนะว่า "บังคับ" เพราะเขารู้ตามความเป็นจริงอยู่แล้วว่า จะบังคับ หรือ ไม่บังคับ อัตตาก็ไม่มีอยู่จริงเลย. เขาจะพากเพียรตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการทำศีล ทำสมถะ ทำวิปัสสนา เขาก็พร้อมทุกประการ.

ไม่ต้องย้ำคิดย้ำทำในสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่า "ไม่มีใครทำ" เพราะมัวแต่กลัวจะมีอัตตานุทิฏฐิ, แล้วพยายามละอัตตานุทิฏฐิอย่างไม่ถูกวิธี, จนไปขวางกั้นการเจริญกุศลอื่นๆ.

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ฟังพระไตรปิฎกของพระอรรถกถาจารย์ไม่ได้ศัพท์ก็ยังจะจับไปกระเดียด

ฟังพระไตรปิฎกของพระอรรถกถาจารย์ไม่ได้ศัพท์ก็ยังจะจับไปกระเดียด

ยุคปัจจุบัน ชาวพุทธบางท่านไม่แตกฉานบาลี ไปอ่านพระไตรปิฎกแปลไทย แล้วปฏิเสธอภิธรรม... จากนั้นก็เที่ยวป่าวประกาศว่า "พระไตรปิฎกขัดแย้งกัน"...

ทั้งๆที่ ภาษาบาลีและหลักอภิธรรม เป็นสิ่งที่อยู่ในใจของพระอรรถกถาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฎกมาตั้งแต่ยุคที่ยังต้องจำปากเปล่าในครั้งพุทธกาล (พระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญามาก ก็เพราะเป็นสาวกท่านแรกที่รู้แตกฉานอภิธรรม) กระทั่งจารลงใบลานที่ลังกา เมื่อพ.ศ. 400 กว่า และตลอด 2500 ปี มาจนถึงปัจจุบันในพม่าที่มีผู้ทรงพระไตรปิฎก ก็ยังคงต้องเป็นผู้รู้แตกฉานอภิธรรมและภาษาบาลี.

99% ของคนยุคนี้ที่เที่ยวป่าวประกาศว่าพระไตรปิฎกขัดแย้งกันบ้าง อรรถกถาขัดแย้งกับพระไตรปิฎก, พื้นฐานคนพวกนี้จึง ไม่แตกฉานบาลี และ ไม่แตกฉานอภิธรรม ครับ. มันทำให้พวกเขาอ่านไม่เข้าใจเอง แล้วก็ตีโพยตีพายเป็นคุ้งเป็นแคว.

ไปๆ มาๆ ฉีกพระไตรปิฎกเล่นเสียเลย...

เด็กหนอ... เด็กน้อยเล่นกับไฟ...

ตัวอย่างของสักกายทิฏฐิ ฝ่ายอุจเฉททิฏฐิ ซึ่งบางตัวอย่างกลายเป็นสีลัพพตปรามาส

-ตบยุงไม่บาปแน่ๆ
-ลักทรัพย์นิดหน่อยไม่เป็นไร
-พรุ่งนี้ไม่มีแน่ๆ
-ชาติหน้าไม่มีแน่ๆ
-เดี๋ยวก็ตายแล้ว
-เกิดหนเดียวตายหนเดียว
-สามีเขาไม่รู้ เป็นชู้ก็ไม่มีใครตามมาฆ่า
-โกหกโดยที่เขาไม่รู้ ไม่เป็นไร
-ดื่มเหล้าได้ ถ้าคุมตัวเองอยู่ เป็นต้น

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

อนุโลม = ตามลำดับ, ปฏิโลม =ย้อนลำดับ

อนุโลม = ตามลำดับ, ปฏิโลม = ย้อนลำดับ 
เช่น...
อนุโลม=ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ปฏิโลม=หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ไม่พร้อมได้ฌาน, ไม่ต้องหวังได้วิปัสสนา

ไม่ควรแยกอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เพื่อพูดในเชิง "อันหนึ่ง ด้อยกว่าอีกอันหนึ่ง" ครับ เพราะรถผลัดก่อน มีความสำคัญต่อผลัดถัดไป ครับ ถึงจะด้อยกว่ายังไง ก็ขาดไม่ได้เลยอยู่ดี.

เหมือนเด็กมัธยมที่ด้อยกว่าเด็กมหาวิทยาลัย แต่ถ้าไม่เป็นเด็กมัธยม ก็เป็นเด็กมหาลัยไม่ได้ ฉันใด, อธิจิตแม้จะปหานกิเลสได้ไม่เท่าอธิปัญญาก็ตาม แต่ถ้าไม่ได้อธิจิต ก็ไม่ต้องหวังได้อธิปัญญา ฉันนั้น.

เพราะถึงสมาธิจะทำสมุจเฉทปหานไม่ได้ แต่สมุทเฉทปหานไม่เกิดกับผู้ไม่มีสมาธิ เช่นกันครับ.  ตามหลักเนตติปกรณ์และอรรถกถาแล้ว ผู้ที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิ คือ ผู้ที่มีปกติกิเลสไม่เกิด (ทิฏฐิจริต) เท่านั้น. ซึ่งถ้าเป็นทิฏฐิจริตจริง การทำฌานก็คงไม่ยากอะไรนะครับ. 

ส่วนคนที่กลัวติดสุขในฌาน... ตามหลักเนตติปกรณ์และอรรถกถาแล้ว โลภะติดสุขในฌาน ปหานง่ายกว่า โลภะติดสุขในกาม อย่างมากๆ ครับ. ดังนั้น ถ้าแค่ทำฌานยังทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปหวังมรรค ผล เลยครับ.

อย่าไปเอาข้อความที่ว่า "ฌานนั้นได้ยากแสนยาก น้อยคนที่จะได้" กับ "สุขวิปัสสกมีมากกว่าฉฬภิญโญ" มาเหมารวมกลายเป็นว่า ทำวิปัสสนาไปเลย ง่ายกว่าทำฌานก่อนแล้วค่อยทำวิปัสสนา นะครับ, มันไม่ถูกต้อง. 

ความจริงแล้ว ทำวิปัสสนายากที่สุด ยากกว่าการทำฌานด้วย. ตามหลักเนตติปกรณ์แล้ว คนที่จะทำวิปัสสนาได้ ก็คือคนที่ได้ฌาน หรือ พร้อมจะได้ฌานอยู่แล้ว. พวกที่ไม่พร้อมจะได้ฌาน จะไปทำวิปัสสนายังไงๆ ก็ไม่บรรลุ เพราะฌานง่ายกว่าแท้ๆ ยังไม่พร้อมเลย. และฌานก็เป็นรถพลัดก่อนถึงวิปัสสนาด้วย (วิสุทธิมรรคว่า จิตตวิสุทธิ คือ อุปจารฌาน หรือ อัปปนาฌาน), ถ้าไม่ทำฌานให้ได้อุปจาระ หรือ อัปปนา (จิตตวิสุทธิ) หรือไม่พร้อมจะได้ฌานอยู่แล้ว(ทิฏฐิจริต, อุคฆฏิตัญญู, วิปจิตัญญู)  จะเปลี่ยนผลัดไปวิปัสสนาได้ยังไงกัน?

รวมความว่า อย่าพูดในเชิงว่า "ไม่จำเป็นต้องทำฌานก็ทำวิปัสสนาได้" พร่ำเพรื่อ โดยไม่ถูกหลักเหตุผล ตามหลักเนตติปกรณ์ ครับ.

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ทำไมบุญกิริยาวัตถุจึงแสดงทานไว้, แต่ไตรสิกขาไม่แสดงทานไว้

ผู้จะเป็นพระอรหันต์ต้องละตัณหาในกามคุณ 5 ทั้งหมด และละตัณหาในภพ 3 ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง.
  • ฆราวาส (ผู้ถือครองเรือน) ต้องให้ทาน เพราะฆราวาสมีตัณหาในเรือน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ มือถือ เงิน ทอง ที่ดิน เป็นต้น. เมื่อฆราวาสได้ให้ทานในบรรพชิต จะเกิดประโยชน์ อย่างน้อย 2 ข้อ คือ 1.ได้สละกามคุณ ๕ ด้วย 2.ได้โอกาสตีสนิทบรรพชิตเพื่อขอฟังธรรมะที่ทำให้พ้นทุกข์ด้วย.
  • ส่วนบรรพชิต (ผู้สละเรือน, ผู้เว้นรอบ) ไม่มีอะไรจะให้ทาน เพราะได้สละ เว้นขาดจากการสะสมแบบฆราวาสแล้ว. ไม่มีอะไรจะให้เป็นทาน ไม่เหลืออะไรติดตัว นอกจากบริขารของสมณะที่ไม่มีใครต้องการ.
ดังนั้น โอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงไว้ชัดเจนว่า "พระพุทธเจ้าทรงแสดงกะบรรพชิตล้วนๆ" จึงไม่แสดงเรื่องทาน เพราะมันไม่มีประโยชน์กับบรรพชิต. ในพระไตรปิฎกก็บอกไว้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ตรัสคำที่ไม่มีประโยชน์กับคนที่ทรงแสดงธรรมให้ฟังอยู่. ถ้าทรงแสดงเรื่องทานให้กับบรรพชิต 1,250 รูป, ก็เท่ากับทรงตรัสสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กะบรรพชิตให้พวกเขาฟัง, ซึ่งนั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้.
แต่ทานยังเป็นประโยชน์แก่ฆราวาส จึงได้แสดงเรื่องทานไว้สำหรับฆราวาส ถึงกับให้เป็นฆราวาสธรรมเลยทีเดียว (จาคะ), ในมงคลสูตรก็แสดงทานไว้ด้วย ก็เพราะเหตุเดียวกันนี้เอง.
ถ้าใครได้เข้าใจแบบนี้เสียแล้ว เมื่อได้ไปอ่านอรรถกถา เจอข้อความว่า "บุญกิริยาวัตถุแสดงกะฆราวาส, ไตรสิกขาแสดงกะบรรพชิต" ก็จะเข้าใจทันทีว่า "ทำไมบุญกิริยาวัตถุจึงมีทาน, แต่ไตรสิกขาไม่มีทาน" ครับ.



วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

อันธปุถุชน กับ กัลยาณปุถุชน ตามอรรถกถา.

(แปลเผด็จ) ปุถุชน 2 อย่างนั้น คือ
1. อันธปุถุชน ได้แก่ ผู้ไม่เคยท่องจำอุทเทส ไม่เคยเล่าเรียนอรรถกถา ไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยทรงจำธรรมะไว้ ไม่เคยพิจารณาธรรมะที่ทรงจำไว้, ธรรมที่ว่านั้น คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เป็นต้น.
2. กัลยาณปุถุชน ได้แก่ ผู้ที่ทำสิ่งเหล่านั้นอยู่.

แปลปกติ ดูที่นี่ http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=1&p=3#อธิบายคำว่า_ปุถุชน

อรรถกถาบาลีต้นฉบับ:

ตตฺถ ยสฺส ขนฺธธาตุอายตนาทีสุ อุคฺคหปริปุจฺฉาสวนธารณปจฺจเวกฺขณานินตฺถิ, อยํ อนฺธปุถุชฺชโนฯ ยสฺส ตานิ อตฺถิ, โส กลฺยาณปุถุชฺชโนฯ (มรมฺม,สุตฺตนฺตปิฏกํ,ทีฆนิกาโย,สีลกฺขนฺธวคฺค-อฏฺกถา ข้อ 7)

นัยยะที่ใช้แปล:
4.1 ยสฺส ขนฺธธาตุอายตนาทีสุ อุคฺคหปริปุจฺฉาสวนธารณปจฺจเวกฺขณานิ นตฺถิ, อยํ อนฺธปุถุชฺชโนฯ ยสฺส ตานิ อตฺถิ, โส กลฺยาณปุถุชฺชโนฯ (ทีฆนิกาโย,สีลกฺขนฺธวคฺค-อฏฺฐกถา จูฬสีลวณฺณนา)
4.2 วาจุคฺคตกรณํ อุคฺคโหฯ อตฺถปริปุจฺฉนํ ปริปุจฺฉาฯ อฏฺฐกถาวเสน อตฺถสฺส สวนํ สวนํฯ พฺยญฺชนตฺถานํ สุนิกฺเขปสุทสฺสเนนธมฺมสฺส ปริหรณํ ธารณํฯ เอวํ สุตธาตปริจิตานํ มนสานุเปกฺขนํ ปจฺจเวกฺขณํฯ (ทีฆนิกาโย,สีลกฺขนฺธวคฺคฏีกา จูฬสีลวณฺณนา)
4.2.1 โส กิร สาสเน ปพฺพชิตฺวา ลทฺธูปสมฺปโท "อสุกฏฺานํ นาม คนฺตฺวา อุทฺเทสํ อุคฺคณฺหาหี"ติ อุปชฺฌาเยน เปสิโต ตตฺถ อคมาสิฯ (ธมฺมปท-อฏฺฐกถา พุทฺธวคฺโค อนภิรตภิกฺขุวตฺถุ)
4.3 อุทฺเทโสติ #ปาฬิวาจนํฯ ปริปุจฺฉาติ ปาฬิยา #อตฺถวณฺณนาฯ (วินยปิฏกํ,มหาวคฺค-อฏฺกถา สทฺธิวิหาริกวตฺตกถา)